ศาล รธน.เริ่มไต่สวนปมคำร้องเลือกตั้งโมฆะหรือไม่ กกต.ยันจัดเลือกตั้ง ส.ส. ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ “พงศ์เทพ” อ้าง ผู้ตรวจการฯ ไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง เหตุ กฎหมายไม่ให้อำนาจ ศาล รธน.ก็ชี้แม้ พท.แถลงการณ์ค้านอำนาจศาล แต่มาในฐานะรัฐบาลที่ศาลเรียกแจง ยันพร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย ด้านผู้ตรวจฯ ยันมีอำนาจในการยื่นร้องตาม รธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ เวลา 10.00 น. วันนี้ (19 มี.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ รับฟังคำชี้แจงของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรักษาการนายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน 3 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) ว่าการจัดการเลืออกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ของ กกต. ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยก็แจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานให้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลภายในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 หน่วยงานได้ยื่นคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ในส่วนของผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้ทยอยเดินทางเข้าชี้แจง เช่น นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับมอบจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน สำหรับตัวแทนรัฐบาล คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และนายชูเกียรติ รัตนชาญชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับบรรยากาศบริเวณโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชุดเก็บกู้วัตุถุระเบิด หรืออีโอดี และสื่อมวลชนจากหลายคอยปักหลักติดตามทำข่าวเป็นสำนวนมาก
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวก่อนการเข้าชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า กกต.ได้ดำเนินตามข้อกฎหมายทุกขั้นตอน และไม่มีอะไรที่ทำผิดกฎหมาย ส่วนคำร้อง 5 คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ทาง กกต.เตรียมที่จะชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้ก็ขอให้รอฟังคำตอบจากศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งตนไม่อาจจะเข้าไปก้าวล่วงได้ หากศาลวินิจฉัยออกมาอย่างไรก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตาม เพราะคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันทุกองค์กร
ส่วนหากศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เป็นโมฆะใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบ ในสวนนี้อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาล และไม่อาจจะบอกได้ว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาชี้แจงศาลพร้อมด้วย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และนายชูเกียรติ รัตนชาญชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งทางรัฐบาลได้รับหนังสือเพื่อเรียกมาชี้แจงของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 มี.ค. และศาลได้กำหนดให้รัฐบาลส่งคำชี้แจงภายในวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดมากซึ่งถือว่าน่าเสียดายที่ทางรัฐบาลมีเวลาเขียนคำชี้แจงและรวบรวมพยานหลักฐานในระยะเวลาอันสั้น ขณะเดียวกัน ทางผู้ตรวจการแผ่นดินมีเวลากว่า 2 สัปดาห์ในการรวบรวมเอกสารหลักฐานภายหลังจากรับคำร้อง นอกจากนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ยังไม่มีการเปิดโอกาสให้ กกต.เข้าชี้แจงก่อนที่จะยื่นคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้เราจะชี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผู้ตรวจการฯ ไม่มีอำนาจในการยื่นคำร้อง เนื่องจากตามกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับข้องกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือประกาศคณะปฏิรูป ไม่ใช้เป็นการยื่นคำร้องให้ตีความเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่มีอำนาจยื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจในการรับคำร้องไว้พิจารณาอยู่แล้ว
นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนประเด็นในการชี้แจงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เช่น ที่มีการระบุว่าการเลือกตั้งไม่เป็นความลับ ยืนยันว่าการลงคะแนนเป็นความลับอยู่แล้วไม่มีการนับคะแนนในวันเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด และ กกต.มีหน้าที่ปฏิบัติตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง แต่ขณะนี้ กกต.ก็ยังปฏิบัติไม่สำเร็จและทางรัฐบาลก็พยายามเสนอแนะวิธีการในการดำเนินการให้ กกต.มาโดยตลอด แต่ กกต.ก็นิ่งเฉย
ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ออกแถลงการณ์คัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. นายพงศ์เทพกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยก็ส่วนพรรคเพื่อไทย รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการมาชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เกี่ยวกัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เรียกพรรคเพื่อไทยมาชี้แจง และขณะนี้คำวินิจฉัยของศาลก็ยังไม่ออกมาว่าเป็นอย่างไร แต่โดยปกติแล้วเราก็ต้องปฏิบัติตามไม่ว่าคำวินิจฉัยจะถูกหรือผิด ยกตัวอย่างเช่นศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีทางอาญา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินทางอาญามาจะให้รัฐบาลปฏิบัติตามอย่างไร ต้องให้ไปถามนักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องรู้ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยถูกหรือผิดอย่างไรรัฐบาลก็ต้องปฏิบัติตาม
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในวันนี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้เตรียมข้อมูลมาขี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะประเด็นข้อโต้แย้งที่ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจยื่นเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการยื่นคำร้องนี้ และประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นข้อกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องให้ กกต.เข้าไปชี้แจงต่อผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนที่จะยื่นคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ