ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ ก็เปรียบเสมือนว่าศาลให้ปืนรัฐบาลไว้หนึ่งกระบอก แต่รัฐบาลต้องเก็บไว้ที่บ้านอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาใช้ยิงได้”
เป็นคำอธิบายที่ทำให้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจได้ง่ายๆ ของ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ฯ (กปปส.) ต่อคำสั่งศาลแพ่ง เมื่อ 19 ก.พ. 57 ในคดีที่ ถาวร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3
ในเรื่องละเมิด จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี และบางอำเภอใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม
ศาลแพ่ง ได้มีคำสั่งโดยสรุป คือ ไม่ได้เพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล แต่ก็มีคำสั่งว่า ห้ามสั่งให้มีการสลายการชุมนุมของประชาชน อันหมายถึงว่าศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมาออกคำสั่งให้ตำรวจออกไปตั้งแถวสลายการชุมนุม แล้วอ้างว่าเป็นการขอคืนพื้นที่ แบบเมื่อ18 ก.พ. ที่บริเวณสะพานผ่านฟ้า และถนนราชดำเนิน จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตจำนวนมากอีกไม่ได้แล้ว
แม้ ศาลแพ่งจะไม่ได้ให้เพิกถอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่คำสั่งของศาลที่มีการสั่งไม่ให้จำเลยทั้งสาม คือ ยิ่งลักษณ์-เฉลิม-พล.ต.อ.อดุลย์กระทำการ 9 ข้อ มันก็เหมือนกับเป็นการมัดมือมัดเท้าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปโดยปริยาย
จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำสั่งที่เป็นคุณอย่างมากกับมวลมหาประชาชน ที่จะทำให้การเคลื่อนไหวเพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ-ปฏิรูปประเทศกลับมาทำได้อย่างมีอิสระมากขึ้น โดย ข้อห้าม 9 ข้อตามคำสั่งศาลแพ่งดังกล่าว
1. ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ
2. ห้ามมีคำสั่งยึดหรืออายัดสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ หรือวัตถุอื่นใดที่ได้ใช้ หรือจะใช้สิ่งนั้นเพื่อการกระทำการหรือสนับสนุนของโจทก์และประชาชน
3.ห้ามออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอนหรือทำลายซึ่งอาคารสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวางของประชาชน
4.กรณีการซื้อขายใช้หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าเวชภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์หรือวัสดุอุปกรณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจใช้ในการชุมนุม ไม่ต้องขออนุญาต
5.ห้ามสั่งปิดการจราจร ปิดเส้นทางคมนาคมหรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้ไม่อาจใช้เส้นทางคมนาคมได้ตามปกติในทุกเขตพื้นที่ที่โจทก์และประชาชนใช้ในการชุมนุม
6.ห้ามสั่งห้ามไม่ให้ชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป
7.ห้ามสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะของโจทก์และประชาชนในการชุมนุม
8.ห้ามสั่งห้ามประชาชนใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ
9.ห้ามสั่งห้ามอพยพประชาชนออกจากพื้นที่การชุมนุมและห้ามมิให้ออกคำสั่งห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม
“ทีมข่าวการเมือง”พิจารณาแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำสั่งของศาลแพ่งครั้งนี้ เพราะเป็นการออกคำสั่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐ-นิติธรรม-มีคำอธิบายได้ คือ ทางรัฐบาลและศรส. จะออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาบังคับใช้เพื่อควบคุมเหตุการณ์ก็ทำไปได้ มีอำนาจ ทางศาลเองที่เป็นอำนาจตุลาการ ไม่ขอไปก้าวล่วงอำนาจฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีในการออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
แต่ก็ขอขีดเส้นการใช้อำนาจนั้นให้อยู่ในขอบเขตที่ถูกที่ควร อีกทั้งก็ได้มีการพิจารณาถึงหลักสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชนที่มีสิทธิในการชุมนุมได้ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ-สันติด้วย
ส่วนการขยายผลจากคำสั่งศาลแพ่งดังกล่าว จากฝ่ายต่างๆ หลังจากนี้ “ทีมข่าวการเมือง”ก็มองว่าเป็นเรื่องที่แต่จะคนจะหาช่องทางตามกฎหมายพิจารณากันต่อไป
ที่น่าสนใจก็เช่นมุมความเห็นทางกฎหมายของชูชาติ ศรีแสงอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ชี้ประเด็นผ่านเฟสบุ๊ค Chuchart Srisaeng ของตัวเองว่าคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวส่งผลให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกคนไม่ใช่แค่แกนนำกปปส.-เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ(คปท.)แต่ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ที่เคยถูกตำรวจเอาผิดในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะไม่มีความผิดฐานฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฯ อีกต่อไป แต่ผู้ที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯก่อนหน้านี้ ก็จะต้องไปขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ
และหลังจากนี้หากตำรวจหรือดีเอสไอจะขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาคนไหนในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ก็ทำไม่ได้อีกแล้ว ยกเว้นข้อหาอื่นพร้อมกับชี้ปมข้อกฎหมายไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนหน้าที่ศรส.เคยมีคำสั่งอะไรลงไปแล้วทำให้ประชาชนตายหรือบาดเจ็บ หากผู้เสียหายจะเอาความก็ไปใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องต่อศาลเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังกล่าวต้องรับผิดชอบได้
ทั้งนี้ ปรากฏว่า ยังไม่ทันข้ามวันฝ่าย กปปส.ก็ประกาศจะนำคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวมาขยายผลทันทีที่ก็เป็นเจ้าเก่ารายเดิมคือ ถาวร เสนเนียม ที่ประกาศจะรุกฆาตกับยิ่งลักษณ์ ให้มีคดีความติดตัวเพิ่มขึ้นอีกคดีด้วยการที่ กปปส. จะประสานญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 18 ก.พ. ที่เป็นฝ่ายประชาชนรวม 4 รายเพื่อฟ้องดำเนินคดีกับยิ่งลักษณ์และพวกแกนนำศรส.เช่นเฉลิม -พล.ต.อ.อดุลย์-ธาริตเพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
กรณีนี้ ต้องไม่ลืมว่า ฝ่ายกปปส.โดยเฉพาะ สุเทพ เทือกสุบรรณมีความคับแค้นใจธาริต เพ็งดิษฐ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์มานานหลังจากถูกดีเอสไอเอาผิดคดีฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลจากเหตุสลายการชุมนุมเสื้อแดงปี53 มาคราวนี้ฝ่ายสุเทพและกปปส.ก็จะขอเอาคืนบ้างด้วยการทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล กลายเป็น“ดาบนั้นคืนสนอง”กลับไปทิ่มเข้าใส่พวกคนในรัฐบาลยิ่งลักษณ์บ้างในข้อหาออกคำสั่งให้ตำรวจออกมาขอคืนพื้นที่แล้วทำให้เกิดเหตุรุนแรงจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อ18 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยการเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 288, 289 ที่จะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาโดยตรงและหากศาลตัดสินว่าผิดก็มีโทษถึงประหารชีวิตเหมือนกับที่ดีเอสไอและอัยการสูงสุดเคยยื่นฟ้องอภิสิทธิ์เวชชาชีวะและสุเทพ
เบื้องต้น ถาวร เสนเนียมบอกว่าจะใช้เวลาเพื่อจัดการเรื่องนี้ประมาณหนึ่งเดือน ตรงนี้ก็ต้องดูกันต่อไปว่าคดีจะเดินหน้าไปอย่างไรและในทางข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจะเอาผิดยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องได้หรือไม่เพราะยังไงเสีย คนที่อาจถูกยื่นฟ้องเอาผิดอย่างพวกเฉลิม-พล.ต.อ.อดุลย์ ก็ต้องมีการอ้างว่าได้ให้ตำรวจเข้าขอคืนพื้นที่โดยสันติ เน้นการเจรจราและมีการสั่งการแล้วว่าห้ามใช้อาวุธ-ห้ามใช้ความรุนแรงและเป็นการปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่ให้อำนาจไว้ เหมือนกับที่อภิสิทธิ์และสุเทพก็เคยอ้างตอนโดนดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อปี56 ที่ผ่านมา
หาก ฝ่าย กปปส.และผู้บาดเจ็บ-ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อ 18 ก.พ. มีการยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์-เฉลิม-ธาริต-พล.ต.อ.อดุลย์และตำรวจอีกบางคนที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นคดีตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อย แล้วก็ให้ข้อเท็จจริงต่างๆ เช่นใครเป็นผู้ออกคำสั่งให้ตำรวจลุยเข้าไปในพื้นที่การชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า-ถนนราชดำเนินในของกองทัพธรรมจนทำให้เกิดการสูญเสีย ถึงเวลานั้น ข้อเท็จจริงต่างๆก็จะถูกนำมาเปิดเผยระหว่างการพิจารณาคดีของศาลต่อไป หากมีการฟ้องแล้วศาลประทับรับฟ้อง
ผลของคำสั่งศาลแพ่งดังกล่าว นอกจากจะเป็นคุณอย่างมากกับมวลมหาประชาชนแล้วฝ่ายแกนนำกปปส.ก็ได้ไปเต็มๆเพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องห่วงเรื่องที่ถูกศาลออกหมายจับในคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ในเวลานี้ หากว่าศาลเพิกถอนหมายจับที่ออกไปก่อนหน้านี้
ส่วนใครที่โดนคดีอื่นๆ อย่าง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับในคดีขัดขวางผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในการลงคะแนนเ พราะนำมวลชนไปชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 57 ที่ผ่านมา ก็ต้องดิ้นรนสู้คดีในส่วนนี้ต่อไป
แต่หากหลังจากนี้แกนนำกปปส.ถูกปลดโซ่ตรวนคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯไปได้ ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวต่างๆของแกนนำกปปส.มีความคล่องตัวมากขึ้นแน่นอน
แม้ว่ากันตามจริงแล้วก็จะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้ที่ศาลแพ่งยังไม่ได้มีคำสั่งดังกล่าวออกมาแกนนำกปปส.-คปท. หลายคนก็เคลื่อนไหวเหมือนกับไม่ได้ถูกออกหมายจับเลยแม้แต่น้อยเพราะตำรวจเองก็ไม่กล้าเข้าจับกุมเพราะเกรงเหตุปะทะ เว้นแต่บางคนอย่างสนธิญาณชื่นฤทัยในธรรม แต่ตอนนี้ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว
เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลอยู่ในสภาพไม่อาจใช้อำนาจบาดใหญ่ได้ตามอำเภอใจของรัฐบาลทรราชฝ่ายมวลมหาประชาชนก็ ได้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมมากขึ้นขณะที่แกนนำกปปส.ก็เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น โอกาสที่สุเทพและแกนนำกปปส.จะยกระดับการเคลื่อนไหวให้หนักขึ้นเพื่อปิดเกม
จึงเป็นไปได้ที่การชุมนุมอาจรู้ผลแพ้-ชนะในไม่ช้า