xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

2 โศกนาฏกรรมลูกฆ่าพ่อแม่ สัญญาณเตือนภัยสังคมไทยยุคดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตตินันท์ หอมชง หรือเต้ย  ผู้ก่อเหตุฆ่าพ่อแม่และพี่ชายที่เกิดขึ้นเป็นรายที่ 2 ในช่วงระยะเวลาห่างกันไม่นานนัก
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -โศกนาฏกรรมที่ลูกบังเกิดเกล้าฆ่า “พ่อแม่พี่น้อง” ได้กลายเป็นคดีสะเทือนใจมากที่สุดในเวลานี้ เนื่องเพราะเกิดเหตุการณ์ซ้ำซากติดต่อกันในชั่วระยะเวลาไม่ นานนัก

คดีแรกที่สั่นสะเทือนความรู้สึกคนทั้งประเทศเกิดขึ้นที่จังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2557 เมื่อ “นายวัฒน์(นามสมมติ)” ได้ตัดสินใจดับชีพบุพการีและน้องชายที่คลานตามกันมา 3 คนอย่างเหี้ยมโหด

มิหนำซ้ำมือกระทำปิตุฆาต-มาตุฆาตยังสร้างเรื่องด้วยการให้การว่าน้องชายที่เสียชีวิตน่าจะเป็นคนก่อเหตุฆ่ายกครัวเนื่องจากน้อยใจพ่อแม่ที่ชอบตำหนิเรื่องผลการเรียนตกต่ำและรักตนเองมากกว่า ซึ่งเมื่อได้ลงมือฆ่าพ่อแม่แล้ว น้องชายจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อหนีความผิด แต่สุดท้ายความจริงก็ปรากฏและกลายเป็นว่า “นายวัฒน์” คือคนที่ลงมือสังหารโหดในครั้งนี้

“ผมโกรธที่ถูกด่าเรื่องผลการเรียน ที่ผ่านมาโดนพ่อและแม่ดุด่าเรื่องนี้มาโดยตลอด ต่อมาเขาสัญญาว่าจะซื้อรถยนต์ให้หากผมสามารถสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่พอผมสอบได้เขาก็ไม่ทำตามสัญญา โดยเปลี่ยนไปซื้อคอนโดมิเนียมใกล้มหาวิทยาลัยให้แทน วันเกิดเหตุแม่ด่าเรื่องผลการเรียนอีกเลยไม่พอใจซึ่งได้เล่าให้แฟนฟัง”

นั่นคือถ้อยคำสารภาพของนายวัฒน์ที่ลงมือสังหารโหด พ่อ-แม่และน้องชาย

และถัดจากนั้นก็ตามติดมาที่คดีที่สองกับ “ครอบครัวหอมชง” เมื่อลูกชายคนเล็กคือ นายกิตตินันท์ หอมชง หรือเต้ย ยอมรับสารภาพว่าได้ร่วมกันวางแผนกับหนุ่มคู่ขาคือนายศักรินทร์ พันธกุล หรือ “กอล์ฟ” เพื่อจ้างวานเพื่อนอีก 2 คน ฆ่าพ่อ-แม่-พี่ชายตนเองกลางดึกสงัดของคืนวันที่ 6 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา โดยมีค่าตอบแทนเป็นรถยนต์ 1 คัน สร้อยคอทองคำ และพระเครื่องให้กับมือปืนซึ่งก็คือ นายสิริชัย เพิ่มพูนทรัพย์ โดยมีนายป๊อด เที่ยงธรรม เป็นคนติดต่อประสานงาน ส่วนนายสุระพงษ์ ชูพันธ์ เป็นผู้ทำหน้าที่ไขกุญแจบ้านหลังที่เกิดเหตุ

โดยแรงจูงใจที่ทำให้นายเต้ยตัดสินใจวางแผนฆ่าครอบครัวตนเองนั้น เป็นเพราะต้องการครอบครองมรดกทั้งหมด อีกทั้งปมปัญหาที่สั่งสมมานานที่ตนเองรู้สึกว่า พ่อกับแม่ลำเอียงรักลูกไม่เท่ากันซึ่งพ่อกับแม่จะให้ความรักกับพี่ชายคือร.ต.ท.ธรรมณัฐ หอมชง มากกว่า จึงทำให้เก็บกดจนเป็นเหตุผลจูงใจในการจ้างวานฆ่ายกครัวครั้งนี้

คำถามจึงมีอยู่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสถาบันครอบครัวไทย ? มีลูกบังเกิดเกล้าที่มีความคิดจะฆ่าพ่อ-แม่แท้ๆ ให้ตายต่อหน้าต่อตา โดยที่ไม่รู้สึกสำนึกในบุญคุณที่ได้เกิดมาเป็นลูกได้เลยหรือ?

ทั้งนี้หากจะพูดกันถึงตามหลักศาสนาพุทธแล้ว การฆ่าพ่อ-แม่นั้นถือเป็นบาปหนักที่สุด โดยจัดอยู่ในโทษแห่งอนันตริยกรรม ซึ่งมีความหมายว่า “กรรมที่หนักที่สุด” หรือครุกกรรม ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะให้ผลกรรมทันที โดยแบ่งได้เป็น 5 อย่างคือ 1. มาตุฆาต (ฆ่ามารดา) 2.ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา) 3.อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์) 4.โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้า) 5.สังฆเภท (ทำลายสงฆ์)

โดยกรรมแห่งอนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการนี้ ผู้ใดทำกรรมอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนเช่นกรณีลูกฆ่าพ่อ-แม่นั้น เรียกว่ากระทำ “มาตุฆาต-ปิตุฆาต” ก็ถือว่าผู้นั้นจะได้รับโทษทั้งทางโลกและทางธรรม

โทษทางโลกก็คือ จะถูกผู้คนประณามและสาปแช่ง ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย และยังถูกกฎหมายบ้านเมืองลงโทษอีก ส่วนโทษของทางธรรมคือ ผู้ที่ฆ่าพ่อ-แม่นั้นจะถูกถือว่า เป็นคนบาปหนักและบาปหนาที่สุด จนไม่อาจยกโทษให้ได้เลยแม้แต่น้อย ซึ่งตามหลักพระพุทธศาสนายังกล่าวไว้อีกว่า ผู้ใดทำกรรมอนันตริยกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะไม่สามารถบวชเป็น “พระภิกษุ” ได้เลย เพราะถือว่าเป็นผู้ต้องปาราชิก และจะไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานใดๆได้เลยตลอดชีวิตในชาติที่ยังมีชีวิตอยู่ และเมื่อตายไปก็จะต้องตกนรกสถานเดียว ไม่สามารถขึ้นสวรรค์ได้ ต่อให้ทำกรรมดีมากมายก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากนรกไปได้เลย

เรียกได้ว่า ลูกที่ฆ่าพ่อ-แม่นั้นจะได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ครั้นเมื่อมีชีวิตอยู่ สังคมก็ไม่ยอมรับ หรือแม้แต่กระทั่งตายไป ก็ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากบาปที่ตามติดตัวไปได้

ทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณีนั้น ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดเลยว่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาฝังรากลึกของสถาบันครอบครัวที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ

รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความเห็นกรณีลูกฆ่าพ่อ-แม่เอาไว้ว่า สถาบันครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการเลี้ยงลูกที่ฝังรากลึกมาช้านาน

“สิ่งที่เราพบว่าเป็นปัญหามากในครอบครัวปัจจุบันคือ พ่อแม่อาจตั้งความหวังกับลูกมากไป ปกติหลักการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ไม่ว่าชาติไหนก็ตาม จะมีการเลี้ยงดูอยู่ 3 ประเภท คือ 1.เลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย 2.เลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตย และ 3.เลี้ยงลูกแบบเข้มงวดกวดขัน ซึ่งเป็นระบบการขัดเกลาทางสังคม ถ้ากวดขันมากๆ เขาก็จะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา เพราะอาจรู้สึกทับถมอยู่ในใจมาก่อนแล้ว ซึ่งถ้าเขาสะสมมากๆ ก็เหมือนระเบิดเวลารอบึ้ม”

สอดคล้องกับอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีอิสระและผู้เขียนหนังสือ อาชญากรเด็ก ได้กล่าวถึงประเด็นลูกฆ่าพ่อ-แม่นั้น ครอบครัวควรหันมาให้ความอบอุ่นกับลูกอย่างเพียงพอ

“ส่วนตัวคิดว่าจุดนี้เป็นภาพสะท้อนของครอบครัวไทยบางอย่างนะ โดยเฉพาะครอบครัวชนชั้นกลาง เราไม่ได้รักลูกอย่างที่เขาเป็นแต่รักลูกอย่างที่อยากให้เขาเป็น คือเราขีดเส้นให้ลูก วางกรอบให้ลูกว่าต้องเป็นอย่างที่พ่อแม่อยากให้เป็น ซึ่งจริงๆแล้วความรักของพ่อแม่ที่ถูกต้อง ต้องรักแบบไม่มีเงื่อนไข เป็นความรักโดยเมตตา รักแบบเข้าใจเขา สอนให้เด็กได้เรียนรู้โดยความเป็นจริง ไม่ว่าเขาจะดีหรือไม่ดี ความรักของพ่อแม่ก็ไม่ควรจะมีข้อแม้”

“ เราไม่ได้ลงไปพูดคุยกับตัวเด็กที่กระทำผิด แต่ฟังจากข้อมูลก็รับรู้ว่าพ่อของน้องเข้มงวดมาก อาจจะเพราะว่าพ่อน้องเขาเป็นทหาร พอมีอะไรในบ้าน แม่กับพี่ชายจะค่อนข้างปิดเงียบ ไม่บอกให้พ่อรู้ ซึ่งเด็กเขาไม่ได้อยากเป็น มันทุกข์มากนะ ให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาไม่อยากเป็น และลึกๆแล้วเราก็ไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ภายในบ้านนี้เป็นยังไง”

“ ถ้าปกติแล้ว คุณพ่อเป็นคนเข้มงวดมาก บรรยากาศในบ้านมันคงไม่น่าจะทำให้เด็กรู้สึกสบายใจ ทั้งๆ ที่พื้นที่ของบ้านควรจะทำให้เด็กรู้สึกสบายที่สุด ในบ้านคือพื้นที่ที่คนเราควรจะเป็นตัวของตัวเองที่สุดแล้ว ถ้าเทียบกับพื้นที่ทั่วๆไปนะ ในบ้านควรจะเป็นพื้นที่ของคนที่พร้อมจะเข้าใจเขาจริงๆ คนที่เข้าใจเขาที่สุด อยู่แล้วรู้สึกสบาย อบอุ่น มีความสุข”

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สะเทือนใจที่เกิดขึ้นดังกล่าวก็ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่า ตัวเด็กนั้นมีอาการจิตผิดปกติหรือไม่ เพราะกรณีลูกฆ่าพ่อ-แม่ล่าสุดนั้น เขามีเพศสภาพเป็นเกย์ คือมีใจที่รักใคร่ชอบพอกับผู้ชายด้วยกัน จึงทำให้คนในสังคมคิดว่า ด้วยเหตุผลตรงนี้ด้วยหรือไม่ ที่เป็นปัญหาทำให้เกิดการคิดวางแผนก่อเหตุดังกล่าว

“ลูกชายคนเล็กวัย 22 ปี มีส่วนรู้เห็นว่า โดยหลักการแล้ว ผู้ต้องหาน่าจะมีปัญหาไม่ปกติทางจิตใจ น่าจะมีปัญหาเรื่องบุคลิกภาพ การตัดสินใจที่ไม่เป็นไปตามกฎ หรือค่านิยมของสังคม ไม่มีใครทำแบบนี้กับคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อ แม่ พี่ น้อง แม้การทะเลาะกันในครอบครัวอาจเป็นไปได้ แต่การวางแผนฆาตกรรม เป็นสิ่งที่ค่อนข้างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะเกี่ยวกับการที่ผู้ต้องหามีพฤติกรรมเป็นเกย์ เพราะเกย์หลายคนก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อต้านสังคม

“สำหรับพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยกันในครอบครัว แก้ปัญหาซึ่งกันและกัน เมื่อมีเรื่องกดดันทางอารมณ์ จะต้องตกลงกันว่าจะไม่ใช่ความรุนแรงมาแก้ปัญหา ซึ่งจะส่งผลที่หนักกว่าตามมา ต้องต่อสู้ อดทน ไม่ตอบโต้ทันทีด้วยความรุนแรง ส่วนสัญญาณที่พ่อแม่จะต้องระวังพฤติกรรมของลูก คือเมื่อเริ่มเห็นความหมกมุ่น เก็บตัว ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับใคร อารมณ์เริ่มแปรปรวน ต้องรีบเปิดโอกาสคุยกัน แลกเปลี่ยนกันด้วยความเข้าใจ อย่างน้อยให้ลูกได้ระบายความไม่พอใจบ้าง บรรเทาปัญหาลงได้” พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าว

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ลูกฆ่าพ่อ-แม่หรือเกิดจากการเลี้ยงดูพ่อ-แม่รังแกฉัน กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า สถาบันครอบครัวบกพร่องอย่างเห็นได้ชัด

และความสูญเสียของตระกูล “หอมชง” น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างให้อีกหลายคนได้ฉุกคิดบทบาท-หน้าที่ที่มีต่อสมาชิกในครอบครัวบ้าง...ไม่มากก็น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น