กาญจนบุรี - ผู้ว่าฯ กาญจนบุรี เต้นออกโรงแจงเหตุบูรณะ “สะพานอุตตมานุสรณ์” ล่าช้า อ้างน้ำยังลึก แต่แบบเสร็จแล้ว คาดประกาศหาผู้รับจ้างได้ภายในกุมภาพันธ์นี้ ย้ำเงินบริจาค 7 ล้านบาทยังอยู่ครบ ด้านเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เผยเคารพการตัดสินใจของจังหวัดที่ใช้ “จ้างเหมา” ซ่อมสะพานมอญ ยันที่ผ่านมาใช้วิธีบอกบุญ ทั้งสะพานใช้เงิน 5 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีชาวบ้านในพื้นที่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เริ่มมีความไม่พอใจต่อการที่ทางจังหวัดกาญจนบุรี ล่าช้าในการซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานมอญ (หลวงพ่ออุตตมะ) ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทั้งที่มีเงินบริจาคที่ได้รับจากประชาชนจำนวน 7 ล้านบาทอยู่แล้ว ว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันนี้ (5 ก.พ.) นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข่าวที่เกิดขึ้นว่า หลังจากที่เกิดเหตุสะพานขาดตั้งแต่ 28 ก.ค.56 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดกาญจนบุรี ก็ได้เข้าไปร่วมแก้ปัญหาตลอด แต่โดยสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ต้องทราบก่อนว่า สะพานนั้นตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ดังนั้น การดำเนินการต่างๆ ต้องมีส่วนราชการเข้ามาเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน
“ตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาทางผมได้สั่งการให้ ปภ.กาญจนบุรี โยธาธิการและผังเมืองกาญจนบุรี รวมทั้ง อบจ.กาญจนบุรี และแขวงการทางกาญจนบุรี เข้ามาร่วมกันในการดูแลเกี่ยวกับสภาพความเสียหาย และพิจารณาเกี่ยวกับสภาพโครงสร้างที่แท้จริง โดยการดำเนินการในรูปคณะกรรมการและได้มีผู้มีจิตศรัทธาทราบข่าวก็ได้บริจาคเงินมาช่วยในการบูรณะ โดยหลักๆ ก็มีกองสลากบริจาคมา 5 ล้านบาท ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ บริจาคมา 2 ล้านบาท รวมทั้งหมด 7 ล้าน”
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่อว่า เบื้องต้นคณะกรรมการได้คิดแนวทางการซ่อมแซมไว้คือ จะงมค้นหาไม้ที่จมอยู่ในอ่างเก็บน้ำมาใช้เป็นวัสดุในการซ่อมแซมเพื่อประหยัดงบประมาณบางส่วน แต่จากสภาพความเป็นจริงพบว่าน้ำลึกกว่า 20 เมตร และน้ำขุ่นมาก จึงทำให้อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ แต่ก็สามารถงมได้บางส่วน ต่อมา ก็ต้องยุติการค้นหาและมีรายงานมายังตนว่า สืบเนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวมาก จึงอยากให้รอถึงฤดูแล้งคือ ประมาณเดือนเมษายน เพื่อจะได้ดำเนินการได้ หลังจากนั้นตนจึงได้ตั้งคณะกรรมการซ่อมบูรณะขึ้นมา โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธาน ตรงนี้คณะกรรมการได้ประชุมหาแนวทางเพื่อหาไม้วัตถุดิบในการซ่อมแซมพบว่ามี 3 แนวทางที่สามารถดำเนินการได้
แนวทางแรกคือ ขออนุญาตทางกรมอุทยานฯ เพื่องมไม้ที่จมน้ำต่อ แต่ตรงนี้ไม้ก็ไม่น่าจะมีจำนวนมากพอสำหรับการซ่อมบูรณะ แนวทางที่สอง การติดต่อขอความร่วมมือ และสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านคือ ประเทศพม่า ก็มีปัญหาเกี่ยวกับมติ ครม.ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าไม้ท่อนไม้ซุงได้ ดังนั้น จึงจะต้องใช้การติดต่อประสานงานพูดคุยระหว่างประเทศเพื่อขอการสนับสนุนไม้เพื่อมาใช้ในการซ่อมแซมในครั้งนี้
และแนวทางสุดท้าย คือ การหาซื้อไม้จากท้องตลาด พบว่าไม้ที่ต้องการตามสภาพความเป็นจริงไม่มีในท้องตลาด แต่ทราบว่าต้องสั่งซื้อนำเข้าจากประเทศกัมพูชา ตรงนี้จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการจัดหาไม้ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ แม้ว่าทางเจ้าอาวาสจะมาปรึกษากับตนว่า หากตนยินยอมทางวัดจะตัดไม้มาซ่อมเอง แต่แนวคิดนี้ก็เป็นไปไม่ได้เพราะการตัดไม้ในเขตอุทยานฯ นั้นเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่มีใครสามารถอนุญาตได้ก็ต้องยกเลิกแนวคิดนี้
“ท้ายสุดที่กำลังดำเนินการเพื่อให้การซ่อมบูรณะรุดหน้าไปมาก ส่วนของแบบร่างการซ่อมแซมก็เสร็จแล้ว และมีการคงความป็นอัตลักษณ์ของสะพานมอญเหมือนเดิม โดยคาดว่าคณะกรรมการซ่อมบูรณะจะมีข้อสรุปภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อจัดทำประกาศหาผู้รับจ้างตามระเบียบของทางราชการต่อไป ผมยืนยันว่า การดำเนินการซ่อมบูรณะมีความโปร่งใสไม่ล่าช้า เพราะจากสภาพพื้นที่ และการดำเนินการต้องอยู่ภายใต้ระเบียบของทางราชการ เงินบริจาคอยู่ครบไม่สูญหายไปไหน ดังนั้น จึงอยากให้ข้อมูลข้อเท็จจริงต่อประชาชนเพื่อมิให้เกิดความคลาดเคลื่อนจะไม่เป็นผลดีต่อทุกภาคส่วนที่ต่างมีความตั้งใจในการมีส่วนร่วมในการซ่อมบูรณะในครั้งนี้”
ด้านพระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม เปิดเผยถึงกรณีที่ทางจังหวัดกาญจนบุรี โดยคณะกรรมการซ่อมบูรณะสะพานไม้ (สะพานมอญ) มีข้อสรุปในที่ประชุมล่าสุดในเรื่องการดำเนินการซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ ที่ถูกน้ำป่าพัดพังเสียหายโดยวิธีจ้างเหมาและประมาณราคาไว้ที่ 11 ล้านบาทว่า อาตมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ ที่ได้มีการประชุมถึงแนวทางในการซ่อมบูรณะสะพาน แต่หากทางจังหวัดตัดสินใจใช้วิธีการจ้างเหมา อาตมาก็เคารพในการตัดสินใจของทางจังหวัด แต่ขอให้สะพานเป็นสะพานไม้ และต้องเป็นไม้ที่แข็งแรง เช่น ไม้แดง หรือไม้ตะเคียน
ทั้งนี้ การซ่อมบูรณะสะพานที่ผ่านมา ทางวัดใช้วิธีบอกบุญ ซึ่งเมื่อศิษยานุศิษย์ และชาวบ้านทราบข่าวก็จะเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนหนึ่งก็บริจาคเป็นเงิน และอีกส่วนก็บริจาคเป็นวัสดุที่จำเป็นต่างๆ เช่น ไม้ นอต ตะปู ฯลฯ และจะมีการว่าจ้างแรงงานในพื้นที่ในการดำเนินการ โดยเป็นแรงงานที่เป็นช่างมือ เนื่องจากการซ่อมสะพานมีความเสี่ยงอันตราย ซึ่งมีค่าแรงไม่แพง
พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สะพานแห่งนี้ได้มีการซ่อมบูรณะใหญ่ จำนวน 3 ครั้ง โดยเมื่อปี 2535 ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่ออุตตมะ ยังมีชีวิตอยู่ก็เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่ทำให้สะพานพังเสียหาย แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ โดยมีระยะทางที่สะพานขาดเท่ากัน ซึ่งหลวงพ่ออุตตมะ ก็ใช้วิธีการบอกบุญ และสามารถดำเนินการซ่อมบูรณะสะพานฯ ให้กลับมาดังเดิม
แต่ครั้งนี้ทางจังหวัดรับไปดำเนินการ รูปแบบจึงไม่เหมือนกับชาวบ้านทำกันเอง ซึ่งการดำเนินการแบบทางราชการ ที่สำคัญราคาก็จะต่างกันมาก เนื่องจากทางราชการจะประเมินราคาตามแบบราชการ จึงทำให้มีราคาสูง แต่การซ่อมบูรณะที่ผ่านมาเป็นการบอกบุญ ฉะนั้น วัสดุต่างๆ ที่จะนำมาซ่อมสะพาน เช่น เหล็ก ลวดสลิง ที่จะต้องซื้อ ทางร้านค้าก็จะลดราคาให้ เมื่อรู้ว่าจะนำไปซ่อมสะพานฯ ล่าสุด ก็มีประชาชนมาบริจาคนอตมาแล้ว และเมื่อปี 2552 ที่ได้มีการซ่อมบูรณะสะพานทั้งหมด โดยวัสดุใช้ไม้แดง ทั้งหมดในวงเงินประมาณ 5 ล้านบาท
หากสามารถซ่อมสะพานมอญแล้วเสร็จ สะพานลูกบวบที่สร้างขึ้นมาด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านเพื่อใช้ทดแทนชั่วคราว ซึ่งมีระยะเวลาในการใช้งานประมาณ 1 ปี ก็ไม่มีความจำเป็น ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของทางอำเภอว่าจะทำการรื้อถอนหรือไม่
“ตลอดระยะเวลาที่สะพานแห่งนี้ได้พังเสียหาย นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะสอบถามกันมากว่าเมื่อไรซ่อมเสียที ดังนั้น จึงอยากให้ทางจังหวัดเร่งรัดให้มีการดำเนินการซ่อมบูรณะสะพานฯ ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนเป็นจำนวนมาก” พระมหาสุชาติ สิริปัญโญ เจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม กล่าว