xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.“ส่ง-ไม่ส่ง” เลือกตั้งเรื่องจิ๊บจิ๊บ ปมใหญ่เพื่อไทยชนะอายุรัฐบาลสั้นจู๋

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประชาธิปัตย์หืดขึ้นคอ “สดศรี” ชี้ไม่ลงเลือกตั้ง เป็นประโยชน์ต่อพรรคเพื่อไทย ขณะที่โนโหวตก็ขัดขวางการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะโนโหวตจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่ที่มีผู้สมัครคนเดียว แต่หากมีผู้สมัคร 2 คนขึ้นไป เลือกคนคะแนนมากสุดแทน ขณะที่พรรคขนาดกลาง-เล็ก พร้อมแล้วรอเสียบ พื้นที่ “ภาคใต้-กทม.” ด้าน “เชน เทือกสุบรรณ” มั่นใจ ปชป.ไม่ฝืนมติมหาชน “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เชื่อพลังมวลชนไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ จับตา “ปชป.” ทิ้งสุเทพ เผชิญคดีกบฏ!

แทนที่การเมืองจะกดดันพรรคเพื่อไทย และคนเบื้องหลังอย่าง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ให้อับจนหนทางสุดๆ แต่ปรากฏว่าคนที่ยืนอยู่ริมหน้าผาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ในเวลานี้กลับเป็น “พรรคประชาธิปัตย์” ที่ถึงทางสองแพร่งของจริง ว่าจะส่งผู้สมัคร เลือกตั้ง-ไม่เลือกตั้ง ในกำหนดเวลาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

เลือกก็พัง ไม่เลือกก็พัง!

เพราะพรรคเพื่อไทยวันนี้ไม่ได้สนใจว่า พรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ แต่รู้ดีว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งครั้งนี้ 180-190 เสียง และจะรวมพรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งคาดว่าจะได้รับผลพลอยได้จากคนเบื่อการเมืองพรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ หันมาเทคะแนนให้

หากประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลแบบควบคุมเสียงเบ็ดเสร็จ เป็นเผด็จการรัฐสภาที่ไม่อาจขวางอะไรได้อีก

เพราะแม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะไม่อยากข้องเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว แต่ก็หนีไม่พ้นว่าต้องข้องเกี่ยว

ดังนั้นการที่ประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้ง แต่ทิ้งนายสุเทพที่มีคดีร้ายแรงอย่างคดี “กบฏ” ติดตัว และทิ้งความคาดหวังของมวลมหาประชาชนเกือบ 5 ล้านคน ไม่รวมคนที่เห็นด้วยกับการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้ออกจากบ้านมาแสดงพลัง ย่อมเป็นเรื่องไม่ดีนัก ต่อคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในระยะยาว

ประชาธิปัตย์วันนี้ ถึงกับต้องเอา “เท้า” ก่ายหน้าผาก!

เลือก-ไม่เลือกตั้ง ปชป.ยังไม่ตัดสินใจ

ล่าสุดวันที่ 17 ธ.ค. 56 พรรคประชาธิปัตย์ก็มีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และหามติว่าจะลงเลือกตั้ง-ไม่เลือกตั้ง โดยที่ประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2556 ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลงคะแนนเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว ให้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่ออีกสมัยหนึ่ง ด้วยคะแนนร้อยละ 95 มีรองหัวหน้าพรรค 5 คน ได้แก่ นายเกียรติ สิทธีอมร ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ดูแลงานสภาและนโยบาย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ดูแลงานด้านการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดูแลงานด้านท้องถิ่น และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ดูแลงานด้านการสื่อสาร โดยมี นายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่ รวมถึงมีการปรับปรุงโครงสร้างพรรคจาก 25 คนเป็น 35 คน โดยต่อจากวันนี้ไป กรรมการบริหารพรรคจะประชุมร่วมกันเพื่อตัดสินใจร่วมกับอดีต ส.ส.ของพรรคว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่

แหล่งข่าวพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า คำตอบว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงสมัครเลือกตั้งหรือไม่นั้น จะยังไม่มีมติในวันนี้ แต่มติน่าจะออกมาใกล้ๆ กับวันรับสมัครเลือกตั้งคือวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคมนี้

ตัดสินใจกันบนเส้นด้าย!

สดศรีชี้ “โนโหวต” ไม่เป็นผล-ปชป.เสียหายหนัก

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า มองดูแล้วพรรคประชาธิปัตย์ ความสัมพันธ์ระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ เป็นไปอย่างใกล้ชิดในลักษณะร่วมหัวจมท้ายกันมาตลอด ดังนั้นมองว่ามีโอกาสสูงที่ประชาธิปัตย์จะไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นทันทีคือ พรรคเพื่อไทยจะส่งคนลงทุกเขตการเลือกตั้ง และพรรคเล็กพรรคน้อยที่รอคอยโอกาสที่ประชาธิปัตย์จะไม่ลงเลือกตั้งจะมีในทันที โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประชาธิปัตย์มีคะแนนเสียงแน่นหนา อย่างในพื้นที่ภาคใต้ และ กทม.

แม้ทั้งสองพื้นที่จะเป็นพื้นที่ที่อาจมีคนลงคะแนนเสียงโนโหวต อย่างมากในรอบนี้ ก็จะไม่มีผลอะไรมากนักทางการเมือง กล่าวคือ ตามกฎระเบียบการเลือกตั้งได้กำหนดไว้ว่า

หากพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงพรรคเดียว และคะแนนโนโหวตมีเกิน 20% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนในเขตนั้นๆ ก็จะไม่ได้มีผลว่าเขตนั้นๆ จะไม่มี ส.ส. แต่หากเกิดกรณีนี้ขึ้น กกต.ก็จะต้องมีการจัดการการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่อยู่ดี คะแนนโนโหวตจึงไม่ได้ทำให้เกิดผลทางการเมืองมากนัก

หากพื้นที่ใดมีผู้สมัคร 2 พรรคการเมืองขึ้นไป คะแนนโนโหวตยิ่งไม่มีผลทางการเมืองเข้าไปอีก เพราะแม้คะแนนโนโหวตจะสูงเพียงใด แต่การที่มีพรรคการเมือง 2 พรรคมาแข่งกันแล้ว ผู้ที่มีคะแนนมากกว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในทันที

ในเวลานี้มองว่า พรรคเพื่อไทยจะส่งคนให้ครบทุกเขตแน่นอน และเป็นช่วงที่พรรคขนาดกลางและเล็กก็เตรียมพร้อมที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งอย่างเต็มที่มากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา เพราะแต่เดิมอาจกลัวว่าจะไม่ชนะประชาธิปัตย์โดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคใต้ แต่ตอนนี้ถือว่าทุกพรรคที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์จะสู้สุดตัว เพราะมีโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาฯ จำนวนมาก

ดังนั้นโดยส่วนตัวแล้ว นางสดศรี กล่าวว่า รู้สึกเสียดายแทนพรรคประชาธิปัตย์ เพราะจะทำให้เสียโอกาสทำการเมืองในระบบรัฐสภาอีกนาน และอาจนานจนครบสมัยของรัฐบาลก็เป็นได้

เหตุผลคือ การที่ประชาชนจะออกมาต้านรัฐบาลนั้น ก็ต้องมีเหตุที่ประชาชนทนไม่ได้ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่มีเหตุ มวลชนที่จะมากดดันรัฐบาลให้ยุบสภาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก

“ปฏิวัติประชาชนถ้าเกิดโดยประชาชน โดยไม่มีกองทัพทหารเข้ามาช่วยก็ยากที่จะสำเร็จ สิ่งที่ท่านสุเทพเสี่ยงคือครั้งที่แล้วได้มีการทดลองเรียกข้าราชการมารายงานตัว แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นโอกาสชนะจึงค่อนข้างยาก”

แต่หากประชาธิปัตย์เลือกวิธีการเลือกตั้งเข้าไป มองว่าอาจจะมีโอกาสได้รับคะแนนสูงสุดจนจัดตั้งรัฐบาลได้ และสามารถเข้าไปแก้กฎหมายเพื่อจัดตั้งสภาประชาชนตามที่ต้องการจะสำเร็จมากกว่า

“เชน เทือกสุบรรณ” มั่นใจ ปชป.ไม่ฝืนกระแสมวลชน

ขณะที่ นายเชน เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มองเช่นเดียวกับนางสดศรีว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแนวโน้มสูงที่จะเดินตามกระแสประชาชน คือ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เหตุผลคือวัฒนธรรมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์นั้น จะเป็นพรรคที่ไม่ฝืนมติมหาชนเด็ดขาด และประชาธิปัตย์เชื่อว่า “ความถูกต้องมาเป็นอันดับ 1” เห็นชัดคือมติที่ประชุมของพรรคต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องเสมอ

อย่างไรก็ดี หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้พรรคเพื่อไทยจะไปจับมือพรรคเล็กพรรคน้อยตั้งรัฐบาลได้ก็จริง แต่เชื่อว่า ความชอบธรรมจะไม่มี เพราะประชาชนย่อมรับไม่ได้ เพราะอิทธิพลของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังมีอย่างมากกับรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะเป็นเรื่องที่ปิดไม่ได้ ประชาชนจะรับรู้ได้ และรับไม่ได้

ดังนั้นจึงเชื่อว่า การไม่ลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตกขบวนการทำงานในสภาฯ นานนัก เพราะมีกระแสมวลชนเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ

แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจลงเลือกตั้ง กล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีความเสียหายมาก เว้นเสียแต่จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง หรือแก้กฎระเบียบทางการเมืองระยะสั้น หรือระยะยาวก่อนช่วงหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนยอมรับได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วประชาธิปัตย์ก็ยังยึดถือระบบรัฐสภา

แถมก่อนหน้านั้น ประชาธิปัตย์ก็ประกาศแล้วว่าไม่ยอมรับผลใดๆ ที่เกิดขึ้นจาก กปปส. หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะถ้ามีการปฏิรูปการเมือง มีการตั้งสภาประชาชน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่เข้าร่วม

กระนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคของประชาธิปัตย์วันนี้มีความหมาย

นายเชน กล่าวว่า เหตุผลคือ แต่เดิมนั้น ด้วยกฎเกณฑ์ของกฎหมายพรรคการเมือง ที่หากกรรมการบริหารพรรคคนใดคนหนึ่งไปกระทำผิดเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็จะมีผลกระทบกับพรรคการเมืองอย่างมาก คือถึงขั้นมีการตัดสินให้ยุบพรรคได้ ดังนั้นที่ผ่านมาแทบทุกพรรคจึงลดสัดส่วนกรรมการบริหารพรรคลงให้เหลือน้อยที่สุด

แต่วันนี้ การปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคของประชาธิปัตย์คือ เพิ่มจำนวนขึ้น!

“การเพิ่มจำนวนกรรมการบริหารพรรคในเวลานี้ แสดงให้เห็นว่าการเมืองในช่วงนี้เป็นการเมืองที่ต้องใช้การรวมความคิด และเป็นการถือเอาช่วงวิกฤตการเมืองเป็นการสร้างโอกาสให้พรรค”

หมายความว่า เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องการปฏิรูปพรรคไปพร้อมกันด้วย ด้วยการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในพรรคมากขึ้น ขณะที่คนรุ่นเก่าอย่าง นายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ฯลฯ ก็ยังอยู่ในพรรค คอยเป็นที่ปรึกษาให้คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงาน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในบทบาทของการบริหารพรรค เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายกรณ์ จาติกวณิช ฯลฯ ก็ยังถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะนำความคิดของคนรุ่นใหม่มาบริหารงานการเมือง

“เป็นการปรับเข้าหากันระหว่างรุ่นใหม่ รุ่นเก่า และเปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคในภูมิภาค ในท้องถิ่นเข้ามาทำงานมากขึ้น ถือเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับพรรคประชาธิปัตย์”

ส่วนแนวทางการปฏิรูปพรรคที่นำเสนอโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่เสนอโครงสร้างพรรค รวมถึงหัวหน้าพรรคคนใหม่ขึ้นมานั้น แท้จริงแล้วพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนยอมรับได้กับการเปลี่ยนแปลง และมีการคุยกันเรื่องการปฏิรูปมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ลักษณะของนายอลงกรณ์ที่ไม่ใช้วิธีคุยในพรรค แต่ไปนำเสนอกับสาธารณะมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ค่อยถูกต้องตามธรรมเนียมของพรรคนัก

ดังนั้น การเสนอแนวทางปฏิรูปของนายอลงกรณ์จึงตกไป พร้อมกับการไม่ได้รับคัดเลือกให้มาเป็นกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ของนายอลงกรณ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชัดเจน

“พรรคประชาธิปัตย์มีระบบการตัดสินใจของพรรค ไม่ได้เป็นแบบคนคนเดียว แต่ต้องมาจากมติรวมของกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ดังนั้น ความคิดของคนคนเดียวจะไม่ได้มีผลอะไรต่อพรรคประชาธิปัตย์”

ส.ว.ไพบูลย์ย้ำ ปชป.อย่าเป็น “สภาทาส”

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก และมาถึงทางที่ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะเหตุผลที่ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ลาออกในวันที่ 8 ธ.ค. 56 นั้น ก็เป็นเหตุผลสำคัญคือต้องการที่จะปฏิรูปการเมืองแบบเก่า ไม่เอาวงจรการเมืองแบบเดิมๆ หรือที่เรียกว่า “สภาทาส”

อย่าลืมว่าการเป็น “สภาทาส” นั้นเกิดขึ้นในยุคที่มีการปฏิบัติการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น

เมื่อมีการเลือกตั้งจึงหมายความว่า ไปช่วยพรรคเพื่อไทย ไปช่วยคณะรัฐมนตรีชุดนี้ในการฟอกตัวเองกลับมาใหม่ แต่ทุกอย่างเหมือนเดิม

“ถ้าประชาธิปัตย์มีจุดยืนที่แน่ชัดว่าไม่เอาการเมืองระบบเดิม อยากเห็นการเมืองใหม่จริง ผมเห็นว่าประชาธิปัตย์จะต้องไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.นี้”

การเมืองจะเปลี่ยนได้อย่างแท้จริง

“ผมเชื่อว่าหากประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง หรือบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ มีสิทธิที่จะเกิดเหตุการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย”

หนึ่งคือ เชื่อว่าการเลือกตั้งอาจจะเลื่อนออกไปได้ หากประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง โดย ครม.รักษาการสามารถดำเนินการโดยใช้มาตรา 187 ในการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเลื่อนเวลาเลือกตั้งได้

สองคือ หากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และรวมกับพรรคเล็กพรรคน้อยได้สำเร็จเป็นรัฐบาล กระแสมวลชนที่อึดอัดใจกับระบอบประชาธิปไตยที่มีคนคนเดียวมีอำนาจสิทธิขาดอยู่อีก ก็ย่อมออกมากดดันรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอีก และจะมีความอึดอัดคับข้องใจกับพรรคเพื่อไทยมากกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้

“รัฐบาลอยู่ไม่ได้นานอยู่แล้ว เพราะกระแสสังคมจะต่อต้านมากกว่าเดิม”

แต่ถ้าลงเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ประชาธิปัตย์เคยมีจุดยืนไปแล้วว่าต้องการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง เพราะมองเห็นแล้วว่าการเลือกตั้งจะกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ก็เท่ากับว่าลืมจุดยืนเดิมของตัวเองไป

สุดท้ายแล้ว เวลานี้จึงบอกได้คำเดียวตามคำพูดของ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่ว่า

“ส่งเลือกตั้งก็ตาย ไม่ส่งก็พิการ” ไม่ผิดแล้ว!

กำลังโหลดความคิดเห็น