ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เมื่อตกอยู่ภายใต้การบีบรัดของอำนาจอธรรม ผู้คนที่ขลาดเขลาจักยอมจำนน ทนอยู่กับความชั่วร้ายไม่กล้าแม้แต่จะส่งเสียงออกมา พวกเขาตั้งความหวังว่าสักวันอำนาจอันชั่วร้ายจะคลี่คลายไปเอง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ทว่าความเพ้อฝันของพวกเขาประดุจการสร้างรูปเงา ให้กลายเป็นสิ่งที่มีตัวตนจับต้องได้ บทเรียนจากประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจำนวนมาก ชี้ว่ายิ่งประชาชนหวาดกลัวและวางเฉยกับการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ก็ยิ่งทำให้ผู้ปกครองมีความเหิมเกริมและกระทำลุแก่อำนาจมากขึ้น
เกือบทั้งหมดของการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสร้างความเป็นธรรมเริ่มจากการที่ประชาชนจำนวนไม่มากนักเห็นความจริงและเกิดความตระหนักว่า โครงสร้างอำนาจและผู้บริหารประเทศที่ดำรงอยู่ในสังคมเป็นสาเหตุของความอยุติธรรมและการทุจริตฉ้อฉลซึ่งนอกจากจะเป็นกำแพงปิดกั้นความเจริญรุ่งเรืองของสังคมแล้ว ยังทำให้สังคมก้าวไปสู่ความล่มสลายและหายนะอีกด้วย
ประชาชนที่เห็นความจริงดังกล่าวมีการตอบสนองหลายรูปแบบ บางส่วนเกิดความซึมเศร้าหดหู่กับความจริงและคิดว่าตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ พวกนี้จะบอกตนเองว่า “เราเป็นประชาชนตัวเล็กๆจะสู้กับอำนาจรัฐที่ใหญ่โตได้อย่างไร” ตราบใดคนส่วนนี้ยังไม่ตระหนักในพลังอำนาจการเปลี่ยนแปลงของตนเอง พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ภายใต้ความทุกข์และความอึดอัดคับข้องใจไปอย่างยาวนาน
แต่ก็มีประชาชนอีกบางส่วนที่ตัดสินใจโดยอาศัยความกล้าหาญทางจริยธรรม ลงมือเผยแพร่ความจริงให้ประชาชนผู้ร่วมสังคมคนอื่นๆ ที่ยังไม่ทราบข้อมูลข่าวสารให้ได้รับทราบ และดำเนินการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น พวกเขาตระหนักถึงพลังอำนาจของประชาชนและไม่หวาดหวั่นหรือพรั่นพรึงต่ออำนาจรัฐที่คุกคามพวกเขาแต่อย่างใด
การปฏิบัติการทางสังคมของประชาชนกลุ่มนี้เป็นการแสดงออกถึงความกล้าหาญ เพราะว่าพวกเขาทราบดีว่าผู้บริหารประเทศที่ชั่วร้ายจะต้องใช้อำนาจรัฐ และอำนาจเถื่อนตอบโต้พวกเขาทุกวิถีทาง พวกเขาตระหนักดีว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเองมีอะไรบ้าง เช่น หากประชาชนกลุ่มนี้เป็นดารานักแสดงหรือนักธุรกิจ พวกเขาอาจถูกปิดกั้นหนทางในการประกอบอาชีพ หากเป็นข้าราชการอาจการถูกตั้งกรรมการสอบสวน หากเป็นประชาชนธรรมดาอาจถูกต้องข้อหากบฏ หรือ อาจถูกข่มขู่และทำร้ายในรูปแบบอื่นๆอีกนานัปการ
แต่พวกเขาก็ไม่หวาดหวั่น ยังคงยืนหยัดท้าทายอำนาจรัฐอธรรมอย่างมั่นคง และหากพวกเขาสามารถทำให้ประชาชนจำนวนมากเห็นความจริงและเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในท้ายที่สุดผู้ปกครองที่ชั่วร้ายก็ไม่อาจรักษาอำนาจเอาไว้ได้และล่มสลายไป การเปลี่ยนแปลงสังคมก็จะเกิดขึ้น
สถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบันกำลังก้าวไปสู่จุดที่ว่ากลุ่มผู้นำของอาชีพต่างๆจะต้องตัดสินใจแล้วว่าจะเอาอย่างไร และเลือกอนาคตของประเทศไทยแบบใด
ทางเลือกที่ 1 คือเลือกยอมจำนนต่อระบอบทักษิณ ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผลลัพธ์ของการเลือกแบบนี้ คือ การสร้างความแข็งแกร่งให้ระบอบทรราชทุนสามานย์อย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย และจะนำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์อย่างเต็มรูปแบบ
ขั้นตอนของการเกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้
1.1มีการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งจะทำให้พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะการเลือกตั้งในเกือบทุกเขตที่มีการสมัครและมีเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
1.2หลังจากนั้น พรรคเพื่อไทยจะกดดันให้ กกต. จัดการเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดที่เหลือเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. ครบร้อยละ 95 ของ ส.ส.ทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะจัดประชุมสภาได้ และเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นคนที่ทักษิณ ชินวัตรกำหนดมา
1.3ประธานสภาผู้แทนราษฎรจัดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยก็จะเสนอ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีโดยปราศจากคู่แข่ง
1.4จากนั้นก็จะจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองในระบอบทักษิณเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น จารุพงษ์ เรืองสุวรรณ สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล เฉลิม อยู่บำรุง ภูมิธรรม เวชยชัย ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และ จาตุพร พรหมพันธุ์ เป็นต้น
1.5เมื่อตั้งคณะรัฐมนตรีสำเร็จ สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่จะทำคือ สานต่อทั้งนโยบายและมาตรการทางการเมืองที่ค้างเอาไว้ให้สำเร็จ โดยเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามประชาชนให้มากขึ้น นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เราจะเห็นในอนาคต
•การปราบปราม จับกุม คุมขังประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลและจัดการกับข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอย่างเด็ดขาดและรุนแรง
•แต่งตั้งบุคคลที่เป็นสมุนบริวารให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อควบคุมอำนาจและเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ
• การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหาร ลดอำนาจประชาชน ลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
•การผลักดัน พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท และ โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านต่อไปเพื่อเป็นช่องทางในการทุจริต และสร้างหนี้แก่ประชาชน
•การหยิบยก ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมล้างผิดคนโกงและคนเผาบ้านเผาเมืองที่ไม่ผ่านวุฒิสมาชิกมายืนยันและประกาศใช้เป็นกฎหมาย
•การกู้เงินเพิ่มอีกนับแสนล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าว และจะนำไปสู่การล่มสลายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
•การปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน การสื่อสาร ปิดโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ รวมทั้งครอบงำทางความคิดของประชาชนโดยใช้นักวิชาการประเภทพ่อมดหมอผีที่สนับสนุนการปราบปรามประชาชนอย่างนิธิ เอี่ยวศรีวงษ์ เป็นหัวหอก
•การสร้างรัฐตำรวจและรัฐอันธพาลเต็มรูปแบบ โดยใช้ตำรวจร่วมกับอันธพาลเสื้อแดงข่มขู่คุกคาม ทำร้ายประชาชนอย่างกว้างขวาง
ผลสืบเนื่องที่จะตามมาหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งและระบอบทักษิณครองอำนาจต่อไป คือประเทศจะตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ เกิดวิกฤติการทางเศรษฐกิจ และประเทศจะเข้าสู่การจลาจลและสงครามกลางเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทางเลือกที่ 2 คือการเลือกต่อสู้และขจัดระบอบทักษิณให้ได้ โดยใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมเป็นรากฐานของตัดสินใจ ผลลัพธ์ของการเลือกแบบนี้คือ จะเกิดการปฏิรูปประเทศอย่างกว้างขวาง นำประเทศสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์จากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ อันเป็นการสร้างรากฐานความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับขั้นตอนที่จะนำไปสู่การเลือกแบบนี้คือ
2.1 ผู้นำและประชาคมขององค์กรทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ประกาศไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาล สนับสนุนและร่วมการเคลื่อนไหวของ กปปส. อย่างเป็นทางการ
2.2 ผู้นำเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงและอธิบดีของกระทรวงต่างๆ ประชุมประชาคมราชการของกระทรวงตนเอง และประกาศอย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาล ให้รัฐบาลลาออก และสนับสนุนการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งของ กปปส.
2.3 กปปส. ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติประชาชน และขจัดรัฐบาลทรราชรักษาออกไป
2.4 มีการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และมีเจตจำนงปฏิรูปประเทศอย่างแน่วแน่ เพื่อทำหน้าที่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ผ่านไปอย่างราบรื่น
2.5 มีการจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อเป็นสภานิติบัญญัติชั่วคราว เพื่อดำเนินการแก้หรือออกกฎหมายปฏิรูปประเทศทันที เช่น การทุจริตไม่มีอายุความ พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเองให้ผู้ว่ามาจากการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ปรับโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง พลังงานและน้ำมัน เป็นต้น
2.6 รัฐบาลปฏิรูปและสภาประชาชนร่วมกันจัดตั้งสมัชชาประชาชนจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อประชุม สนทนา เสวนา เกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การสาธารณสุข กระบวนการยุติธรรม การจัดสรรทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสารจากประชาชน จัดทำเป็นแนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม
2.7 เมื่อภารกิจของรัฐบาลปฏิรูปและสภาประชาชนเสร็จสิ้นลง ก็จัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปซึ่งจะเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม และจะทำให้ได้รัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชน มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และสนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศอย่างกว้างขวาง
การตัดสินใจเลือกของทุกฝ่ายในวันนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่มีผลสำคัญต่ออนาคตของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ภายใต้การบงการของตระกูลชินวัตร หรือจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศอย่างเท่าเทียมกัน
ท่านใด กลุ่มใดที่ยังไม่ตัดสินใจ ผมคิดว่าจะต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดภายใต้ความกล้าหาญทางจริยธรรมได้แล้วครับ ว่าจะเลือกแบบไหน เวลาใกล้จะหมดเต็มทีแล้วครับ