ASTVผู้จัดการรายวัน- ลุ้นระทึกวันนี้ (19 )ศาลรธน.ไต่สวนคดีเลือกตั้งโมฆะ รัฐบาลส่ง"พงศ์เทพ-ชัยเกษม" แจง ขณะที่ปธ.ผู้ตรวจฯ มอบ"พรเพชร" ด้านกกต. "ประธานศุภชัย"นำทีมแจงเอง ด้าน"เพื่อไทย"กร้าวออกแถลงการณ์ ไม่รับอำนาจศาลรธน.อีกแล้ว ขณะที่ ก.คลังยอมเซ็น 2 หมื่นล้านแล้ว ธ.ก.ส.เผยได้รับเช็ค 2 หมื่นล้านแล้ว เตรียมจ่ายเงินชาวนาตามใบประทวน 20 มี.ค.นี้ สมาพันธ์เครือข่ายชาวนาไทยยื่นหนังสือคลังทวงถามเงินค่าจำนำข้าว ขีดเส้นวันที่ 25 มีนาคม ไม่ได้รับคำตอบจะขนคนพร้อมข้าวเปลือกบุกกรุง
วันนี้ ( 19 มี.ค.) เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์ รับฟังคำชี้แจงของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง และ นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทน 3 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่
ในส่วนของกกต. จะมี นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. เป็นหัวหน้าคณะในการชี้แจงร่วมกับเลขาธิการกกต. และเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย ขณะที่ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดิน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้รับมอบจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเดินทางไปพร้อมกับ นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย เช่นเดียวกัน
ส่วนรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และ นายชูเกียรติ รัตนชาญชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าชี้แจง
ทั้งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็แจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงาน ให้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลภายใน วันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานได้ยื่นคำชี้แจงเรียบร้อยแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของกกต. ในฐานะผู้ถูกร้องว่าดำเนินการจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็ได้ยื่นคำชี้แจง และเตรียมที่ชี้แจงต่อศาลฯ ตามประเด็นที่มีการร้องทั้ง 5 ประเด็น โดยมั่นใจว่า คำชี้แจงจะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ ซึ่งในคำชี้แจงที่ กกต.ยื่นต่อศาลฯ นั้น กกต.ต่อสู้ตั้งแต่ในส่วนของกระบวนการยื่นคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 กำหนดว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องมีการแจ้งให้องค์กรที่ถูกร้องเรียนได้ชี้แจงแสดงหลักฐานก่อน แต่กรณีนี้ไม่พบว่า มีการขอให้กกต.ชี้แจงแต่อย่างใด กลับมีการยื่นเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ชอบ ศาลฯจึงควรยกคำร้อง
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า การไม่สามารถเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้ง 375 เขตเลือกตั้งได้ ภายในวันที่ 2 ก.พ. และมี 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัครที่ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 เม.ย. ทำให้มีวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 นั้น กกต. ชี้แจงให้ศาลเห็นว่า ปัญหาการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย ไม่ได้เกิดจากกกต. แต่เกิดจากปัจจัยภายนอก มีการชุมนุมประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งเรื่อยมา ตั้งแต่ขั้นตอนการรับสมัคร จนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 78 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ประกาศงดการลงคะแนนในกรณีที่เห็นว่ามีเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ จึงทำให้มีกว่าหมื่นหน่วยเลือกตั้งที่ กกต.ต้องประกาศงดการลงคะแนน และเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในแต่ละพื้นที่สงบลง กกต.จึงจะจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งของแต่ละพื้นที่ ต่างสงบลงไม่พร้อมกัน ทำให้ กกต.ไม่สามารถจัดลงคะแนนเลือกตั้งทั้งหมื่นหน่วยพร้อมกันได้ กกต.จึงต้องดำเนินการจัดเลือกตั้งในเขตที่มีความพร้อมก่อน โดยหลักการนี้ได้ใช้ปฏิบัติต่อเนื่องมานับตั้งแต่มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งหากมีการวินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวทำให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ต่อไป อาจมีคนที่คิดว่าตัวเองจะแพ้การเลือกตั้ง ก็จะใช้วิธีการนี้ไปขัดขวางการเลือกตั้งเพียง 1 หรือ 2 หน่วย เพื่อให้การเลือกตั้งถูกฟ้องเป็นโมฆะ
ในขณะที่ 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร ซึ่งผู้ร้องระบุว่า กกต. จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 เม.ย. นั้น กกต.ชี้ให้ศาลเห็นว่า ยังเป็นเพียงแนวความคิดไม่ถือว่า กกต.มีการเตรียมการ เพราะ กกต.ยังไม่ได้ออกประกาศหรือระเบียบที่ชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าว รวมทั้งการที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การจัดการเลือกตั้งใน 28 เขต จะออกเป็น พ.ร.ฎ. หรือออกเป็นประกาศ กกต. ก็เป็นการบ่งชี้ว่า กกต.ยังมีข้อสงสัย และยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
สำหรับข้อกล่าวหาที่ว่า กกต. เปิดรับสมัครส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีการสมัครในสถานที่ที่ไม่ได้ประกาศให้เป็นสถานที่รับสมัคร มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างเปิดเผยนั้น กกต. ชี้แจงต่อศาลว่า การที่กกต.ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถยื่นสมัครส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ที่อาคารคกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง ในวันที่ 23 ธ.ค. 56 ได้ ซึ่งเป็นวันแรกของการรับสมัคร ให้ไปลงบันทึกไว้ที่กองปราบปราม หรือ สน.ดินแดง นั้น กกต.ถือว่าการดำเนินการดังกล่าว เป็นการคุ้มครองสิทธิ์พรรคการเมืองที่ประสงค์จะลงสมัคร กกต.ไม่ได้ถือว่าเป็นการสมัคร โดยการสมัครนั้น กกต.ได้ทำการรับสมัครพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน ในวันที่ 26 ธ.ค. 56 ซึ่งมีทุกพรรคที่ยื่นสมัครร่วมจับสลากหมายเลขประจำพรรค
ส่วนการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช กกต. ได้เปลี่ยนให้ไปรับสมัครในกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน 42 นั้น เป็นอำนาจของผู้อำนวนการการเลือกตั้งประจำเขต โดยตามหลักเกณฑ์การประกาศสถานที่รับสมัครกำหนดว่าผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตต้องประกาศสถานที่รับสมัครล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขต ก็ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และหากมีการปกปิดสถานที่ตามที่กล่าวหา เหตุใดจึงมีการไปชุมนุมคัดค้านของกลุ่ม กปปส. บริเวณหน้าสถานที่รับสมัครแห่งใหม่
นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาที่ว่า กกต.ได้มีการนับคะแนนเลือกตั้ง 2 ก.พ. ที่หน่วยเลือกตั้ง และมีการปิดประกาศคะแนนไว้ที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว ทำให้ขัดต่อหลักการลงคะแนนโดยลับ ซึ่งการนับคะแนนดังกล่าว มีผลชี้นำการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนในเขตที่เสียไป กกต.ก็จะชี้ให้ศาลเห็นว่า การที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเขตนั้นๆ ทราบผลคะแนนก่อน ไม่ถือว่ามีส่วนชี้นำการลงคะแนนเลือกตั้งรอบใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยในอดีตที่ผ่านมานับแต่การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน มีหลายครั้งที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งในรอบหลัง ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในครั้งแรก จะต้องได้รับการเลือกตั้งเสมอไป
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า บัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งบัตรลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่ยังไม่มีการนับคะแนนถือว่าเป็นบัตรเสีย เพราะ ตามมาตรา 102 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. กำหนดว่า บัตรเลือกตั้งดังกล่าวจะต้องส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งก่อนการเริ่มรับคะแนนในเวลา 15.00 น. หากมาถึงทีหลัง ให้ถือเป็นบัตรเสีย ซึ่งกรณีนี้ กกต.ยังไม่ได้นำบัตรดังกล่าวมาเปิดนับ หรือนำไปรวมกับบัตรเลือกตั้งที่มีการนับในวันที่ 2 ก.พ. ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บัตรเลือกตั้งดังกล่าวเป็นบัตรเสีย ก็ไม่กระทบกับผลคะแนนที่มีการนับในวันที่ 2 ก.พ.
ขณะที่มีการกล่าวหาว่า กกต.ปล่อยปะละเลยให้นายกรัฐมนตรี ออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้นายกฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชี่อ อันดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ออกประกาศ พ.ร.ก.ดังกล่าวในพื้นที่กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งนั้น กกต.ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ตามหลักอำนาจอธิปไตยสามหลัก ที่รัฐธรรมนูญแบ่งแยกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่มีกฎหมายให้อำนาจกกต.ไปยับยั้งการออกพ.ร.ก.ดังกล่าวได้ โดยศาลแพ่ง ก็ได้มีคำสั่งยกคำร้องกรณีที่ขอให้มึการเพิกถอนการใช้พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยประเด็นทั้งหมด กกต.ยืนยันว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้ง กกต. ยึดหลักที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบแต่อย่างใด
พท.ชิงแถลงไม่รับอำนาจศาลรธน.
วานนี้ (18 มี.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย คณะกรรมการบริหารพรรค และแกนนำพรรค นำโดย นายโภคิน พลกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายภูมิธรรม เวชยชัย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ร่วมกันแถลงการณ์ คัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทน อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็น กรณี นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อ. ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า การเลือกตั้งส.ส.วันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาวินิจฉัย และคาดว่าจะมีคำวินิจฉัยในอีกไม่กี่วันข้างหน้านั้น พรรคเพื่อไทยขอแถลงการณ์ ว่า
1. ขอคัดค้านผู้ตรวจการแผ่นดินว่าไม่มีอำนาจที่จะส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้
2. เมื่อพิจารณาพฤติกรรมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร ชี้ให้เห็นว่า การใช้ทฤษฎีสมคบคิด เพื่อมุ่งล้มการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 57 ตั้งแต่แรก
3. การล้มการเลือกตั้งด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก ของคนในสังคมมากขึ้น
4. การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ นอกจากจะเป็นการไม่เคารพรัฐธรรมนูญ และหลักนิติธรรมแล้ว ยังเป็นการขยายเขตอำนาจของตนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
5. พรรคเพื่อไทย ยอมรับต่อการกระทำขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ เฉพาะที่อยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเท่านั้น
6. พรรคจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตย ที่เป็นของประชาชน
7. การเลือกตั้งที่มีปัญหาเกิดจากการขัดขวางของกลุ่ม กปปส. และคนของพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการละเลยต่อหน้าที่ของ กกต.
8. เหตุผลที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ว่าเรื่องการรับสมัคร 28 เขตเลือกตั้ง ที่ยังไม่สามารถทำได้ การเปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่เที่ยงธรรม การเปลี่ยนสถานที่รับสมัครโดยไม่แจ้งให้ทราบ หรือ ข้ออ้างที่ว่าการนับคะแนนเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. 57 ให้รอไปก่อน โดยที่ยังมีการเลือกตั้งไม่ครบถ้วนนั้น พรรคเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าว มีกฎหมายรองรับในการแก้ปัญหาได้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้
ด้วยเหตุนี้พรรคเพื่อไทย จึงเห็นว่า ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องดังกล่าว และถือเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ พรรคจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว โดยขอให้ กกต.ได้จัดการเลือกตั้งส.ส.ให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์โดยเร็วต่อไป
ด้านนายโภคิน กล่าวเว่า ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา เราก็เพียงแต่แสดงจุดยืนก่อนว่า สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำอยู่นั้น มันไม่ถูกต้อง
ด้านพ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดว่า ไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมไม่มีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 ซึ่งจะทำให้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
คาดผลวินิจฉัยมี2แนวทาง
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า คาดว่า คำวินิจฉัยจะออกมาใน 2 แนวทาง คือ
1. ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีปัญหา 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.สามารถดำเนินการได้ กกต. ก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งได้ทันที โดยคาดว่าน่าจะสามารถจัดได้พร้อมกับการเลือกตั้งทดแทนใน 6 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 27 เม.ย. และลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 20 เม.ย.
2.หากศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้ง ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเป็นการจัดการเลือกตั้ง 2 วัน เท่ากับว่า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ทั้งหมดก็จะเสียไป เป็นโมฆะทันที ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กกต.ก็พร้อมที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยอาจจะต้องนัดปรึกษาหารือกับทางรัฐบาล หรือพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2549 อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า กกต.พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อย่างเคร่งครัด
คลังลงนาม2หมื่นล้านแล้ว
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ลงนามการใช้งบกลาง 2 หมื่นล้านบาท (18มี.ค.) เพื่อนำมาใช้ในการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนา โดยจะทะยอยจ่ายได้ในสัปดาห์นี้ พร้อมมั่นใจว่า ภายในวันที่ 31 พ.ค.57 รัฐบาลจะนำงบกลาง 2 หมื่นล้าน ที่ได้อนุมัติไป นำมาคืนตามที่กกต.ได้กำหนดไว้ ซึ่งเงินที่จะนำมาคืนนั้น มาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนแรกมาจากเงินระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ นำออกมาประมูลผ่านช่องทางต่างๆ เดือนละ 1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 12,000-15,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 คือ กระแสเงินสดของกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม ในการประมูลข้าวผ่านตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ เอเฟท ครั้งที่ 7 ในวันนี้ (19 มี.ค.) เชื่อว่าจะไม่ถูกตัดไฟ จนทำให้ต้องล้มประมูลเหมือนครั้งก่อน
นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวอีกว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ จะเริ่มส่งมอบข้าวให้กับประเทศจีน โดยจะทยอยส่งมอบเดือนละ 1 แสนตัน พร้อมยืนยันว่าสัญญาซื้อข้าวจากจีน ไม่ได้ผูกพันกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง
ปชป.ถามอีกแสนล.เอาจากไหน
น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เซ็นอนุมัติ งบกลาง 2 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระหนี้ให้ชาวนา ว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะตัวเลขที่เป็นหนี้ชาวนานั้น เป็นวงเงิน 1.2 แสนล้าน แต่เพิ่งอนุมัติแค่ 2 หมื่นล้าน ยังเป็นหนี้อีก 1 แสนล้าน จึงมีคำถามที่ต้องตอบว่า หนี้อีกแสนล้านบาท จะหาเงินจากไหน
และขอให้ กกต. ติดตามการระบายข้าวของรัฐบาลด้วยว่าจะสามารถนำเงินมาคืนได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดในวันที่ 31 พ.ค.57 หรือไม่
ทั้งนี้ยังเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความกังวลเกี่ยวกับคดีการทุจริตจำนำข้าวอย่างมาก โดยขณะนี้มีการกดดันการทำงานของป.ป.ช. ทุกรูปแบบ โดยมีการข่มขู่ทั้งวางระเบิด ยิงเอ็ม 79 ส่งคนเสื้อแดงไปปิดล้อม ซึ่งไม่ใช่พฤติกรรมปกป้องประชาธิปไตย แต่เป็นพฤติกรรมที่สะท้อนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลัว ป.ป.ช. เพราะการชี้มูลของ ป.ป.ช. จะมีสภาพบังคับในทางกฎหมายโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ธ.ก.ส.ได้รับเช็คแล้ว2หมื่นล.
รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แจ้งว่า ขณะนี้ธ.ก.ส.ได้รับเช็คจำนวน 2 หมื่นล้านบาทที่สั่งจ่ายโดยกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดสรรเงินลงไปตามสาขาทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินให้ชาวนาได้วันที่ 20 มีนาคมนี้ใช้เวลาประมาณ 7-10 วันจะจ่ายได้หมดทั้ง 2 หมื่นล้านบาท ยืนยันว่าการจ่ายเงินให้ชาวนาตามใบประทวนนั้นจะให้ตามลำดับการขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ที่สาขา
เครือข่ายชาวนาเตรียมบุกรอคำตอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (18 มี.ค.) นายทวีศักดิ์ วีระศักดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายชาวนาไทย เป็นตัวแทนชาวนาในเขต 5 ภูมิภาค 37 จังหวัดทั่วประเทศเดินทางมายื่นหนังสือให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และทวงถามเรื่องการจ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้ชาวนาตามใบประทวนตามที่รัฐบาลได้ให้สัญญาไว้ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าจะจ่ายเงินค้างเก่าสำหรับข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลผลิต 2556/2557 แต่ที่ผ่านมาชาวนาส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับเงิน
รวมถึงเงินงบกลาง 2 หมื่นล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อนุมัติ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าเงินจะถึงมือชาวนาเมื่อไหร่ และถึงแม้จะจ่ายได้จริงส่วนที่ค้างจ่ายอีก 1 แสนล้านบาทจะนำเงินมาจากไหน โดยจะให้เวลาถึงวันที่ 25 มีนาคมนี้เพื่อกลับมาฟังคำตอบจากกระทรวงการคลังอีกครั้ง หากยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ชาวนาจาก 37 จังหวัดจะบุกมาทวงคำตอบพร้อมนำข้าวเปลือกที่ออกมาใหม่มาเทหน้ากระทรวงการคลังหรือสถานที่อื่นๆ ต่อไป
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากชาวนาส่วนใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างจะมีปัญหาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวของเดิมแล้ว การลงทุนปลูกข้าวนาปรังรอบใหม่ที่เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้และที่กำหลังจะออกมาในเดือนเมษายนอีกจำนวนมาก จากจำนวนที่เพาะปลูก 12 ล้านไร่นั้นกำลังประสบปัญหาไม่สามารถขายข้าวได้ หรือหากขายให้โรงสีได้ก็ถูกกดราคาเหลือตันละ 3,000-4,500 บาทเท่านั้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 6,500 บาท เมื่อขายออกไปก็จะขาดทุนทันที ยังไม่รวมค่าเช่านาปีละ 2,500 บาทต่อไร่ ทำให้ขณะนี้ชาวนาประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมาก
“อยากจะขอร้องให้รัฐบาลหยุดกการเร่งระบายข้าวออกมา ซึ่งเป็นการซ้ำเติมราคาข้าวให้ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวสารอยู่ที่ตันละ 1.1 หมื่นบาท ขณะที่พาณิชย์ประมูลขายข้าวที่ตันละ 9 พันบาท อีกทั้งช่วงนี้มีข้าวเวียดนามและอินเดียออกสู่ตลาดโลกจำนวนมาก ทำให้โรงสีหรือผู้ส่งออกไม่กล้าซื้อข้าวจากชาวนาหรือรับซื้อในปริมาณที่น้อยและราคาถูก จึงถือว่าเป็นการทำลายชาวนาที่ไม่ได้เข้าโครงการจำนำข้าวให้ได้รับผลกระทบไปด้วย
"ปู"เงอะงะแจงทุจริตจำนำข้าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการขอเลื่อนชี้แจง ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามข้อกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ไปอีก 15 วัน เนื่องจากได้หารือกับทางทนาย ซึ่งต้องขอเรียนตรงๆว่า เรายังมีความหนักใจ เพราะเราได้เอกสารมาเพียง 49 แผ่นเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมในเนื้อหาที่ถูกกล่าวหา
จากนั้นผู้สื่อข่าวพยายามถามว่านายกฯ จะไปชี้แจง ป.ป.ช. ด้วยตนเองหรือไม่ แต่นายกฯปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
ลุยตรวจโกดังข้าวบุรีรัมย์10แห่ง
วานนี้ (18 มี.ค.) คณะทำงานตรวจสอบและกำกับดูแลการรับจำนำข้าวจังหวัดบุรีรัมย์ นำโดย นายปรารภ ลิไธสง หัวหน้าสำนักงานการค้าภายในจังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังกลางที่ อ.นางรอง ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โกดังที่จัดเก็บข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลตั้งแต่ปีการผลิต 2554-2557 เพื่อตรวจนับปริมาณข้าวสาร รวมถึงสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวสารเพื่อตรวจสอบคุณภาพว่าตรงตามที่ขึ้นบัญชีไว้หรือมีข้าวปลอมปนหรือไม่ รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้ข้าวในโกดังสูญหาย ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานจะตรวจสอบให้ครบทั้ง 10 โกดัง ซึ่งตั้งอยู่ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมือง นางรอง ประโคนชัย พุทไธสง และสตึก ที่จากข้อมูลปัจจุบันมีข้าวสารอยู่ในโกดังประมาณ 600,000 กระสอบ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบ 1 สัปดาห์
ส่วนกรณีที่ทางองค์การคลังสินค้า (อคส.) เข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปรามว่ามีข้าวสูญหายจากโกดังกลางที่ อ.ประโคนชัยกว่า 1,400 กระสอบนั้น ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่มีการแจ้งความเอาผิดใคร ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าข้าวสูญหายจริงหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
5รายยื่นประมูลปรับปรุงข้าวส่งคอฟโก
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การเปิดให้ยื่นซองราคาเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าวขาว 5% ปีการผลิต 2556/57 เพื่อส่งมอบให้บริษัทคอฟโก รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ปริมาณ 1 แสนตัน มีผู้เสนอซองราคาเป็นผู้ปรับปรุงทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ บริษัท ข้าวซี.พี. บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ บริษัท พงษ์ลาภ และบริษัท ไชยพร อินเตอร์เนชั่นแนล
โดยกรมการการต่างประเทศจะเปิดซองและต่อรองราคาในวันนี้ (19 มี.ค.) ซึ่งจะพิจารณาผู้ที่เสนอราคาปรับปรุงเข้ามาต่ำสุด
ส่งเงินคืนคลังแล้วรวม1.75แสนล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงฯได้คืนเงินจากการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลให้กระทรวงการคลังไปแล้ว 1.75 แสนล้านบาท โดยเป็นการระบายข้าวในรัฐบาลชุดนี้ผ่านวิธีการประมูล และยื่นซื้อตรงรวม 3 ล้านตัน ซึ่งไม่นับรวมการระบายข้าวผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศ (เอเฟต) โดยเงินที่ได้จากการระบายข้าวต่อไปจะต้องถูกนำมากันไว้เพื่อจ่ายคืนงบกลางฉุกเฉิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ทันกับกำหนดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขีดเส้นให้นำเงินมาคืนงบกลาง 31 พ.ค.นี้