ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การประมูลทีวีดิจิตอลครั้งประวัติศาสตร์ของไทยก็ได้ปิดฉากลงเมื่อปลายที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสงครามครั้งนี้จะไม่มีคราบความเสียใจของผู้ผิดหวัง ตรงกันข้าม ผ่านปี 2557 เพียงไม่ถึงเดือน กลับกลายเป็นว่ามีหลายความเห็นมองว่าผู้ชนะการประมูลบางรายอาจต้องเหนื่อยหนักเพียงเพื่อให้เป็น “ผู้อยู่รอด” ในสมรภูมิดิจิตอลทีวีเฟสแรก
เพราะไหนจะต้องแบกต้นทุนค่าใบอนุญาตแสนแพง ไหนยังต้องมีค่าบริการโครงขาย (MUX) เพื่อส่งสัญญาณไปต่างจังหวัด และค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมไทยคมเพื่อให้เป็นไปตามกฎ Must Carry ของ กสทช. ไหนจะต้องเจอคู่แข่งฟรีทีวีในระบบดิจิตอล 24 ช่อง บวกกับฟรีทีวีระบบอะนาล็อก 6 ช่อง และยังมีช่องดาวเทียมอีกนับไม่ถ้วน ขณะที่คาดการณ์กันว่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อทีวีอาจไม่โตขึ้น
หลังจัดเรียงแนวรบทีวีดิจิตอลครบทั้ง 24 ช่อง สิ่งที่ “เจ้าของช่อง” ต้องรีบดำเนินการต่อไปคือ การเตรียม “คอนเทนต์” เพื่อสามารถออกอากาศให้ได้ภายในเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าจะหยิบรายการอะไรมายำใส่ในผังรายการได้เหมือนก่อน เพราะในสงครามดิจิตอลทีวี ผู้ชมมีทางเลือกเพิ่มขึ้นมากมาย นี่เป็นชนวนให้เกิด “ศึก” แย่งชิงตัวผู้ผลิตคอนเทนต์/รายการแถวหน้าขึ้นเล็กๆ
“การเปิดช่องทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง หมายถึงต้องผลิตรายการ 2 แสนรายการต่อปี ฉะนั้นการแข่งขันมันจะรุนแรง แต่ไม่ใช่แบบฟรีทีวียุคก่อนที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องวิ่งเข้าหาสถานีเพื่อขาย “ของ” แต่ยุคทีวีดิจิตอล เจ้าของช่องต้องมาตามตัวผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ไปทำ เพราะรายการน้อยกว่าช่อง” จาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บมจ. กันตนา กรุ๊ป กล่าว
ด้วยประสบการณ์ไม่ต่ำกว่า 30 ปีในการผลิตรายการโทรทัศน์หลากหลายรูปแบบป้อนฟรีทีวีไทยมาแล้วแทบทุกช่อง รวมถึงการมีส่วนร่วมประมูลสถานีไอทีวีเมื่อ 15 ปีก่อน บวกกับการเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ในเวียดนามและกัมพูชามากว่า 20 ปี อีกทั้งมีความพร้อมทั้งด้านขุมพลังคอนเทนต์ เทคโนโลยีและบุคลากร รวมถึงเม็ดเงินลงทุน ตลอดจนศักดิ์ศรีของหนึ่งในโปรดักชั่นส์เฮาส์ใหญ่ของเมืองไทย ทำให้หลายคนคาดว่า กันตนาจะเข้าร่วมชิงชัยในสงครามทีวีดิจิตอลครั้งนี้
“ขณะที่ทุกคนประกาศตัวว่าจะประมูล กันตนาประกาศว่าเราจะไม่ประมูล เพราะเหตุว่าการลงทุนสูงมาก บวกกับกฎระเบียบของ กสทช. ที่ระบุว่า ทุกช่องต้องมีคนนอกเข้ามาผลิตรายการร่วม 50% จึงไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเข้าไปแข่งประมูล เราใช้โอกาสนี้เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับทุกช่องที่ต้องการดีกว่า ซึ่งเราก็เป็นมาตั้งแต่อดีต เรารู้ตัวว่าเราทำหน้าที่นี้ดีกว่า เหมาะสมกับเรามากกว่า”
อย่างไรก็ดี เพื่อปรับตัวไปสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ หรือ Content Provider ที่จะรองรับยุคของดิจิตอลทีวีอย่างเต็มรูปแบบ กันตนาได้ปรับรูปแบบธุรกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะใน “สายงานโทรทัศน์” ซึ่งปัจจุบันมีคอนเทนต์อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ คอนเทนต์ในช่องทีวีดาวเทียม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ช่อง คอนเทนต์ที่กันตนาผลิตเองเพื่อป้อนช่องฟรีทีวี (Local Content) ซึ่งนอกจากจะมีกลุ่มละครซึ่งออกอากาศทางช่อง 7 ยังมีรายการหลากหลายประเภทซึ่งออกทั้งทางช่อง 5, 7 และโมเดิร์นไนน์
แต่ที่พิเศษสุดสำหรับปีนี้คือ คอนเทนต์จากต่างประเทศ (International Content) ซึ่งจาฤกยอมรับว่าปีนี้ถือเป็นยุคใหม่ของกันตนา เพราะบริษัทได้ทุ่มงบไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท ในการซื้อฟอร์แมตคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามาเพื่อจุดพลุให้กับ “กันตนา” ในฐานะ Content Provider บนสมรภูมิดิจิตอลทีวีที่ดุเดือด
“การเกิดของดิจิตอลทีวี 24 ช่อง นอกจากเผชิญการแข่งขันกันเอง ยังต้องสู้กับฟรีทีวีช่องเดิมที่มีฐานผู้ชมเหนียวแน่น ดังนั้นการแข่งขันเพื่อแจ้งเกิดช่องใหม่ จึงจำเป็นต้องมีคอนเทนต์แตกต่าง ปีที่ผ่านมา เราจึงบินไปซื้อรายการลิขสิทธิ์ต่างประเทศทั้งซีรีส์และฟอร์แมทเรียลลิตี้ไว้กว่า 40 รายการ เพื่อเตรียมพร้อมด้านการผลิตคอนเทนต์ป้อนช่องทีวีดิจิตอลในเมืองไทย” ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ประธานบริหารสายธุรกิจรายการโทรทัศน์ บมจ. กันตนา กรุ๊ป เล่า
ล่าสุด กันตนาได้ซื้อลิขสิทธิ์รูปแบบรายการและซีรีส์ชื่อดังระดับโลกมาหลากหลายรายการ อย่างที่คนไทยรู้จักดีก็เช่น Gossip Girl, Ugly Betty, The Face และ American Idol โดยกันตนามีแผนจะนำคอนเทนต์ฟอร์แมตเหล่านี้มาผลิตในเวอร์ชั่นไทย โดยศศิกรเผยว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเฟ้นหาตัวนักแสดง
ทั้งนี้ การลงทุนสร้างฉากสำหรับคอนเทนต์ฟอร์แมตต่างประเทศเพื่อการผลิตในเวอร์ชั่นไทย กันตนาทุ่มเม็ดเงินอีกกว่า 200 ล้านบาทเพื่อสร้างสตูดิโอขึ้นมาใหม่ โดยจาฤกหวังผลว่าสตูดิโอแห่งนี้จะสามารถให้บริการประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่จะเข้ามาใช้บริการถ่ายทำรายการที่เป็นลิขสิทธิ์ฟอร์แมทเดียวกันได้ด้วย ซึ่งถือเป็นอีกบริการที่นอกจากจะทำให้ได้รายได้ ยังทำให้เป้าหมายของกันตนาในการเป็น “ฮับผลิตรายการ” ของภูมิภาคนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การนำคอนเทนต์ฟอร์แมตที่เป็นที่นิยมจากต่างประเทศเข้ามา ไม่เพียงเพื่อจุดพลุชื่อเสียงให้กับกันตนา สิ่งที่กันตนาต้องการจริงๆ ก็คือ เม็ดเงินการโฆษณา ซึ่งนอกจากรายได้โฆษณาจะเป็นไปตามเรตติ้งที่เกิดขึ้นจริง จาฤกยังเชื่อว่า คอนเทนต์จากต่างประเทศยังสร้างโอกาสที่จะได้ “โกลบอลสปอนเซอร์” หรือการที่ผู้สนับสนุนรายการในต่างประเทศที่พร้อมจะสนับสนุนรายการเดียวกันที่ผลิตในเวอร์ชั่นไทยมาด้วย
นอกจากนี้ ด้วยชื่อเสียงความดังในระดับสากลยังช่วยให้สปอนเซอร์ในไทยเกิดความมั่นใจได้ว่า รายการน่าจะเป็นที่นิยมเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระหว่างที่ยังไม่ทราบผลการประมูล และท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง กันตนาเดินหน้านำเสนอคอนเทนต์จากต่างประเทศให้กับบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลไว้ล่วงหน้า โดยหลายสถานีที่ประมูลได้ซึ่งกันตนาได้เข้าไปนำเสนอคอนเทนต์ล้วนให้การตอบรับอย่างดี อาทิ ช่อง 3 5 7 โมเดิร์นไนน์ และช่องใหม่อย่าง “ไทยรัฐทีวี” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
“ผมว่าคอนเทนต์รายการต่างประเทศช่วงนี้จะเข้ามาเยอะ เพราะผู้ผลิตคอนเทนต์เดิมคิดไม่ทัน ผลิตไม่ทัน อย่างเรา แค่ละครยังไม่ต้องนับการผลิตรายการรูปแบบต่างๆ เราต้องผลิตกันประมาณ 20 เรื่องต่อปี ถ้าเราจะผลิตเพิ่มขึ้นให้ได้ 40 เรื่องต่อปี เพื่อรองรับทีวีดิจิตอลที่เพิ่มขึ้น ถามว่าใครจะมาเขียนบทให้ทัน มีวิธีเดียวคือซื้อบทประพันธ์หรือซื้อฟอร์แมตที่พิสูจน์แล้วว่าฮิตแน่นอนในระดับโลก อันนี้จะทำให้เราผลิตคอนเทนต์ได้เยอะขึ้น” จาฤกกล่าว
ศศิกรยอมรับว่า แม้จะเตรียมเรื่องบุคลากรมาสักระยะ และมีสร้างบุคลากรผ่าน “สถาบันกันตนา” แต่ยังมีปัญหาในด้านความคิดสร้างสรรค์ที่ผลิตไม่ทันความต้องการใช้ ด้วยเหตุนี้ กันตนาจึงหาทางออกด้วยการร่วมทุนกับบริษัทผู้ผลิตคอนเทนต์ขนาดกลางและรายย่อย เพื่อเป็นการระดมความชำนาญและความคิดสร้างสรรค์เข้ามา (Idea Pool)
ล่าสุด กันตนาร่วมกับบริษัท “ลักษ์ 666” ของวิลลี่ แมคอินทอช และเสนาหอย จัดตั้งบริษัท “กันตลักษ์” เพื่อผลิตทำรายการโทเร่ ซึ่งเป็นฟอร์แมตรายการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา ทางช่องโมเดิร์นไนน์ โดยศศิกรมองว่าจะใช้กันตลักษณ์ เป็นหัวหอกในการผลิตรายการวาไรตี้แนวสนุกสนาน ซึ่งกันตนาไม่ถนัด
ด้าน “ลักษณ์ 666” เอง ก็มีเจ้าของช่องทีวีดิจิตอลรายใหม่เข้ามาติดต่อหลายราย เช่น ไทยรัฐทีวี และเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ซึ่งจ้างผลิตรายการช่องละ 3 รายการ อีกทั้งยังต้องผลิตรายการป้อนให้ช่อง 3 โดยที่ยังมีอีกหลายช่องที่เข้ามาเจรจาแต่ยังไม่ได้ข้อตกลง
นอกจากการเป็น Content Provider สำหรับช่องทีวีในประเทศไทย กันตนายังมีแผนที่จะเป็น Content Provider สำหรับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียแปซิฟิก ซึ่งนอกจากจะเข้าไปดำเนินช่องสถานีโทรทัศน์ในเวียดนามและกัมพูชาแล้ว โดยปีนี้ยังมีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และสิงคโปร์
“ขณะที่เม็ดเงินโฆษณา 7 หมื่นล้านบาท ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรืออาจจะเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่รายการเพิ่มขึ้น ผมว่าสักร้อยเท่า ฉะนั้นต้องจินตนาการว่าช่องรายการจะอยู่ยังไง เพราะอย่างช่อง 3 และช่อง 7 เขาก็ยังแข็งแรงอยู่เหมือนเดิม ช่องใหม่ก็ต้องคิดให้ดีว่าเงินจะถ่ายเทมายังไง ในสมรภูมิรบ เป็นธรรมดาต้องมีผู้ชนะ-ผู้แพ้ รายการโทรทัศน์ก็ต้องมีรายการเรตติ้งอันดับหนึ่งและอันดับบ๊วย ถ้าเป็นตัวจริงเสียงจริงไม่ต้องกลัว เพราะถ้ารายการอันดับบ๊วยเขาก็ต้องหาคนใหม่มาทำแทน ฉะนั้นไม่ต้องกลัวมีงานให้ทำเยอะแยะไปหมด”
จาฤกทิ้งท้ายว่า ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ หากยังอยู่ภายใต้ยุคบริหารของเขา เขาคงไม่รู้สึกอยากเป็นเจ้าของช่องอีกแล้ว เพราะไม่อยากเหนื่อย และทิ้งภาระให้ลูกหลาน ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็น กันตนาในโหมด “Play safe” อันหมายถึง “ปลอดภัย” และ “ประหยัด” แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสให้ไขว่คว้า บนความพร้อมและความชำนาญที่สั่งสมมากว่า 60 ปี
...จนกว่าที่เฟสสองของสมรภูมิรบจะเปิดฉากใหม่ และ/หรือ ผู้นำทัพชิงชัยทีวีดิจตอลคนใหม่ของกันตนาจะไม่ใช่ผู้อาวุโสวัย 61 ปีคนนี้ เวลานั้นอาจได้เห็นกันตนาในโหมดอื่น