xs
xsm
sm
md
lg

จะได้นายกรัฐมนตรีใหม่อย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

หลายคนคงรู้สึกเอือมระอากับความไม่รู้สึกรู้สาและความไร้ความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองของนายกรัฐมนตรีรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พยายามเกาะเก้าอี้ตำแหน่งนายกรักษาการไว้อย่างเหนียวแน่น โดยอ้างว่าต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่แทน เธอจึงยึดตำแหน่งนายกฯไว้ราวกับเป็นหลักชีวิตของตัวเธอและวงศ์ตระกูล ยามใดที่หลุดจากตำแหน่ง เธอคงทราบดีว่าวันนั้นเป็นวันสุดท้ายสำหรับการใช้ชีวิตในประเทศไทย

ภายใต้ข้ออ้างนี้ การทำให้ให้เธอพ้นจากตำแหน่งนายกฯรักษาการจึงมีวิธีการเดียวคือ การทำให้มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมา เพราะทันทีที่เกิดคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ข้ออ้างที่เธอใช้ในการเกาะตำแหน่งเอาไว้ก็ไม่อาจใช้อ้างได้ต่อไป

ในสถานการณ์ปกติ การเกิดขึ้นของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 นั้นเป็นไปตามลำดับขั้นตอนของมาตรา 107 หรือ 108 จากนั้นตามด้วยมาตรา 93 127 และ172 ดังนี้

1.มาตรา 107 คือ การสิ้นอายุของ ส.ส.ตามวาระ จะมีการตราพระราชกฤษฎีกาซึ่งมีประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียวคือ การเลือกตั้งใหม่ที่วันเลือกตั้งเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ส่วนมาตรา 108 การสิ้นอายุของ ส.ส. โดยการยุบสภา รัฐบาลต้องตราพระราชกฤษฎีกาซึ่งมีประเด็นหลัก 2 ประเด็นหลักคือ การยุบสภา และการกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ที่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

2.เมื่อการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นตามกระบวนการแล้ว มาตรา 93 ระบุว่า การประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้ต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 95 ของ ส.ส.ทั้งหมด หมายความว่าการเลือกตั้งครั้งใดก็ตามจะต้องทำให้ได้ ส.ส.จำนวน 475 คนขึ้นไป จากทั้งหมด 500 คน จึงถือว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการเลือกตั้งครั้งใดที่ทำให้ได้ ส.ส. ไม่ถึง 475 คน ก็ไม่อาจเป็นสภาผู้แทนราษฎรได้

3.หากการเลือกตั้งครั้งทำให้มี ส.ส.ครบตามที่กำหนดในมาตรา 93 ก็สามารถดำเนินการต่อไปตามมาตรา 127 คือ เรียกประชุมสภาได้ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

4.จากนั้นจึงเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ภายในสามสิบวันตามมาตรา 172 รัฐบาลใหม่ก็เกิดขึ้นมาทำหน้าที่ต่อไป

แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรกคือ

1การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามมาตรา 108 โดยการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2556 มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหากจะกำหนดวันเลือกตั้งเพิ่มเติมภายหลังก็หมายความว่าเป็นการทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ซึ่งขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 108

2.ดังนั้นการไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 28 เขต ส่งผลให้การเลือกตั้งที่ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 แม้จะทำอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม จะได้ ส.ส. เพียง 472 คน หรือร้อยละ 94.4 เท่านั้น ไม่ถึงร้อยละ 95 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงทำให้ไม่ครบองค์ประกอบของการเป็นสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 93 และ กกต. ก็ไม่อาจดำเนินการให้มีการเลือกตั้งต่อไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า การดำเนินการให้มีจำนวน ส.ส.ครบภายใน180วันตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบของการสภาผู้แทนแล้ว หรือ ต้องมี ส.ส. ร้อยละ 95 แล้วนั่นเอง ดังนั้นการเลือกตั้งที่ไม่อาจทำให้ได้จำนวน ส.ส. ครบร้อยละ 95 ตั้งแต่แรก จึงทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะโดยปริยาย และไม่อาจดำเนินการใดๆได้อีกต่อไป และหาก กกต. ดันทุรังเดินหน้าเลือกตั้งต่อไป กกต.ก็อาจทำในสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญได้

3.เมื่อไม่มีองค์ประกอบการเป็นสภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่อาจดำเนินการเปิดประชุมสภาได้ตามมาตรา 127 และไม่อาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตามมาตรา 172

4.เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลใหม่ได้

คำถามที่ตามมาก็คือ ในเมื่อการเลือกตั้งตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมไม่อาจทำให้เกิดรัฐบาลใหม่ได้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นรัฐบาลรักษาการต่อไปเรื่อยๆ ได้หรือไม่

ปกติคำว่า “รักษาการ” คือ การทำหน้าที่แทนชั่วคราวเท่านั้นและผู้รักษาการอยู่ทำหน้าที่เท่าที่จำเป็นโดยใช้เวลาสั้นที่สุด เพราะการบริหารองค์การใดก็ตามจำเป็นจะต้องทำให้มี “ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริง” เร็วที่สุด โดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารประเทศ การมี “ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริง เร็วเท่าไร ก็ย่อมจะส่งผลดีต่อบ้านเมืองมากเท่านั้น ในทางกลับกัน การให้ผู้รักษาการอยู่นานเท่าไร ก็มีผลเสียมากเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีรักษาการมีอำนาจจำกัด ทำให้ไม่อาจดำเนินการบริหารแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ประเทศจะเสียหายหนักมากขึ้นไปอีก หากรัฐบาลรักษาการมีเรื่องอื้อฉาวด้านพฤติกรรมทุจริต ไร้ฝีมือการบริหารประเทศ สนับสนุนกลุ่มก่อความรุนแรง ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ และถูกประชาชนเรือนล้านชุมนุมขับไล่ ดังที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ดังนั้นเมื่อวิธีการได้มาของรัฐบาลใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นได้แล้วจากการเลือกตั้งตามกระบวนการปกติ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาวิธีการที่เหลืออยู่ตามช่องทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าขณะนี้สังคมกำลังหลงประเด็นไปถกเถียงกันว่าจะต้องรอให้นายกรักษาการสิ้นสภาพก่อนแล้วจึงค่อยหาหนทางในการทำให้มีนายกรัฐมนตรีขึ้นมาใหม่ บางกลุ่มจึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสภาพไปแล้วหรือไม่ ซึ่งก็อาจมีผลดีอยู่บ้างเพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วก็จะทำให้องค์กรทางสังคมนำไปขับเคลื่อนทางการเมืองต่อไปได้อย่างมั่นใจเพิ่มขึ้น

แต่อันที่จริงผมว่าไม่จำเป็นต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ เพราะว่าตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เสร็จสิ้นลง ก็มีข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่อาจทำให้เกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้ เนื่องจากทั้งกระบวนการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้งไม่อาจเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างชัดเจนแล้ว


ขืนรอต่อไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย ก็จะทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเธอก็จะอ้างแต่ว่าต้องอยู่รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนมีรัฐบาลชุดใหม่มาทำหน้าที่แทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นแล้วตามกลไกปกติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ถ้าอย่างนั้นสิ่งที่ควรจะทำคืออะไร เพื่อจะให้ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐบาลใหม่ขึ้นมา อันจะทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกไปเสียที

หากพิจารณาเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ากรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ ต้องมาตรา 7 นั่นเอง

แต่ก็มีคำถามต่อเนื่องมาอีกว่า แล้วใคร องค์กรใดจะเป็นริเริ่ม และวินิจฉัยว่าควรใช้ประเพณีใด เมื่อพิจารณาเทียบเคียงแล้ว ผมเห็นว่ามวลมหาประชาชนน่าจะเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการนี้ได้เลยโดยใช้มาตรา 3 ที่ระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

ขั้นแรก แกนนำมวลมหาประชาชนจัดประชุมสมัชชาประชาชนขึ้นมาโดยเร่งด่วน และเชิญตัวแทนประชาชนจากทุกภาคส่วน ประมาณสัก 1,000 คน เข้าร่วมการประชุม ส่วนสถานที่อาจใช้ที่สนามม้านางเลิ้งก็ได้ จากนั้นให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มควรเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมต่อการเป็นนายกรัฐมนตรี และอภิปรายเหตุผลสนับสนุน

เมื่อได้รายชื่อแล้ว (ซึ่งไม่ควรเกิน 10 คน) ก็ดำเนินการลงคะแนนเพื่อเลือกบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ และประธานสมัชชาประชาชนนำรายชื่อบุคคลที่ได้รับคะแนนสูงสุดไปเสนอให้ที่ประชุมวุฒิสภารับรอง

วุฒิสภาต้องจัดประชุมอย่างเร่งด่วนและลงมติรับรองรายชื่อที่สมัชชาประชาชนเสนอมา และให้ประธานวุฒิสภาหรืออาจเป็นรองประธานวุฒิสภาก็ได้นำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้า โดยผู้นำรายชื่อเสนอทูลเกล้าจะเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ

เพียงเท่านี้ เราก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้รัฐบาลใหม่ ทันที เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการโดยปริยาย

ประเทศไทยก็จะได้หลุดพ้นจากวงจรน้ำเน่าของระบอบทักษิณ และเดินหน้าสู่วิถีแห่ง การปฏิรูป ฟื้นฟูประชาธิปไตย พัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างความเป็นธรรม โดยการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง



กำลังโหลดความคิดเห็น