ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำการไต่สวนเพื่อพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้ง 2ก.พ.57 โมฆะหรือไม่ โดยมีตัวแทนจากผู้ตรวจการแผ่นดิน กกต.และตัวแทนจากรัฐบาลเข้าชี้แจงไปแล้ว
และวันที่ 21 มี.ค.ศาลรัฐธรรมนูญ นัดลงมติตัดสินว่า การเลือกตั้งโมฆะ หรือ ไม่
ในการไต่สวน ประเด็นที่ตุลาการฯ ให้ความสนใจ ส่วนใหญ่พุ่งเป้าไปที่การทำงานของ กกต. อย่างเช่น ในสถานการณ์ที่มีการคัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนได้ แต่ทำไมไม่เลื่อน
ประธานกกต. ชี้แจงว่า หลังศาลมีคำวินิจฉัย กกต.ได้หารือกับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เขาก็บอกว่า ทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการเลื่อน และยังระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญ แทงกั๊ก จะให้ทำอะไรก็ไม่บอกให้ชัดเจน บางคนถึงกับพูดว่า จะให้ลากนายกรัฐมนตรี ไปเข้าคุก ซึ่งการเลื่อนต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. เมื่อรัฐบาลไม่เลื่อน กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งต่อไป โดยให้นโยบายกับฝ่ายปฏิบัติ ว่า หากมีการขัดขวาง ก็พยายามอย่าให้เสียเลือดเนื้อ เพราะชีวิตคนเสียแล้วเรียกคืนไม่ได้ แต่การเลือกตั้งเสียแล้วอาจจัดขึ้นใหม่ได้ จึงได้ดำเนินการไป
จึงทำให้ผลที่ออกมา คือ ไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนเสียงได้ครบทุกหน่วยเลือกตั้ง และมีอีก 28 เขตในพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังเปิดรับสมัครไม่ได้
อีกปัญหาคือ ตุลาการฯ ยังคาใจว่า เมื่อ กกต.เห็นแล้วว่า การไม่มีผู้สมัคร 28 เขต ถ้าเลือกตั้งไปก็ไม่สามารถได้ ส.ส.ร้อยละ 95 ที่จะสามารถเปิดประชุมสภาได้ ทำไมไม่ขยายระยะเวลาการรับสมัครไป จนกว่าจะมีผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง ถ้าดำเนินการก่อนวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ. ก็จะไม่เป็นปัญหา เหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้
เรื่องนี้ ประธานกกต. ชี้แจงว่า ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการจะออกประกาศอะไร ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจทำได้ แต่เรื่องขยายวันรับสมัคร กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ และหากขยายการรับสมัครไป ก็คงไม่สำเร็จ ขนาดไปสัมมนาแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งที่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. แกนนำ กปปส. ในพื้นที่ ก็ยืนยันว่า ต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หากมีการรับสมัคร ส.ส. ก็จะขัดขวางอีก
ก่อนสิ้นสุดการไต่สวน ตุลาการ ได้ถามแบบตีแสกหน้า กกต. ว่า การที่กกต. ไม่เลื่อนเพราะว่ากลัวถูกฟ้อง หรือเป็นเพราะการทำงานของกกต. ไม่เป็นอิสระ ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลใช่หรือไม่
ประธาน กกต.ได้ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของกกต. ว่า ต้องเป็นกลาง ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลพรรคการเมือง แต่การเลื่อนการเลือกตั้ง ต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. ถ้าเราทำเองได้ ทำไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในอำนาจใคร และไม่ได้กลัวถูกฟ้อง เพราะถูกฟ้องไปแล้วหลายคดี
เหล่านี้คือสาระสำคัญของการไต่ส่วน เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็ต้องรอวันที่ 21 ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาอย่างไร แล้วสถานการณ์ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร
ในครรลองของกฎหมายนั้น ถ้าตัดสินว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เป็นโมฆะ กระบวนการที่จะต้องเดินต่อไปก็คือ ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกกต. และรัฐบาล ต้องไปตกลงกันว่า จะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีกรอบอยู่ภายใน 60 วัน ดังนั้นอย่างช้าการเลือกตั้งก็จะมีขึ้น ประมาณวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ค.57
แต่ในทางการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และ ฝ่ายมวลชน กปปส. นั้น คงไม่จบแบบราบรื่น สวยหรู
เพราะถ้าศาลฯตัดสินให้เลือกตั้งโมฆะ ฝ่ายมวลชน กปปส.ย่อมพอใจ และถือเป็นชัยชนะในระดับหนึ่ง ที่สามารถขัดขวางไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลเข้าสู่อำนาจการบริหารได้อย่างราบรื่น แต่ไม่ใช่ชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่ามวลชนกลุ่มนี้ก็ยังยืนยันจุดยืนเดิม คือ จะต้องมีการปฏิรูปฯ ก่อนเลือกตั้ง ถ้ายังฝืนเลือกตั้งโดยที่ยังไม่มีการปฏิรูป ก็อาจจะถูกขัดขวางอีกเหมือนเดิม
ขณะที่ ฝ่ายรัฐบาล และมวลชนคนเสื้อแดง ย่อมไม่พอใจแน่ ชุดความคิดที่ว่าองค์กรอิสระ รวมหัวกันโค่นล้มรัฐบาล ก็จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ในการปลุกปั่นมวลชนเป็นการตอกย้ำอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ (18 พ.ค.) พรรคเพื่อไทย ก็ชิงออกแถลงการณ์ไปแล้วว่า จะไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณา วินิจฉัยเรื่องนี้ โดยอ้างว่าอยู่นอกขอบเขตอำนาจ
ถ้าตัดสินว่า ไม่โมฆะ ก็หมายความว่า การเลือกตั้งใน 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัคร ต้องเดินหน้าต่อไป ก็ต้องเคลียร์ข้อสงสัยในส่วนที่ว่า กกต. สามารถออกเป็นประกาศ กกต. หรือต้องให้รัฐบาลออกเป็น พ.ร.ฎ. เลือกตั้ง และหากต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.ใหม่ จะสามารถทำเฉพาะ 28 เขตได้ หรือไม่ หรือต้องออกเป็น พ.ร.ฎ. เลือกตั้งใหม่ ในทุกเขตเลือกตั้ง
ตามแนวทางนี้ ถ้าการรับสมัคร และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นไปด้วยความราบรื่น ก็น่าจะเสร็จได้ประมาณปลายเดือน พ.ค. ซึ่งเชื่อว่า ฝ่ายรัฐบาล รอได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันจะเป็นเช่นนั้นหรือ กลุ่ม กปปส. ซึ่งมีฐานมวลชนหลักในพื้นที่ภาคใต้ จะเลิกขัดขวางการรับสมัคร และการลงคะแนนในครั้งนี้หรือ
คำตอบบอกได้ล่วงหน้าเลยว่า ไม่มีทาง
ดังนั้น ไม่ว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาว่า โมฆะ หรือ ไม่โมฆะ จะส่งผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสองแนวทางเช่นกัน คือ ทางหนึ่งนั้น ทั้งสองฝ่ายยังยันกันอยู่อย่างนี้ เหมือนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ยังหาจุดจบไม่ได้
อีกทางหนึ่งคือ ฝ่ายรัฐบาลจะสรุปว่า องค์กรอิสระรวมหัวกับ กปปส. โค่นล้มรัฐบาล ยิ่งถ้ามีเรื่องป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงนี้ด้วยแล้ว โอกาสที่รัฐบาลจะระดมมวลชนคนเสื้อแดงเข้ากรุง เปิดฉากบู๊ ลางผลาญ กับองค์กรอิสระเหล่านั้น มีความเป็นไปได้สูงยิ่ง !