กกต.มั่นใจออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง แก้ปัญหา 28 เขตไร้ผู้สมัครได้ ไม่ขัด กม. เตรียมหารือ"ยิ่งลักษณ์" กำหนดวันเลือกตั้ง ด้าน ปชป.แนะยื่นศาล รธน.ตีความ หากความเห็น กกต.กับรัฐบาลไม่ตรงกัน
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่กกต. จะทำหนังสือเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ว่า ยังอยู่ระหว่างกระบวนการร่างหนังสือ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมกกต. เพื่อให้เซ็นลงนามได้ภายในวันที่ 10 หรือ 11 ก.พ. และคาดว่าหนังสือดังกล่าว จะส่งไปยังรัฐบาลอย่างช้าที่สุด ไม่น่าเกินวันที่ 12 ก.พ.
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือนี้กกต.ไม่ได้กำหนดว่าจะให้การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันใด เป็นเพียงหนังสือที่แสดงความเห็นว่า รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งเป็นเพียงหลักการเท่านั้น หากรัฐบาลเห็นชอบ ต้องมาคุยเรื่องกำหนดวันอีกครั้ง ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า การออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขปัญหา 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครนั้นไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายในข้อใด ไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้ง อีกทั้งฝ่ายสำนักงานกกต.ไม่ได้มองว่า จะเป็นการออกซ้ำกับพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ถ้าทำแล้วขัดกฎหมาย กกต.คงไม่ทำ
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีร่วมหารือกับกกต. หากรัฐบาลได้รับหนังสือเชิญ โดยรัฐบาลพร้อมฝ่ายกฎหมาย จะพิจารณาข้อเสนอและข้อกฏหมายของ กกต. ต่อแนวทางความเป็นไปได้ว่า จะสามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมขอให้ กกต.รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของกกต.ในการจัดการเลือกตั้ง เหมือนกรณีที่มีผู้ได้รับแจก ใบเหลือง ใบแดง กกต.ยังสามารถกำหนดวันเลือกตั้งเองได้
นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี กกต.เตรียมทำหนังสือให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ความจริงปัญหาทั้งหมดเกิดจาก กกต. ที่ไม่แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตั้งแต่แรก เมื่อผ่านระยะเวลาการรับสมัคร กกต.กลับไม่ใช้อำนาจหาสถานที่ และขยายวันสมัครรับเลือกตั้งใหม่ เมื่อผ่านระยะเวลาการรับสมัครแล้ว นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้หารือกับตัวแทนรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวแทนรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยขอให้ กกต.ใช้อำนาจขยายวันรับสมัคร และหาสถานที่ที่เป็นไปได้ แต่ กกต.ไม่ทำ ฉะนั้นการดำเนินการเพื่อให้การเลือกตั้งใน 28 เขตที่เหลืออยู่เดินหน้าต่อไป จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.
" เมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปแล้วนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะทูลเกล้าฯ เสนอให้มีการตรา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้งใหม่อีก ทั้งๆ ที่ พ.ร.ฎ.ฉบับปัจจุบันยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนกระทำไปโดยรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ อาจสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย และไม่บังควรอย่างยิ่ง" นายโภคิน กล่าว
**ซัด! กกต.วางยาหวังให้ปชป.ยื่นยุบพท.
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายบริหารจัดการเลือกตั้ง
ระบุว่า กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากรัฐบาลไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครว่า สิ่งที่ กกต.เสนอเป็นการวางยารัฐบาล ให้ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นเอาผิดรัฐบาลทั้งคณะ และมีผลต่อการยุบพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เคยมีคำสั่งว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.โดยตรง ในการจัดการ และควบคุมการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดเลือกตั้งใหม่ทั้ง 28 เขต ไม่ใช่ของรัฐบาล ไม่อยากให้กกต. ซื้อเวลาอีกต่อไป อย่าโยนภาระมาให้รัฐบาล ถ้ากกต.ไม่ดำเนินการ ต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญา และแพ่ง ขอให้กกต.เชิญอดีต กกต. เช่น นางสดศรี สัตยธรรม นายประพันธ์ นัยโกวิท มาเป็นที่ปรึกษาการเลือกตั้ง ในประเด็นการเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร 28 เขต และการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ จะเป็นตราบาปของกกต.ไปตลอด
** แนะยื่นศาลรธน.ตีความ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กกต. จะทำหนังสือเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร แต่รัฐบาลอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งว่า กรณีนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ที่ไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นจึงเสนอให้ กกต.หรือรัฐบาล ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 241 กรณีมีความขัดแย้งอำนาจหน้าที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ต้องถือเป็นข้อยุติ ไม่ใช่ไม่ยอมรับอำนาจศาล เพราะจะทำให้หาข้อยุติไม่ได้
ทั้งนี้ตนเชื่อว่า หากรัฐบาลไม่ออกพระราชกฤษฎีกา กกต.ก็จะไม่จัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับแก้ไข จึงควรคลี่คลายปัญหาในทางกฎหมาย ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
"ประเทศถึงทางตัน แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่นานขอให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อหาทางออกโดยเร็ว เพราะประเทศไทยไม่ใช่ของเล่น ต้องให้คำตอบประชาชนว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ จะมีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครได้หรือไม่ " นายองอาจ กล่าว.
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่กกต. จะทำหนังสือเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ว่า ยังอยู่ระหว่างกระบวนการร่างหนังสือ คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมกกต. เพื่อให้เซ็นลงนามได้ภายในวันที่ 10 หรือ 11 ก.พ. และคาดว่าหนังสือดังกล่าว จะส่งไปยังรัฐบาลอย่างช้าที่สุด ไม่น่าเกินวันที่ 12 ก.พ.
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือนี้กกต.ไม่ได้กำหนดว่าจะให้การเลือกตั้งจัดขึ้นในวันใด เป็นเพียงหนังสือที่แสดงความเห็นว่า รัฐบาลสามารถออกเป็นพระราชกฤษฎีกา กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งเป็นเพียงหลักการเท่านั้น หากรัฐบาลเห็นชอบ ต้องมาคุยเรื่องกำหนดวันอีกครั้ง ซึ่งฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่า การออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อแก้ไขปัญหา 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครนั้นไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายในข้อใด ไม่ว่าจะเป็นตัวรัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ.เลือกตั้ง อีกทั้งฝ่ายสำนักงานกกต.ไม่ได้มองว่า จะเป็นการออกซ้ำกับพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ถ้าทำแล้วขัดกฎหมาย กกต.คงไม่ทำ
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีร่วมหารือกับกกต. หากรัฐบาลได้รับหนังสือเชิญ โดยรัฐบาลพร้อมฝ่ายกฎหมาย จะพิจารณาข้อเสนอและข้อกฏหมายของ กกต. ต่อแนวทางความเป็นไปได้ว่า จะสามารถทำได้โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมขอให้ กกต.รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายอื่นด้วย
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของกกต.ในการจัดการเลือกตั้ง เหมือนกรณีที่มีผู้ได้รับแจก ใบเหลือง ใบแดง กกต.ยังสามารถกำหนดวันเลือกตั้งเองได้
นายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี กกต.เตรียมทำหนังสือให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น ความจริงปัญหาทั้งหมดเกิดจาก กกต. ที่ไม่แก้ไขปัญหาให้ลุล่วงตั้งแต่แรก เมื่อผ่านระยะเวลาการรับสมัคร กกต.กลับไม่ใช้อำนาจหาสถานที่ และขยายวันสมัครรับเลือกตั้งใหม่ เมื่อผ่านระยะเวลาการรับสมัครแล้ว นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ได้หารือกับตัวแทนรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ซึ่งตัวแทนรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยขอให้ กกต.ใช้อำนาจขยายวันรับสมัคร และหาสถานที่ที่เป็นไปได้ แต่ กกต.ไม่ทำ ฉะนั้นการดำเนินการเพื่อให้การเลือกตั้งใน 28 เขตที่เหลืออยู่เดินหน้าต่อไป จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.
" เมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปแล้วนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่จะทูลเกล้าฯ เสนอให้มีการตรา พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเลือกตั้งใหม่อีก ทั้งๆ ที่ พ.ร.ฎ.ฉบับปัจจุบันยังมีผลใช้บังคับอยู่โดยสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนกระทำไปโดยรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ อาจสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย และไม่บังควรอย่างยิ่ง" นายโภคิน กล่าว
**ซัด! กกต.วางยาหวังให้ปชป.ยื่นยุบพท.
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายบริหารจัดการเลือกตั้ง
ระบุว่า กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หากรัฐบาลไม่ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครว่า สิ่งที่ กกต.เสนอเป็นการวางยารัฐบาล ให้ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นเอาผิดรัฐบาลทั้งคณะ และมีผลต่อการยุบพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เคยมีคำสั่งว่า เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.โดยตรง ในการจัดการ และควบคุมการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดเลือกตั้งใหม่ทั้ง 28 เขต ไม่ใช่ของรัฐบาล ไม่อยากให้กกต. ซื้อเวลาอีกต่อไป อย่าโยนภาระมาให้รัฐบาล ถ้ากกต.ไม่ดำเนินการ ต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญา และแพ่ง ขอให้กกต.เชิญอดีต กกต. เช่น นางสดศรี สัตยธรรม นายประพันธ์ นัยโกวิท มาเป็นที่ปรึกษาการเลือกตั้ง ในประเด็นการเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร 28 เขต และการลงคะแนนเลือกตั้งทั่วไปใหม่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ จะเป็นตราบาปของกกต.ไปตลอด
** แนะยื่นศาลรธน.ตีความ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กกต. จะทำหนังสือเสนอให้รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร แต่รัฐบาลอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งว่า กรณีนี้เป็นข้อขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ที่ไม่สามารถหาข้อยุติในเรื่องเดียวกันได้ เพราะฉะนั้นจึงเสนอให้ กกต.หรือรัฐบาล ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 241 กรณีมีความขัดแย้งอำนาจหน้าที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ต้องถือเป็นข้อยุติ ไม่ใช่ไม่ยอมรับอำนาจศาล เพราะจะทำให้หาข้อยุติไม่ได้
ทั้งนี้ตนเชื่อว่า หากรัฐบาลไม่ออกพระราชกฤษฎีกา กกต.ก็จะไม่จัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับแก้ไข จึงควรคลี่คลายปัญหาในทางกฎหมาย ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
"ประเทศถึงทางตัน แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่นานขอให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อหาทางออกโดยเร็ว เพราะประเทศไทยไม่ใช่ของเล่น ต้องให้คำตอบประชาชนว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ จะมีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครได้หรือไม่ " นายองอาจ กล่าว.