xs
xsm
sm
md
lg

ท่องเที่ยวลบครั้งแรกลุ้นส่งออกฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.เผยเศรษฐกิจไทยเดือน 2 แรกของปียังคงหดตัวต่อเนื่องและขยายหลายภาค เผยท่องเที่ยวหดตัว 8.1% ติดลบครั้งแรกในรอบ 16 เดือน หรือนับตั้งแต่ช่วงน้ำท่วม เช่นเดียวกับนำเข้าหดตัว 18.9% ต่ำที่สุดนับในรอบ 41 เดือน คาดไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงหดตัว แต่เชื่อภาคส่งออกไทยเริ่มดีขึ้นและภาคท่องเที่ยวกลับมาคึกคักได้ หากการเมืองไม่รุนแรง

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนก.พ.57 ยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกภาคทั้งการบริโภค การลงทุน การนำเข้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม สินเชื่อและภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองมากขึ้น จึงคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีแนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน แต่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากภาคส่งออกเริ่มดีขึ้นและภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว

“มีแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ของปีนี้ หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อน แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาส 3 ของปีนี้มีโอกาสรีบาวน์กลับมาได้และไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค เพราะตอนนี้ส่งออกปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างชัดเจนและหากไม่มีความรุนแรงทางการเมืองเพิ่มเติม ซึ่งหลายประเทศลดระดับแจ้งเตือนและรัฐบาลประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ภาคท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวเร็ว ปกติใช้เวลา 3-6 เดือนฉะนั้นธปท.ประมาณการเศรษฐกิจไทย 2.7%ในปีนี้ยังเป็นไปได้อยู่”

ทั้งนี้ ในเดือนก.พ.ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะการลดลงของนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และฮ่องกง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวไทยทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ลดลง 8.1% ติดลบครั้งแรกในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่ช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วมเดือนพ.ย.54 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียยังคงขยายตัวดี เพราะเป็นกลุ่มอ่อนไหวต่อปัจจัยการเมืองน้อยกว่าและวางแผนล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว ส่วนสินเชื่อขยายตัว 8.6% จากเดือนก่อน 9.3%ตามภาวะเศรษฐกิจและธนาคารระวังการปล่อยกู้

สำหรับการบริโภคหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา และระยะหลังปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองมีผลให้ครัวเรือนระมัดระวังใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งเห็นจากการใช้จ่ายในห้างสรรพสินค้ามีแนวโน้มลดลง ประกอบกับกำลังซื้อครัวเรือนในและนอกภาคเกษตรลดลง อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อรายได้ในอนาคตปรับตัวลดลงเกือบปีแล้ว ทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนด้านก่อสร้างชะลอลงและใกล้หดตัวต่อเนื่อง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 46.5 ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และความไม่แน่นอนทางเมืองยังเป็นอันดับ 1 ข้อจำกัดการทำธุรกิจ

การนำเข้าหดตัวตามการใช้จ่ายในประเทศและการผลิตที่ลดลง ทำให้เดือนนี้มีมูลค่านำเข้า 14,254 ล้านเหรียญสหรัฐหรือหดตัว 18.9% ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค.53 หรือในรอบ 41 เดือน ผลจากฐานการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าสูงจากปีก่อน ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 18,150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 2.2% ปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์จากต่างประเทศและเร่งส่งออกยานยนต์จากหดตัวในหลายเดือนก่อน อีกทั้งมีการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากไม่นับรวมทองคำ ภาคส่งออกมีมูลค่า 17,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0% ทรงตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 3,896 ล้านเหรียญสหรัฐตามมูลค่านำเข้าลดลงค่อนข้างมาก ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนเกินดุล 1,169 ล้านเหรียญฯ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,065 ล้านเหรียญฯ นอกจากนี้ ในเดือนนี้มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 4,100 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินไหลออกจากการที่ธนาคารพาณิชย์ชำระคืนเงินกู้จากต่างประเทศ การเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันที่ไม่ได้รับฝากเงิน การขายหุ้นและพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนไทยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของประเทศประเทศเบลเยียม ฮ่องกง และสิงคโปร์

“การไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติมีขนาดลดลงมากจากช่วง 3 เดือนก่อนหน้าและมีการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรธปท.ที่ออกใหม่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)มีมูลค่าชะลอลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก เพราะผู้ประกอบการในประเทศมีการชำระคืนสินเชื่อการค้าให้กับบริษัทแม่ในต่างประเทศ ขณะที่การลงทุนในทุนเรือนหุ้นยังอยู่ระดับปกติ ส่วนใหญ่เป็นการลทุนในธุรกิจสถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์จากสหราชอาณาจักร สวิสเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น”.
กำลังโหลดความคิดเห็น