xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนสังขละไม่พอใจผู้ว่าฯกาญจน์ ยื้อซ่อม"สะพานมอญ"ทั้งที่เงินบริจาคเพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปี 2529 พระมหาอุตตมะรัมโภภิกขุ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ "หลวงพ่ออุตตมะ" พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ทั้งยังเป็นพระสงฆ์ชาวมอญ ผู้มีบทบาทผู้นำคนสำคัญของชาวมอญพลัดถิ่นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เล็งเห็นความลำบากของประชาชนทั้ง 2 ฟากฝั่งแม่น้ำแม่น้ำซองกาเรีย เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม หรือเขื่อนวชิราลงกรณ ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ อ.สังขละบุรี การดำเนินชีวิตของชาวบ้านเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะประชาชนต้องข้ามแม่น้ำซองกาเรียเพื่อไปมาหาสู่กันทุกวัน จึงตัดสินใจริเริ่มสร้างสะพานไม้ขึ้นมาเชื่อมต่อระหว่างชุมชนชาวมอญ หรือบ้านวังกะในปัจจุบัน ข้ามแม่น้ำซองกาเรียไปยัง อ.สังขละบุรี โดยดำริของหลวงพ่ออุตตมะ ได้กระจายออกไปหลังจากทุกคนทราบข่าวจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสะพานไม้ขึ้นมา

การสร้างสะพานไม้ดังกล่าวทุกคนต่างตระหนักว่า หลวงพ่ออุตตมะ เปรียบเสมือนเทพเจ้าของชาวมอญ จึงทำให้ทุกคนพร้อมใจกันสร้างขึ้นมาด้วยพลังแห่งความศรัทธา ทำให้การก่อสร้างสะพานไม้ (สะพานมอญ) หรือสะพานอุตตมานุสรณ์ สร้างสำเร็จประมาณปี 2530 โดยใช้เวลาเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น

ทำให้สะพานไม้แห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาว อ.สังขละบุรี และ จ.กาญจนบุรีไปแล้ว อีกทั้งยังเป็นสะพานไม้เพียงแห่งเดียวของประเทศไทยที่สร้างด้วยไม้แดงทั้งหมดมีความยาวถึง 850 เมตร ถือว่าเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานไม้บูเอ็ง ในประเทศพม่า

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อ 28 ก.ค.2556 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนก่อนหน้านั้นได้เกิดพายุฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน น้ำป่าที่ไหลหลากลงมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้พัดพาสวะและเศษไม้จำนวนมหาศาลมาติดที่บริเวณเสาค้ำยันสะพานไม้ และทำให้ปิดกั้นทางน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนวชิราลงกรณ

จนเวลาประมาณ 18.30 น.เสาของสะพานไม้ ไม่สามารถทานแรงน้ำไหลได้จึงพังถล่มลงมาขาดออกจากกันเป็นสองท่อน สร้างความเศร้าเสียใจให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่ออุตตมะ ทั้งประเทศ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนบ้านวังกะ และชาว อ.สังขละบุรีได้เกิดความเดือดร้อนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม องค์ปัจจุบัน ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่จึงมีความคิดสร้างสะพานลูกบวบขึ้นมาทดแทนเพื่อบรรเทาความเดือดร้นให้กับชาวบ้าน จึงมีโครงการ "หนึ่งคน หนึ่งลำไม้ไผ่" ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อสร้างสะพานลูกบวบขนานกับสะพานไม้ ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันไปหาไม้ไผ่มาคนละลำและสามารถสร้างสะพานลูกบวบขึ้นมาทดแทนได้ในเวลาเพียงแค่ 6 วัน และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกันหลังจากสะพานไม้พังถล่มได้มีหน่อยงานภาครัฐ เอกชน และนักท่องเที่ยวร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนบูรณะซ่อมสะพานไม้ให้กลับคืนมาดังเดิม โดยสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้มอบเงินจำนวน 5 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ มอบเงินให้อีก 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 7 ล้านบาท นอกจากนี้ จังหวัดกาญจนบุรี ยังได้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม

สำหรับเงินจำนวน 7 ล้านบาท ที่ทั้งสองหน่วยงานมอบให้นั้นจุดประสงค์ของผู้มอบเพื่อให้นำไปเป็นงบบูรณะซ่อมแซมสะพานไม้ทั้งหมด แต่เมื่อเงินมอบผ่านจังหวัดกาญจนบุรี จึงกลายเป็นเงินงบประมาณของจังหวัด การเบิกจ่ายในแต่ละครั้งจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนตามระเบียบของทางราชการ

7 เดือนผ่านไป...สะพานลูกบวบเริ่มเสื่อมสภาพลง กระแสน้ำนิ่ง ปริมาณน้ำลดลง แต่ยังไม่มีการบูรณะซ่อมแซมสะพาน ชาวสังขละบุรี เริ่มเกิดความไม่สบายใจ ประชาชนทั้งประเทศเริ่มสงสัย และเริ่มถามว่าเงินที่ได้รับบริจาคอยู่กับใคร ใครรับผิดชอบ เหตุใดการซ่อมแซมสะพานจึงล่าช้า

แน่นอนคงไม่พ้นนายชาธิป รุจนเสรี นายอำเภอสังขละบุรี ข้าราชการฝ่ายปกครองที่ถือว่าเป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชน จะต้องถูกผู้ที่บริจาคเงินตั้งคำถามด้วยความสงสัย และสุดท้ายนายชาธิป ก็ได้กล่าวว่าหลังจากที่สะพานพังเสียหายจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถซ่อมแซมได้ นักท่องเที่ยวที่มาได้สอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าเมื่อไรสะพานจะซ่อมเสร็จเสียที

อีกทั้งยังต่อว่าว่าทำไมยังปล่อยให้สะพานมีสภาพแบบนี้อีก และขอชี้แจงว่า ตนไม่มีอำนาจในการสั่งดำเนินการซ่อมบูรณะ การดำเนินการทุกอย่างเป็นอำนาจของทางจังหวัด และข้อยุติในทุกๆ เรื่องก็อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีแต่เพียงผู้เดียว

ส่วนการที่ตนถูกมองว่า "อมเงินบริจาค" นั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เพราะตนไม่ได้แตะต้องเงินที่มีผู้บริจาคมาแต่อย่างใด โดยทางจังหวัดเป็นผู้ดูแลเงินบริจาคที่กองสลากกินแบ่งรัฐบาลมอบให้ 5 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์มอบให้อีก 2 ล้านบาท ส่วนเงินที่ประชาชนช่วยกันบริจาคผ่านบัญชีธนาคารทางจังหวัดก็เป็นผู้ดูแลบัญชีเช่นกัน ตนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ เพราะตนไม่มีอำนาจไปตรวจสอบตรงจุดนั้นและทางอำเภอไม่ได้มีการเปิดบัญชีรับบริจาคแต่อย่างใด และชาวบ้านในพื้นที่ต่างเข้าใจกันเป็นอย่างดี

"ผมในฐานะนายอำเภอสังขละบุรี เรียกร้องให้ทางจังหวัด รีบตกลงกับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว จะซ่อมแซมสะพานแบบไหนก็ขอให้รีบตัดสินใจ เพราะอีกไม่นานก็จะถึงเทศกาลวันสงกรานต์แล้ว และหากผู้มีจิตรศรัทธาที่ร่วมกันบริจาคเงินให้เพื่อนำมาซ่อมแซมสะพานมาเห็นว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ ขาคงจะเสียความรู้สึกเป็นแน่ และถึงแม้จะซ่อมเสร็จไม่ทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ก็ไม่ใช่ปล่อยไว้เช่นนี้"

เช่นเดียวกันนายปกรณ์ น้อยเกตุ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวังกะ เป็นหนึ่งคนที่ถูกตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่จะซ่อมแซมสะพานไม้ และได้กล่าวว่า ทราบว่าทางจังหวัดจะใช้วิธีการซ่อมบูรณะสะพานด้วยการจ้างเหมา หากเป็นเช่นนั้นจริงก็จะทำให้การดำเนินการล่าช้าไปอีก

จะด้วยประการใดก็ตาม เชื่อว่าทางวัดวังก์วิเวการาม ซึ่งมีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมอยู่แล้วสามารถระดมกำลังชาวบ้านมาช่วยกันซ่อมแซมบูรณะเองได้และใช้เวลาไม่นาน เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต่างเคยมีประสบการณ์และผ่านการซ่อมบำรุงสะพานมาแล้วทั้งนั้น แต่หากทางจังหวัดจะใช้วิธีแบบรับเหมาก็จะเป็นการใช้เงินนับสิบล้านบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายแตกต่างจากการที่ปล่อยให้ทางวัดดำเนินการเอง พลังแห่งศรัทธาที่ยังมีต่อหลวงพ่ออุตตมะ จะมีจิตอาสาจำนวนมากเข้ามาช่วยเหลือโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ดังนั้น หากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยระบบราชการ พลังศรัทธาก็จะเสื่อมถอยลงไป เพราะสะพานแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของชาวสังขละบุรีไปแล้ว

"ที่ผ่านมาผมไม่สามารถตอบคำถามได้จึงรู้สึกลำบากใจมาก แต่ก็ได้พยายามอธิบายให้ทุกคนเข้าใจถึงขั้นตอนต่างๆ ไปแล้ว แต่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดยากเพราะอำนาจอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เพียงผู้เดียว และจากการสอบถามชาวบ้านก็พบว่าทุกคนเริ่มอึดอัดใจมากขึ้นแต่ไม่มีใครกล้าพูดทั้งๆ ที่เงินที่จะนำไปซ่อมบูรณะก็มีแล้ว"

หรือแม้กระทั่ง พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการามก็เริ่มไม่สบายสาเหตุที่ยังไม่สามารถซ่อมแซมบูรณะสะพานได้ เนื่องจากทางจังหวัดจะรับไปดำเนินการเองโดยใช้วิธีการจ้างเหมา และไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ดำเนินการใดๆ โดยพละการ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้คณะกรรมการระดับจังหวัดได้ประชุมหาแนวทางเพื่อหาไม้วัตถุดิบในการซ่อมแซมพบว่ามี 3 แนวทาง คือ 1.ขออนุญาตทางกรมอุทยานฯ เพื่องมไม้ที่จมน้ำขึ้นมา แต่ตรงนี้ไม้ก็ไม่น่าจะมีจำนวนมากพอสำหรับการซ่อมบูรณะ

2.การติดต่อขอความร่วมมือและสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ ประเทศเมียนมาร์ก็มีปัญหาเกี่ยวกับมติ ครม.ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าไม้ท่อนไม้ซุงได้ ดังนั้น จึงจะต้องใช้การติดต่อประสานงานพูดคุยระหว่างประเทศเพื่อขอการสนับสนุนไม้เพื่อมาใช้ในการซ่อมแซม

และ 3.การหาซื้อไม้จากท้องตลาด พบว่าไม้ที่ต้องการตามสภาพความเป็นจริงไม่มีในท้องตลาด แต่ทราบว่าต้องสั่งซื้อนำเข้าจากประเทศกัมพูชา ตรงนี้จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาไม้ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ถึงแม้ว่าเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม จะเสนอทางออกด้วยการให้ทางวัดร่วมกับชาวบ้านจัดการซ่อมแซมสะพานกันเอง ตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน อีกทั้งเงินที่ประชาชนร่วมกันบริจาคให้กับทางวัดก็น่าจะเพียงพอโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินที่หน่วยงานบริจาคผ่านจังหวัด แต่แนวคิดนี้จังหวัดแย้งว่า เป็นไปไม่ได้เพราะเกรงว่าหากชาวบ้านไปตัดต้นไม้ในเขตอุทยานฯ เพื่อนำมาใช้จะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย

ดังนั้น ในที่ประชุมจึงยังไม่มีข้อสรุปใดๆ แต่ที่แน่ๆ เลยคือทางจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบการสร้างสะพานเสร็จแล้ววงเงินอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านบาทและไม่ให้ชาวบ้านดำเนินการโดยพละการ โดยจังหวัดจะเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด แต่การลงมือซ่อมบูรณสะพานขึ้นมาใหม่นั้นยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเริ่มลงมือได้เมื่อไหร่โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะปริมาณนำยังคงมีมากลึกถึง 20 เมตร

ส่วนชาว อ.สังขละบุรี บอกว่าสามารถลงมือซ่อมบูรณะได้เลยหากทางจังหวัดอนุญาตให้ทางวัดร่วมกับชาวบ้านบริหารจัดการกันเองและเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน งบประมาณก็ใช้น้อยกว่า และเชื่อว่าหากทางอำเภอสังขละบุรี จัดการบริหารกันเองจะมีจิตอาสาจากทั่วประเทศ พร้อมใจกันมาร่วมกันบูรณะซ่อมแซมกันเป็นจำนวนมากโดยไม่ต้องจ่ายค่าแรงแม้แต่บาทเดียว

เพราะนี่คือพลังแห่งความศรัทธาที่ยังคงอยู่ แต่ถ้าหากจังหวัดกาญจนบุรี ดำเนินการด้วยการจ้างเหมา จะทำให้พลังแห่งความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะนั้นหายไปอย่างแน่นอน




กำลังโหลดความคิดเห็น