ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ประเมินล่วงหน้ากันทุกกระแสเสียงว่าเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 2557 อาจมีเหตุรุนแรง ซ้ำรอยการเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค.ที่เป็นหนังตัวอย่างบางตอน สะท้อนไปถึงอนาคตหลังการเลือกตั้งว่า สถานการณ์บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ เพราะรักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมรามือหรือดับไฟที่กำลังลาม ส่วนจะลุกโชนรุนแรงถึงขั้นจลาจลจนเป็นเงื่อนไขให้ “ทหารออกมา” หรือว่าต้องพึ่งอำนาจพิเศษหรือไม่ ถึงนาทีนี้อาจประเมินว่ายังไกลแต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น
รัฐบาลนั้นพล่ามรายวันว่าไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง พร้อมดูแลความสงบเรียบร้อย และเคารพในสิทธิการชุมนุมที่ปราศจากอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ความจริงที่ปฏิบัติกลับตรงกันข้าม ความรุนแรงหลายครั้งมีหลักฐานชัดว่าผู้ลงมือมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ก็รู้เห็นเป็นใจ อย่างกรณีกลุ่มนปช.ขนคนมาปะทะขบวนมวลชนของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) และสังหารนายสุทิน ธราทิน แกนนำที่นำมวลชนเดินทางไปที่หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าเขตบางนา บริเวณวัดศรีเอี่ยม ถนนศรีนครินทร์ เนื่องจากมีรายงานว่ายังเปิดให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าได้อยู่ ทั้งที่มีเสียงเตือนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหา มีอุปสรรค เกิดเหตุรุนแรงขึ้นแน่ แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง
ดังนั้น การหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกกต.หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสามารถเลื่อนเลือกตั้งได้และให้ทั้งสองฝ่ายมาปรึกษาหารือกัน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. จึงไม่ได้ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนท่าทีแต่อย่างใด เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ฟังใครอยู่แล้ว นอกจากผู้เป็นพี่ชายที่เร่ร่อนอยู่ดูไบ เธอจึงยังคงยืนยัน นั่งยัน นอนยัน ว่าจะต้องเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ค่อยไปตายเอาดาบหน้า โดยอ้างว่าเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็ไม่ได้แก้ปัญหาหรือทำให้ปัญหาหมดไป ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเลื่อนไปแล้วทุกอย่างจะยุติ และเกรงว่าจะมีปัญหาและความเสียหายยิ่งกว่า
ขณะที่กกต.ได้สาธยายให้เห็นว่าหากเลือกตั้งตามกำหนดอาจจะมีปัญหาหลายประการตามมา แต่เมื่อรัฐบาลยืนกราน กกต.ก็ได้แต่ทำตามหน้าที่คือ จัดเลือกตั้งต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีปัญหาใหญ่หลวงรออยู่ข้างหน้าและต้องใช้เวลาอีกยาวนานจัดการแก้ไขซึ่งก็ไม่แน่ว่าจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ เมื่อพินิจพิจารณาจากผลการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่ง กกต.แถลงว่า ภาพรวมการเลือกตั้งล่วงหน้ามี 89 เขตเลือกตั้งจาก 375 เขตทั่วประเทศ ที่มีการปิดล้อมไม่สามารถจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้
สำหรับ 89 เขตเลือกตั้ง ที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้นั้น แยกเป็น กรุงเทพ 33 เขตเลือกตั้ง และภาคใต้ 56 เขตเลือกตั้ง ทำให้มีผู้ที่ขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้จำนวน 440,000 คน คิดเป็นร้อยละ 22 จากจำนวนผู้ลงทะเบียนของใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศราว 2.2ล้านคน ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นจำนวนที่สูงมาก หากเปรียบเทียบกับการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งจะมีบัตรเสียแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์ และประเมินว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2ก.พ. น่าจะมีปัญหาที่คล้ายกัน โดยเฉพาะความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นถึงขั้นมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นเดียวกับเหตุการณ์หน้าวัดศรีเอี่ยม
หากประมวลปัญหาทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ที่ กกต. ช่วยเปิดกะโหลกการรับรู้ให้กับรัฐบาล มีดังนี้
หนึ่ง กรรมการประจำหน่วยที่ลาออก เนื่องจากถูกกดดันจากผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. บางหน่วยไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้
สอง บัตรเลือกตั้งบางส่วนที่ยังส่งไปไม่ถึงหน่วยเลือกตั้งเพราะติดอยู่ที่ไปรษณีย์ คือ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช, อ.เมืองฯ จ.ชุมพร และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเป็น 3 ไปรษณีย์หลักที่รวมบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ที่จะส่งไปยังหน่วยเลือกตั้งใน 14จังหวัดภาคใต้ หากนำบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อออกมาไม่ได้ก็จะเลือกตั้งไม่ได้ ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตก็อาจจะมีปัญหาในการจัดส่งเช่นกัน
สาม การขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. ซึ่งเคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. และห่วงว่าวันเลือกตั้งจริง 2 ก.พ. อาจจะเกิดเหตุการณ์ขัดขวางการเลือกตั้งซ้ำรอยอีก และอาจเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุม กปปส. กับมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล
“การเผชิญหน้าของคนในชาติ ที่ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการเลือกตั้ง และอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านการเลือกตั้ง จะไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายและสันติวิธีอีกต่อไป การทำผิดกฎหมาย เช่น การยึดอุปกรณ์ ยึดบัตรเลือกตั้งทั้งจังหวัด การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกกต.ในระดับจังหวัด เขตและหน่วยเลือกตั้ง ความรุนแรงจะเกิดขึ้น นับแต่การทำร้ายและตอบโต้ซึ่งกันและกัน การใช้อาวุธสงคราม การบาดเจ็บ เสียชีวิตจะเกิดขึ้น และมีแนวโน้มการเกิดเหตุจลาจลในวงกว้างหลายจังหวัดทั่วประเทศ” นายสมชัย โพสต์เฟสบุ๊ก ขยายความเพิ่มเติม
สี่ ภายหลังการเลือกตั้ง มีความเป็นไปได้สูงที่จะประกาศรายชื่อส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 125 คน ไม่ได้ เพราะต้องได้คะแนนครบทุกหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 4 - 6 เดือน จึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งให้ครบทุกเขต
ห้า การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จะยังไม่สามารถประกาศผลส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คน ได้ เพราะมีปัญหาว่าผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ล่วงหน้านอกเขตจังหวัดยังเหลือผู้ใช้สิทธิ์ไม่ได้อีก 4 แสนกว่าคน ซึ่งกกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 ก.พ. หากสามารถเลือกตั้งได้สำเร็จ คะแนนจะถูกส่งไปหน่วยเลือกตั้งเพื่อนำไปรวมกับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เสียก่อน คาดว่าภายใต้สถานการณ์นี้ อาจต้องใช้เวลา 3-4 เดือน หรือมากกว่านั้น จึงจะได้ ส.ส.จำนวนหนึ่ง แต่หากจะให้ได้เกณฑ์ ร้อยละ 95 อาจใช้เวลา 4-6 เดือน หรือมากกว่านั้น
หก กรณี 28 เขตใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร กกต.จะต้องดำเนินการรับสมัครใหม่ แต่ยังมีปัญหาว่าการกำหนดให้มีการรับสมัครใหม่นั้นจะออกเป็นประกาศของกกต.หรือให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องหารือกันระหว่างกกต.กับรัฐบาล โดยคาดว่าจะใช้เวลา 2 - 3 เดือน ใน 28เขตเลือกตั้งนี้ก็ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 2 ก.พ.ซึ่งต้องดูว่าจะสามารถนำบัตรเลือกตั้งออกจากไปรษณีย์ทั้ง3 แห่ง คือ ทุ่งสง ชุมพร และหาดใหญ่ ได้หรือไม่
ส่วน 16 เขตที่มีผู้สมัครรายเดียว อาจมีบางเขตผู้สมัครอาจได้คะแนนน้อยกว่า ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือน้อยกว่าvote no ในกรณีนี้ ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ทำให้ ได้ สส.ช้าไปประมาณ 1 เดือน หรือ เดือนครึ่ง แต่อย่างไรก็จบ เพราะในการเลือกใหม่รอบที่สาม ได้คะแนนเท่าไหร่ ก็ได้เป็น ส.ส.
เจ็ด การเปิดสภาหลังการเลือกตั้งไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะใช้เวลาอีกยาวนานแค่ไหน ต้องรอจนกว่ากระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดครบถ้วนเสียก่อน เนื่องจากปัญหาการขาดผู้สมัครใน 28 เขต และมีผู้สมัครคนเดียวในพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นปัญหาที่จะทำให้การเลือกตั้งได้ส.ส.ไม่ครบ 95% หรือ 475 เสียง จนไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯ และเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีได้
แปด หลังจากการเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะมีผู้ฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทันที ด้วยสาเหตุที่หยิบยกขึ้นมามากมาย เช่น การเลือกตั้งทั่วไปจะต้องทำในวันเดียว ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ หมายความว่า แนวโน้มที่เงิน 3,800 ล้าน จะสูญเปล่ามีสูงยิ่ง
ส่วนกรณี โนโหวต" และ "โหวตโน" ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายสุเทพประกาศแนวทางให้กลุ่มผู้ชุมนุมไปโนโหวต ขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษตีขลุมอย่างทุเรศๆ แล้วว่า คนที่ไปโหวตโนคือผู้ที่ต้องการให้เกิดการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลทำให้ข้อถกเถียงที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ว่า การไปโนโหวตหรือโหวตโนอย่างไหนดีกว่ากันจบลงอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อนายธาริตตีความเช่นนั้น ย่อมทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ลังเลอีกต่อไปและตัดสินใจเดินตามแนวทางของนายสุเทพเพียงทางเดียวเท่านั้น
ขณะเดียวกันกรณีโนโหวตและโหวตโนยังทำให้ “พรรคประชาธิปัตย์” ต้องลำบากใจอย่างหนักไม่แพ้กัน เพราะการตัดสินใจโนโหวตตามแนวทางของสายสุเทพจะทำให้เสียสิทธิทางการเมือง หรือหมายความว่าจะทำให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งต่อไปไม่ได้ ซึ่งก็คงต้องพิสูจน์กันว่า ส.ส.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้เป็นหัวหน้าพรรคจะตัดสินใจทางการเมืองแบบไหน เป็นไปในทิศทางเดียวกับนายสุเทพ หรือยังกระสันอยากเป็นใหญ่ในทางการเมืองอยู่เหมือนเดิม
ทั้งนี้ นายสมชัยได้อธิบายความถึงการ "โนโหวต" และ "โหวตโน" ด้วยว่า No vote กับ Vote no ต่างกันอย่างไรเอาไว้อย่างละเอียดว่า
ไม่ไปใช้สิทธิ์ No vote มีผลทำให้สถิติการใช้สิทธิ์ของไทยต่ำลงจนประจักษ์ต่อชาวโลกและบันทึกในประวัติศาสตร์ไทยให้อับอายเล่น แต่ ไม่มีผลต่อการทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แม้จะมีคนไปใช้สิทธิ์ไม่ถึง 24 ล้านคนก็ไม่เกี่ยว แต่คุณจะไม่เสียสิทธิ์ทางการเมืองในกรณีนี้หากคุณไปแจ้งเหตุของการไม่ไปใช้สิทธิ์ต่อเขตหรืออำเภอ ภายใน 7 วัน หลังเลือกตั้ง
2. ไปใช้สิทธิ์ แต่ กา ไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ใครหรือ Vote no กรณีบัตร ส.ส.เขต : จะมีผลเฉพาะเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว ถ้าคะแนน Vote no มากกว่าคะแนนผู้สมัคร แต่พอเลือกซ้ำถึงครั้งที่สาม เกณฑ์นี้จะหายไป ส่วนบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ : กา Vote no เท่าไหร่ ก็ไม่มีผลอะไร แม้จะมีมากกว่าคะแนนทุกพรรคก็ตาม คงแค่ฮือฮาว่า พรรคชื่อ Vote no มาแรงกว่าพรรคใหญ่
"ถ้าจัดการเลือกตั้งในสภาวการณ์ปกติมันไม่ใช่เรื่องยาก แต่เราเห็นถึงนรก เห็นถึงสภาพการณ์ที่อยู่ข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากยังดันทุรังเดินหน้าเลือกตั้งโดยไม่หาคิดวิธีป้องกันแก้ไขไปตายเอาดาบหน้า มันตายจริง การจัดการเลือกตั้งจะถูกขัดขวาง หน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้งจะถูกปิดล้อม หีบบัตรต้องหาย บัตรต้องถูกฉีก เรื่องที่เกิดขึ้นกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้แน่นอน หากฉีกบัตรเลือกตั้ง 5,000 คนจะจับหรือไม่ ถ้าไม่จับตอนบ่ายจะฉีกเป็นแสน ฉีกเสร็จถ่ายลงเฟซบุ๊ก
"ส่วนการนับคะแนนถ้านับไม่ได้ผมไม่อยากพูด ถ้าพูดไปแล้วรัฐบาลจะหนาว เพราะหากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่สามารถนับได้แม้แต่หน่วยเดียวเท่านั้นในประเทศไทย บล็อกแค่หน่วยเดียว ทราบหรือไม่ว่าคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ประกาศไม่ได้ ส.ส. 125 คนไม่สามารถประกาศรายชื่อได้ 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ กลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย
“วันนี้โจทย์ใหญ่ที่สุดยังไม่ใช่ปัญหาวันเลือกตั้งลงคะแนนไม่ได้ แต่คือการฟ้องเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะวันนี้พบว่าการเลือกตั้งไม่สามารถจัดเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ และเชื่อว่าจะต้องมีคนหาเหตุร้องแน่” เสียงสะท้อนผ่านสื่อในช่วงที่ผ่านมาของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้งที่แสดงความห่วงใยทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557
เช่นเดียวกันกับนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ที่ได้สะท้อนปัญหาทุกประการที่อาจเกิดขึ้นให้รัฐบาลรับทราบ แต่รัฐบาลกลัวว่าถ้าเลื่อนเลือกตั้งออกไปเหตุการณ์ก็จะไม่สงบ กปปส.ก็ยังชุมนุมอยู่ และถึงแม้เดินหน้าเลือกตั้งก็จะไม่สามารถเปิดสภาได้รัฐบาลก็บอกแต่ว่าให้ทำไป ส่วนจะถูกร้องเป็นโมฆะนั้น ก็ถือเป็นสิทธิองผู้ร้องถ้าเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม กกต.ยังเชื่อการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. สถานการณ์ก็ยังไม่จบและให้ต่อเวลาไปอีก 180 วันก็ยังไม่จบ
ถ้าหลังเลือกตั้งแล้วยังไม่จบ คำถามคือ กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. จะยอมให้รัฐบาลรักษาการลากยาวโดยอ้างเหตุผลเพื่อรอให้การเลือกตั้งเสร็จสมบูรณ์ และกลับมามีอำนาจอีกครั้งอย่างนั้นหรือ? อะไรจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2 ก.พ.นี้ เพราะธรรมชาติของม็อบการเมือง มีความเป็นไปได้สูงว่า ยิ่งนานวันม็อบที่เคยแข็งแกร่งอาจจะอ่อนล้า ลดปริมาณลง ขณะที่รัฐบาลก็อาจเลือกใช้วิธีสลายการชุมนุมอย่างถ่อยเถื่อนเหมือนที่เกิดขึ้นหากมวลชนผู้ชุมนุมลดน้อยถอยลง ซึ่งนั่นอาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง ก่อจลาจล เชื้อเชิญบิ๊กถั่งเช่าที่นั่งรอตีกินออกมายึดอำนาจภายใต้ข้ออ้างเพื่อควบคุมและคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง
หากสถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายและพาไปไกลถึงนาดนั้นแม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ใจของฝ่ายใดก็ตาม ฝ่ายที่สนับสนุน กปปส. ก็วาดหวังว่า เมื่อถึงเวลานั้น คณะของบิ๊กถั่งเช่าที่ควบคุมสถานการณ์อยู่ อาจจะเปิดทางออกจากวิกฤตโดยอาศัยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 7 “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เข้าทางนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ที่ได้ประกาศจัดตั้ง “สภาประชาชน" ว่า "จะเป็นสภาที่กำหนดแนวนโยบายและทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ดูแลการตรากฎหมายต่อต้านการทุจริต และตรากฎหมายการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม สภาประชาชนจะเป็นผู้คัดเลือกคนดีที่ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองใดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7” ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2556 แล้ว แต่ก็เป็นได้แค่มุกแป๊ก
อย่าลืมว่า ทางออกจากวิกฤตการเมืองตามมาตรา 7 ยังไม่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเคยมีความพยายามชูข้อเสนอนี้เมื่อคราวชุมนุมมาราธอน 193วัน ช่วงปี 2551 ขับไล่ระบอบทักษิณ และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาแล้ว แต่เสียงตอบรับจากสังคมมีไม่มากพอ สุดท้ายก็ต้องเก็บเข้าลิ้นชัก กระทั่งนายสุเทพ หยิบขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ แต่ก็ยังไปไม่ถึง จะถอยหลังกลับก็ไม่ได้ เลยจอดรอจังหวะเวลาสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งว่าจะมีเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่หรือไม่
ขณะที่อีกทางหนึ่ง เครือข่ายผู้รับใช้การปฏิรูปประเทศโดยสันติของประชาชนไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบรรดาบิ๊กเนมทุกวงการทั้งภาคธุรกิจ วิชาการ ประชาสังคม อาทิ นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ ม.ธรรมศาสตร์, นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีต ส.ว. กทม., นายสมเกียรติ อ่อนวิมล อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี ฯลฯ ที่เพิ่งเปิดตัวแถลงข่าว "Restartประเทศไทย" จะสามารถปลุกกระแสปฏิรูประเทศ ให้เป็นพลังหนุนเนื่องให้กลุ่ม กปปส. เคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปประเทศได้สำเร็จหรือไม่
ทั้งหมดยังต้องรอเวลาให้สถานการณ์สุกงอมอย่างทฤษฎีมะม่วงหล่น ให้ประชาชนเห็นความพังทลายของระบอบทักษิณที่กำลังล่มสลายลง
เว้นเสียแต่ว่า นายสุเทพจะประกาศในวันที่ 2 ก.พ.2557 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งว่า วันนี้การปฏิวัติประชาชนได้เกิดขึ้นแล้ว และบัดนี้อำนาจหรือความเป็นรัฐฏาธิปัตย์ได้ตกอยู่ในมือประชาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มิใช่รัฐบาลรักษาการยิ่งลักษณ์ ชินวัตรอีกต่อไป