วานนี้ (20ก.พ.) นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และนายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ ร่วมออกแถลงการณ์ เรื่อง การฆาตกรรมและทำร้ายประชาชนด้วยอาวุธสงคราม โดยระบุว่า
ตามที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้ทำการขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลรักษาการในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการประท้วงโดยสงบ เปิดเผย และไม่มีอาวุธ รวมทั้งได้แสดงเจตนาต่อสาธารณชนด้วยเหตุและผลของการประท้วงต่อกรณีที่รัฐบาลไม่เคารพต่อคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ มีการกระทำที่พยายามจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายมาตรา ที่ไม่ชอบด้วยหลักการของการถ่วงอำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ตกเป็นโมฆะทั้งหมดแล้วนั้น
กลุ่มผู้ประท้วงเห็นว่า รัฐบาลไม่มีความชอบในการที่จะบริหารราชการต่อไป เพราะเห็นว่า นอกจากจะดำเนินการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทุจริต คอร์รัปชันในนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้นโยบายรับจำนำข้าว และการจัดซื้อครุภัณฑ์แท็บเล็ต เป็นต้น ถือได้ว่ามีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและหลักการสากล
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน ที่มีมาตรฐานของสหประชาชาติ ซึ่งนานาประเทศล้วนแล้วแต่ยอมรับ แต่รัฐบาลกลับยังคงเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ไปโดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องการต่อสู้ ในทางรัฐศาสตร์ระหว่างคู่ต่อสู้โดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ และการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านโดยการใช้อาวุธสงครามซึ่งต่างกัน และมีผลทางกฎหมายดังนี้
1. กรณีรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นั้น ไม่มีมาตรการใดที่จะให้รัฐบาลใช้อาวุธสงครามปืน เอ็ม 16, เอ็ม 79 และระเบิดในการขอคืนพื้นที่ จากประชาชนดังที่กล่าวอ้าง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น
2. เมื่อมีการใช้อาวุธขั้นรุนแรง ทำให้ประชาชนที่ต่อต้านโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้ที่ออกคำสั่ง รวมทั้งบุคคลผู้มีหน้าที่ที่จะต้องระงับ หรือดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายในการขอคืนพื้นที่ดังที่อ้าง จึงมีความผิดร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้อหา ฆ่าคนตายโดยเจตนา และทำร้ายร่างกายให้บาดเจ็บสาหัส โดยใช้อาวุธสงคราม และทำให้เสียทรัพย์ ต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้งที่เป็นความรับผิด ทางอาญา และต่อเนื่องไปถึงความรับผิดทางแพ่งด้วย
3. สภาทนายความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวนี้เป็นการกระทำอย่างอุกอาจ และจงใจละเมิดกฎหมายของบ้านเมืองอย่างชัดแจ้ง สมควรที่ผู้รับผิดชอบ ผู้สั่งการ ผู้ดำเนินการทั้งหมด จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายของบ้านเมืองต่อไป
ทางสภาทนายความเห็นว่า ขอให้ญาติผู้ที่เสียชีวิต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือญาติ มาขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความได้ เพราะการกระทำดังกล่าวของพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ถูกขั้นตอนของการระงับการต่อต้านรัฐบาล เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและขาดความเป็นธรรมซึ่งจะเห็นได้จาก การที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2557 ในคดีหมายเลขดำที่ 275/2557 ระหว่าง นายถาวร เสนเนียม โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กับพวก จำเลยรวม 3 คน
แม้ว่าศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาไม่เพิกถอนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ตาม แต่ศาลแพ่งก็ได้มีคำพิพากษาสั่งห้ามมิให้ ศรส. กระทำการ 9 กรณี และในนั้นมีการห้ามใช้อาวุธ ห้ามรื้อถอน ห้ามอายัดทรัพย์สิน ห้ามค้าขาย ห้ามปิดการจราจร ห้ามสลายการชุมนุม
ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า สิทธิของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบ เปิดเผย และปราศจากอาวุธ ได้มีการรับรองโดยศาล อันเป็นเจตนารมณ์ตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งการกระทำดังกล่าวของ ศรส. ไม่ควรจะถือเป็นเยี่ยงอย่าง ที่จะดำเนินการเช่นนี้ต่อไปกับประชาชนผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมด้วยมือเปล่า