xs
xsm
sm
md
lg

7วันอันตรายห้าวันดับ248ราย โจ๋แห่สาด"บางแสน-พระประแดง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สรุป 7 วันอันตราย ยอดรวม 5 วัน เกิดอุบัติเหตุ 2,481 ครั้ง ตายพุ่ง 248 ราย เจ็บ 2,643 คน โคราชแชมป์ตายสะสมสูงสุด จังหวัดที่ไม่มีคนตายเลยลดลงเหลือ 8 จังหวัด ศปถ.สั่งคุมเข้มเพิ่มความปลอดภัยช่วงเดินทางกลับเข้ากรุง เตือนรถสาธารณะอย่าประมาท เหตุประชาชนฝากชีวิตไว้จำนวนมาก เผยหลายจังหวัดยังจัดสาดน้ำสงกรานต์ต่อ ทั้งบางแสน พัทยา ศรีราชา และพระประแดง วัยโจ๋แห่ร่วมเพียบ

พล.ต.ต.สุรพล อยู่นุช รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยภถึงสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย.2557 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 454 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 44 ราย และผู้บาดเจ็บ 501 คน โดยสาเหตุหลัก คือ เมาแล้วขับสูงสุด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ พฤติกรรมเสี่ยง คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 40.09 ถนนอบต. หมู่บ้าน ร้อยละ 37 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น.

ทั้งนี้ จากการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,273 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,794 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 717,921 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 115,057 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,279 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 32,658 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ 21 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 3 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 28 คน

สำหรับอุบัติเหตุทางถนนรวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย.25 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,481 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 191 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 248 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 8 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,643 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 204 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือตายเป็นศูนย์ รวม 8 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ชัยนาท เพชรบุรี ลพบุรี อ่างทอง นราธิวาส พังงา และยะลา จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 91 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราชและเชียงใหม่ จังหวัดละ 101 คน

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ศปถ.ได้กำชับให้จังหวัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ และจุดบริการ รองรับการเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ของประชาชน และให้บังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เน้นถนนสายหลักและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด โดยกวดขันและเพิ่มความถี่ในการตรวจจับรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสาร รถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถตู้โดยสาร รถรับจ้างประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับจังหวัดที่เป็นเส้นทางเข้ากรุงเทพฯ ให้ปรับแผนการปฏิบัติงาน เน้นเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ โดยเปิดช่องทางพิเศษและปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถ เพื่อระบายการจราจรให้มีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุมักมาจากการง่วงแล้วขับ จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้วางแผนการเดินทางกลับ โดยเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน จอดรถพักทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกระยะ 150-200 กิโลเมตร ในบริเวณที่ปลอดภัย อาทิ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือจุดบริการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และป้องกันอาการอ่อนล้าที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการง่วงแล้วขับ ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางถนน สามารถแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า ขอฝากถึงผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ รถตู้ จะต้องเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานรถ คุณภาพของพนักงานขับรถอย่างเข้มงวด เพราะประชาชนเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการ ต้องฝากชีวิตไว้กับคนขับรถ และกรณีที่ประชาชนต้องเดินทางในถนนที่มีความเสี่ยง คือ ทางลาดชัน ขึ้นเขาหรือลงเขา ก็ไม่ควรเลือกใช้บริการรถบัส 2 ชั้น

ทั้งนี้ กฎกระทรวงได้กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งทุกคัน หากตรวจพบมีการฝ่าฝืนไม่ติดตั้งอุปกรณ์ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ส่วนผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัด มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2557 ที่ผ่านมา

สำหรับบรรยากาศการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในจังหวัดต่างๆ ยังพบว่า มีหลายจังหวัดที่ยังคงมีการจัดงานอย่างต่อเนื่อง โดยที่จ.ชลบุรี นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)ชลบุรี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานประเพณี "ก่อพระเจดีย์ทราย วันไหลบางแสน" วันที่ 16-17 เม.ย.2557 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและประชาชน นำถังน้ำบรรทุกใส่ท้ายกระบะ เดินทางเป็นกลุ่มคณะเข้ามาเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้การจราจรตั้งแต่ถนนสุขุมวิท จนถึงทางลงชายหาดบางแสน และถนนอ่างศิลา ถนนข้าวหลาม ติดยาวนับกิโลเมตร

ขณะที่บริเวณชายหาดบางแสน ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน เช่น แข่งขันสะบ้า ช่วงรำ มอญซ่อนผ้า วิ่งเปี้ยว วิ่งกระสอบ ชักเย่อ แกะหอยนางรม มวยทะเล วิ่งสามขา และฮูลาฮูบลีลา พร้อมทั้งจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นบ้าน และยังมีการประกวดก่อพระเจดีย์ทรายบริเวณชายหาด เพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามสืบต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากเทศกาลก่อพระเจดีย์ทราย วันไหลบางแสน ยังมีเทศกาลสงกรานต์อีกหลายพื้นที่ โดยเทศบาลตำบลบางพระ อ.ศรีราชา ร่วมกับอบจ.ชลบุรี จัดงาน "ประเพณีแห่พญายม และสงกรานต์บางพระ" วันที่ 17-18 เม.ย.2557 บริเวณชายทะเลบางพระ เพื่อสืบสานประเพณีท้องถิ่นแห่งเดียวในโลก โดยวันที่ 18 เม.ย. เวลา 07.00 น. มีพิธีทางศาสนา ทำบุญเลี้ยงพระ เคลื่อนขบวนอัญเชิญองค์พญายม ที่บริเวณคอเขาบางพระ ไปยังชายหาด ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น. มีพิธีบวงสรวงแห่พญายม ถวายเครื่องสักการะ สะเดาะเคราะห์ ตกย็นอัญเชิญองค์พญายมลงสู่ทะเล เพื่อปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายม ชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างมีความสุข

ด้านเทศบาลเมืองศรีราชา อ.ศรีราชา จัดประเพณี "สงกรานต์ศรีมหาราชา และประเพณีกองข้าว" วันที่ 19-21 เม.ย.2557 บริเวณสวนสุขภาพเทศบาลเมืองศรีราชา มีกิจกรรมขบวนแห่กองข้าว การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงดนตรีไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมของเยาวชน

เทศบาลตำบลเกาะสีชัง อ.เกาะสีชัง จัดประเพณีสงกรานต์เกาะสีชัง ตั้งแต่วันที่ 13-19 เม.ย.2557 บริเวณเกาะสีชัง ไฮไลต์ของงาน คือ วันที่ 18 เม.ย. จะมีประเพณี "อุ้มสาวลงน้ำ" ที่เกาะขามใหญ่ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากชาวเกาะสีชังจะมีอาชีพประมง ต้องออกทะเลเป็นประจำ ช่วงสงกรานต์จึงได้หยุดพัก ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นจะกลับบ้านเกิด ทำให้หนุ่มสาวและครอบครัวได้มีโอกาสอยู่พร้อมหน้ากัน ได้ปรับความเข้าใจ ขอขมาลาโทษในสิ่งที่ขุ่นข้องหมองใจกัน จากนั้นชายหนุ่มหรือผู้สูงอายุจะเลือกสาวที่ชอบใจ แล้วขออนุญาตอุ้มลงเล่นน้ำทะเล ซึ่งระหว่างที่อุ้มลงน้ำจะอวยพรซึ่งกันและกัน

ด้านเมืองพัทยา จัดงานประเพณี "วันไหลนาเกลือ" วันที่ 18-20 เม.ย.2557 และ "ประเพณีกองข้าว" วันที่ 20 เม.ย.2557 โดยประเพณีวันไหลนาเกลือวันที่ 18 เม.ย. จัดที่สวนสาธารณะลานโพธิ์นาเกลือ ตั้งแต่ช่วงเช้ามีขบวนแห่พระพุทธรูปเพื่อให้ประชาชนสรงน้ำ ส่วน19 เม.ย. ประเพณีวันไหลพัทยา ที่วัดชัยมงคล พระอารามหลวง พัทยาใต้ โดยเมืองพัทยาจัดหัวจ่ายน้ำให้บริการนักท่องเที่ยวเล่นน้ำกันอย่างเต็มที่ และวันที่ 20 เม.ย. เป็นประเพณีกองข้าว ที่สวนสาธารณะลานโพธิ์ นาเกลือ เวลา12.00 น. จะมีการละเล่นไทย อาทิ การแข่งขันยิงหนังสติ๊ก มวยทะเล ปีนเสาน้ำมัน ปริศนาคำกลอน สาวน้อยตกน้ำ พิธีบวงสรวงกองข้าว ขบวนแห่นางฟ้า เทวดา ผีป่าในช่วงเย็น ซึ่งในกิจกรรมปีนี้ได้รับการร่วมมือจาก 42 ชุมชนของเมืองพัทยาเข้าร่วมส่งเสริมประเพณีพื้นบ้าน เป็นการส่งเสริมให้เกิดความรักและหวงแหนวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดกับคนในชุมชนต่อไป

ทั้งนี้ เมืองพัทยาจะปิดถนนวันที่ 19 เม.ย. เวลา 08.00-20.00 น. ตั้งแต่โค้งโรงแรมดุสิตธานี ถึงวอล์คกิ้ง สตรีท จอดรถยนต์ที่บริเวณแหลมบายลีฮาย โรงเรียนเมืองพัทยา 8 และวัดชัยมงคล

ส่วนที่ จ.สมุทรปราการ เทศบาลเมืองพระประแดง จัดประเพณีสงกรานต์พระประแดง เพื่อสืบสานประเพณีของชาวไทยเชื้อสายมอญ วันที่ 18-20 เม.ย.2557 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ชมการประกวดนางสงกรานต์ หนุ่มลอยชาย ขบวนแห่ขบวนรถบุปผชาติสวยงามตระการตา พิธีปล่อยนกปล่อยปลา ชมการละเล่นพื้นเมือง สะบ้ารามัญที่อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า และหมู่บ้านรามัญ ประเพณีกวนกาละแม เลือกชิมอาหารสะอาด รสชาติอร่อยนานาชนิด บนลานคนเมืองนครเขื่อนขันธ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้งที่บางแสน ศรีราชา เกาะสีชัง พัทยา และพระประแดงดังกล่าว ได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นทั้งในพื้นที่และจากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางเข้าไปร่วมเล่นน้ำเป็นจำนวนมาก หลังจากที่การจัดงานในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ได้จบลงไปเมื่อวันที่ 15 เม.ย.2557 ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น