ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันอาทิตย์26ม.ค.นี้ จะเป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า อาทิตย์ถัดไป 2ก.พ. เป็นวันเลือกตั้งใหญ่
กลุ่มคนที่ไม่เอาระบอบทักษิณคุยกันมากว่า อยากแสดงสัญญลักษณ์ทางการเมืองว่าต่อต้านการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จะเอาไงดี ระหว่างการ"โนโหวต" คือไม่ไปเลือกตั้ง หรือจะ"โหวตโน" คือไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน
คนที่คิดจะไม่ไปเลือกตั้ง มักจะพูดว่า กลัวจะเสียสิทธิทางการเมือง หรือกลัวจะถูกฝ่ายตรงข้ามแอบอ้างมาสวมสิทธิของตนเอง
เรื่องการเสียสิทธินั้น ได้แก่ จะเสียสิทธิถอดถอนนักการเมือง เสียสิทธิการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว., เสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.- ส.ว., สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น เสียสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. และเสียสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
แต่สิทธิที่เสียไปนั้น จะได้กลับคืนมาเมื่อไปใช้สิทธิการเลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น
ถ้าไม่คิดจะเป็นนักการเมืองไม่ว่าระดับใด หรือไม่คิดสมัครเลือกตั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ว่าจะต้องไปเลือกตั้งเพื่อรักษาสิทธิ
ส่วนเรื่องสิทธิการเข้าชื่อคัดค้าน ถอดถอน ก็อย่าเอามาเป็นอารมณ์ หรือคิดว่าเป็นสาระสำคัญ เพราะที่ผ่านมาการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อจะทำอะไรสักอย่าง เป็นเพียงกระบวนการ วิธีการ ในการแสดงออกเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจเท่านั้น แต่ไม่เคยไปถึงจุดหมาย หรือประสบผลสำเร็จสักเรื่อง หรือถ้าคิดว่ามีก็ยกตัวอย่างมา
สำหรับเรื่องจะถูกสวมสิทธินั้น ไม่ง่าย เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง ถ้าเชื่อว่าเจ้าหน้าที่สุจริต โปร่งใส ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่ถ้ามันจะโกง เพราะถูกซื้อยกหน่วยไปแล้ว ถึงเราไปใช้สิทธิ มันก็ยัดบัตรเพิ่มเข้าไปได้
ทีนี้มาดูกรณีที่เขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครเพียงคนเดียว ผู้ที่จะได้รับการเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น และ คะแนนที่ได้ต้องมากกว่าคะแนนโหวตโนในเขตนั้น ถ้าได้น้อยกว่าโหวตโน กกต.ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นรอบที่ 2 ถ้ารอบที่ 2 โหวตโน ยังมากกว่าอีก ก็ต้องจัดการเลือกตั้งในรอบที่ 3 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย หากผู้สมัครส.ส.ยังได้รับคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ20 แต่ก็ยังน้อยกว่าโหวตโนอีก ก็ถือว่าได้เป็น ส.ส. อยู่ดี
ดังนั้นการโหวตโน ก็จะขัดขวาง ยับยั้งได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
ถ้าคุณเป็นนักประชาธิปไตยโลกสวย แม้จะมีจุดยืนคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งในสถานการณ์เช่นนี้ แต่คิดว่าต้องไปเลือกตั้ง เพื่อโหวตโน เพราะเป็นการแสดงสัญญลักษณ์ทางการเมืองว่า ต่อต้านโดยสันติวิธี เป็นไปตามเงื่อนไข กฎ กติกา ของรัฐธรรมนูญ หวังจะให้ตัวเลขสถิติการโหวตโน ออกมาสูงๆ ตบหน้าฝ่ายตรงข้ามด้วยความสะใจ และก็ไม่เสียสิทธิทางการเมืองด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน การไปเข้าคูหาเพื่อกา โหวตโน ก็ไปเพิ่มตัวเลขของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในภาพรวมด้วย เมื่อตัวเลขของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งสูง หรือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ
ก็เข้าทางรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าทางระบอบทักษิณพอดี เพราะสามารถเอาไปอ้างได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ตามจุดยืนของรัฐบาล เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทันที โดยไม่ต้องไปดูในเนื้อหา รายละเอียดว่า ประชาชนมาเลือกพรรคไหน มากาโหวตโน หรือมาทำบัตรเสีย อ้างแต่ว่ามีคนมาใช้สิทธิเกินครึ่ง
โดยเฉพาะกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว ต่อให้คะแนนโหวตโน บวกกับบัตรเสีย จะมากกว่าคะแนนที่พรรคเพื่อไทยได้รับ เขาก็ไม่สนใจ จะอ้างอย่างเดียวว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายามดึงดัน จะเดินหน้าเลือกตั้งให้ได้ ทั้งๆ ที่ถูกต่อต้านจากประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาสารพัด ก็เพื่อจะเอาเสื้อคลุมประชาธิปไตย มาปิดบังความล้มเหลวในการบริหาร และการทุจริต คอร์รัปชัน แล้วอ้างต่อชาวโลกว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากกติกาประชาธิปไตย ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ดังนั้นถ้าคุณยืนอยู่ตรงข้ามระบอบทักษิณ คอคล้องนกหวีด สายรัดข้อมือลายธงชาติ ใส่เสื้อยืดชัตดาวน์ ร่วมชุมนุมกับกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ มา 2 เดือนกว่า เพื่อบอกว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ถึงบรรทัดนี้คงตัดสินใจได้แล้วว่า วันที่ 2 ก.พ.นี้ จะโนโหวต หรือโหวตโน