เป็นที่ยอมรับกันในวงการผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ประเภท "เรียลลิตี้โชว์" ว่านอกจากความสามารถพิเศษอันน่าชื่มชมแล้ว การ "ฉีกหน้า" สร้างความ "อับอาย" ให้กับบรรดาแขกรับเชิญผู้เข้าแข่งขันที่เป็นคนธรรมดาเดินดินเหมือนกับผู้ชม ก็คือส่วนหนึ่งของ "ความบันเทิง" ในรายการประเภทนี้ และเป็นตัวสร้างเรตติ้งชั้นดีด้วยเหมือนกัน
นอกจากภาพของการโชว์พลังเสียงอันสุดยอด, โชว์ความสามารถพิเศษที่น้อยคนจะทำได้ ในอีกด้านภาพของคนธรรมดากับความสามารถธรรมดา ๆ และบ้างครั้งอาจเรียกว่า "ต่ำกว่ามาตรฐาน" ไม่ว่าจะเป็น ผู้เข้าแข่งขันผู้ไร้ความสามารถ, ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เมื่อต้องปรากฎตัวต่อหน้ากล้อง หรือมาพร้อมสำเนียงการพูดและร้องเพลงอันแปร่งหู และบางครั้งก็อาจรวมถึงความผิดพลาดที่กลายเป็นอุบัติเหตุ กลับกลายเป็นความบันเทิงอีกด้านของรายการแนว "เรียลลิตี้โชว์" ที่เห็นกันได้จนชินตาในยุคนี้
ความสนุกของการหัวเราะเยาะ
เป็นที่รู้กันดีว่าแม้รายการประเภทนี้จะใช้ชื่อว่า "เรียลลิตี้โชว์" แต่พูดกันตามตรงทุกสิ่งที่เห็นในรายการก็ไม่ใช่ความเป็นจริงไปเสียทั้งหมด
และในบางกรณีก็อาจจะมีการปรุงแต่งอยู่ในส่วนที่มากกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำไป ตั้งแต่แบบพื้น ๆ อย่างการสร้างอารมณ์ร่วมด้วยดนตรีประกอบ และการตัดต่อ หรือสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนรายการไปในทิศทางที่ผู้สร้างต้องการ และบางครั้งก็ยังมีข้อกล่าวใหญ่กว่านั้น อย่างการเขียนบทล่วงหน้า ถึงขั้นจัดฉากถ่ายทำขึ้นโดยไม่ได้แตกต่างอะไรกับละครโทรทัศน์
เรื่องราวสุดสะเทือนใจ, ความทรงจำอันเจ็บปวด, ภูมิหลังที่น่าเศร้า มักจะเป็นปัจจัยของการคว้าแชมป์รายการเรียลลิตี้ เช่นเดียวกับที่ในแต่ละสัปดาห์ผู้ชมต่างเฝ้าหน้าจอเพื่อติดตามคอยเชียร์ผู้เข้าแข่งขันที่มีบท "พระเอก/นางเอก" หรือรอคอยความพ่ายแพ้ของผู้เข้าแข่งขันเจ้าของบท "ตัวร้าย" เรียกว่าเป็นเนื้อหาหลักของรายการพอ ๆ กับการแข่งขันประชันความสามารถอันเป็นจุดประสงค์อย่างเปิดเผยก็ว่าได้
และเช่นเดียวกัน การฉีกหน้าและเสียงหัวเราะเยาะเย้ยถากถาง ก็มักจะเป็นส่วนสำคัญของรายการเรียลลิตี้เสมอ อย่างที่เจ้าของรายการเรียลลิตี้ฮิต MasterChef รายการแข่งขันทำอาหารชั้นนำของวงการโทรทัศน์ยอมรับว่าทุกวันนี้ "ส่วนใหญ่เรียลลิตี้ก็คือโชว์แห่งการฉีกหน้า"
โดยทั่วไปปกติรายการเรียลลิตี้มักจะเลือกฉายภาพของผู้เข้าแข่งขันที่ดูมีคุณสมบัติอ่อนด้อยสลับฉากกับผู้มีความสามารถโดดเด่นเสมอ บางครั้งก็ต้องสงสัยว่าสร้างสถานการณ์เพื่อ "ฉีกหน้า" หรือ "เหยียบย้ำ" ผู้เข้าแข่งขันเพื่อความบันเทิงให้กับคนดูเป็นประจำในทุกสัปดาห์
รายการประกวดร้องเพลงดังอย่าง American Idol ก็มักจะออกอากาศเทปออดิชั่นสุดย่ำแย่ของผู้เข้าร่วมประกวดบางคน ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นสิ่งที่คนดูชอบกันมาก ยอดคลิ๊กของคลิปประเภทนี้ใน YouTube มักจะพุ่งกระฉูดพอ ๆ กับคลิปการแสดงอัดยอดเยี่ยมของผู้เข้าแข่งขันที่มีโอกาสลุ้นตำแหน่งผู้ชนะ
ส่วนบทบาทของ "กรรมการ" (ในกรณีที่ไม่ได้มีตำแหน่งในฝ่ายผลิตโดยตรง) เองก็ถูกตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอ ว่ามีความเป็นอำนาจคัดเลือกผู้เข้าประกวดจริง ๆ หรือเป็นเพียง "ตัวละคร" ของรายการ ที่มีหน้าที่เร้าอารมณ์คนดู บางครั้งมีบทเป็นพ่อพระแม่พระ สำหรับผู้เข้าแข่งขันบางคน และพร้อมที่จะเหยียบย้ำผู้เข้าแข่งขัน เพื่มรสชาติให้กับรายการเท่านั้น
ดาวดังผู้ไร้ความสามารถ
รายการ Music Idol (American Idol ฉบับ บัลเกเรีย) ไม่ได้โด่งดังไปทั่วโลกด้วยผู้เข้าแข่งขันที่มากความสามารถ หากแต่เป็นหญิงวัยกลางคนที่ชื่อว่า "วาเลนตินา ฮาซาน" ผู้เข้าแข่งขันในฤดูกาลที่ 2 ที่มาพร้อมกับการร้องเพลง "เคน ลี" ที่เป็นการออกเสียงคำว่า "Can't Live" จากเพลง Without You ด้วยสำเนียงแบบของเธอเอง จนกลายเป็นที่ตลกขบขัน และมีผู้คลิ๊กเข้าไปชมใน YouTube นับสิบล้านครั้ง
ส่วนหนุ่มชาวจีน "วิลเลียม ฮง" ก็โด่งดังด้วยการร้องเพลง She Bangs ของ ริกกี้ มาร์ติน ในรายการ American Idol ปี 3 ด้วยลีลาไม่เหมือนใคร ทั้งสำเนียงจีนกวางตุ้ง และการแสดงที่ห่างไกลกับคำว่า "มืออาชีพ" นอกจากนั้นภาพลักษณ์หนุ่ม "เนิร์ด" ชาวจีนที่จริง ๆ แล้วเป็นถึงนักศึกษาคณะวิศวกรรมไฟฟ้าแห่งมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ แห่งแคลิฟอร์เนีย ก็ยิ่งทำให้เขาได้รับความสนใจยิ่งขึ้นไปอีก
ฮง กลายเป็นตัวอย่างของผู้ที่โด่งดังขึ้นมาด้วยเสียงหัวเราะเยาะเย้ย เพราะแม้จะไร้ทักษะการร้องเพลงโดยสิ้นเชิง แต่ความนิยมในตัวเขาถึงขั้นทำให้หนุ่มชาวจีนคนนี้ได้ออกอัลบั้มเพลง และเล่นหนังที่ฮ่องกงบ้านเกิด ซึ่งมีคนให้ความเห็นว่าด้วยท่าทางเป็นมิตร ปราศจากความหยิ่งยะโสโอหัง แต่ ฮง แสดงออกแต่เพียงว่าเขาต้องการร้องเพลงทำนั้นทำให้เขาเป็นที่รัก แม้จะเป็นความรักที่เริ่มต้นด้วยเสียงหัวเราะเยาะเย้ยก็ตาม
อย่างไรก็ตามทุกคนไม่ได้โชคดีเหมือน วิลเลียม ฮง เพราะมีผู้เข้าแข่งขันบางคนที่โดนฉีกหน้าในรายการเรียลลิตี้โชว์ และกลายเป็นประสบการณ์อันเลวร้ายในเวลาต่อมา
ที่เยอรมันมีการศึกษาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้เข้าแข่งขันรายการเรียลลิตี้โชว์ ที่ผลสำรวจชี้ว่าประมาณครึ่งหนึ่งคิดว่า พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่ดีที่ได้รับจากการเข้าแข่งขันรายการประกวดความสามารถพิเศษเหล่านี้, ส่วนประมาณ 1 ใน 3 คิดว่ามีทั้งประสบการณ์ดีและแย่ผสมกันอยู่ โดย 1 ใน 5 ยืนยันว่าการตัดสินใจไปร่วมประกวดรายการคือประสบการณ์อันเลวร้าย และยังมีอยู่ 1 รายที่ยอมรับว่าเขาต้องเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหลังร่วมรายการ
สาวใหญ่วัย 54 ปี เอมมา อเมเลีย เพิร์ล ซีไค ผู้เข้าแข่งขันรายการ Britain's Got Talent ก็เป็นอีกคนที่ถึงขั้นเคยฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินร่วม 2.5 ล้านปอนด์ จากรายการหลังเธอรู้สึกว่าตนเองโดนฉีกหน้า และทำให้อับอาย เมื่อไปขึ้นเวทีแสดงความสามารถในการร้องเพลง แต่กลับโดนกรรมการทั้ง ไซมอน คาวล์, อแมนดา โฮลเดน และ เพียร์ส มอร์แกน โขกสับต่อหน้าคน 20 ล้านคนทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งเธอบอกว่าเป็นการทำลาย "ศักดิ์ศรี และคุณค่าในตัวเอง" ของเธอ เพียงเพราะรายการอยากได้เรตติ้ง และเงินค่าโฆษณาเท่านั้น
ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า "การเสียหน้า" คือความบันเทิงประเภทหนึ่งของเรียลลิตี้โชว์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในบางกรณีผู้เข้าแข่งขันอาจรู้ตัว และพร้อมมีสภาพเป็นตัวตลกให้ผู้ชมได้หัวเราความล้มเหลวของเขา แต่ในบางกรณีพวกเขาก็ไม่รู้ตัว และมีสภาพเป็นเพียงเหยื่อของรายการเท่านั้น
ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th
ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม
เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540 ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000 *ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก |