xs
xsm
sm
md
lg

วิฤตพรรคแมลงสาบ ฝ่ากระแสแรงสะท้อนก้าวสู่ปีที่ 69

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ในยามนี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย กำลังอยู่ในช่วง “น้ำลด ตอผุด”เพราะหลายปัญหาเริ่มถาโถมใส่จนอยู่ในอาการ “ร่อแร่”จะตาย มิตายแหล่
ทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นผลมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานที่ล้มเหลว ความหลงในอำนาจ และผลประโยชน์มากมาย ที่พากันกอบโกยอย่างไม่บันยะบันยัง เพื่อตัวเอง และพวกพ้อง จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างให้เห็นแบบเนื้อๆ เน้นๆ ก็คือ โครงการทุจริตจำนำข้าว ที่โกงกินกันมโหฬาร กว่า 2 แสนล้านบาท ...แค่เรื่องเดียวก็สุดที่ประชาชนจะให้อภัย
หลายฝ่ายอาจจะมองว่า เป็นโอกาสดีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะอาศัยจังหวะที่คู่แข่งกำลังอยู่ในช่วงขาลง เร่งกอบโกยคะแนนนิยม จัดกระบวนทัพภายใน อัพตัวเองให้ก้าวขึ้นครองใจมวลมหาประชาชน เพื่อขยายฐานเสียงทางการเมือง
**แต่ดูเหมือนบรรดาพ่อยก แม่ยก ทั้งหลายคงต้องลุ้นเหนื่อยอยู่พอสมควร เพราะท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในยามนี้ เหมือนกำลังอยู่ในอาการ “ง่อยกิน”ไม่แพ้ฝ่ายตรงข้ามสักเท่าไรเลย
หลังจากที่ผู้ทรงบารมีอย่าง “สุเทพ เทือกสุบรรณ”ผันตัวออกไป เป็นเลขาธิการ กปปส. นำมวลมหาประชาชนเป่านกหวีด ปรี๊ดๆ กดดัน ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้ลาออกไปๆ เพื่อให้ประชาชนยึดอำนาจคืนมา แล้วจัดตั้งสภาประชาชน จัดหานายกรัฐมนตรีคนกลางมาปฏิรูป ปัดกวาดประเทศเสียใหม่ จนเรียกได้ว่า เวลานี้ “กำนันสุเทพ” ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะสามารถเรียกระดมมวลมหาประชาชนมาได้เป็นหลักล้าน ซ้ำยังไม่ใช่ม็อบเติมเงิน แต่เป็นม็อบแจกเงินให้ด้วยซ้ำ
พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยมี “มาร์ค”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินสายเกี่ยวก้อยกับ “เทพเทือก”สุเทพ เทือกสุบรรณ ตระเวนโชว์ฝีปากบนเวทีเดินหน้าผ่าความจริง สร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ ก่อนพัฒนามาเป็นการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม และจบลงด้วยเวทีราชดำเนิน จนกระทั่ง"สุเทพ"ผันตัวไปเล่นบท"ลุงกำนัน" อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
ในช่วงเวลานั้น ต้องยอมรับว่า กระแสความนิยมในตัว “มาร์ค”และพรรคประชาธิปัตย์ พุ่งขึ้นสูงอย่างมาก เพราะผลงานการฟาดฟันกับรัฐบาลในสภาต่อ ต้านการใช้อำนาจที่บ้าคลั่ง ในเรื่องต่างๆ จนสุดท้ายต้องยอมทิ้งเก้าอี้ ส.ส.ในสภา มาเล่นเกมการเมืองข้างถนน เดินไปไหนมีแต่เสียงกรี๊ดกร๊าด ขอกอด ขอหอม ขอถ่ายรูปกันชุนละมุน วุ่นวาย
และหลายคนคงจำกันได้ กับภาพที่ต้องจารึกไว้ในประวัติการเมืองไทย ที่คนอย่าง“ชวน หลีกภัย” เจ้าตำนานองค์รักษ์พิทักษ์ระบบรัฐสภา ยิ่งชีพ ควงแขน “บัญญัติ บรรทัดฐาน”ขุนพลหนวดงาม ใส่สูทหรู เดินประท้วงรัฐบาลตามข้างถนน ท่ามกลางเปลวแดดร้อนระอุ
อีกทั้งยังมีภาพของ “มาร์ค”และ ส.ส.ของพรรคหลายคน โดดขึ้นเวทีร่วมกับมวลมหาประชาชน ขับไล่รัฐบาลอย่างถึงลูก ถึงคน แต่พอเจอไม้เด็ดของฝ่ายรัฐบาล ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในมือ เล่นงานสารพัด ทั้งข่มขู่ คุกคาม ตรวจสอบ อายัดบัญชี ไปเท่านั้น หลายคนกลัวหัวหด ล่าถอยออกมาแอบลุ้นอยู่นอกวง ทันที
**ปล่อยให้ลุงกำนัน กับ พวกอีกหยิบมือ สู้ต่อไป แต่ตัวเองถอยออกมายืนแหกปาก ร้องเพลงเชียร์ ...สู้เข้าไปอย่าได้ถอย มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่ ...!
สร้างความผิดหวังให้บรรดาพ่อยก แม่ยกไปตามๆ กัน เพราะนึกว่างานนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะเอาจริง ไม่ใช่อีแอบคอย"ส้มหล่น"เหมือนที่ถูกค่อนแคะมาตลอด
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และสอดแทรกด้วยกระแสเรียกร้องให้ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงท่าทีบทบาททางการเมืองให้มากกว่า หยุดนิ่ง ไม่ขยับขับเคลื่อน หรือแสดงความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร จะเลือกเดินไปบนเส้นทางไหน
ตรงกันข้าม มีแต่จะสร้างความสับสนในบาทบาทท่าทีอยู่ตลอดเวลา เพราะขณะที่แกนนำระดับหัวอย่าง "มาร์ค" ยืนยันขันแข็ง ยอมลงเลือกตั้งอีกครั้ง แต่บนเงื่อนไขของการขยับขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศ แต่ลูกพรรคหลายๆ คน กลับออกมาปล่อยกระแสผ่านสื่อ แสดงท่าทีเปรี้ยวปาก อยากลงเลือกตั้ง อยู่เป็นระยะๆ
เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะแบ่งแนวคิดออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก ยังต้องการเดินเกมการเมืองในระบบ เน้นบทบาทการทำงานในสภา นั่นก็คือ การเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ให้รู้ดำรู้แดงกันไปว่า ใครจะแพ้ใครจะชนะใจประชาชนกันแน่
ดูจากท่าที "นายหัวชวน" และ “อภิสิทธิ์”ที่ก่อนหน้านี้ ก็เคยไปร่วมเดินรณรงค์ต่อต้านรัฐบาล และขึ้นเวทีปราศรัยช่วงต้นๆ ที่เป็นการชุมนุมต้านกฎหมายนิรโทษกรรม แต่พอยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาล ทั้งสองแทบไม่มีบทบาท สะท้อนว่ายังต้องการการเมืองในระบบ
กลุ่มที่สอง ต้องการการเมืองนอกระบบ เพราะมองว่า เลือกตั้งไปก็จะยังแพ้เหมือนเดิม การต่อสู้ในสภา ก็คงยังต้องเสียเปรียบอีกตามเคย จึงพอใจที่จะเล่นเกมการเมืองนอกสภา ดีกว่า
ส่วน กลุ่มที่สาม ต้องการการเมืองเชิงปฏิรูป เช่น ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปโครงสร้างพรรค หรือ ปฏิรูปบทบาทการทำงานในสภา จึงทำให้พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในอาการ คลุมเครือ ลูกผีลูกคน
**แม้เวลานี้ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคนจะพยายามขีดเส้นกั้น ระหว่างกลุ่ม กปปส. ของกำนันสุเทพ ว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่มองเชิงนิตินัย ก็อาจจะพอกล้อมแกล้มเชื่อตามที่ว่าได้ แต่ถ้าในมองเชิงพฤตินัย ก็เป็นเรื่องที่รับรู้กันดีว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการเกณฑ์เจ้าหน้าที่พรรค ไปนั่งทำงานประสานงานด้วยตลอด จนถึงวันนี้
อีกทั้งหากการเมืองเดินไปถึงจุดที่อาจจะมีการปฏิรูป หรืออาจจะต้องมีการเดินหน้าเข้าสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง หลายคนเชื่อว่า บรรดาแกนนำที่ปราศรัยแจ้วๆ อยู่บนเวที กปปส. ตอนนี้ ก็ยังสวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์ ลงสู้ศึกเลือกตั้งอยู่ดี
เรื่องนี้ "จุติ ไกรกฤษ์" เลขาธิการพรรคคนล่าสุด ปฏิเสธเสียงแข็งว่า อย่ามองว่าเราทับซ้อนกับกปปส. จริงอยู่แม้เป้าหมายของกปปส. กับพรรคเราอาจจะเหมือนกัน คือ ต้องการให้มีการปฏิรูป และหลายเรื่องที่กำนันสุเทพ ตั้งธงเรียกร้องให้มีการปฏิรูป มีลักษณะเหมือนกับพิมพ์เขียวประเทศไทยของพรรค 7 ข้อ ก็เพราะท่านเคยทำงานร่วมกับพรรค ก็อาจจะเคยได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้เอาไว้ เมื่อออกไปแล้ว ก็นำแนวคิดนั้นออกไปเสนอกับสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์เหมือนตกอยู่ในสภาวะ การเผชิญแรงสะท้อนจากหลายด้าน ทั้งมวลมหาประชาชนของกปปส. ที่ต้องการดึงให้มาเป็นส่วนร่วม ผลักดันให้ประเทศไปสู่การปฏิรูปด้วยสภาประชาชน ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ พากันร่วมมือกดดันให้ยอมกลับไปสู่สนามเลือกตั้งอีกครั้ง
“พวกเราไม่กลัวการเลือกตั้ง ไม่ได้กลัวว่า ถ้าลงแล้วจะแพ้ซ้ำซาก เรากล้าลงทุกครั้งอยู่แล้ว ทั้งที่รู้ว่าแพ้ ก็ยังลง อย่างปี 48 ก็ลง ก็เห็นว่าโกงกันมโหฬาร ไม่เกี่ยวว่า กลัวจะแพ้ แต่เรากลัวว่า การเลือกตั้งมันจะเป็นแค่เพื่อรักษาอำนาจ ไม่ได้ให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤต ถามว่าเลือกตั้งแล้วจะหาเสียงกันอย่างไร วันนี้ M79 ยังลงที่บ้านผม ส.ส.ผมโดนยิงเข้าที่ใบหน้า จะมองเห็นหรือเปล่า ยังไม่รู้ ยิงระเบิดจริง ระเบิดปลอม ที่หน้าบ้านกันโครมๆ ไม่เห็นรัฐบาลทำอะไรเลย แค่พื้นฐานความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ยังไม่มี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังทำไม่ได้ แล้วจะเลือกตั้งได้ยังไง แล้วพวกคุณจะผลักไสให้พวกผมลงเลือกตั้งหรือ พวกผมไมได้ต่อต้านการเลือกตั้ง แต่เรียกร้องว่า การเลือกตั้งต้องสุจริต และเที่ยงธรรม ถ้าคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น คนออกไปหาเสียงไม่ได้ แล้วจะให้มันเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตได้อย่างไร เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่มีการเลือกตั้ง แต่ยังมีอย่างอื่นอีก" นายจุติ กล่าว
ขณะที่ภายในพรรคเอง ดูเหมือนว่าจะยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับแรงสะท้อนจากเกมการเมืองต้องถูกบีบให้กลับไปสู่สนามเลือกตั้งจริงๆ วิกฤตที่พรรคต้องเผชิญคงหนีไม่พ้นเรื่ององคาพยบภายใน ทั้งเรื่องบุคลากร เรื่องทุน และ นโยบายต่างๆ
“ถ้าถามว่า เราพร้อมไหม เรื่องคน ที่ผ่านมาก็มีความพยายามทาบทามบุคคลต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ มาร่วมทำงานกับพรรค พยายามผลิตบุคลากรใหม่ๆ เพื่อให้เป็นตัวเลือกของประชาชน โดยเฉพาะมองหาสายเศรษฐกิจฝีมือฉกาจ มาเพิ่มให้มากขึ้น แต่ยอมรับว่า เป็นงานที่ หนักเอาการอยู่ เพราะหลายคนปฏิเสธ ไม่อยากมาเข้าร่วมกับเรา บางคนขอแค่ช่วยทำงานอยู่เบื้องหลัง อย่างลับๆ ไม่แสดงออก เพราะตอนนี้คนกลัวกันมาก ไม่กล้ามาหนุนพรรคอย่างเต็มตัว กลัวสรรพากรตรวจสอบ กลัวดีเอสไอสอบ เพราะพวกเขาก็ยังต้องทำมาหากินเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งเราก็เข้าใจ”
อย่างไรก็ตาม แม่บ้านพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่า ทุกวันนี้ก็พยายามทำพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ด้วยการให้สาขาพรรคไประดมพบปะมวลชน ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราได้สมาชิกเพิ่มไม่มาก แต่เพิ่มอยู่ตลอด ช่วงปีที่ผ่านมาได้เป็นหลักหมื่น เพราะเราไม่ได้ทำกิจกรรมขยายสาขาพรรคมานาน ตอนท่านสุเทพ เป็นเลขาธิการพรรค ท่านทำไว้ 8 ปี แล้วก็หยุดไป ตนตั้งใจจะเดินหน้าทำต่อไป การไปหาสมาชิกของเรา ต้องไปคุยกับชาวบ้าน ว่าบ้านเมืองมีปัญหาอะไร และเสนอแนวทางการปฏิรูป 7 ข้อ ของพรรค เมื่อเขาเห็นด้วย ก็สมัครเป็นสมาชิก
ส่วนเรื่องทุนยิ่งแล้วใหญ่ นายทุนต่างๆ ที่เคยสนับสนุนพรรค ตอนนี้ลดฮวบเลย นับตั้งแต่มีการแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน หลายคนถูกตรวจสอบ เพราะความลับรั่วไหล อีกทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็ให้มีการรายงานรายรับ รายจ่าย มันต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ก็ทำให้มีการไปไล่ตรวจสอบภาษี ส่งเจ้าหน้าที่มากดดัน สารพัดวิธี หลายคนเลยของดที่จะบริจาค ทำให้เงินที่ได้จากการบริจาคลดไปประมาณ 20 เปอร์เซนต์ ปีนี้รายได้ที่เข้ามามาจากเงินบริจาคของ ส.ส. และคณะกรรมการบริหารพรรคปีละ 18 ล้าน งบฝึกอบรมทางการเมืองของ ก.ก.ต. 39 ล้าน ผู้บริจาคตลอดทั้งปี 40 ล้าน มีประชาชนบริจาคผ่านภาษี ประมาณ 10 ล้านบาท และเงินที่สมาชิกพรรคบริจาคทุกคนต้องบริจาค รวมแล้วกว่า 40 ล้านบาทต่อปี
ปีนี้พรรคประชาธิปัตย์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 ซึ่งบางคนเตือนว่า ระวังจะเป็นตัวเลข"หกคะเมนตีลังกา" แต่"จุติ" มองว่าเป็นตัวเลขของ “การก้าวไปข้างหน้า” เพราะไม่มีพรรคไหน ที่ยิ่งใหญ่เท่าพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว และถ้ามองย้อนกลับไป 68 ปี จะเห็นว่า พรรคเรามีจุดอ่อน และจุดแข็งอันเดียวกัน จุดอ่อนก็คือ ความไม่มีวินัยภายในพรรค เพราะทุกคนเท่ากันหมด กว่าจะตกผลึกอะไรสักเรื่อง ก็เล่นเอาเหนื่อย เพราะไม่มีใครมาสไกป์ สั่งการได้ จุดแข็งก็คือ มีความเป็นประชาธิปไตยสูง
"พรรคนี้มีคนดื้อเยอะ เลยตายยาก ฆ่ากันไม่ได้ แม้จะมีการเรียกเราว่าเป็น "พรรคแมลงสาบ" แต่เราไม่ใช่ เราแค่ยึดมั่นในหลักการและกฎหมายเพราะพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่เราทำมาหลายอย่าง ล้วนอยู่บนความถูกต้อง ให้ผิดอย่างไร เรายอมเสียคะแนน แต่ไม่ยอมเสียหลักการ ตอนแรกๆ ก็จะถูกด่าว่า แต่สุดท้าย ก็ยอมรับว่า สิ่งที่เราทำนั้นมันถูกต้อง"
**คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ปีที่ 69 ของพรรคการเมืองที่เก่าแก่ยาวนานพรรคนี้ จะหกล้ม ลุกไม่ขึ้น หรือจะก้าวเดินหน้าได้อย่างแข็งแรง มั่นคง รอดพ้นจากวิกฤตรอบด้านที่รุมเร้า เหมือนฉายาที่ได้รับว่า “พรรคแมลงสาบ” ที่ไม่มีวันสูญพันธุ์ ได้หรือไม่..!
กำลังโหลดความคิดเห็น