xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นดิ่ง15จุดผิดหวังศก.US‘ฟิทช์’ย้ำ2ก.พ.ไม่ช่วยอะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - หุ้นไทยร่วง 15 จุด หลังเจอแรงกดดันทั้งการเมืองภายในประเทศ และแรงขายของนักลงทุนทั่วโลกหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ - จีน ต่ำกว่าคาด ฉุดต่างชาติขายออกไปอีก 4.8 พันล้านบาท “ฟิทช์”ชี้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่ช่วยแก้ปัญหาของประเทศ และเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแล้ว แต่โบรกฯเชื่อมีโอกาสรีบาวนด์หลังตลาดใหญ่ร่วงหนัก 2 วันติด

ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (4ก.พ.) ดัชนีกลับมาเคลื่อนไหวในแดนลบ จากวันก่อนหน้าซึ่งรีบาวนด์ขึ้นไป 18 จุด โดยปิดที่ระดับ 1,276.84 จุด ลดลง 15.97 จุด หรือ -1.24% มูลค่าการซื้อขาย 24,948.21 ล้านบาท ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามต่างประเทศที่ตอบรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนในช่วงมกราคมออกมาไม่ดี กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนจนเกิดแรงเทขาย ขณะเดียวกันยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศระหว่างวันดัชนีแตะจุดสูงสุดที่ระดับ 1,283.18 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 1,273.94 จุด หลักทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงวานนี้ เพิ่มขึ้น 217 หลักทรัพย์ ลดลง 485 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 178 หลักทรัพย์

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ JAS มูลค่าการซื้อขาย 2,318.95 ล้านบาท ปิดที่ 7.15 บาท ลดลง 0.15 บาท , KBANK มูลค่าการซื้อขาย 1,530.25 ล้านบาท ปิดที่ 166.00 บาท ลดลง 4.50 บาท , ADVANC มูลค่าการซื้อขาย 1,498.37 ล้านบาท ปิดที่ 211.00 บาท ลดลง 4.00 บาท , SCB มูลค่าการซื้อขาย 1,111.33 ล้านบาท ปิดที่ 146.00 บาท ลดลง 4.00 บาท และ PTTGC มูลค่าการซื้อขาย 1,033.50 ล้านบาท ปิดที่ 71.25 บาท ลดลง 2.25 บาท

นักลงทุนทั่วไปซื้อสุทธิ 3,319.81 ล้านบาท สถาบันซื้อสุทธิ 1,381.56 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์(บล.) 186.88 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติ ขายสุทธิ4,888.25 ล้านบาท

ภาพรวมนักวิเคราะห์ ยอมรับว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงกว่า 1% ตามทิศทางตลาดในต่างประเทศ จากความกังวลภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หลังจากประกาศตัวเลข PMI ภาคการผลิตลดลงมากกว่าคาด และการปรับลดวงเงิน QE ของสหรัฐ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และจะมีความกังวลมากขึ้น เพราะยังมองไม่เห็นว่า การชุมนุมจะยุติลงเมื่อใด โดยการชุมนุมยังมีต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมจะยกระดับการชุมนุมเป็นการไปปิดล้อมบ้านพักของนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญของรัฐบาล อีกทั้งการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ ส.ส. เขต รวมกว่า 200 คน ทำให้ไม่สามารถเปิดสภาได้ ส่งผลให้ประเด็นการเมืองยังคงกดดันตลาดหุ้นต่อไปอีกระยะ

ทำให้ยังคงแนะนำให้จับตา (1) แผนการยกระดับการชุมนุมต่อเนื่อง หลังดำเนินการปิดกรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ (2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุด ธปท. ปรับลดการณ์ GDP ในปี ’57 เป็น 3.0% (3) ป.ป.ช. มีมติไต่สวนนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งยังไม่มีกำหนดที่แน่ชัดว่าจะชี้มูลความผิดได้เมื่อไร

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการ สายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บล.บัวหลวง กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ ภายหลังจากตัวเลข ภาคการผลิตของสหรัฐฯออกมาไม่ดี จากคำสั่งซื้อล่วงหน้าชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของตลาดและเศรษฐกิจโลกลดลง นักลงทุนส่วนใหญ่จึง take profit ออกมาทั่วโลก ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองเข้ามาช่วยกดดัน

“โดยรวมคาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯคงไม่ปรับตัวลงไปมากกว่านี้ และแนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกสัปดาห์นี้จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แนวโน้มการลงทุนในวันนี้(5 ก.พ.) ดัชนีน่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง พร้อมให้แนวรับที่ 1,264 จุด และแนวต้าน 1,300-1,320 จุด”

น.ส.มยุรี โชวิกานต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง(ประเทศไทย) กล่าวว่า การซื้อขาย SET50 Index Futures วานนี้ปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศและตลาดเอเชีย ลงไปแตะระดับ 863 จุด ใกล้แนวรับวันนี้ที่ 860 จุด จากนั้นแกว่งตัวในกรอบ ขณะเดียวกัน S50H14 มีดิสเคาน์เกือบ 9 จุด หากมีสถานะ short แนะให้ปิดทำกำไรไปก่อน

ส่วนการลงทุนวันนี้ (5ก.พ.) คาดว่าจะมีเทคนิคเคิลรีบาวนด์หลังจากดัชนีหุ้นดาวโจนส์ของสหรัฐฯปรับตัวลงกว่า 500 จุด และตลาดเอเชียก็ลงแรงมา 2 วันแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นนิคเกอิ และตลาดหุ้นฮั่งเส็ง จึงแนะให้เปิดสถานะ long เพื่อเก็งกำไร และรอลุ้นศาลแพ่งนัดวินิจฉัยคำร้องของแกนนำผู้ชุมนุมที่ขอให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 6 ก.พ.นี้

ฟิทช์ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่แก้ปัญหาการเมืองในไทย

มีรายงานว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “ฟิทช์ เรทติ้งส์” ประเมินสถานการณ์การเมืองในประเทศว่า การจัดการเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองได้ และยิ่งสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อออกไปหรือรุนแรงมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเกี่ยวพันกับอันดับความน่าเชื่อถือ

ทั้งนี้ ภาวะผันผวนทางการเมืองและระดับของความผันผวนถือเป็นปัจจัยที่มีผลในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยเศรษฐกิจของไทยสามารถรับมือกับความแตกแยกทางการเมืองได้นับตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งภาวะผันผวนต่างๆ ซึ่งรวมถึงเหตุมหาอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 2554 โดยอัตราการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยในช่วงปี 2551 - 2556 อยู่ที่ 2.9%

ขณะเดียวกัน ฟิทช์มองว่า ความตึงเครียดทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ดังจะเห็นได้จากผลผลิตการผลิตที่หดตัวลง ในไตรมาส 4 ปี 2556 ส่วนอัตราการขยายตัวของยอดค้าปลีกและความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ร่วงลง
กำลังโหลดความคิดเห็น