xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นกกต.ชักใบแดง"ปู-ครม." ขยายพ.ร.บ.มั่นคง-ตั้งศอ.รส.มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (20 ม.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยื่นหนังสือให้ กกต. พิจารณาให้ใบแดงกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับรัฐมนตรี 17 คน ทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เพราะมีการใช้อำนาจให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ ใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือ และยังมีการกระทำที่ผูกพัน ครม.ชุดต่อไป ที่มีบทบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว
“การที่ครม.รักษาการ ประกาศขยายเวลาใช้ พ.ร.บ.มั่นคง เพื่อควบคุมประชาชน ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญรองรับว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง เพื่อให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง ปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเปิดเผยความชั่วร้ายของรัฐบาล ซึ่งกกต. มีอำนาจให้ใบแดง ตัดสิทธิได้ทันที นอกจากนี้การออก มติครม.ดังกล่าว มีกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย เช่น จารุพงศ์ หัวหน้าพรรค นายปลอดประสพ กรรมการบริหารพรรค เมื่อกรรมการบริหารพรรคทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม เป็นเหตุผลที่จะยุบพรรคเพื่อไทย โดยเชื่อว่าภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ เพียงพอที่ กกต. จะให้ใบแดงก่อนการเลือกตั้งได้ ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใบแดง ก็เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะไม่สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ได้ โดย กกต.มีอำนาจตัดสิทธิได้ 1 ปี ก่อนการประกาศรับรองผล”
ทั้งนี้รัฐมนตรีทั้ง 16 คน ประกอบด้วย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายสุรพงษ์โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายพ้อง ชีวานันท์ รมช.คมนาคม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที และ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข

** ส.ว.ร้องเอาผิดนายกฯ-ครม.

ในวันเดียวกันนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้ส่งหนังสือถึงกกต. ขอให้ตรวจสอบ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จำนวน18 คน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในคณะรัฐมนตรี กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (2-4) และมาตรา 237 มีความผิดฐานใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง จากกรณีการตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. และใช้งบประมาณนับพันล้านบาท
สำหรับหนังสือของนายไพบูลย์ ระบุว่า ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ขอให้ กกต.ตรวจสอบโดยมีมติ ครม. เมื่อ 25 ธ.ค. 56 ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทั้งที่มีการยุบสภา เมื่อ 9 ธ.ค.แต่รัฐบาลไม่มีการหารือ กกต. ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
"คณะรัฐมนตรีชุดนี้ มีสถานะเป็นเพียงรักษาการ จะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น การกระทำของคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่ได้ขอรับความเห็นชอบจากกกต.ก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (2) (3) และ (4) มาตรา 237 ของพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มาตรา 103”
คำร้องยังได้อ้างถึงการดำเนินการ ศอ.รส. ซึ่งได้ประมาณการกรอบอัตรากำลังพลไว้ถึง 48,235 นาย ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน จำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 1,050 ล้านบาท เช่น ค่าตอบแทนในส่วนของกำลังพล งบประมาณการเคลื่อนย้าย การจัดซื้อวัสดุบริการ เป็นต้น และต้องขออนุมัติรายจ่ายตามงบประมาณประเภทงบกลาง เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานการรักษาความมั่นคงของประเทศ เงินราชการลับ ในการรักษาความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น
โดยประมาณการจากประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ เมื่อ 26 ส.ค. และ 31 ก.ค.56 ที่ผ่านมา แต่พบว่าไม่ได้มีการตั้งงบประมาณไว้โดยเฉพาะ จำเป็นต้องใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาใช้ไปพลางก่อน ซึ่งไม่ได้รับความเห็นชอบจาก กกต. จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและยังส่งผลผูกพันกับคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปด้วย
นอกจากนี้เห็นว่าการประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เมื่อ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ยังได้มีคำสั่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่ 557/2556 ให้ ศอ.รส. ยังคงทำหน้าที่ต่อ และแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่แทนผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการ แต่งตั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติภารกิจข้างต้นได้ ตามความจำเป็นและเหมาะสมนั้น โดยการดำเนินการดังกล่าว อยู่ในช่วงที่ครอบคลุมก่อนวันเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. จนถึงวันที่ 1 มี.ค. 57 ซึ่งย่อมมีเจตนาที่จะให้มีผลเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และการดำเนินการตามประกาศ พ.ร.บ. ความมั่นคงดังกล่าว มีเจตนาขัดขวางการชุมนุมของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา แสดงความคิดเห็นไม่ไว้วางใจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งมีผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่อยู่ในคณะรัฐมนตรี และปรากฏว่า มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมเป็น 18 คน ยังเป็นผู้มีรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นกรรมการบริหาร และหัวหน้าพรรคของพรรคเพื่อไทย อันอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจะต้องสิ้นสุดลง จึงขอให้ กกต. พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้นายกฯ และรัฐมนตรีรวม 18 ราย ที่นายไพบูลย์กล่าวหานั้น ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตร นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง นายพ้อง ชีวานันท์ รมช. คมนาคม นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พานิชย์ นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว. แรงงาน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษา นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข
**พท.ยันไม่ผิด ขู่ฟ้องกลับ

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่าการขยาย พ.ร.บ.มั่นคงฯ ดังกล่าวไม่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา181 ตามที่นายวิรัตน์อ้างถึง เพราะครม. มีอำนาจอยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการสร้างนโยบายใหม่ ไม่ใช่การก่อหนี้ผูกพัน หรือโยกย้ายข้าราชการ ถ้าไม่ทำต่างหาก จะเสียหายต่อประเทศ นายวิรัตน์ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่เอาเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมือง ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไร้ความเป็น สุภาพบุรุษ ซ้ำยังทำผิดกฎหมายเสียเอง เราจะพิจารณาฟ้องกลับในข้อหา ร้องเท็จ รวมทั้งพิจารณาด้วยว่า เป็นการทำให้ผู้สมัครส.ส.ของพรรคได้รับผลกระทบ หรือไม่ ซึ่งจะเอาผิดฐานทำให้เสียคะแนนเสียง
นายพร้อมพงศ์ ยังได้กล่าวถึงกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ข่าว และมองว่า เวทีปฏิรูปของรัฐบาล ที่มีการจัดในวันนี้ ที่กองทัพอากาศดอนเมือง นายอภิสิทธิ์ ได้มองว่า การปฏิรูปของรัฐบาล น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร เป็นเพียงแค่การลดกระแส การซื้อเวลา จากการที่นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เข้าร่วม ทั้งที่รัฐบาลก็ได้เรียนเชิญทุกภาคส่วน ทุกพรรคการเมือง ทุกหน่วยงาน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในการที่จะปฏิรูปการเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับ ที่ประชาชนนั้นต้องการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล หรือฝ่ายสนับสนุนต้านรัฐบาล แต่การที่นายอภิสิทธิ์ออกมาตั้งแง่ว่าไม่ยอมเข้าร่วม ตนมองว่าผู้ที่เป็นอดีตผู้นำและนักการเมืองที่ไม่เข้าร่วมเวทีการปฏิรูปในครั้งนี้นั้นทำให้เสียโอกาส ปฏิรูปก็ไม่เอา เลือกตั้งก็ไม่เอา สุดท้ายนายอภิสิทธิ์จะเอาอะไร
ทั้งนี้ ใน วันนี้ (21 ม.ค.) เวลา 10.00 น. ตนจะไปยื่นเอกสาร และหลักฐานที่ สำนักงาน กกต. ชั่วคราว ชลบุรี ถึงกรณีที่ กปปส. ขัดขวาง การลงสมัครเลือกตั้งของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ แบบเขต รวมถึงบุกรุกปิดล้อม และยึดอุปกรณ์ของโรงพิมพ์คุรุสภาถึง 3 ครั้ง และไปกดดันเจ้าหน้าที่ที่มีการประชุม กกต. จึงจะไปแจ้ง กกต.ทั้ง 5 ท่าน โดยเฉพาะนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ฝ่ายจัดการเลือกตั้งว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขา กปปส. และพวกได้ทำการขัดขวางการเลือกตั้ง ได้มีการบุกรุกเข้าไป ตั้งแต่เหตุการณ์ในวันที่ 23 ธ.ค.56 - 20 ม.ค.57 กกต.ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด อ้างว่าเตรียมเอกสารและหลักฐานอยู่ แต่ถ้า กกต.ยังไม่ดำเนินการ ก็จะไปยื่นเอาผิดกับ กกต. ด้วย ทั้งทางกฎหมาย ทางแพ่งและอาญาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องรับผิดชอบและดูแลในการจัดการการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น