xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. สั่งเลือกตั้ง2ก.พ.โมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ( 25 มี.ค.) เว็บไซต์ ศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th ได้เผยแพร่ สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5 /2557 (อย่างไม่เป็นทางการ) กรณีที่ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเนื้อหาแบ่งเป็นประเด็นอำนาจการรับคำร้อง ประเด็นวินิจฉัย รวมทั้งสิ้น 6 หน้า
ทั้งนี้ ในนประเด็นอำนาจการรับคำร้องนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เมื่อพิจารณาเนื้อความในคําร้องทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่ามีความประสงค์จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2556 เฉพาะในส่วนที่กําหนดให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. ด้วย เนื่องจากการดําเนินการจัดการเลือกตั้งส.ส.ในวันที่ 2 ก.พ. อันเป็นประเด็นปัญหาตามคําร้อง เป็นการดําเนินการที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกําหนดวันเลือก ตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปใน พ.ร.ฎ. ยุบสภา จึงเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ฎ.ฉบับดังกล่าว และแม้พ.ร.ฎ.เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แต่ พ.ร.ฎ.นี้ ตราขึ้นโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกฎหมายเฉพาะที่มีลักษณะพิเศษ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง จึงเป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ผู้ตรวจสามารถยื่นตรวจสอบได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ประกอบกับการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. 2 ก.พ. ไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ในวันเดียวกัน ทั้งยังทําให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาอีกหลายประการ ซึ่งไม่มีองค์กรอื่นใด นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีอํานาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ได้ คดีจึงอยู่ในอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะรับพิจารณาวินิจฉัยไว้ได้

ส่วนประเด็นวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง บัญญัติให้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักรนั้น มีเจตนารมณ์เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามหลักพื้นฐานของการเลือกตั้งที่สําคัญ คือ หลักการเลือกตั้งโดยเสรี ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทุกคนย่อมใช้สิทธิโดยปราศจากการบังคับ หรือกดดันทางจิตใจหรือการใช้อิทธิพลใดๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจ ไม่ว่าการใช้อิทธิพลเหล่านี้จะมาจากฝ่ายใดๆ ทั้งระหว่างการเลือกตั้ง หลัง การเลือกตั้ง ต้องไม่ให้มีการควบคุมทิศทางการลงคะแนนเสียงไม่ว่าจะกระทําในรูปแบบใด ผู้ออกเสียงเลือกตั้งต้องตัดสินใจลงคะแนนได้อย่างอิสระ ภายใต้กระบวนการสร้างความคิดเห็นทางการเมืองที่เปิดเผย
หลักการเลือกตั้งโดยเสรีนี้ จึงครอบคลุมถึงการตระเตรียมการเลือกตั้ง เฉพาะอย่างยิ่งครอบคลุมถึงการหาเสียงเลือกตั้งด้วย การกําหนดวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปมากกว่าหนึ่งวันจะทําให้พฤติกรรมการหาเสียง การลงคะแนนเลือกตั้ง หรือบรรดาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปที่กําหนดขึ้นในวันหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งที่กําหนดขึ้น ในอีกวันหนึ่งได้
กรณีปัญหา 28 เขตเลือกตั้งไม่มีผู้สมัครนั้น เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่กำหนดในเรื่องของลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ไว้ในมาตรา 78 มาตรา 108 มาตรา 103 วรรคหก มาตรา 109 นั้นกฎหมายให้อำนาจ กกต. ทำได้ตามแต่ละกรณีปัญหาที่กำหนดไว้ โดยสามารถกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ได้หลายวัน
ส่วนการจัดการเลือกตั้งใหม่ มาตรา 88 ให้อำนาจกกต.ทำได้ เฉพาะกรณีที่ผู้สมัครรายเดียวได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และมาตรา 111 เป็นกรณีศาลฎีกาสั่งให้มีการเลืออกตั้งใหม่จากเหตุการณ์เลือกตั้งไม่สุจริต โดยในทุกมาตราเหล่านี้ กกต.จะดำเนินการได้ก็เป็นกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้วทั้งสิ้น แต่มีเหตุตามกฎหมายที่ทำให้ไม่อาจลงคะแนนเลือกตั้งได้ หรือมีข้อเท็จจริงที่ทำให้การเลือกนั้นไม่สุจริตเที่ยงธรรม แต่ 28 เขตเลือกตั้งนั้น ไม่มีผู้สมัคร ถือว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปมาก่อนเลย ประกอบกับเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 93 ที่บัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย ส.ส.จากทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และระบบบัญชีรายชื่อรวม 500 คน และต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 จึงจะสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ รวมทั้งกำหนดให้ต้องดำเนินการให้มี ส.ส.ครบ 500 คนภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งโดยให้ผู้ได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลือออยู่นั้น เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้สภาผู้แทนราษฎรมีส.ส.ครบ 500 คน โดยต้องมาจากการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 และ เมื่อ พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. มิได้ให้อำนาจกกต.และศาลฎีกาในการจัดการเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตดังกล่าว การที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้งต่อไป จำเป็นต้องมีวันเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปขึ้นใหม่อีกหนึ่งวันย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐ ธรรมนูญและก่อให้เกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ทั้งนี้ แม้ว่ากกต. จะได้ดำเนินการ จัดการเลือกตั้งตามอำนาจหน้าที่แล้วก็ตาม เมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. 2 ก.พ. ไม่สามารถที่จะดำเนินการให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสองได้ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดจากมูลเหตุสำคัญคือ การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. ตามพ.ร.ฎ.ยุบสภา เป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้ง แตกแยกของชนในชาติอย่างรุนแรง มีการขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ย่อม ทำให้การจัดการเลืกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ 2/2557 ว่า หากมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใหม่ ต่างจากวันเลือกตั้งทั่วไปเดิมที่กำหนดไว้ในพ.ร.ฎ.ยุบสภา สามารถทำได้โดยเป็นอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันของนายกรัฐมนตรี และประธานกกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งส.ส.สำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นการที่พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. และมีการดำเนินการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครมาก่อน จึงถือได้ว่า ในวันที่ 2 ก.พ. มิได้เป็นวันที่มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไปวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ไม่ถือเป็นการเลือกตั้งที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้ พ.ร.ฎ.ยุบสภา 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว การพิจารณาวินิจฉัยเหตุแห่งคำร้องในข้ออื่นๆ ไม่อาจทำให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น