xs
xsm
sm
md
lg

อัดช่อง11อิงรัฐบาลชี้นำเลือกตั้ง กกต.เรียกอธิบดีกรมประชา-ผอ.แจง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13ก.พ.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุม กกต. กับผู้บริหารสำนักงานกกต. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งได้มีการเชิญอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ช่อง 11 มาทำความเข้าใจ การรณรงค์ และการนำเสนอข่าวสาร ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยว่า ทางนายอภินันท์ จันทรรังสี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้มอบหมายให้ นายไพฑูรย์ หิรัญประดิษฐ์ รองอธิบดีฯ และ นายจำลอง สิงโตงาม ผอ.ช่อง 11 ได้มอบหมายนางสุมลพันธุ์ โกศลศิริเศรษฐ์ ผอ.ส่วนผลิตรายการช่อง 11 เป็นตัวแทนมาชี้แจง โดย กกต.เห็นว่าในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีการนำเสนอรายการที่สะท้อนแนวคิดทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดบทบาทหน้าที่ของกกต. เช่น การนำเสนอเรื่องโครงการรับจำนำข้าว โดยะระบุว่า ที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ชาวนาได้ เพราะกกต.ไม่อนุมัติเงินกู้ให้รัฐบาล และในวันเลือกตั้ง ยังมีรายการสัมมนาทางการเมือง ที่เป็นลักษณะชี้นำ โน้มน้าวใจประชาชนให้เชื่อในทางใดทางหนึ่ง โดยเชิญนักวิชาการเพียงฝ่ายเดียวมาให้ความเห็น ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีการเลือกตั้ง จะไม่มีสื่อช่องใดมีการนำเสนอรายการลักษณะนี้ก่อนปิดหีบลงคะแนนในเวลา 15.00 น.
“เราเห็นว่าขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ซึ่งกกต.มีหน้าที่ในการดูแลให้สื่อทุกแขนงนำเสนอสาระ และข่าวสาร ที่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือได้เปรียบเสียเปรียบแก่ผู้สมัคร พรรคการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงขอเชิญอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผอ.ช่อง 11 มาด้วยตัวเองอีกครั้ง ในการประชุมสัปดาห์หน้า พร้อมกับนำผังรายการ รายชื่อวิทยากร ที่มาเข้ารายการตั้งแต่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา จนถึงปัจจุบันมาแสดงต่อกกต.ด้วย เพื่อที่กกต. จะได้ดูว่า การดำเนินการที่ผ่านมามีความเหมาะสมหรือไม่ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือไม่” นายสมชัย กล่าว พร้อมกับยอมรับว่า หากกกต. พบว่ามีรายการที่เข้าข่ายหมิ่นเหม่ กกต. ก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะไปสั่งห้ามไม่ให้มีการนำเสนอ แต่เป็นการขอความร่วมมือให้สถานีไปดูแล เพื่อให้เกิดความเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีผู้ยื่นคำร้อง แต่ป็นเรื่องที่มีคนพูดถึง และตนเองก็ได้เปิดดูช่อง 11 ในวันที่มีการเลือกตั้ง และพบว่ามีรายการที่มีลักษณะโน้มน้าว และชี้นำในการเลือกตั้ง ขณะที่ช่องอื่นๆ จะให้ความรู้ที่เป็นทางเลือกประกอบการรายงานสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะก่อนหน้านี้ ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ถึงการไปร่วมรายการของ นายจอม เพชรประดับ และทางรายการจะให้บันทึกเทปโดยไม่มีกำหนดออกอากาศแน่นอน โดยอ้างว่า ผู้ใหญ่เกรงใจรัฐบาล จึงไม่ให้ออกรายการสด ใช่หรือไม่ นายสมชัย ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกัน ไม่ได้ดูรายการใด รายการหนึ่ง แต่ดูภาพรวมทั้งหมด

**เชิญตัวแทนพรรคการเมืองหารือ17ก.พ.

นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณี วันที่ 17 ก.พ. ที่จะเชิญผู้ที่มีความคิดเห็นว่า การเลือกตั้งสามารถดำเนินการต่อไปได้ มาพูดคุยเพื่อหาทางออกในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ได้มีหนังสือเชิญไปยังผู้บริหารพรรคเพื่อไทย จำนวน 9 คน อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายโภคิน พลกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพีระพันธุ์ พาลุสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รวมถึงนักวิชาการอีกจำนวน 15 คน อดีต กกต. และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภาคใต้ ที่มีปัญหาไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้มาพูดคุย ชี้แจงถึงปัญหาให้ทราบ แต่ขณะนี้ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้มีการตอบรับมา มีเพียงนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ที่ทราบว่าตอบรับแล้ว
อย่างไรก็ตาม อยากให้บุคคลที่ กกต.เชิญทุกคนได้มาแสดงความคิดเห็น เพราะกกต.ต้องการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง หากไม่มี ตนก็จะเสียใจ โดยในวันดังกล่าว กกต.จะเปิดให้สื่อมวลชนได้ร่วมรับฟังตลอดทั้งงาน และหากต้องการถ่ายทอดสด ก็พร้อม
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีรัฐบาลปฏิเสธที่จะดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครว่า รัฐบาลยังไม่ได้ปฏิเสธ แต่รัฐบาลบอกว่า ขอปรึกษาคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน แต่หากรัฐบาลไม่เห็นตรงกับ กกต. ก็ขอให้รัฐบาลตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างเป็นทางการ ซึ่ง กกต. ก็จะได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องความขัดแย้งทางข้อกฎหมายระหว่าง องค์กรของรัฐ
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า คำร้องที่ กกต.จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะมีการขอให้ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ตนก็ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง กกต.จะเสนอเฉพาะให้วินิจฉัยประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น จะไม่มีการสอดแทรกคำร้อง ขอให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ แน่นอน
เมื่อถามว่า การที่กกต.กำหนดวันลงคะแนนทดแทนวันเลือกตั้ง และวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดในเดือนเม.ย.นั้น เป็นเพราะกกต.เชื่อว่า จะมีอุบัติเหตุทางการเมือง ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออกก่อนการเลือกตั้งในเดือนเม.ย.ใช่หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ไม่ใช่ กกต.ไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่กกต.ได้พูดคุยกับ ผอ.กกต.จังหวัด ที่มีปัญหา ซึ่งได้ประเมินความพร้อมที่จะจัดเลือกตั้งได้แต่ละพื้นที่แล้วเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะที่จะ จัดการเลือกตั้งได้ และระยะเวลานับจากนี้ไปจนถึงเดือนเม.ย. รัฐบาลน่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตภาคใต้ ซึ่งหากได้ข้อสรุปวันเลือกตั้งของ 28 เขต ก็จะสอดแทรกอยู่ในช่วงวันเลือกตั้งทดแทนที่มีจะมีขึ้น

** แจงทูตตปท.ถึงสถานการณ์เลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ กกต.ได้เชิญเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนทางการทูต และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศประจำประเทศไทย กว่า 54 ประเทศ เข้ารับฟังคำชี้แจงทำความเข้าใจสถานการณ์ จัดการเลือกตั้งในประเทศไทย ภายหลังการชี้แจงกว่า 1 ชั่วโมงเศษ นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเอกอัครทูต คณะผู้แทนทางการทูต และผู้แทนองค์กรระหว่างประเศ ได้สอบถามมายัง กกต. ถึงข้อกฎหมายสำหรับการเลือก ตั้งบ่อยครั้ง กกต. จึงมีความตั้งใจที่จะชี้แจงข้อมูลโดยตรง การประชุมครั้งนี้ จึงได้เล่าลำดับเหตุการณ์การจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มีปัญหา ใน 3 ส่วน คือ การจัดการเลือกตั้งล่วหน้า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. การเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ. และการแก้ปัญหาสำหรับ 28 เขต เลือกตั้งใน 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ยังไม่สามารถรับสมัครผู้สมัครฯ โดยส่วนใหญ่คณะทูต ให้ความสนใจซักถามข้อกฎหมาย ไม่ได้ซักถามประเด็นทางการเมือง และหว่งว่าการเลือกตั้งจะจบหรือไม่
ทั้งนี้ ได้ชี้แจงถึงการแก้ไขปัญหา 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครว่า กกต.มีมติ และได้ทำหนังสือไปยังรัฐบาลให้มีการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่แล้ว โดยกกต. มองว่า ไม่อาจออกเป็นประกาศกกต. เพื่อกำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งเราได้ให้ความมั่นใจไปว่า เราจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป และจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ

** ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่อไป

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า เอกอัครราชทูต ฟังกกต.ชี้แจงแล้ว ก็รู้สึกเห็นใจว่ากกต.ดำเนินการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งทาง กกต.เองก็ยืนยันว่า มีความมุ่งมั่นจะเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไป จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ
"ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ผู้ชุมนุม ไม่ใช่เรา เราจะพยายามทำให้เสร็จโดยเร็ว ยิ่งเสร็จเร็วยิ่งดี เพราะเราก็ยังมีงานอื่นที่ต้องทำต่อ อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาตอนนี้ไปทางซ้ายก็ติดทางขวาก็ติด ก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ"
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ในการพบปะทูต และองค์กรระหว่างประเทศครั้งนี้ ผู้แทนทูตหลายประเทศได้ซักถามข้อกฎหมายในเชิงลึกกับ กกต. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเด็นข้อกฎหมายจากมุมมองของฝ่ายรัฐบาล ที่มองว่ามีหลายประเด็นที่ กกต.น่าจะทำได้ แต่ไม่ได้ทำ เช่น เจ้าหน้าที่สถานทูตจากอินโดนีเซีย ซักถามถึงเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงวันชดเชยการลงคะแนนล่วงหน้า จากเดิมที่มีข่าวเป็นวันที่ 23 ก.พ. เป็นวันที่ 20 เม.ย. โดยนายสมชัย ได้ชี้แจงว่าจากข้อมูลของกกต. ในพื้นที่พบว่าสถานการณ์ในพื้นที่ยังมีความรุนแรงมาก จนมีเพียง 2 ใน 21 จังหวัดเท่านั้น ที่พอจะจัดการลงคะแนนได้ภายในเดือนก.พ. นอกจากนี้ ยังห่วงว่าหากจัดการเลือกตั้งซ้อนกันกับการเลือกตั้งส.ว. อาจกระทบให้การเลือกตั้งส.ว. เสียหายไปด้วย
ตัวแทนทูตจากบราซิลได้ถามถึงกรณีที่กกต. ขอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใน 28 เขต แล้วหากรัฐบาลยืนยันไม่ออก พ.ร.ฎ. ทาง กกต. ยังสามารถเดินหน้าจัดการลงคะแนนได้หรือไม่ และตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่ให้ กกต. มีเวลา30 วัน ในการให้เปิดประชุมรัฐสภานั้น หากให้มีการลงคะแนนในเดือนเม.ย. แล้วจะเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญได้อย่างไร

** ยอมรับเปิดสภาใน 30 วันทำไม่ได้

นายสมชัย ชี้แจงว่าที่ กกต.มีหนังสือแนะนำให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เพราะได้หารือที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายแล้วว่ากกต. ไม่มีอำนาจออกประกาศให้มีการรับสมัครได้ ส่วนกรอบของรัฐธรรมนูญ 30 วัน ซึ่งยังไงก็ต้องเกินกรอบเวลา 30 วัน นอกจากนี้ก็เคยมีกรณีที่ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่มาแล้วในปี 2549 จึงคิดว่า น่าจะทำได้ และหากรัฐบาลมีความเห็นต่าง ก็เข้าข่ายสององค์กรมีความขัดแย้งทางความคิดเห็น ซึ่งกกต. ก็จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหา ทางออก
“เราไม่มีความลำเอียงที่จะเอื้อประโยชน์กับพรรคการเมืองใด แม้การเลือกตั้งจะช้าออกไปบ้าง แต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดกับทุกฝ่าย ถามว่าถ้าเกินกรอบ 30 วันจะเกิดอะไรขึ้น ตอบว่าไม่มีผลอะไร เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบดังกล่าว เพื่อเร่งรัดไม่ให้รัฐบาลรักษาการอยู่นานเกินไป แต่บนข้อเท็จจริงมันเป็นไปไม่ได้ ที่จะเกิดขึ้น เพราะ 28 เขต ขาดผู้สมัครยังไงก็ไม่ครบ 95 % ยิ่งกว่านั้น ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน ก็ยังคำนวณไม่ได้ แม้จะขาดคะแนนจากหน่วยเดียว แต่นี้ยังขาดอยู่หมื่นกว่าหน่วย รัฐสภาคงเปิดไม่ได้จนกว่าฝ่ายการเมืองจะยอมนั่งเจรจากัน ถ้าไม่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าอีก 6 เดือนประเทศไทยก็จะยังไม่มีรัฐบาล” นายสมชัย กล่าว
ส่วนเจ้าหน้าที่สถานทูตนอร์เวย์ ถามว่า กกต. จัดการกับผู้ขัดขวางการลงสมัครใน 28 เขตเลือกตั้งอย่างไร นายสมชัย ชี้แจงว่า อารมณ์ การต่อต้านการเลือกตั้งมันลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน กว่า 90 % ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งพรรคการเมือง และ กกต. หลายคนบอกให้ กกต.ฟ้องร้องเอาผิด แต่ถามว่ารัฐบาลทำอะไรได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมกปปส. ในกทม.ก็ยังทำไม่ได้เลย
ด้านผู้แทนจากนัมเฟลถามว่า กกต. ว่ามีข้อโต้แย้งว่า การที่จะให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.วันลงคะแนนใน 28 เขต อาจถูกมองว่าทำให้วันเลือกตั้งกลายเป็นคนละวันนั้น นายสมชัย กล่าวว่า กกต. มองว่าวันเลือกตั้งต่างจากวันลงคะแนนล่วงหน้า ตรงที่วันเลือกตั้งจะมีการนับคะแนน แต่วันลงคะแนนล่วงหน้าจะเก็บคะแนนไว้นับวันเลือกตั้ง พ.ร.ฎ.ที่จะขอให้รัฐบาลออกใหม่ก็ไม่ใช่การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เป็นเพียงการเปิดรับสมัคร และกำหนดวันลงคะแนนใหม่ เท่านั้น แต่หากมองอย่างเข้มงวด ก็อาจมองได้ว่า 28 เขตเลือกตั้งมันเลือกตั้งไม่ได้ ในวันที่ 2 ก.พ. ก็อาจถือเป็นวันเลือกตั้งใหม่ก็ได้ แต่ถ้า 28 เขต ดังกล่าวไม่ได้เลือกตั้ง การเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. ก็ไม่สมบูรณ์อยู่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น