xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงเศรษฐกิจทรุดยาว จี้ตั้งรบ.ใหม่ฟื้นเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงกูรูถกเสวนา "ผลกระทบวิกฤติการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย" ห่วงการเมืองฉุดเศรษฐกิจ “ธีระชัย” เตือนเศรษฐกิจไทยอาจชะลอตัวถึงครึ่งปีหลัง เหตุความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายต้องใช้เวลา 1-2 เดือน หวังให้รัฐบาลใหม่เกิดขึ้นได้ภายในครึ่งปีหลัง ไม่งั้นเศรษฐกิจไทยอาจทรุดหนักลากยาว

วานนี้ (8 เม.ย.) คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา จัดสัมมนา "ผลกระทบวิกฤติการเมืองต่อเศรษฐกิจไทย" โดยนายธีระชัย ภูวนานรานุบาล อดีตรมว.คลัง กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวถึงช่วงครึ่งปีหลัง เพราะการบริโภคในประเทศชะลอตัว โดยมองว่าความขัดแย้งจะคลี่คลายลงในอีก 1-2 เดือนข้างเพราะเริ่มมีการเจรจากันบ้างแล้ว ทุกฝ่ายรู้ว่าหากยืดเยื้อออกไปจะกระทบหนักในหลายด้าน เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหากจะกระทบไปยังการจ้างงาน คนขาดรายได้ มีปัญหาหนี้เอ็นพีแอล และกระทบไปยังทุกฝ่าย และหากมีรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าจะมาจากแนวทางใด อันดับแรกควรหาแหล่งเงินมาจ่ายค่าจำนำข้าวให้กับชาวนา เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของชาวนา
นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า หลังจากสหรัฐได้ทะยอยยกเลิกมาตรอัดฉีดเงินออกสู่ระบบ ย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเอเชียอย่างแน่นอน เพื่อต้องมีปัญหาเงินไหลออกกลับไปยังสหรัฐ เมื่อเงินไหลออกย่อมส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำกลับไปเริ่มสูงขึ้น ย่อมกระทบต่อหนี้สินภาคครัวเรือน โดยยอดภาระหนี้สินสินเดือนธันวาคมปี 55 มียอด 2.9 ล้านล้านบาท และเมื่อถึงสิ้นปี 56 มียอดภาระหนี้สินภาคครัวเรือน 3.2 ล้านล้านบาท เพียงปีเดียวหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่ม 3 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มจาก 56,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 72,000 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การส่งออกกลับมาเป็นส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในช่วงเดือนมกราคมการส่งออก ไปยังสหรัฐ ยุโรป จีน อาเซียนขยายตัวสูงมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ขยายตัวสูง 6.8% ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม
สำหรับปัญหาการเมือง คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกคงยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล เพื่อมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ หากในครึ่งปีหลังยังจัดตั้งไม่ได้อีก จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างสาหัส เพราะไม่สามารถจัดทำงบปี 58 งบลงทุนไม่ออกสู่ระบบมีแต่งบประจำ จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมหาข้อยุติโดยเร็วเพื่อให้มีรัฐบาลโดยเร็วที่สุด โดยเป็นรัฐบาลที่สามารถทำงานได้และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และเดินหน้าปฎิรูปอย่างจริงจัง
นางสาวกิริฎา เภาวิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า คาดว่าจีดีพีของไทยในปีนี้จะขยายตัว 3% แต่กำหนดให้เป็นค่ากลาง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตลาดโลกฟื้นตัว ทำให้มีรายได้จากการงส่งออกเพิ่ม แนวโน้มราคาน้ำมันลดลง อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การลดอัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคล สำหรับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติยังไหลเข้ามาในแถบอาเซียนมีสัดส่วนถึง 50% ของเงินลงทุนโลก นับว่าเป็นภูมิภาคทีมีศักยภาพมาก ทำให้ไทยมีโอกาสจากเงินลงทุนดังกล่าว แต่หากปัญหาการเมืองยืดเยื้อ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อาจทำให้จีดีพีลดลงและถึงขั้นติดลบได้
แต่ยังมีความเสี่ยงจากภาระหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงจากปัญหาการเมือง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง รวมถึงความล่าช้าจากเงินลงทุนของภาครัฐจากปัญหาการเมือง ซึ่งจะเกิดผลระยะสั้นในปีนี้ อย่างไรก็ตามในอีก 5 ปี ข้างหน้าจะเกิดผลต่อความล่าช้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจนกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงความไม่ต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งการศึกษาและรายได้ของไทยยังมีปัญหาสูงมาก จนกระทบต่อเศรษฐกิจได้ในระยะยาว จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จากปัญหาการเมืองกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน การไม่สามารถจัดทำงบปี 58 ได้ตามกำหนด จึงทำให้งบปี 58 ในช่วงปลายปีนี้ เงินลงทุนต้องหายไป 9 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท เงินลงทุนภาครัฐหายไปจากแผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท และแผนบริหารจัดการน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท ยอดการท่องเที่ยว หดหายไปจึงทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่ถึง 28 ล้านคนตามเป้าหมาย จึงอาจต้องปรับเป้าหมายจีดีพีจาก 3-4% แต่ในปีนี้หากจะทำให้จีดีพีขยายตัว ต้องเน้นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นหลัก โดยเปลี่ยนจากปีก่อน การส่งออกขยายตัว 0% จีดีพีขยายตัว 2.9% แต่ในปีนี้การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 5-7% แต่เศรษฐกิจประเทศขยายตัวน้อยลง.
กำลังโหลดความคิดเห็น