xs
xsm
sm
md
lg

ทางออกของประเทศตามทฤษฎีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

บทความทางวิชาการ
ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

24 มี.ค. 57

ข้อ 1.ตามหลักการปกครองแล้ว ผู้ปกครองหรือรัฐบาลเป็นผู้รักษากฎหมาย มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดูแลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนและสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

แต่ถ้าผู้ปกครองหรือรัฐบาลเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดโดยการใช้อำนาจบริหาร หรือใช้อำนาจโดยกลไกทางรัฐสภาเพื่อฉ้อฉลให้ได้มาซึ่งอำนาจที่จะใช้บังคับได้ในเชิงกฎหมายหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในทางกฎหมายที่ไม่ชอบ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์อันไม่ชอบด้วยวิธีการทุจริตคอรัปชั่นนั้น เป็นการบิดเบือนและฉ้ออำนาจอธิปไตยของประชาชนโดยอาศัยความไว้วางใจของประชาชนที่ได้มอบอำนาจให้ไปใช้อำนาจในทางบริหารหรือทางรัฐสภา การกระทำดังกล่าวเป็นอาชญากรรม( Criminal Syndicalism ) มิใช่เป็นการใช้อำนาจบริหาร หรืออำนาจนิติบัญญัติในระบอบประชาธิปไตย ( Democratic theories ) แต่เป็นลัทธิรวบอำนาจ ( Totalitarianism ) อันมีผลเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจทรราชย์ (Tyrant ) นั้น เป็นการกระทำความผิดอาญาในทางการเมือง( Political offence )

ในทำนองเดียวกันพรรคการเมือง ที่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลหรือคำวินิจฉัยของศาลซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับอำนาจตรวจสอบขององค์กรอื่นของรัฐ เป็นการปฏิเสธการตรวจสอบและการฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทางอาญา(impeachment) หรือการกระทำของพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นผู้ปกครองต้องการแบ่งแยกประเทศ หรือการกระทำของพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่ยอมรับการกระทำของประชาชนที่ได้แสดงออกตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยโดยสงบปราศจากอาวุธ และประกาศจะทำการรบกับประชาชนนั้นเสียเอง โดยพรรคการเมืองซึ่งมีอำนาจปกครองนั้นได้ใช้กำลังปราบปราม และได้ร่วมกันแสดงออกซึ่งการให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ยุยงส่งเสริมทั้งในทางลับและทางแจ้งต่อสมาชิกพรรคการเมืองหรือกองกำลังของพรรคการเมืองของตนที่จะทำการรบกับประชาชนผู้ชุมนุมผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนโดยทั่วไปแล้วนั้น การกระทำดังกล่าวของพรรคการเมืองซึ่งเป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาลนั้น เป็นการปฏิเสธความเป็นรัฐ-ชาติของรัฐไทย ( nation- state ) อันเป็นการไม่ยอมรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการกระทำที่มีเจตนาที่จะให้มีผลเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายของการเป็นกบฏและเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นอาชญากรรม ( Criminal Syndicalism ) ด้วยเช่นกัน

การที่คณะรัฐมนตรีรักษาการได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศรส. และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ดูแลการเลือกตั้งได้ทั่วราชอาณาจักรนั้น จึงเป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีรักษาการได้ใช้ทรัพยากร หรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดๆซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการกระทำการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (4) อันเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขของกฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะที่ทำหน้าที่คณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดอาญาในทางการเมือง

การกระทำอันเป็นอาชญากรรมหรือกระทำความผิดอาญาในทางการเมือง ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามที่ได้รับเลือกตั้งมา และการกระทำดังกล่าวขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่ได้เลือกตั้งมา ขัดต่อทฤษฎีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ข้อ 2. การที่ผู้ปกครองหรือรัฐบาลกระทำการอันเป็นอาชญากรรม หรือการกระทำความผิดอาญาในทางการเมือง จึงก่อให้เกิดอำนาจหน้าที่และสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในทางการเมืองของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ( Legitimate political authority ) ที่จะชุมนุมต่อต้าน คัดค้าน และเรียกอำนาจการปกครองหรืออำนาจอธิปไตยของประชาชนกลับคืนจากผู้ปกครอง รวมถึงการมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาในทางการเมือง ( Right to rule ) ขึ้นได้ อำนาจหน้าที่และสิทธิดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่และสิทธิโดยพฤตินัยของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ( de facto authoritus ) ตามทฤษฎีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 และ 69 ได้บัญญัติรับรองอำนาจหน้าที่และสิทธิของประชาชน ให้มีเสรีภาพในการชุมนุมต่อต้านโดยสันติวิธี โดยสงบและปราศจากอาวุธในการกระทำใดๆของรัฐบาล หรือผู้ปกครองอันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว และรัฐธรรมนูญได้บัญญัติถึงสิทธิในการกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาในทางการเมืองไว้ในบริบทแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยได้มีพระบรมราชโองการประกาศเป็นบริบทไว้ว่า “ให้ประชาชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเป็นรูปธรรม การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้มีดุลยภาพและประสิทธิภาพตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภา รวมทั้งให้สถาบันศาลและองค์กรอิสระอื่นสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรม ” นั้น

ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 , 69 และตามบริบทแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น อำนาจหน้าที่และสิทธิในการต่อต้าน คัดค้าน เรียกอำนาจอธิปไตยของประชาชนคืนจากผู้ปกครองหรือรัฐบาล และอำนาจหน้าที่และสิทธิในการกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาในทางการเมืองของประชาชน จึงเป็นอำนาจหน้าที่และสิทธิโดยนิตินัย ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ( de jure authoritus )

เมื่อผู้ปกครองหรือรัฐบาลกระทำความผิดอาญาในทางการเมือง ประชาชนจึงมีอำนาจหน้าที่และสิทธิทั้งโดยพฤตินัย ( de facto authoritus ) และนิตินัย ( de jure authoritus ) ที่จะให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจการปกครองได้ รวมทั้งมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาในทางการเมืองหรือที่เรียกว่าการปฏิรูปการเมืองได้ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ( Democratic theories ) และตามรัฐธรรมนูญ

การกระทำความผิดอาญาในทางการเมืองของรัฐบาล ซึ่งเป็นต้นเหตุให้มีการชุมนุมคัดค้านและเรียกอำนาจการปกครองคืนจากรัฐบาล เมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ อำนาจอธิปไตยจึงคืนกลับมาเป็นของประชาชนโดยการยุบสภา ประชาชนจึงมีอำนาจหน้าที่ทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยที่จะไม่ให้รัฐบาลมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ตามรัฐธรรมนูญ และมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาทางการเมือง ( right to rule ) เพื่อให้การปกครองทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีดุลยภาพและประสิทธิภาพในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามวิถีการปกครองแบบรัฐสภาได้

รวมทั้งมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรอิสระให้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยสุจริตเที่ยงธรรมได้ โดยอำนาจหน้าที่สิทธิและความรับผิดชอบของประชาชนดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่สิทธิและความรับผิดชอบที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงพระราชทานให้แก่ประชาชนและข้าราชการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ข้าราชการและประชาชนจึงมีอำนาจอธิปไตยที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาในทางการเมืองได้ตามหลักทฤษฎี Divine Right of King Theories and Democratic Theories


ข้อ 3. การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในขณะเป็นรัฐบาลและในขณะเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการ ได้มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดอาญาในทางการเมือง เมื่อผู้ปกครองซึ่งกระทำความผิดอาญาในทางการเมืองได้เข้ามาดำเนินการเลือกตั้ง โดยมีอำนาจในการดำเนินการและจัดการเลือกตั้งร่วมกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง ตามพระราชกฤษฎีการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 มาตรา 5 เมื่อเข้ามาดำเนินการเลือกตั้งก็ทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (4) โดยให้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในทางการเมืองซ้ำอีก เมื่อการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจดำเนินการโดยผู้กระทำความผิดอาญาในทางการเมืองนั้น การเลือกตั้งจึงไม่มีผลเป็นการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีทางอาญาว่า “ การกระทำผิดอาญาทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นจากนั้นไม่มีผล ” [ Crimen omnia ex se nata vitiat ( ละติน ) หรือ Crime vitiates everything which springs from it ]

และการที่ผู้ปกครอง หรือรัฐบาลได้กระทำผิดอาญาทางการเมือง จึงเป็นเรื่องผู้ที่มีอำนาจรัฐไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย ทำตัวเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีนัยสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลที่ไม่อยู่ใต้กฎหมายทำตัวอยู่เหนือกฎหมายแต่เป็นผู้ใช้บังคับกฎหมายได้นั้น จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักรโดยตรง ซึ่งเป็นไปตามสุภาษิตกฎหมายว่า “ ไม่มีความมั่นคงในราชอาณาจักรใดยิ่งไปกว่าการที่ทุกคนอยู่ใต้กฎหมาย ” [ Nihil tam proprium est imperii quam legibus vivere (ละติน ) หรือ Nothing is so proper for the empire than to live according to the law ]

การเลือกตั้งที่มีขึ้นหรือจะมีขึ้นระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งได้กระทำความผิดอาญาในทางการเมืองทั้งก่อนการยุบสภาและภายหลังการยุบสภานั้น จึงไม่อาจเกิดผลเป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยได้เลย แต่จะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นภยันตรายอย่างมหันต์ต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามหลักทฤษฎีอาญาและสุภาษิตกฎหมายดังกล่าว

ข้อ 4. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ จึงมีผลในทางรัฐธรรมนูญต่อการอยู่ในตำแหน่งของ “ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ซึ่งไม่อาจอยู่ในตำแหน่งได้อีกต่อไป เพราะไม่มีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ามารับหน้าที่แทนได้อีกแล้ว เงื่อนไขและเงื่อนเวลาของการอยู่ในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการตามอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 จึงสิ้นสุดลงเพราะการเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทั้งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรคสองและไม่ได้อยู่ในตำแหน่งโดยอาศัยอำนาจอธิปไตยของประชาชนในฐานะเป็นผู้แทนประชาชนแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงไม่อาจอยู่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไป นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาการจึงไม่มีฐานแห่งอำนาจหน้าที่ทั้งทางกฎหมายและในทางการเมืองที่จะอยู่ในตำแหน่งได้ ( Illegitimate political authority ) ไม่มีคุณสมบัติในทางการเมืองที่จะอยู่รักษาการได้อีกต่อไป ( Political disability ) การอยู่ในตำแหน่งต่อไปย่อมเป็นการกระทำที่เข้าข่ายของการก่ออาชญากรรมหรือกระทำความผิดอาญาในทางการเมืองได้ เพราะเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีอำนาจหน้าที่เป็นประการแรก แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในทำนองแนะนำให้คณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลไปหาแนวทางการเลือกตั้งกันนั้น ข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจล้มล้างอำนาจหน้าที่สิทธิและความรับผิดชอบของประชาชนและข้าราชการที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และกติกาในทางการเมืองหรือการปฏิรูปการเมือง อันเป็นอำนาจอธิปไตยที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์นั้นได้เลย

การกระทำใดๆของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีรักษาการ เพื่อจะให้มีการเลือกตั้งและได้ผลของการเลือกตั้งที่จะมาเป็นผู้ปกครอง โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะต้องการจะเป็นผู้ปกครองให้ได้แต่ฝ่ายเดียวนั้น ก็จะกลายเป็นการเลือกตั้งที่ละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานและอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน อันเป็นการกระทำที่นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังเป็นการกระทำที่ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องใช้การเลือกตั้งเป็นวัตถุประสงค์และเครื่องมือของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่ใช้ประชาชนเป็นเพียงวัตถุของการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ การเลือกตั้งที่ใช้ประชาชนเป็นเพียงวัตถุของการเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งในระบอบทรชนาธิปไตย ( Kakistocracy ) คณาธิปไตย
( Oligarchy ) หรือ ธนาธิปไตย ( Plulocracy ) ซึ่งก็คือ ใช้การเลือกตั้งเพื่อปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปนั่นเอง

ข้อ 5. ทฤษฎีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและทฤษฎีอำนาจที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ใช้กันในสากลนั้น แม้ประชาชนมีอำนาจหน้าที่และสิทธิทั้งทางพฤตินัยและนิตินัยในการมีส่วนร่วมในการปกครอง ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มีสิทธิและหน้าที่ที่จะกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งทางฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ตลอดจนฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระได้ตามที่บัญญัติไว้ตามบริบทของรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่ก็มีข้อขัดข้องทั้งในทางรัฐธรรมนูญและทางกฎหมายที่ประชาชนไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่และสิทธิให้มีผลในทางปฏิบัติได้ เพราะเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยต้องใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติที่จะดำเนินการได้ ปวงประชาชนชาวไทยจะต้องถวายคืนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยแด่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุข เพื่อให้เกิดอำนาจรัฐสูงสุด เมื่อประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและประเทศขาดรัฐสภา คณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์ไม่อาจใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีได้ จึงเป็นพระราชอำนาจโดยอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนถวายคืนตามช่องทางของอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่ยังคงมีเหลืออยู่ เพื่อดำเนินการตามวิถีทางปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย อันจะยังไว้ซึ่งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2 มาตรา 3 มาตรา 7 และตามหลักทฤษฎีสากลคือ Divine Right of King Theories and Democratic Theories
กำลังโหลดความคิดเห็น