xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไม่สนถูกฟ้องม.157 ยันจัดลงคะแนนไม่ทันเปิดสภา2มี.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18ก.พ.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่า ในที่ประชุม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้รายงานผลการหารือรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้งจากผู้แทนรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และนักวิชาการให้ทราบ และได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทางกกต. จะได้รวบรวมประเด็นหารือเสนอต่อที่ประชุม กกต. ในวันนี้ ( 19 ก.พ.) เพื่อที่ กกต.จะได้พิจารณาว่า เรื่องไม่ขัดกฎหมาย สามารถทำได้ก็จะดำเนินการ
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย อยากให้ กกต.จัดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้ง และในจังหวัดที่มีปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หรือ ในวันที่ 2 มี.ค. เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาครั้งแรกได้ทันนั้น ก็ถือว่าเป็นความต้องการของเขา กกต.จะไปทำอะไรเพื่อความต้องการของใครฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ และวันที่ 2 มี.ค. ก็เชื่อว่าไม่น่าจะดำเนินการได้ทัน แต่ในส่วนที่จะให้มีการจัดลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.วันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ว. คือ วันที่ 30 มี.ค.นั้น จะมีการพิจารณาในที่ประชุมวันนี้ ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งกกต.จะตัดสินใจดำเนินการอะไร จะมีเหตุผล สามารถอธิบายได้
นอกจากนี้ ในกรณีที่สมาชิกพรรคเพื่อไทย เดินหน้าฟ้องเอาผิดกกต. ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 157 ฐานไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้เสร็จโดยเร็วนั้น ก็ไม่เป็นไร เขาก็มีสิทธิ หากเห็นว่ากกต. ทำผิดกฎหมาย ก็ไม่ได้กังวล เพราะถ้าเขาฟ้องเท็จ เขาก็ผิด กกต.ทำตามกรอบกฎหมาย เราก็เตรียมข้อมูลไว้ไปชี้แจง

**คาดใช้ 3,000 ล้านเลือกตั้งส.ว.

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ส.ว. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 มี.ค.ว่า ได้ประสานงานกับสำนักเลขาธิการ ครม.แล้ว ทราบว่าอยู่ระหว่างการกราบบังคมทูลพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งใน พ.ร.ฎ.ดังกล่าวทาง กกต.ขอพระราชทานให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันที่ 30 มี.ค. ตอนนี้ต้องรอโปรดเกล้าฯลงมาก่อน ส่วนการเตรียมการในขณะนี้ กกต.ได้เตรียมพร้อมวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งของต่างๆ ซึ่งบางส่วนใช้ในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา หากนำมาใช้ได้บางส่วนก็จะนำมาใช้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงานกกต.ได้ประชุมพิจารณางบประมาณที่จะใช้ในการจัดการเลือกตั้งส.ว. โดยมอบให้ ผอ.สำนักนโยบายและแผน ไปตรวจสอบความถูกต้อง ดาดว่า จะงบประมาณไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ส่วนตัวเลขที่แท้จริงคงจะได้ข้อสรุปในการหารือวันนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าไม่เกิดปัญหาแทรกซ้อนในการจัดการเลือกตั้ง ส.ว. โดยเฉพาะใน 15 จังหวัดภาคใต้ และ กทม. คิดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้าใจว่าส.ว.ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง และเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

**รัฐบาลยันไม่ออกพ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่

เวลา 09.00 น. วานนี้ ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับ นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเลือกตั้ง ตามที่ กกต. มีหนังสือขอข้อเสนอแนะมายังรัฐบาล ในกรณี 28 เขตเลือกตั้ง ที่ไม่มีผูัสมัครแล้ว กกต.จะออกประกาศ หรือวางระเบียบเองจะทำได้หรือไม่ และการตรา พ.ร.ฏ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ อาจมีประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุว่า วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
โดยภายหลังหารือ นายพงศ์เทพ เปิดเผยว่า ทางกฤษฎีกาเห็นว่ากกต. สามารถประกาศการเลือกตั้งได้เอง โดยไม่ต้องออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะตรงนี้ไม่มีกฏหมายรัฐธรรมนูญรองรับ ดังนั้นเมื่อพ.ร.ฏ.เก่ายังอยู่ กกต. สามารถใช้อำนาจหน้าที่ของท่าน ในการดำเนินการตาม พ.ร.ฎ.เก่าได้เลย ซึ่งพ.ร.ฎ.กำหนดการเลือกตั้งทั่วไป ต้องมีฉบับเดียว ซึ่งตรงนี้จะยึดโยงกับวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 104 ที่ระบุ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4 ปี นับจากวันเลือกตั้ง หากวันเลือกตั้งมีหลายวัน ก็จะมีปัญหาทางกฎหมาย และกฎหมาย กำหนดเวลา 30 วัน หลังจากวันเลือกตั้ง ต้องเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรกใหัได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเนื้อหาที่ตอบกลับไปยัง กกต. ซึ่งตนได้ลงนามในหนังสือ และส่งไปยังกกต.แล้ว และหาก กกต.มีอะไรติดใจสงสัยเหตุผลของกฤษฎีกา จะดำเนินการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ก็เป็นเรื่องกกต.เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น