xs
xsm
sm
md
lg

พยาน กปปส.ชี้ รบ.ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลั่นแกล้งผู้ชุมนุม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ถาวร เสนเนียม
ศาลแพ่งไต่สวนคดีที่ “ถาวร” ร้องขอคุ้มครองชั่วคราวการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมิชอบ ด้านพยานโจทก์ชี้ รบ.ใช้ กม.เป็นเครื่องมือกีดกั้นประชาชนในการใช้สิทธิตาม รธน.โดยมุ่งหวังเพื่อการจับกุมและอายัดบัญชีผู้ชุมนุม โดยไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐ

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดพิจารณา คดีหมายเลขดำ 275/2557 ที่นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส.และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะรอง ผอ.ศรส.เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น พร้อมขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

ทั้งนี้ นายถาวร เสนเนียม โจทก์ รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์, ร.ต.อ.เฉลิม และ พล.ต.อ.อดุลย์ จำเลย ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่มอบอำนาจให้ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแทน

โดยวันนี้ศาลได้กำหนดประเด็นในการนำสืบพยาน ซึ่ง นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความโจทก์ แถลงต่อศาลจะนำ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์, นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เบิกความเป็นพยาน รวม 4 ปาก เกี่ยวกับประเด็นที่รัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่มีเหตุจำเป็นตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

ขณะที่ทนายความฝ่ายจำเลยแถลง จะนำพยานขึ้นเบิกความ จำนวน 130 ปาก แต่ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้นำพยานขึ้นเบิกความได้ไม่เกิน 10 ปาก และกำหนดให้ 2 ฝ่ายนำสืบใน 3 ประเด็นหลัก คือ ช่วงเหตุการณ์ก่อน-หลังการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่คิดว่ามีความร้ายแรง และประเด็นการใช้อำนาจออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งศาลกำหนดให้ฝ่ายโจทก์เริ่มสืบพยานทันที

จากนั้น นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ได้ขึ้นเบิกความระบุว่า สาเหตุที่มีประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลมีความพยายามที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.และมาตรา 190 ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 68 รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องโครงการจำนำข้าว ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ให้มีการจัดประมูลขายข้าวเป็นการทั่วไป และยังมีความพยายามที่จะกู้เงินมาเพื่อชำระหนี้ โดยการกระทำของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ลุแก่อำนาจฝ่ายบริหาร และยังเป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติในการแก้กฎหมาย เมื่อประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกระทำการที่ไม่ชอบธรรมก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะออกมาชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่รัฐบาลไม่มีสิทธิ์จะออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเพื่อเป็นเครื่องมือกีดกั้นประชาชนในการใช้สิทธิของตน และหลังจากที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลยังไม่ได้นำกำลังเข้าสลายการชุมนุมก็เพราะการชุมนุมนั้นเป็นไปด้วยความสงบยังไม่มีเหตุรุนแรง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะใช้กำลังเข้ามาสลายการชุมนุม

ต่อมา นายปณิธาน วัฒนายากร ขึ้นเบิกความถึงขั้นตอนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า ตามหลักสากลได้มีการกำหนดระดับความมั่นคงในการประกาศใช้กฎหมายเป็น 5 ระดับ ประกอบด้วย 1.มีการคุกคามร้ายแรงที่สุด เช่น ภัยสงคราม หรือกองกำลังทหารขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาคุกคามประเทศจะให้ประกาศใช้กฎอัยการศึก 2.ภาวะสงครามกลางเมืองจะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง 3.สถานการณ์ก่อการจลาจลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ระดับธรรมดา 4.การชุมนุมขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายและเป็นการคุกคามภายในประเทศ จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเปรียบเทียบกับประเทศไทย คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และ 5.ระดับการเฝ้าระวัง ที่จะมีการเตรียมการบางอย่างกระทบต่อความมั่นคง ก็จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงระดับเบา ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เห็นว่าตามหลักวิชาการและประสบการณ์จัดการการชุมนุมที่ผ่านมาในยุค ศอฉ.ยังไม่มีเหตุจำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง แต่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็เพียงพอ ซึ่งการประกาศของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง และเมื่อพิจารณารายละเอียดในข้อกำหนดที่ประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เห็นว่ามุ่งจับกุมและอายัดบัญชีผู้ชุมนุม โดยไม่ได้มุ่งแก้ไขปัญหาความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง

ภายหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช.เบิกความในช่วงบ่ายเสร็จแล้ว จากนั้นทนายความฝ่ายจำเลยได้นำ นายชวลิต พิชาลัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน รับมอบอำนาจจากปลัดกระทรวงพลังาน เบิกความทันทีถึงเหตุการณ์ชุมนุมปิดกระทรวงพลังงาน สรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.มีผู้ชุมนุมไปที่หน้ากระทรวงพลังงาน ถ.วิภาวดี ประมาณ 800-1,000 คน และมีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ให้พนักงานยุติการทำงานแล้วออกมาจากตึกให้หมด นอกจากนี้ผู้ชุมนุมเกือบ 200 คนยังเข้าไปในสถานที่ราชการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ของตึกได้ล็อคกุญแจด้วยวิธีการอ๊อคเหล็กไม่ให้คนภายนอกเข้าไปในอาคาร แต่กลุ่มผู้ชุมนุมนำเครื่องอ๊อคใช้ความร้อนจี้เหล็กออก ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้ชุมนุม 500 คนเคยมาปิดล้อมอาคารแล้วครั้งแรกเดือน ธ.ค.2556 พร้อมกับตัดน้ำตัดไฟ ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำงานและไม่สามารถเข้า-ออกสถานทีได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยเราจึงจำเป็นต้องย้ายสถานที่ทำงานที่อื่น และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเข้าอาคารได้ เพราะมีผู้ชุมนุมเฝ้าอยู่หน้าอาคาร ซึ่งผลเสียหายยังไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขได้ิแต่ความเสียหายที่เป็นรูปธรรม คือไม่สามารถให้บริการประชาชนได้

ขณะที่ พ.ท.สิทธิพร เจริญพุฒ รองผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการพิเศษ ดีเอสไอ เบิกความถึงเหตุการณ์ผู้ชุมนุมปิดล้อมอาคารสำนักงานดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ สรุปว่าเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2556 มีกลุ่มกปปส.ประมาณ 3 พันคนกล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของดีเอสไอ โดยมวลชนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ผ้าปิดบังใบหน้าเข้ารื้อรั้วที่กั้นพื้นที่ออก จากนั้นเข้าไปรื้อรั้วลวดหนามหน้าประตูกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วนำโซ่มาคล้ิงไว้ เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงาน และมีบางส่วนพังประตูด้านข้างอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าไปในอาคารมีการทำลายทรัพย์สิน รวมทั้งตัดสายไฟฟ้าห้องสำรองไฟฟ้าของดีเอสไอทั้งหมด โดยผู้ชุมนุมอยู่ที่ดีเอสไอ ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วจึงออกไป แต่หลังจากนั้นยังมีผู้ชุมนุมขี้รถจักยานยนต์มาตรวจสอบดูที่ดีเอสไอว่ายังมีข้าราชการทำงานอยู่หรือไม่ จากนั้นวันที่ 11 ธ.ค.2556 ได้เปิดทำการอีกครั้ง แต่ในวันที่ 23 ธ.ค.เวลา 11.00 น.มีผู้ชุมนุม กลุ่ม คปท.นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ และนางอัญชลี ไพรีรักษ์ มากับผู้ชุมนุมประมาณ 800 คนแล้วให้ช่วยกันตัดลวดหนาม รื้อรั้วหน้าดีเอสไอ และให้กลุ่มผู้ชุมนุมผู้หญิง เข้าไปขับไล่ข้าราชการออกจากสำนักงาน โดยศาลจะนัดสืบพยานจำเลยต่อในวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น