xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสืบพยานเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้หวังกลั่นแกล้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (12 ก.พ.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพิจารณา คดีหมายเลขดำ 275/2557 ที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำกปปส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมิชอบ และยังไม่มีเหตุจำเป็น พร้อมขอให้ศาล สั่งเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มกปปส.
ทั้งนี้นายถาวร เสนเนียม โจทก์ รวมทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ , ร.ต.อ.เฉลิม และพล.ต.อ.อดุลย์ จำเลย ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแทน
โดยศาลได้กำหนดประเด็นในการนำสืบพยาน ซึ่ง นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความโจทก์ แถลงต่อศาลจะนำ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ , นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขา สมช. เบิกความเป็นพยาน รวม 4 ปาก เกี่ยวกับประเด็นที่รัฐบาล ออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นตามที่รัฐบาล กล่าวอ้าง
ขณะที่ทนายความฝ่ายจำเลยแถลง จะนำพยานขึ้นเบิกความ จำนวน 130 ปาก แต่ศาลพิจารณาแล้ว อนุญาตให้นำพยานขึ้นเบิกความได้ไม่เกิน 10 ปาก และกำหนดให้ 2 ฝ่าย นำสืบใน 3 ประเด็นหลัก คือ ช่วงเหตุการณ์ก่อน- หลัง การออกประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่คิดว่ามีความร้ายแรง และประเด็นการใช้อำนาจออก ประกาศ พ.รก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งศาลกำหนดให้ฝ่ายโจทก์เริ่มสืบพยานทันที
จากนั้น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้ขึ้นเบิกความ ระบุว่า สาเหตุที่มีประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีความพยายามที่จะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. และมาตรา 190 ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 68 รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องโครงการจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้มีการจัดประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไป และยังมีความพยายามที่จะกู้เงินมาเพื่อชำระหนี้
การกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ลุแก่อำนาจฝ่ายบริหาร และยังเป็นการสมรู้ร่วมคิด ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ในการแก้กฎหมาย เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกระทำการที่ไม่ชอบธรรม ก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะออกมาชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์จะออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเพื่อเป็นเครื่องมือกีดกั้นประชาชนในการใช้สิทธิ์ของตน และหลังจากที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลยังไม่ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุม ก็เพราะการชุมนุมนั้นเป็นไปด้วยความสงบ ยังไม่มีเหตุรุนแรง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะใช้กำลังเข้ามาสลายการชุมนุม
ต่อมานายปณิธาน วัฒนายากร ขึ้นเบิกความถึงขั้นตอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ตามหลักสากล ได้มีการกำหนดระดับความมั่นคงในการประกาศใช้กฎหมายเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย
1. มีการคุกคามร้ายแรงที่สุด เช่น ภัยสงคราม หรือกองกำลังทหารขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาคุกคามประเทศจะให้ประกาศใช้กฎอัยการศึก
2. ภาวะสงครามกลางเมือง จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง
3. สถานการณ์ก่อการจลาจล จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระดับธรรมดา
4. การชุมนุมขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวาย และเป็นการคุกคามภายในประเทศ จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทยคือ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
5. ระดับการเฝ้าระวัง ที่จะมีการเตรียมการบางอย่างกระทบต่อความมั่นคง ก็จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงระดับเบา ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เห็นว่าตามหลักวิชาการและประสบการณ์จัดการการชุมนุมที่ผ่านมาในยุค ศอฉ. ยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง แต่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็เพียงพอ ซึ่งการประกาศของรัฐบาล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อกำหนดที่ ประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เห็นว่ามุ่งจับกุม และอายัดบัญชีผู้ชุมนุม โดยไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง
ทั้งนี้ ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขฯ สมช. ได้เบิกความต่อในช่วงบ่าย จนสืบครบพยาโจทก์ทุกปากพร้อมนัดสืบพยานจำเลยต่อในวันนี้ (13 ม.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น