xs
xsm
sm
md
lg

ปาร์ตี้ลิสต์โจทย์ใหญ่กกต. เลือกตั้งไม่ครบประกาศส.ส.ไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22ม.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มอบหมาย ให้น.ส.สุรณี ผลทวี ผอ.สำนักเลขานุการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นตัวแทน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ในการจัดการเลือกตั้งส.ส. โดยได้ยื่นใน 2 ประเด็นว่า หน่วยงานใดมีอำนาจในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง รวมถึงกรณีมีเหตุจำเป็นสามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่ หลังกกต. และคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการ ตามพ.ร.ฎ.มีความเห็นขัดแย้งกัน ซึ่งกกต.ให้เหตุผลว่า ตามกฎหมายนายกรัฐมนตรี มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการนำความขึ้นกราบบังคมทูล เสนอให้พระมหากษัติรย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ในร่าง พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และมีหน้าที่ในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ทั้งนี้ การยื่นคำร้องได้แนบสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 ชุด โดย กกต. ทั้ง 5 คน ได้ลงนามท้ายคำร้อง แต่การยื่นครั้งนี้กกต.ไม่ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนฉุกเฉิน
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยขั้นตอนหลังจากนี้ ก็จะนำคำร้องเสนอให้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ หากรับเรื่อง และเห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอ ก็สามารถพิจารณาและลงมติได้ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าใด ในการพิจารณา
ต่อมานายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทางด้านคดี ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดเอกสาร ของกกต. ที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจขององค์กรในการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก่อนที่จะนำเสนอ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ว่าควรจะรับหรือไม่รับคำร้อง ส่วนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาได้ทันก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ 26 ม.ค. นี้หรือไม่ ก็ต้องดูคำร้อง และรูปแบบคำร้องก่อน ว่าเป็นไปในแนวทางใด แต่ตามขั้นตอนเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการด้วยความเร่งด่วนอยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการพิจารณาจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาที่กดดันหรือเป็นเผือกร้อน เพราะเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาทขององค์กรตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่เบื้องต้นในสัปดาห์นี้ ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีวาระการประชุม เพื่อพิจารณาคดีใดๆ

**ตุลาการศาลรธน.ชี้ไม่กดดัน

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามกระบวนการทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ ก็จะดำเนินการตรวจสอบเอกสารรายละเอียดของข้อมูล ก่อนที่จะเสนอให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่า คำร้องดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่จะรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดไปได้มากกว่านี้ เนื่องจากอยู่ในกระบวนการพิจารณา ยืนยันไม่มีความกดดัน แม้จะถูกหลายฝ่ายจับตามองว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณากรณีดังกล่าวออกมาในแนวทางใด เพราะศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาไปตามหน้าที่ของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางสำนักงานฯ ยังไม่มีการนัดหมายการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า เป็นการยื่นคำร้องตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยทันวันลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่นั้น ก็ถือเป็นดุลพินิจของศาล ส่วนตัวเห็นว่า หากศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดออกมา ถือเป็นเรื่องที่มีผลผูกพันทุกองค์กร แต่ไม่ขอก้าวล่วงอำนาจศาลในการพิจารณา
นายภุชงค์ นุตราวงค์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึง การรณรงค์หาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ในช่วงของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า แม้ตามหลักการของ พ.ร.ก. จะห้ามไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงจะสามารถทำได้โดยอนุโลม ทั้งนี้ เชื่อว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะไม่กระทบกับการจัดการเลือกตั้งของกกต. แต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น แต่ทั้งนี้เป็นห่วงว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยลง ซึ่งดูได้จากผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ที่มีสัดส่วนน้อยลงมาก เชื่อว่าเกิดจากปัญหาสถานการณ์การเมือง และการจัดการเลือกตั้งที่มีอุปสรรคปัญหามาก
สำหรับกรณีที่ กกต. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจในการออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้ง กรณีมีเหตุทำให้ไม่สามารถการจัดการเลือกตั้งได้นั้น กกต. ไม่ได้ขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราว ส่วนศาลจะพิจารณาได้ทันวันลงคะแนนเลือกตั้งหรือไม่ กกต.ก็ไม่ขอก้าวล่วงอำนาจศาล

**ชี้โจทย์ใหญ่เลือกส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยม จ.สงขลาและพัทลุงเพื่อประชุมเตรียมความพร้อมในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 26 ม.ค. นี้ว่า กกต.ใน 2 จังหวัด ทำงายภายใต้ภาวะกดดันสูงมาก เนื่องจากการหากรรมการประจำเขต และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)ได้ยาก เพราะประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความร่วมมือ กดดันไม่ให้มีการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้หน่วยราชการในพื้นที่ยังปฏิเสธ
ให้ใช้สถานที่ ดังนั้นน่าจะจัดการเลือกตั้งได้ลำบาก
“ตอนนี้ปัญหาน่าจะทุกจังหวัดในภาคใต้ เพราะดูจากสถานการณ์ที่สงขลา และพัทลุง ซึ่งไม่มีผู้สมัคร ส.ส.แบบเบ่งเขต เลยค่อนข้างแรง เพราะประชาชนที่คัดค้านการเลือกตั้งฟังข้อมูลที่ได้จากแกนนำ หรือผู้นำการชุมนุม มากกว่าจะฟังข้อมูลจากทางราชการ ดังนั้นข่าวสารจากทางราชการ หรือข่าวสารจาก กกต.จะไปไม่ถึง ดังนั้นประชาชนคงไปขัดขวางการลงคะแนนในส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงน่าจะมีแนวโน้มว่าหลังการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คน น่าจะ
ประกาศไม่ได้ โจทย์ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดของกกต.และรัฐบาลชุดนี้ เพราะจะไม่สามารถลงคะแนน และประกาศรายชื่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้”
นายสมชัย กล่าวว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ 125 คนที่ประกาศไม่ได้ ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน จึงจะสามารถเลือกให้ครบทุกหน่วยเลือกตั้งได้ อย่างโจทย์ 22 เขตเลือกตั้ง ที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียว กลไกที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ เมื่อเลือกซ้ำถึงครั้งที่ 3 เกณฑ์ที่ต้องได้คะแนน 20% ก็หายไป ดังนั้นเมื่อเลือกรอบที่ 3 ยังไงก็ได้ ส.ส.22 เขตนั้น ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาหลัก
ส่วนโจทย์ในอีก 28 เขตเลือกตั้งใน 8 จังหวัด คิดว่าถ้ารัฐบาล และ กกต.สามารถคุยกันแล้วจะออกเป็น พ.ร.ฎ.ใหม่ หรือออกเป็นประกาศ กกต.ก็แล้วแต่ ตนเชื่อว่า 28 เขตนั้น น่าจะได้รับความสำเร็จบางเขต ดังนั้นถ้าได้รับความสำเร็จบางเขตสัก 3-4เขต ก็จะได้ ส.ส.เข้ามา และหนีเกณฑ์ 95% ที่จะเปิดประชุมสภาฯได้
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ในตอนนี้ไม่ใช่แค่หน่วยเดียวที่ลงคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ได้ แต่จะเป็นทั้งจังหวัด อย่างที่เจอวันนี้ 2 จังหวัดคือ สงขลาและพัทลุง มีปัญหาแน่นอน การต่อต้านรุนแรง ตนก็โดนปิดล้อมเกือบชั่วโมงไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้ ดังนั้นคงต้องฝากให้รัฐบาลได้คิด เพราะไม่รู้ว่า 3-4 เดือนจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ครบหรือไม่ ส่วน กปน.ยังขาดอีกจำนวนมาก ดังนั้นต้องคิดหาทางแก้ไขปัญหา ไม่ใช่คิดเดินหน้าเลือกตั้งอย่างเดียว เพราะคงไม่สำเร็จได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การขนส่งบัตรเลือกตั้งที่บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด (ปณท.) ไม่ยอมดำเนินการ บัตรเลือกตั้งของ จ.พัทลุง 3 เขต โดยเขตที่ 2 ยังมาไม่ถึง และโดนบล็อกอยู่ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ตอนนี้บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. ส่งไปหมดแล้ว เหลือบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในวันที่ 2 ม.ค. ยังไม่เรียบร้อย
นายสมชัย ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ผลน่าจะออกมา 1 ใน 3 ทาง คือ 1. ศาลฯไม่รับคำร้อง โดยมองว่าไม่อยู่ในกรอบอำนาจศาล 2. สั่งว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะออกพ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 3. สั่งว่าเป็นอำนาจ กกต.
ทั้งนี้คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งออกมาก่อนวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. อย่างไรก็ตาม หากศาลฯ ชี้ว่าเป็นอำนาจรัฐบาล ทางรัฐบาลก็จะได้ไม่ต้องอ้างว่าไม่มีอำนาจ แต่หากศาลชี้ว่า เป็นอำนาจ กกต. ก็จะหารือกันใน กกต. อีกครั้ง


**“ตู่-เต้น”ลุยหาเสียงให้เพื่อไทย

นายอดิศร เพียงเกษ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ผู้ดูแลการปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปราศรัยหาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น ได้เดินสายในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง เกือบครบทุกพื้นที่แล้ว แต่ทั้งนี้การปราศรัยของพรรคจะเดินทางปราศรัยให้ครบอีก 50 เขต นำโดยนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ และในวันนี้ พรรคเพื่อไทย ก็จะไปเปิดเวทีปราศรัยหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา
นายอดิศร กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการต่อสู้อย่างเอาจริงเอาจังของพรรคเพื่อไทย เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่น่าเสียดายที่พรรคประชาธิปัตย์ กลับไม่ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ก็ต้องขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำให้ประชาชน เข้าใจระบอบประชาธิปไตย และหวงแหน 1 สิทธิ์ 1 เสียง ที่มีมากยิ่งขึ้น
สำหรับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะพฤติกรรมผู้ชุมนุมได้สร้างความเดือดร้อนให้คนกรุงเทพฯ มานานแล้ว อีกทั้งได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นช่วงนี้จึงถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะสร้างความสงบสุขให้ประชาชนโดยเร็ว
นายอดิศร ยังได้เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ต้องไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ เพราะหากไม่ใช้สิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครในครั้งต่อไป

**“สุวัจน์”นำทีมเดินหน้าเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ ที่บริเวณสวนพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ริมเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา นายประเสริฐ บุญชัยสุข เลขาธิการพรรค และทีมผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และเขตเลือกตั้งพรรคชาติพัฒนา ทำพิธีสักการะรูปปั้น พล.อ.ชาติชาย จากนั้นนายสุวัจน์ ได้นำกล่าวคำปฏิญาณตนต่อหน้าอนุสาวรีย์ พล.อ.ชาติชาย ว่า สมัยก่อนการเมืองไทยยังความประนีประนอม แนวทางของ พล.อ.ชาติชาย จะเน้นที่ความปรองดอง และเห็นแก่ประโยชน์ประเทศเป็นหลัก ตนยังเห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่เป็นทางออกจากความขัดแย้งของประเทศในขณะนี้ เราต้องยึดตามหลักสากล แต่การปฏิรูปก็ต้องทำ ซึ่งพรรคจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง

**ภท.อบรมอาสาสมัครหาเสียงผ่านสื่อออนไลน์

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะ ผอ.การเลือกตั้งของพรรค พร้อมด้วย นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร นายทรงศักดิ์ ทองศรี อดีต รมช.คมนาคม ร่วมกันอบรมอาสาสมัครหาเสียงเลือกตั้งทางสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการ “ASA หาเสียงเลือกตั้ง ทางสังคมออนไลน์”ผ่านทาง fanpage : We Vote 6 (www.facebook.com/bhumjaithai6 ) จำนวน 500 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
นายศักดิ์สยาม กล่าวระหว่างการอบรมตอนหนึ่งว่า หลังจากพรรคภูมิใจไทยได้เปิดตัวนโยบายของพรรคผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ พบว่า สังคมออนไลน์ได้ให้ความสนใจกับนโยบายของพรรค และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการทราบข้อเท็จจริง หรือความเป็นไปได้ของนโยบายที่พรรคได้ทำการศึกษามา ดังนั้นพรรคต้องการให้อาสาสมัครหาเสียงเลือกตั้งทางสื่อสังคมออนไลน์ ไปทำความเข้าใจในจุดประสงค์ของนโยบายพรรคภูมิใจไทย ทั้ง 4 เรื่อง คือ 1. การยกหนี้ กยศ. ตั้งกองทุนการศึกษา 36,000 ล้านบาท 2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนละ 3,000 บาทต่อเดือน 3. พ.ร.บ.ประกันราคาพืชผลการเกษตร และ 4.การแก้กฎหมายธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพนักธุรกิจ และผู้ประกอบการ
“พรรคต้องการให้เกิดควาความสบายใจในข้อกังวล สงสัย ว่าทุกนโยบายจะไม่มีการกู้เงิน และไม่เป็นภาระกับงบประมาณ โดยมีที่มารายได้ชัดเจนจาก การปรับลด ราคากลางงบลงทุนของรัฐบาลลง 20 % เพิ่มสัดส่วนการส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย การปรับลดงบประมาณค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองภาครัฐ และจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 10 % โดยนโยบายเหล่านี้ก็เพื่อดูแลคผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ขาดโอกาส”นายศักดิ์สยาม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระยะเวลาในการดำเนินการทำความเข้าใจ ชักชวน ให้ร่วมทำความเข้าใจกับนโยบายพรรคภูมิใจไทย จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ม.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น