สอดแนมการเมือง
โดย...ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย
มนุษย์โคตรดีและมนุษย์โคตรชั่ว กับการเมืองโคตรสามานย์ของชาติไทย!
ทำให้คิดถึงอัครมหาบัณฑิตแห่งกรุงเอเธน ประเทศกรีก..ที่เปล่งวาทะอันถ่อนตนสุดๆว่า..
“ฉันรู้อยู่สิ่งเดียว คือ รู้ว่าฉันไม่มีความรู้อะไร”
นี่เป็นแค่หนึ่งในวาทะอมตะ ของมหาปราชญ์ผู้อาภัพความงามแห่งเรือนกาย แต่จิตใจยิ่งใหญ่ในคุณงามความดี สมองเปี่ยมด้วยภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า เพราะยืนหยัดในสัจจะความจริงเหนือความตาย
มหาปราชญ์ผู้ถูกให้ร้ายป้ายสี จนโดนจองจำอยู่ในคุกตะราง ลูกศิษย์จะติดสินบนผู้คุมพาออกจากกรุงเอเธนส์ แต่มหาปราญ์ผู้นี้ไม่ยอมหนี แถมยังยอมรับคำพิพากษาประหารชีวิตของศาล ด้วยการเชิดหน้าเผชิญกับความตายอย่างทรนง พร้อมวาทะอันทรงพลังที่ว่า
“ข้าพเจ้าไม่เคยเกรงกลัวความตายเลย แต่สิ่งที่ข้าพเจ้ากลัวและกลัวอย่างยิ่งก็คือ กระทำสิ่งที่ชั่วและไม่ถูกต้อง”
มหาปราญช์ผู้ไม่กลัวตาย แต่กลัวการทำชั่วและทำสิ่งไม่ดีงามมากกว่าจริงๆ เพราะเขามิได้แค่เอ่ยวาทะกรรมเท่านั้น แต่ชีวิตมหาปราชย์ผู้ “หยามเหยีดความตาย” เมื่อ 2 พันกว่าปีได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า
“ทุกคนยินดีสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อแลกกับความตาย แต่ข้าพเจ้ายินดีสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อแลกไว้ซึ่งความดีงาม”
มหาปราชญ์อันยิ่งใหญ่ผู้นี้จึงพบกับความตาย ด้วยการดื่มยาพิษ “เฮมล็อค” ตามวิธีลงโทษของกรุงเอเธนส์ โดยทิ้งวาทะสุดท้ายอย่างองอาจ ไว้เหนือความตายและเหนือหลุมศพ ให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า
“ท่านไม่อาจจะฝังโสเครตีสได้หรอก ท่านอาจจะฝังร่างกายของข้าพเจ้าได้ แต่ไม่อาจจะฝังโสเครตีสได้”
นั่นเป็นวาทะของมหาปราชญ์ “โสเครตีส-socrates”เมื่อ 2,408 ปี!
เรือนร่าง”โสเครตีส”ถูกฝัง และย่อยสลายหายไปในใต้พื้นพิภพนานแล้ว แต่ปรัชญายิ่งใหญ่ ของ “โสเครตีส”ไม่เคย “ตาย” และจะยืนยงอยู่ในหมู่มวลมนุษย์ชั่วนิรันดร์
“โสเครตีส”พูดถึงวาทะศิลป์ว่าต้องเปี่ยมไปด้วยสัจจะแห่งความจริง และต้องถูกใช้ให้เกิดความยุติธรรมเท่านั้น ดังเช่น
“พวกเขาพูดคำสัตย์แต่น้อย หรือไม่ได้พูดเลย ส่วนที่ท่านจะได้ฟังจากข้าพเจ้านั้น ย่อมล้วนเป็นความจริง ท่านจะไม่ได้ยินสุนทรพจน์อันมีเล่ห์กล ผูกเป็นประโยคขึ้นอย่างสละสลวย ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าพูดไปแล้ว ข้าพเจ้าก็จะรักษาคำพูดของข้าพเจ้าเสมอ ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีความรู้ในเรื่องวาทะศิลป์”
“เหลี่ยม-ปู” ทำตรงข้ามกับ “โสเครตีส” เพราะสองพี่น้อง “โกงจนชิน” กับนักการเมืองชั่วในชาติไทยทั้งหลาย “จ้อเก่ง-โกหกเก่ง-ตอแหลเก่ง” และไม่ทำตามคำพูดเสมอมา
วาทะ “โสเครตีส” ยังกล่าวถึงสันดาน “มนุษย์”ชั่วๆ ไว้ว่า
“มนุษย์ไม่ควรปล่อยให้กิเลสของตนกระเจิดกระเจิง ไม่ควรพยายามทำอะไรตามกิเลสอำเภอใจของตนเองราวกับโจรใจบาป คนประเภทนี้ไม่เคยเป็นมิตรกับใคร..”
แหม..ช่างตรงกับสันดาน “มหาโจรการเมืองใจบาป” ในชาติไทย ที่ถือหลัก “ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร”จริงๆ ยิ่งวาทะ “โสเครตีส” ต่อจากนี้ เนื้อหาช่างตรงกับพฤติกรรม “เหลี่ยม-ปู” และใครอีกหลายคนเสียนี่กระไร นั่นคือ
“มนุษย์เราควรพยายามหลีกเลี่ยง การทำความชั่วให้มากที่สุด ไม่ควรหลบหนีเอาตัวรอดจากการถูกลงโทษ และเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด มนุษย์ต้องพยายามทำความดีทุกอย่าง ไม่ใช่แสร้งทำตบตาคนอื่นว่าตนกำลังทำความดี
แต่ทำความดีจริงๆเสียเลย ทั้งหน้าที่การงาน ส่วนตัว และหน้าที่ต่อประเทศชาติ ถ้าเขาเริ่มจะเป็นคนเลวก็ต้องยอมรับโทษทัณฑ์แต่โดยดี เพราะสิ่งนี้เป็นความดีข้อที่สองรองจากความยุติธรรม การลงโทษจะทำให้คนปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
การสรรเสริญเยินยอทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการโอ่อวด ความเก่งกล้าสามารถของตนเองหรือเยินยอผู้อื่นคนเดียวหรือหลายคนก็ตาม เป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงให้ไกล ไม่ควรกระทำเลย และสุดท้ายวาทะศิลป์ซึ่งเหมือนกับศาสตร์อื่นๆ ควรจะใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมเสมอ เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเท่านั้น”
ส่วนวาทะ “โสเครตีส” เกี่ยวกับเรื่องของ “ชีวิต” นั้น โสเครตีสสอนคนทั้งโลกว่า
“สิ่งซึ่งน่าคำนึงกันมากที่สุด มิใช่การมีชีวิตอยู่ไปวันหนึ่งๆ หากเป็นการอยู่อย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรมต่างหาก” อีกทั้ง “การมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย งดงาม และยุติธรรม นับว่าพอเพียงแล้วสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตหนึ่ง”
”โสเครตีส” จึงเน้นความรู้คู่คุณธรรม คือ “คุณธรรมคือความรู้ ความรู้คือคุณธรรม” ว่า
“ความรู้คือคุณธรรมหรือความดี หน้าที่ของคนจึงอยู่ที่การรู้ว่าอย่างไรคือความดี เพื่อที่เขาจะได้ปรารถนาและแสวงหามัน ส่วนคนเลวนั้นคือคนที่ไม่รู้อะไรคือความดี เพราะอวิชชาและความโง่เขลาเป็นความเลว”
ส่วน “ความจริง” นั้น “โสเครตีส” ถือเป็นสรณะแห่งชีวิต จนระบุไว้ในวาทะนี้ว่า
“เราต้องไม่เอาใจใส่สิ่งที่ฝูงชนพูดเกี่ยวกับตัวเรา เราควรเอาใจใส่เฉพาะคนที่มีความรู้เรื่องความดีและไม่ดี และควรสนใจสิ่งที่เขาจะพูดและความจริงเท่านั้น”
สำหรับความชั่วแล้ว ”โสเครตีส” ชิงชังเข้ากระดูกดำ เพราะความชั่วเป็นต้นเหตุของสิ่งชั่วร้ายทั้งปวงบนโลกใบนี้
“คนที่มีความทุกข์ที่สุด ก็คือคนที่มีความชั่วร้ายในจิตใจ และไม่สามารถขจัดความชั่วร้ายนั้นให้หมดสิ้นไปได้.. และคนประเภทนี้เองที่เป็นคน ที่ทำความผิดที่ร้ายแรงทั้งหลาย แล้วยังหนีคำพิพากษาลงโทษ..”
“คนที่ไม่มีความชั่วร้ายในจิตใจเลย.. เป็นคนที่มีความสุขที่สุด เพราะเราได้พิสูจน์กันแล้วว่าความชั่วร้ายในจิตใจเป็นสิ่งที่เลวที่สุด.. คนที่สุขที่สุดรองถัดลงไป ก็คือคนที่มีความชั่วร้ายในจิตใจแต่สามารถขจัดความชั่วร้ายนั้นให้หมดสิ้นไปได้”
“ข้อสำคัญนั้น มิได้อยู่ที่ทำตนให้พ้นความตาย แต่ให้พ้นความชั่ว ความชั่วรุนแรงยิ่งกว่าความตายนัก”
“โสเครตีส”รู้ว่า คนชั่วย่อมทำชั่วทำผิดอยู่เสมอ จึงมีวาทะเรื่องทำผิดไว้ว่า
“หน้าที่ความรับผิดชอบของมนุษย์ คือพยายามไม่ทำความผิด เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น เขาอาจจะนำความทุกข์มาสู่ตัวเองก็ได้”
ไม่รู้ว่า 2 วาทะ เมื่อ 2 พันกว่าปีนี้ “โสเครตีส” จงใจพูดถึง “เหลี่ยม-ปู” หรือเปล่า?
“การทำผิดเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด ที่จะเกิดขึ้นกับคนที่ทำผิดเอง และการที่ทำผิดแล้วหนีการถูกลงโทษ ยิ่งจัดว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ในบรรดาสิ่งที่ว่าเลวร้ายที่สุดทั้งหลาย”
“ไม่ว่าจะเป็นการทำความผิดเรื่องอะไรก็ตาม เมื่อทำไปแล้วก็ไม่ควรปกปิดหลีกเลี่ยง แต่ควรจะยอมรับคำพิพากษาอย่างชื่นบาน เพราะถ้าถูกลงโทษแล้วจะมีโอกาสขจัดความชั่วให้หมดสิ้น เพื่อจะได้เป็นคนดีต่อไป”
“โสเครตีส”พูดในสิ่งที่คนดีทุกคนทำกัน แต่คนชั่วมากมายโดยเฉพาะ “เหลี่ยม-ปู” ไม่ทำแน่นอน..จริงไหม?