xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เผยศก.มี.ค.หดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติระบุเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกถึงจุดต่ำสุดในรอบปี ขณะที่แนวโน้มการส่งออกและท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น คาดการณ์เศรษฐกิจจะขยับดีขึ้นในไตรมาส 2-3 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาส 4 ขเผยเดือน มี.ค.ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เหตุนำเข้าหดตัว สะท้อนเศรษฐกิจอ่อนแอเหมือนปี 40 คาดระยะต่อไปการบริโภคและลงทุนชะลอตัว สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจระดับ 49.4 ต่ำ 9 เดือนติดต่อกัน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 57ล่าสุด ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาส 4 โดยในช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยต่ำสุดในรอบปีและเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2 และ3 ซึ่งข้อมูลในเดือน เม.ย.นี้ ภาคส่งออกไทยเริ่มดีขึ้น เช่นเดียวกับทิศทางการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นจากเดิมทรงตัว หลังรัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ดีเท่ากับปีก่อน
“เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอก่อนมีการชุมนุมทางการเมือง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยชะลอเดือนต่อเดือนมาตั้งแต่กลางปี 56 ซึ่งในเดือนมี.ค.หดตัวเล็กน้อยเทียบกับเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และความเชื่อมั่นเริ่มลดลงในช่วงเดือนก.ย.56 และตามมาด้วยการลงทุนชะลอตัวลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ข้อมูลล่าสุดเดือนมี.ค.ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าหดตัวมากสะท้อนเศรษฐกิจอ่อนแอ ซึ่งช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลช่วงแรก”
ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค.ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.90 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าหดตัวมากกว่าการส่งออก โดยการนำเข้ามีมูลค่า 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 13.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน หดตัวมากจากการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบใช้ผลิตในประเทศ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเป็นสำคัญ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจหดตัว ขณะที่การส่งออกในเดือนมี.ค.ฟื้นตัวได้ช้าและหดตัว2.7% หรือมีมูลค่าส่งออก 1.98 หมื่นล้านบาท เพราะราคาสินค้าเกษตรข้าวและยางพารา รวมถึงผลกระทบปิดซ่อมบำรุงโรงงานและฐานสูงจากการส่งออกโลหะ
นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนทรงตัวเทียบกับเดือนก่อน โดยระยะต่อไป การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ เพราะฐานะทางการเงินของครัวเรือนอ่อนแอจากภาระหนี้สูง กำลังซื้อครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร รวมทั้งสถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ยกเว้นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเข้มงวดไปก่อนหน้านี้แล้ว อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูงจะเป็นตัวถ่วงการบริโภคระยะต่อไปได้ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ 49.4 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และการใช้จ่ายในประเทศอ่อนแอส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง
ส่วนแนวโน้มการลงทุนหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพราะภาคธุรกิจชะลอการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ เพื่อรอประเมินความชัดเจนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง และจากการสำรวจผู้ประกอบการ พบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นข้อจำกัดอันดับแรกต่อการดำเนินธุรกิจ สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อ โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มลดลง
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่แรงกดดันที่เกิดขึ้นยังสามารถดูแลได้ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นบ้างเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ยังอยู่ระดับต่ำ 0.9% หรือมีผู้ว่างงาน 3.4 แสนคน โดยว่างงงานส่วนใหญ่เคยทำงานภาคบริการและภาคการค้า อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการปิดโรงงานและคนลาออกจากงานยังปกติ
ในเดือน มี.ค.มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 2.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อน 4.36 พันล้านเหรียญฯ ตามการไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทย
ทั้งนี้ นักลงทุนไทยลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นในฮ่องกง จีน และตุรกี และการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของสถาบันการเงินที่ไม่ได้รับฝากเงิน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในฮ่องกงและมาเก๊า ส่วนการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ (ทีดีไอ) ส่วนหใญ่เป็นการให้กู้ในเครือธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และการผลิตเคมีภัณฑ์ในฮ่องกง สหรัฐ และสิงคโปร์ อีกทั้งการให้สินเชื่อการค้าของผู้ส่งออก.
กำลังโหลดความคิดเห็น