xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง : ความหวังที่คนไทยรอ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้ ถ้าท่านผู้อ่านเป็นคนสนใจการเมืองและคอยคิดตามข่าว คงจะได้ยิน ได้ฟัง หรือได้อ่านข่าวการชุมนุมของประชาชนในนามกระบวนการที่มีชื่อย่อว่า กปปส.ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีก 8 คน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการลาออก เปิดโอกาสให้ประชาชนจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ และสภาเฉพาะกาลขึ้นมาบริหารประเทศ และดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ ให้เรียบร้อยแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง

แต่รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สนใจข้อเรียกร้องของประชาชน และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภา โดยไม่ใส่ใจถึงการเรียกร้องและไม่คำนึงถึงความขัดแย้งอันอาจเกิดขึ้น และมีความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการที่คนสองกลุ่มคือฝ่ายต่อต้านการเลือกตั้ง และฝ่ายสนับสนุนการเลือกตั้ง และล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการชุมนุม

จากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้เอง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจากนี้ไปเหตุการณ์จะรุนแรงยิ่งขึ้น และอาจจบลงด้วยการรัฐประหารได้ ถ้ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้

ทำไมต้องมีการปฏิรูปก่อนแล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง และกิจการด้านใดจะต้องปฏิรูปโดยเร่งด่วน

ก่อนจะพูดถึงประเด็นว่า ทำไมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ปฏิรูป เพื่อความเข้าใจตรงกันก่อน

คำว่า ปฏิรูป มาจากภาษามคธหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ภาษาบาลี อันที่จริงภาษาบาลีในนี้ และไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวอินเดีย แต่รู้จักในหมู่คนไทย คำว่า บาลีมาจากคำว่า ปาลี แปลว่าใบลานอันหมายถึงคัมภีร์ที่เขียนด้วยภาษามคธ โดยใช้อักษรขอมนั่นเอง ขอย้อนไปที่คำว่า ปฏิรูป เป็นคำสองคำคือ ปฏิ เป็นอุปสรรคคือคำที่ใช้นำหน้าคำนาม หรือคำกิริยา แปลว่า ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ ในที่นี้มีความหมายว่ายิ่ง และอีกคำหนึ่งคือรูป แปลว่า ร่าง หรือโครง เมื่อนำมารวมกันเป็นปฏิรูป จึงมีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงโครงหรือร่างให้ดียิ่งขึ้น โดยคงร่างหรือโครงเดิมอันเป็นส่วนสำคัญไว้ และเพิ่มส่วนเสริมซึ่งจะช่วยให้โครงเดิมดีขึ้น และแข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น ถ้าถือเอาการปฏิรูปตามนัยนี้ การปฏิรูปที่ กปปส.จะทำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการเมือง ก็คงจะหมายถึงการคงรูปแบบของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้อย่างเดิม เพียงแต่แก้ไขปรับปรุงส่วนย่อยเช่น กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้คนโกงอาศัยการเลือกตั้งเข้าสู่เส้นทางการเมือง และแสวงหาตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจแล้วใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ โดยอ้างความชอบธรรมที่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดังที่รัฐบาลในระบอบทักษิณเป็นมาแล้ว และกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

ส่วนประเด็นที่ว่า ทำไมต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ สามารถตอบโต้โดยอาศัยปัจจัยในเชิงตรรกะแบบพื้นๆ ดังต่อไปนี้

1. ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรอบ 10 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งจะมีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม จะเห็นได้จากการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด และลงโทษถึงขั้นยุบพรรคมาแล้ว 2-3 ครั้ง และที่หลุดรอดจากถูกดำเนินคดี และการถูกลงโทษมาได้โดยอาศัยความร่วมมือของ กกต. และข้าราชการประจำ เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง และแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ทำให้ประเทศเสียหาย ดังจะเห็นได้ชัดเจนในโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น

2. การนำนโยบายประชานิยมมาเป็นเครื่องมือมาแสวงหาคะแนนนิยมทางการเมือง ซึ่งเริ่มขึ้นในระบอบทักษิณเป็นลักษณะของการซื้อเสียงล่วงหน้าเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งชัดเจนขึ้นทุกวัน และถ้าขืนปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คนไทยจะกลายเป็นประชากรแบมือขอไม่พยายามต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยตนเองได้ แต่คอยให้รัฐบาลมาช่วย สุดท้ายสังคมไทยจะเต็มไปด้วยผู้คนพิการทางความคิด หรือคิดไม่เป็นได้แต่นั่งรอให้นักการเมืองคิดโครงการมาหลอก และตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของบรรดานักเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และนี่เองคือเหตุผลประการหนึ่งที่จะต้องปฏิรูปการเมืองเพื่อขจัดประชานิยมแบบสุดโต่งให้หมดไปก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์คงจะเกิดขึ้นได้ยาก หรือถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ยากที่จะดำเนินการไปจนถึงขั้นเปิดสภาฯ และสรรหานายกรัฐมนตรีได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะจัดให้มีการเลือกตั้งให้เปลืองงบประมาณถึง 3,000 กว่าล้านบาททำไมกัน

เมื่อรู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ยาก หรือเกิดขึ้นได้ก็ไปถึงขั้นเปิดสภาฯ เพื่อเลือกนายกฯ ไม่ได้ ทำไมรัฐบาลยังดื้อรั้นจะเลือกตั้งให้ได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าวิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วก็พูดให้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเพียงถามด้วยประโยคง่ายๆ ว่ารัฐบาลยุบสภาด้วยความสมัครใจหรือไม่ คำตอบก็จะได้ว่า ไม่เพียงแค่ยุบสภาเพื่อลดความกดดันทางการเมือง และคิดว่าเมื่อยุบสภาแล้วผู้ชุมนุมจะยอมถอยประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คิดว่าอย่างไรเสียเลือกเมื่อไหร่ก็ชนะ เพราะทุกอย่างได้เตรียมการไว้ครบถ้วนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

แต่ลืมคิดและคาดไม่ถึงว่าคนอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะสู้และยกระดับการต่อสู้ถึงขั้นขับไล่ระบอบทักษิณ แล้วจัดการปฏิรูปประเทศก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง

เมื่อคาดการณ์ผิดและพบกับคู่ต่อสู้ที่แข็งแกร่งเช่น กปปส.ดังที่เป็นอยู่ รัฐบาลที่อ่อนแอและแตกแยกกันเองดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จึงอนุมานได้ว่าการเลือกตั้งคงจะไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐบาลไปก่อนการเลือกตั้ง ยิ่งมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่กองทัพไม่เห็นด้วยแล้ว จะยิ่งจบเร็วขึ้น

ดังนั้น การปฏิรูปที่ประชาชนรอคอยคงจะเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่จะครบถ้วนมากน้อยเพียงไรจะต้องรอดูต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น