xs
xsm
sm
md
lg

ออกข้อกำหนดติดหนวดฉุกเฉิน "ปู-อดุลย์"รวบอำนาจ ทอ.ไม่ให้"เหลิม"ตั้งวอร์รูม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.นัดพิเศษถก กม.ฉุกเฉิน รวมอำนาจหน้าที่รมต.ให้ "นายกฯปู" ตัดสินใจ ขณะที่ ผบ.ตร. เป็นผู้กำหนดพื้นที่ควบคุมการชุมนุม พร้อมออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเว้นหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว-ทำให้เข้าใจผิด ห้ามใช้ถนน ใช้อาคาร และให้อพยพประชาชนตามที่ หน.ผู้รับผิดชอบกำหนด "เหลิม"ด่ากราดม็อบ กปปส. เช้าปิดถนน-เย็นปฏิรูป เตือน"เทือก"ให้ฟังคำ"สนธิ"ระวังถูกฆ่า ขู่ให้ปปง.เช็กบิลท่อน้ำเลี้ยงม็อบ "ประจิน"หักหน้า"เหลิม" ไม่ให้ ศรส.ใช้พื้นที่ทอ.เป็นศูนย์บัญชาการ ด้าน"ประยุทธ์"เมินจับมือ"เหลิม" ส่อแววแตกหัก "สุเทพ" สั่งกปปท.ทั่วประเทศขวางการเลือกตั้ง

วานนี้ (23 ม.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมครม. นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาข้อกำหนดเพิ่มเติมใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผอ.ศรส. นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช.

ภายหลังการประชุม พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบให้เพิ่มข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ. ลาดหลุมแล้ว และจ.สมทุรปราการ เฉพาะอ.บางพลี เมื่อวันที่ 21 ม.ค. โดยมาตรา 7 วรรค 2 และ วรรค 6 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยครม.มีมติให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เฉพาะในสิ่งที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชน ในเขตท้องที่ทีมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือร้ายแรง

เพิ่มเติมข้อกำหนดออกตามความใน มาตรา 9 ประกอบ มาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการห้ามการชุมนุมทั้งในเรื่องของสถานที่ อาคาร การเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เส้นทางคมนาคม ทั้งนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในการกำหนดรายละเอียด

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การโอนอำนาจหน้าที่รัฐมนตรี ให้กับนายกฯ ในการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อง่ายต่อขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ และเป็นการยืนยันว่า หากเกิดอะไรขึ้นนายกฯไม่หนีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันนายกฯได้ย้ำถึงการปฏิบัติว่า อย่าใช้ความรุนแรง และห้ามใช้อำนาจเกินขอบเขต พยายามไม่สลายการชุมนุม แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ความรุนแรงได้ นายกฯได้สั่งให้ใช้ดุลยพินิจให้รอบคอบที่สุด ส่วนบทบาททหาร กับรัฐบาลขณะนี้ชัดเจน เพราะเท่าที่นายกฯหารือกับผู้นำหล่าทัพได้รับความร่วมมืออย่างดี พร้อมสนับสนุนรัฐบาล

**ห้ามชุมนุม เว้นหาเสียงเลือกตั้ง

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ตีพิมพ์ ข้อกำหนด ออกตามความใน มาตรา 9 และประกาศตาม มาตรา 11 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุ ว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนั้น

เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอํานาจตามความใน มาตรา 9 และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการ เกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่ง มาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี จึงออกข้อกําหนด ดังต่อไปนี้

1.ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

2.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

6. ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรเพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

อนึ่ง พล.ท.ภราดร กล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า การที่รัฐบาลไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ ถึงข้อกำหนดเพิ่มใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังครม.มีมติเห็นชอบ เนื่องจาก มาตรา 9 ต้องรอให้ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ กำหนดรายละเอียดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการจำกัดสิทธิบางประการในบางพื้นที่การชุมนุมเพื่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 วัน จึงจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ ในขณะที่ มาตรา 7 อำนาจหน้าที่นายกฯ มีการกำหนดไว้ในระเบียบแล้ว ส่วนสถานที่ที่จะใช้เป็นที่บัญชาการ ศรส. ทางผบ.ตร. กำลังดำเนินการจัดหาสถานที่อยู่

**รวบอำนาจรมต.มาอยู่ในมือนายกฯ

นอกจากนี้ ยังมีประกาศ เรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี ตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ลงวันที่ 21 ม.ค. พ.ศ.2557 แล้วนั้น อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 7 วรรคสอง และ วรรคหก แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่ง มาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชาหรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังนี้

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 พ.ร.บ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคมประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวนและการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

ทั้งนี้ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย ให้ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 วรรคหก แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรี และในการใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบนี้ ผู้รับมอบต้องใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมให้ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรงเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

และประกาศเรื่องให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรสิ้นสุด

** วอนม็อบอย่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสภากลาโหม ถึงการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ตนได้ชี้แจงผบ.เหล่าทัพไปแล้ว ก็เข้าใจกันดี เพราะถือเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฎิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งครม. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เป็นหัวหน้าปฏิบัติอยู่ในการดูแลของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. เพราะเราเน้นเรื่องขั้นตอนตามกฎหมาย มากกว่าการที่เราจะใช้กำลังทหาร ขณะเดียวกันเราได้บูรณาการกำลังทางทหารเข้ามาเหมือนเดิม ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือเหล่าทัพ เรื่องการเตรียมหน่วยแพทย์พยาบาลต่างๆ และการดูแล รวมถึงการตั้งจุดตรวจร่วม

ทั้งนี้ ครม.ได้เน้นย้ำให้หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติงานของศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ให้ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความละมุนละม่อม และขั้นตอนต่างๆขอให้ยึดหลัก ตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่าให้ลุแก่อำนาจ หรือเกินขอบเขต

เมื่อถามว่า กองทัพให้ความร่วมมือเรื่องกำลังพลกับรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ตามที่ ศรส.ร้องขอ เหมือนกับขั้นตอนเดียวกับการทำงานของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เมื่อถามว่า เรื่องการเลือกตั้งได้เน้นย้ำกำลังพลให้ไปใช้สิทธิ์ นายกฯ กล่าวว่า ด้านการเลือกตั้งได้ย้ำเหล่าทัพ ในการให้ความร่วมมือกับ กกต. ตามที่กกต. ร้องขอ รวมถึงการดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้

เมื่อถามว่า ห่วงสถานภาพของตัวเองหรือไม่ ที่แกนนำ กปปส.ประกาศไล่ล่า ทั้งตนเอง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายกฯ กล่าวว่า อยากเรียนว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล การละเมิดสิทธิเสรีภาพของคน ต้องขออนุญาตให้นึกถึงเรื่องขั้นตอนและสิทธิของแต่ละคน เชื่อว่าในส่วนนี้ใครๆ ก็ไม่อยากเห็นการไล่ล่าประกาศจับคนนั้นที คนนี้ที เป็นรายวัน ก็ต้องขอร้องเถอะค่ะ เราเองพยายามที่จะช่วยกันในการหลีกเลี่ยงการพูดจาให้เกิดความเกลียดชัง ความขัดแย้ง อย่างที่ท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พูดว่า เราจะโกรธจะเกลียด จะแรงกันไปถึงไหน วันนี้น่าจะถึงเวลาแล้วที่ไปพูดคุยกัน รัฐบาลก็พร้อมเปิดเวทีทุกประตู ทุกเวลาในการที่จะพูดคุย

"ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนไหน ที่จะเจอขนาดนี้ ดิฉันเองยอมรับว่า เราเองก็อดทน ขอความเห็นใจจากผู้ชุมนุม ดิฉันพร้อมที่จะรับฟังบางอย่างก็ต้องขอความเห็นใจ ถ้าปฎิบัติได้เราก็ยินดีให้ความร่วมมือ วันนี้เราได้คืนอำนาจให้กับประชาชนแล้ว ในการยุบสภา ซึ่งสิ่งที่พูดที่ร้องขอมานั้น เป็นส่วนที่ปฏิบัติไม่ได้ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ต้องขอเรียนย้ำ ดิฉันเองไม่ใช่คนที่จะดื้อรั้นไม่ฟังอะไรเลย แต่บางอย่างมันปฎิบัติไม่ได้ ก็ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันพูดคุย อันนี้น่าจะเป็นหนทางออกของเรา" น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ดูเหมือนว่าวันนี้ผู้ชุมนุมค่อนข้างจะท้าทายพรก.ฉุกเฉิน นายกฯ กล่าวว่า คงต้องให้เจ้าหน้าที่ว่าไปตามขั้นตอน เราไม่อยากบอกว่าออกพ.ร.ก.เพื่อท้าทาย อะไรเลย แต่อันนี้เป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินงาน เรายืนยันไม่อยากเห็นภาพเหมือนอย่างเหตุการณ์ปี 53 จึงได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนระมัดระวังอย่าใช้เกินสิ่งที่จำเป็น ขอให้ใช้ขั้นตอนการเจรจาพูดคุยเรายังคงพยายามรักษาตรงนี้ไว้เหมือนเดิม และใช้กฎหมายเป็นหลัก

** "เหลิม"ด่ากราด"เทือก-ม็อบกปปส."

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผอ. ศรส. กล่าวถึงกรณีที่มีการปราศรัยบนเวที กปปส.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ลงนามคำสั่งประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยไม่ใช้คำว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการแสดงความโง่ คำว่า รักษาการ เป็นคำพูดทั่วไปของชาวบ้าน แต่ม็อบมันโง่ เลยไปพูดให้คนสับสน ขอประณามม็อบ กปปส. ของนายสุเทพ ว่าเป็นม็อบป่าเถื่อน อันธพาล เกเร และกล่าวเท็จ นายกฯไม่ได้มาประชุมกับศรส. นอกจากความโง่หาเรื่องแล้ว ยังพูดจาชั่วช้า หยาบคาย แต่รัฐบาลต้องการความสงบ ตนไม่รุนแรงไม่บ้าอำนาจ ไม่มีการใช้อาวุธจริงและไม่มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ทหาร และตำรวจไปทำ แต่จะทำงานเป็นระบบ ไม่ก่อให้เกิดปัญหา อีกร้อยชาติ นายสุเทพ ก็คว่ำตนไม่ได้ เพราะไม่แสดงความโง่เหมือน ศอฉ. อยากขอร้อง นายสุเทพ ให้รวมม็อบ อย่าไปกระจัดกระจาย กีดขวางการจราจร เพราะประชาชนเดือดร้อน

"ตอนนี้นายสุเทพ ควรฟังคำเตือนของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ว่า จะถูกฆ่าตาย นายสนธิ พูดไม่เคยผิด แต่จะมีสัญญาณอะไรหรือไม่ ผมไม่ทราบ เพราะนายสนธิ ดูหมอดูบ่อย"

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า ขอเตือน กปปส.ว่า ตั้งแต่พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้ อย่าไปปิดล้อม เพราะใช้ไม่ได้ผล ขณะที่การทำงานของสื่อมวลชน ขอว่า อย่าไปทำอย่างสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ที่หยาบคาย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นจะต้องพิจารณา แต่ตอนนี้ยังไม่คิดจะเข้าไปควบคุม ต้องดูเนื้อหา ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตามมาตลอด

** ขู่ใช้ปปง.จัดการท่อน้ำเลี้ยงม็อบ

นอกจากนี้ขอเตือนไปยังนายทุนถ้ายังไม่หยุดสนับสนุน อย่ามาหาว่าตนข่มขู่ ตนจะเช็กบิลแน่นอน มีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ขอไม่บอกว่ากี่ราย เพราะต้องตรวจสอบก่อน หากผิดก็จับในข้อหาให้การสนับสนุนหรือเป็นตัวการร่วม ซึ่งจะให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รับผิดชอบ เพราะเป็นคณะกรรมการอยู่ในศรส.ด้วย ส่วนเรื่องจะจับกุมแกนนำ กปปส. นั้น ตนจะไม่เชือดไก่ให้ลิงดู แต่คงจับหมด

ผอ.ศรส. ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ม.ค. นี้ว่า ตนไม่เชื่อว่าประชาชนจะร่วมมือขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะจะถูกประณามจากทั่วโลก วันนี้ม็อบเจ๊งแล้ว

เมื่อถามถึงกรณีที่กลุ่ม คปท.รื้อป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ออก ทั้งที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า พวกนี้ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา เขาเรียกอันธพาล ไหนบอกว่าเรียกร้องประชาธิปไตย นี่ตนยังไม่เรียกว่าโจร

"นี่เขาหัวเราะกันทั้งโลก ไอ้ม็อบอัปรีย์ชุดนี้ ต้องเรียกว่าม็อบอัปรีย์ เพราะเช้าไปปิดหน่วยงานนู้น หน่วยงานนี้ แล้วเย็น มึงก็บอกปฏิรูปการเมือง โง่มันก็ไม่ใช่ เสือก ผมไม่ใช้คำหยาบคาย สุภาพกว่าม็อบอีก" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

**"เหลิม"หน้าแตก"บิ๊กตู่" เมินจับมือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์เสร็จ ขณะกำลังจะเดินเข้าไปร่วมประชุมครม.ได้เดินทางสวนทางกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เพิ่งเสร็จภารกิจจากการเข้าร่วมประชุมสภากลาโหม โดยร.ต.อ.เฉลิมได้เข้าไปทักทายและยกมือไหว้ ก่อนจะยื่นมือไปจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ยกมือรับไหว้ทักทาย แต่ไม่ได้ยื่นมือออกมาตอบรับ และยังเอามือข้างดังกล่าวไขว้หลังเอาไว้แทน ทำให้ร.ต.อ.เฉลิม ต้องแก้เกี้ยว ด้วยการชกท้องเบาๆ เพื่อเป็นการหยอกล้อ

** ทอ.ไม่ให้ใช้พื้นที่เป็นศูนย์บัญชาการ ศรส.

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ให้สัมภาษณ์ หลังการประชุมสภากลาโหมว่า ก่อนการประชุมนายกฯ ได้หารือนอกรอบกับผบ.เหล่าทัพ โดยนายกฯ ถามว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน มีผกระทบต่อการปฏิบัติงานของเหล่าทัพอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นเป็นประเด็นการใช้งบประมาณ ซึ่งเราทราบแล้วว่า ต้องชะลอกรณีงบประมาณผูกพัน แต่งบประมาณปกติ ก็ดำเนินการตามปกติ

เมื่อถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง กองทัพ กับนายกฯ เป็นอย่างไรบ้าง พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ราบรื่นดี โดยเหล่าทัพไม่ได้มีการให้ข้อคิดในการทำงานแก่นายกฯ แต่อย่างใด

ส่วนการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีการพูดกันในที่ประชุมสภากลาโหม เพราะเป็นเรื่องที่จบจากการที่มีการปรึกษากันไปแล้ว ซึ่งองค์ประชุมเห็นว่า ได้เวลาที่จะประกาศ โดยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งนี้เน้นเรื่องการเพิ่มดุลอำนาจของตำรวจในการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่มีการใช้กำลังสลายม็อบ จึงคิดว่าน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้มากขึ้น และจะไม่มีการกระชับพื้นที่ ซึ่งกำลังทหารยังคงจำนวนเท่าเดิมคือ 40 กองร้อย ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง กำลังพูดคุยอยู่ คาดว่าคงใช้กำลังสนับสนุน และอำนวยความสะดวกเท่ากับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทั้งนี้ การที่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนเข้าใจเจตนาที่ผู้เกี่ยวข้องประสงค์ดี ที่ต้องการให้ตำรวจมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น

เมื่อถามถึงกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะขอใช้พื้นที่กองทัพอากาศ เป็นศูนย์อำนวยการศรส. พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ที่นี่ไม่สะดวกที่จะใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการ เพราะถือเป็นส่วนความมั่นคง เป็นคนละมิติ สถานที่นี้เป็นทั้งฐานทัพอากาศ สนามบิน ที่มีกฎกติกามากพอสมควร แต่กรณีนี้ ที่นายกฯมาใช้พื้นที่กองทัพอากาศเป็นครั้งคราว เราก็ประสานดูแลได้ในระดับหนึ่ง ส่วนศรส. คงต้องไปใช้พื้นที่อื่น แต่ไม่ทราบว่าจะใช้พื้นที่ที่ไหน ต้องรอถามนายกฯ

** เตือนผบ.ทบ.หากปฏิวัติปชช.ลุกฮือแน่

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ระบุว่า ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นทหารจำเป็นต้องออกมาแก้ไขนั้น อยากถามว่า จะแก้ไขอย่างไร ขอฝากท่านว่า ในอดีตที่มีการแก้ไขโดยใช้กำลังปฏิวัตินั้น คนที่ปฏิวัติไม่เคยมีใครเป็นนายกฯ ส่วนใหญ่จะใช้คนกลาง และถ้าใช้กำลังเหมือนปี 2549 จะมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ คนที่รักประชาธิปไตย ต้องการเลือกตั้ง จะออกมามืดฟ้ามัวดิน การปฏิวัติ จะเป็นการซ้ำเติมปัญหามากกว่าแก้ไข อาจเหมือนอดีตเมื่อปี 2549 ที่มีคมช.เข้ามา แต่ผ่านมาจนวันนี้ 8 ปี ก็ยังร้าวลึก ฉะนั้น อยากเสนอให้กองทัพมาเป็นคนกลางในการพูดคุย แต่การเลือกตั้งต้องเดินหน้าไปก่อน เชื่อว่านายสุเทพ กับพวก เกรงใจทหาร การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น เสนอให้ใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่ดำเนินการ การกดดันของนายสุเทพ และพวก โดยไปทุกกระทรวง ทบวง กรม อย่าว่าแต่ 3 เดือน อีก 3 ปี ก็ล้มรัฐบาลไม่ได้ จะล้มได้ต้องฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น และคนที่จะฉีกได้คือกองทัพ

** "มาร์ค"ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินซ้ำเติมสถานการณ์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความกังวลต่อการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่จะทำให้การบริหารเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น เช่น กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติเสียง 4:3 ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะไปซ้ำเติมต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ให้หนักยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคสื่อสารมวลชน ก็แสดงความกังวลต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ ขณะที่ภาคการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้ง ก็กังวลว่าอาจมีการใช้อำนาจพิเศษสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่

"ผมก็ยังงงๆ คือขณะที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน นายกฯ จะต้องออกข้อกำหนดตาม มาตรา 11 หรือ 12 ของ พ.ร.ก. เพื่อยืนยันอำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้าไปทำการต่างๆ แต่ประกาศที่บอกว่า จะใช้ข้อกำหนดห้ามสิ่งนั้น สิ่งนี้ ซึ่งในสถานการณ์ซึ่งอ้างว่าฉุกเฉิน นั้น ผอ.ศรส. บอกให้รอถึงวันจันทร์หน้า แล้ว มันภาวะฉุกเฉินอย่างไร แต่ในส่วนของประชาชน กลับไม่รู้สึกหวาดกลัวต่อการประกาศ พ.ร.ก.ของรัฐบาล กลับออกมาร่วมกับ กปปส.ต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น เป็นเพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากฝ่ายประชาชน ดังนั้นการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาล จึงใช้ไม่ได้ผลกับประชาชน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**"สุเทพ" ลั่นปชช.ไม่กลัวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวถึงกรณ๊รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า กปปส. ก็จะยังดำเนินการปิดสถานที่ราชการต่างๆ ต่อไปให้สำเร็จ ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ เมื่อทำสำเร็จครบถ้วน ต่อไปจะดำเนินการกดดันรัฐบาล โดยการไปปิดล้อมบ้านของรัฐมนตรีต่างๆ ต่อไป กดดันเพื่อให้ลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ

ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 26 ม.ค.นั้น ทางฝ่ายรัฐบาล จะมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทางด้าน กปปส. เองจะมีแนวทางอย่างไรนั้น ยังไม่ขอชี้แจง

เมื่อเวลา 18:30 น.ที่เวที กปปส.อโศก นายสุเทพ กล่าวปราศรัย ว่า ในช่วงเช้าของการเคลื่อนขบวนออกจากเวทีอโศกนั้น ได้มีพี่น้องประชาชนออกมาร่วมเดินขบวนเป็นจำนวนมาก และให้การสนับสนุนตลอดเส้นทาง เห็นได้ชัดว่า ประชาชนนั้นไม่ได้กลัวพ.ร.ก.ฉุกเฉินเลย ถึงได้ออกจากบ้านมาร่วมเดินขบวนในการเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนออกมาร่วมขับไล่รัฐบาล จากสถานการณ์เช่นนี้ คิดว่าจะไม่มีคนออกมาเสียอีก แต่ผิดคาด แสดงว่า ชาวกรุงเทพฯ ตื่นตัว และต้องการให้ประเทศไทย มีการปฏิรูป เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป

"ขอขอบคุณ พี่น้องชาวอโศก ที่ร่วมเดินอย่างไม่รู้จากเหน็ดเหนื่อย และขอบคุณชาวกรุงเทพฯ ทุกสาขาอาชีพที่ออกมาให้การต้อนรับการเดินขบวนของกปปส. ที่มีทั้งการสนับสนุน และให้กำลังใจ ขอสัญญาว่า จะต่อสู้ต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะของประชาชนอย่างแท้จริง" นายสุเทพ กล่าว

***สั่ง กปปส.ทุกจังหวัดขวางเลือกตั้ง

ต่อมาเวลา 19.50 น. นายสุเทพ กล่าวบนเวทีปราศัยแยกปทุมวัน ว่า การที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปรากฎว่าฝ่ายทหารไม่เห็นด้วย เพราะไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม การตั้งศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นคำสั่งโมฆะไม่มีใครปฏิบัติตามหรือให้ความร่วมมือ ถึงขณะนี้กรรมการ ศรส. ก็ไม่มีผบ.เหล่าทัพ เป็นกรรมการ อีกทั้งการที่มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรมว.แรงงาน เป็นผอ.ศรส. กลับไม่มีผบ.เหล่าทัพร่วมเป็นกรรมการ เพราะร.ต.อ.เฉลิม เป็นคนขี้คลอก คนกระจอก ไม่เอาไหน อีกทั้งยังหาสถานที่ตั้งศรส. ก็ยังหาไม่ได้

"วันนี้รัฐบาลพยายามขอใช้กองบัญชาการกองทัพอากาศเป็นที่ตั้ง ศรส. ปรากฎว่าพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ปฏิเสธไม่ให้ใช้สถานที่ รวมทั้งมีกระแสข่าวว่าภายหลังการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ร.ต.อ.เฉลิมได้พยายามจะเข้าไปทักทายและจะขอจับมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. แต่พล.อ.ประยุทธ์ ไม่จับมือกับ ร.ต.อ.เฉลิม ทำให้เห็นได้ว่าเขาขยะแขยง มือโสโครกไม่สามารถจับมือสุภาพบุรุษในกองทัพได้ คนอย่างร.ต.อ.เฉลิม เป็นผอ.ศรส. จะมีน้ำยาอะไร เพราะแค่คนฆ่าดาบยิ้ม ยังจับไม่ได้ การที่จะมาทำตัวเป็นนายผบ.เหล่าทัพที่เป็นคนทีเกียรติ มีศักดิ์ศรีไม่ยอมเป็นลูกน้องร.ต.อ.เฉลิม"

นายสุเทพ ยังกล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น เพราะรัฐบาลจนแต้มแล้ว เราจะต้องเร่งเกมของเราให้กระชับมากขึ้น เพราะพวกเขากำลังจนแต้มแล้ว และขอให้มั่นใจว่าคนสารเลวพวกนี้ไม่มีทางมาต่อสู้กับพลังประชาชน แต่รัฐบาลที่ยื้ออยู่ในอำนาจ เนื่องจากจะยื้อให้ถึงวันเลือกตั้ง แต่ขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และร.ต.อ.เฉลิม ฟังให้ดีว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. จะไม่สำเร็จได้ เพราะประชาชนไม่เอาการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยประชาชนจะจัดการให้ไม่มีการเลือกตั้ง กปปส.ทุกเขตจังหวัด ทุกเขตเลือกตั้ง ต้องการจัดการไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะไม่อยากให้พวกนี้เข้าปกครองประเทศต่อไป เนื่องจากเราต้องการปฏิรูปประเทศ แก้กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง เพื่อให้มั่นใจวันข้างหน้าประเทศไทยจะต้องมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิยุติธรรรม ประชาชนไม่ต้องไปโนโหวตหรือโหวต เพราะจะไปไม่ถึง ประชาชนจะปิดทุกเส้นทาง กปปส.ทุกจังหวัดเตรียมการพร้อมแล้ว และจะไม่ยอมให้ระบอบทักษิณฟื้นได้ ซึ่งก็จะรอดูว่าเขาจะทำอย่างไร และขอให้ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีการใช้การเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น