xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สงคราม “ห้างหรู”ระอุ เซ็นทรัลชิงเปิด “Embassy”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากการเปิดตัว Central World ซึ่งถือเป็น “อภิมหาโครงการ” ของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อปี 2549 นับจากนั้นก็ดูเหมือนว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะยังไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โครงการใดที่มีความสำคัญต่ออนาคตของเครือได้มากมายเท่ากับโครงการ “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่” อีกแล้ว

“กลุ่มเซ็นทรัลไม่เคยลงทุนโครงการไหนที่ใช้เม็ดเงินลงทุนต่อตารางเมตรมากเท่าโครงการนี้มาก่อน” ชาติ จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ โครงการ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ขยายความว่าโครงการนี้มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1.44 แสน ตร.ม. โดยงบลงทุนตั้งไว้สูงถึง 1.8 หมื่นล้านบาท

ครั้งหนึ่ง ทศ จิราธิวัฒน์ ในสมัยที่ยังเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกลุ่ม CRC เคยบอกไว้ว่า “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่” จะเป็นโครงการที่มีความสำคัญกับกลุ่มเซ็นทรัลอย่างมาก เพราะจะมาต่อยอดภาพลักษณ์ความเป็นห้างไฮเอนด์ให้กับกลุ่มต่อจาก “เซ็นทรัล ชิดลม” ซึ่งวางตำแหน่งเป็น “เรือธง (Flagship)” ห้างหรู ในการใช้เจาะกลุ่มลูกค้าชนชั้น Elite และลูกค้าเกรด A ขึ้นไป รวมถึงรุ่นลูกหลานของกลุ่มดังกล่าว เพียงแห่งเดียวมานานร่วม 40 ปี

“คนกลุ่มนี้ต้องการอะไรที่เป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้า ประกอบกับเซ็นทรัล ชิดลมยังขาดเรื่องของ Food และ Entertainment แต่เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัด เราจึงทำอะไรได้ไม่มากนัก”

นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลในการซื้อที่ดิน 9 ไร่ของสถานทูตอังกฤษ ติดกับเซ็นทรัล ชิดลม เมื่อปี 2549 อันเป็นที่มาของชื่อโครงการ ซึ่งสามารถสื่อถึงความเป็นนานาชาติได้ด้วย โดยราคาที่ดินที่กลุ่มเซ็นทรัลประมูลได้สร้าง talk-of-the-town ในฐานะแชมป์ราคาที่ดินที่แพงที่สุดของเมืองไทยในขณะนั้น ณ สนนราคาราว 9.5 แสนบาทต่อตารางวา

“นับตั้งแต่ได้ที่ดินผืนนี้มา “ผู้ใหญ่” ของกลุ่มเซ็นทรัลก็มีวิสัยทัศน์จะสร้างโครงการที่เป็น ICONIC และเป็นระดับ World Class ที่จะทำให้เราทุกคนสามารถภาคภูมิใจ ซึ่งวันนี้ อาคารนี้ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้ว โดยเฟสแรกซึ่งรวมตัวศูนย์การค้า เราถือว่ามันเป็นความสำเร็จที่เราสามารถพลิกโฉม Luxury Retail ในเมืองไทยได้”

ทั้งนี้ เฟสแรกของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ประกอบไปด้วยพื้นที่เช่าสำหรับร้านค้าเกือบ 1 แสน ตร.ม. ประกอบด้วยร้านค้าที่เป็นแบรนด์ชั้นนำระดับโลกกว่า 200 ร้านค้า โดยแบ่งเป็นแบรนด์แฟชั่น 70% และร้านอาหาร 30% โดยมีร้านที่เป็นแบรนด์ใหม่ไม่เคยเข้ามาในเมืองไทย 20% และเป็นแบรนด์ที่เคยมาเมืองไทยแต่ทำร้านภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่อีก 15%

ในเฟสแรกของโครงการยังมีโรงภาพยนตร์ “The Embassy Diplomat Screens” จำนวน 5 โรง ลงทุนราว 100 ล้านบาท ดำเนินการโดยบริษัทจากแคนาดาผู้นำโรงภาพยนตร์ IMAX เข้ามาในเอเชีย โดยจะเป็นโรงภาพยนตร์บริการหรูกว่าเฟิร์สคลาส ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เหมือนดูหนังอยู่ในบ้านของซีเล็ปหรือดาราฮอลลีวู้ด” โดยมีบริการ Butler service และเลาจน์ เหมือนโรงแรม โดยค่าตั๋วเฉลี่ย 1 พันบาท และ 1.5 พันบาท

สำหรับเฟสสอง ได้แก่ ส่วนของโรงแรมระดับ 6 ดาว บนพื้นที่ราว 3.5 หมื่น ตร.ม.จำนวน 222 ห้อง แต่ละห้องพักมีขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ตร.ม. ดำเนินงานภายใต้แบรนด์ “ปาร์ค ไฮแอท” ซึ่งเป็นการโรงแรมระดับ 6 ดาวแห่งแรกของเมืองไทย ปัจจุบัน โรงแรมแบรนด์นี้มีอยู่เพียง 36 สาขา อยู่ในมหานครของโลก อย่างวอชิงตัน ปารีส มิลาน โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และซิดนีย์ เป็นต้น คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2558

สำหรับชาติ นี่นับเป็นเวลากว่า 7 ปีแห่งการรอคอย ตั้งแต่ที่เขาได้เห็นภาพโครงร่างบนแผ่นกระดาษ จนมาถึงเร็ววันนี้ที่เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ เฟสแรกจะเสร็จสมบูรณ์ พร้อมอวดโฉมต่อสายตาชาวไทยและชาวโลกในวันที่ 8 พ.ค. นี้ โดยเขามั่นใจว่า นี่จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของไลฟ์สไตล์แห่งการชอปปิ้งระดับ “หรู” กว่าปกติให้กับลูกค้า

เริ่มจาสถาปัตยกรรมของอาคารที่ถูกดีไซน์ให้เป็น “Iconic Building” หรือมีเอกลักษณ์โดดเด่นนานหลายสิบปี เหมือนอาคารดังๆ ในมหานครของโลก อย่างอาคารไทเป 101 ของไต้หวัน โตเกียว มิดทาวน์ ของญี่ปุ่น แปซิฟิก เพลส ของฮ่องกง หรือไอเอฟซี ของเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ตัวตึกใช้บริษัทของคนไทยที่ชื่อ บริษัท PI เป็นผู้ออกแบบ ตัวตึกเมื่อมองจากด้านข้าง บ้างก็ว่าเหมือนรองเท้าบู๊ต บ้างก็ว่าเรือใบ ส่วนชาตินิยามว่าเป็น “ชิ้นงานศิลปะ” แต่หากมองจากด้านบนจะดูคล้ายเลข 8 หรือ สัญลักษณ Infinity ซึ่งเป็นความหมายที่ดีในเชิงฮวงจุ้ย

นอกจากนี้ยังสะท้อนคอนเซ็ปต์ของโครงการคือ “Infinite Possibilities” หรือ “ทุกความเป็นไปได้เกิดขึ้นที่นี่” และ “Infinite Connections” หมายถึงการเป็นศูนย์รวมของ “สิ่งที่ดีที่สุด” ที่คัดสรรมาจากทั่วโลก ทั้งเรื่องวัสดุที่ใช้ก่อสร้างและตกแต่ง การตกแต่งร้านของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่น ร้านอาหาร ไลฟ์สไตล์ และเอ็นเตอร์เทนเมนต์

“ประสบการณ์สำคัญมาก ชอปปิ้งไม่ใช่เรื่องของสินค้าอย่างเดียวแล้ว เพราะถ้าจะซื้อสินค้าซื้อที่ไหนก็ได้ ซื้อออนไลน์ก็ได้ สะดวกกว่า แต่ถามว่าทำไมต้องขับรถมาที่นี่ มันเป็นเรื่องของประสบการณ์และบริการ”

ชาติเคยเล่าว่า เขาได้คุยกับทีมปฏิบัติการ (Operation) ถึงคอนเซ็ปต์การให้บริการว่า อย่ามองว่า “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่” เป็นศูนย์การค้า ให้มองว่าเป็น “โรงแรม 6 ดาว” โดยให้เปลี่ยนคำเรียกผู้ใช้บริการว่า “ลูกค้า” เป็น “แขก” แทน

“โครงการนี้จะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเซ็นทรัล นี่ไม่ใช่แค่ “Just Another Shopping mall” หรือ “Just Another Central” แต่โจทย์แรกของเราคือการสร้างสถาปัตยกรรมระดับเวิลด์คลาส และทำในสิ่งที่เซ็นทรัลไม่เคยทำมาก่อน และยังไม่เคยมีที่ไหนทำ ตั้งแต่เห็นบนกระดาษ เราทำมันอย่างเต็มที่ เราอยากให้คนทั่วโลกรู้สึกว่า ตอนนี้ ในเมืองไทยมี Luxury Segment เกิดขึ้นแล้ว ที่นี่จะเติมเต็มและตอบสนองเรื่องไลฟ์สไตล์หรูเลิศได้จริงๆ”

นอกจากนี้ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ นี้ยังจะเป็น “ต้นแบบ” ของศูนย์การค้าในเครือเซ็นทรัลที่จะใช้วิธีการเก็บค่าเช่าเป็นแบบร้อยละ (%) ของยอดขายของแบรนด์ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ต้องการรู้ยอดขายที่แท้จริงของแบรนด์ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการพื้นที่เช่าและการตลาด

ทั้งนี้ ชาติคาดว่าจะหลังเปิดโครงการในเฟสแรกจะมีลูกค้าหมุนเวียนเฉลี่ย 5-6 หมื่นคนต่อวัน โดยน่าจะเป็นลูกค้าต่างชาติ 50% ซึ่งลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มลูกค้าระดับ A+ จากประเทศในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลี และจีน ซึ่งมีกำลังซื้อสูง

ชาติระบุว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเตรียมสร้างโครงการหรูระดับเดียวกับเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ อีก 1 แห่งในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาน่าจะเสร็จภายในสิ้นปี และอาจจะเริ่มก่อสร้างภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ โดยยังไม่สรุปว่าจะใช้ชื่อนี้หรือไม่

แม้ว่าดูเหมือนบรรยากาศบ้านเมืองตอนนี้อาจจะยังไม่ค่อยพร้อม แต่ชาติย้ำว่าเขาพร้อมมากสำหรับการเปิดตัวโครงการนี้ให้เป็น Talk-of-the-Town ไปทั่วโลก โดยเตรียมทุ่มงบ 100 ล้านบาทเฉพาะวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ และงบอีก 200 ล้านบาท สำหรับการจัด “ซิกเนอเจอร์ อีเว้นท์” ในช่วง 7-8 เดือนที่เหลือของปีนี้

ขณะที่เซ็นทรัลใช้เพลินจิตเป็นฐานที่มั่นในการดูดทรัพย์จากกระเป๋าลูกค้าไฮเอนด์และเวรี่ไฮเอ็นด์ (very hi-end) โดยมี “แม่เหล็ก” อย่าง เซ็นทรัล ชิดลม และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ ฟากคู่แข่งอย่างเดอะมอลล์เอง ก็กำลังแผ่อาณาจักรห้างหรูของตัวเอง โดยยึดสุขุมวิท 24 หรือ “สถานีพร้อมพงษ์” เป็นฐานอันมั่นคง

โดยปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเดอะมอลล์ได้แถลงถึงความคืบหน้าของศูนย์การค้าแห่งใหม่ ได้แก่ “ดิ เอ็มควอเทียร์” ที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ดิ เอ็มโพเรี่ยม 2” ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเอ็มโพเรี่ยมแห่งแรก ขณะที่ “ดิ เอ็มสเฟียร์” หรือ “เอ็มโพเรี่ยม 3” จะอยู่ฝั่งเดียวกับแห่งแรก จึงทำให้ศูนย์การค้าทั้ง 3 แห่ง ดูเสมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน ซึ่งรวมกันเป็นพื้นที่กว่า 5 แสน ตร.ม. ซึ่งศูนย์การค้าใหม่ทั้ง 2 แห่งจะใช้งบลงทุนราว 2 หมื่นล้านบาท

ศุภลักษณ์ อัมพุช รองประธานกรรมการ “กลุ่มเดอะมอลล์” ระบุว่า ด้วยความใหญ่ของพื้นที่จะเป็น “แม่เหล็ก” ของสินค้าและบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็น “ย่านการค้า” ไม่ใช่เพียงแค่ศูนย์การค้า ยิ่งเมื่อบวกกับโมเดลของศูนย์การค้าแห่งใหม่ของเดอะมอลล์ที่เป็นคอนเซ็ปต์ผสมผสานระหว่างรีเทล-ออฟฟิศให้เช่า-เรสซิเดนต์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เธอเชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้จะกลายเป็น “เมืองใหม่” และ “Landmark” แห่งการชอปปิ้งได้ไม่ยาก

จากเดิมที่คาดว่าโครงการ ดิ เอ็มควอเทียร์ น่าจะเปิดตัวได้ภายในปลายปี 2557 และ ดิ เอ็มสเฟียร์จะเปิดตัวในปี 2559 อาจจะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องด้วยความไม่สงบทางการเมืองทำให้ผู้บริหารสาวแห่งค่ายเดอะมอลล์ ตัดสินใจที่จะชะลอแผนลงทุนในโครงการใหม่ทั้ง 2 แห่งออกไปก่อน

นอกจาก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ในธุรกิจศูนย์การค้าอย่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ กลุ่มสยามพิวรรธน์เองก็เตรียมจะเปิดโครงการหรูภายในปี 2558 โดยร่วมมือกับกลุ่มซีพี ขณะที่ “เกษร” ก็ทุ่มงบขยายพื้นที่ศูนย์การค้าของตัวเอง เพื่อให้ทันกับการเปิดประชาคมอาเซียน

การเปิดตัวเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ จึงเรียกได้ว่าเป็นการโหมโรงสนามแข่งขันในธุรกิจรีเทลระดับ “เวิลด์คลาส” ที่เชื่อได้ว่าจะร้อนระอุยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น