xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของมวลมหาประชาชน

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ไม่กี่วันก็จะสิ้นปี 2556 เพื่อเริ่มปีใหม่ 2557 แล้วครับ ต้องนับว่า ปีนี้เป็นปีของคนชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยังคงนำพามวลมหาประชาชนฝ่าลมหนาวปักหลักชุมนุมอยู่บนถนนราชดำเนิน

จากนักการเมืองดาดๆ ที่มีภาพไปในทางลบระนาบเดียวกับเสนาะ เทียนทอง และบรรหาร ศิลปอาชา สลัดเครื่องแบบนักการเมืองทิ้งแล้วปวารณาตัวเองว่า นับจากนี้จะละทิ้งการเมืองออกมานำประชาชนเพื่อสร้างรากฐานการเมืองใหม่ให้กับประเทศชาติ และมองเห็นว่า นักการเมืองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เหมือนองคุลิมาลกลับใจ

วันนี้สุเทพ เทือกสุบรรณ จึงเป็นลุงกำนันที่ห้อมล้อมด้วยความรักและไออุ่นจากประชาชน

แต่สังคมในวันนี้ก็อยู่ในภาวะที่มีการแบ่งฝักฝ่ายกันอย่างชัดเจน แม้จะมีคนหลายล้านออกมาไล่ยิ่งลักษณ์ร่วมกับ กปปส. แต่อีกฝ่ายก็ยืนยันว่า ตัวเองมีมวลชนมากกว่าถ้าวัดผลกันด้วยการเลือกตั้ง ตอนนี้ กปปส.เลยถูกฝ่ายตรงข้ามท้าทายว่า ถ้าคิดว่ามีมวลชนสนับสนุนมากแล้วทำไมไม่มาเลือกตั้งกัน

ผมคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำนันสุเทพต้องตอบแบบย้ำแล้วย้ำอีก เพราะมีอีกฝ่ายเอาไปขยายความในทางสากลตลอดเวลาว่า ผู้ชุมนุม กปปส.เป็นพวกต่อต้านระบอบประชาธิปไตย กระทั่งละเลงสีกันเลอะเทอะเปรอะเปื้อนว่า เป็นพวกนิยมฟาสซิสต์ ทั้งๆ ที่กำนันอธิบายว่า ไม่ได้ต่อต้านการเลือกตั้ง แต่ต้องการตกลงทำกติกากันเสียใหม่ก่อน แล้วค่อยกลับไปเลือกตั้ง

พอพูดแบบนี้ฝ่ายตรงข้ามก็เอาไปโจมตีอีกว่า กติกาของกำนันสุเทพก็คือ กติกาอะไรก็ได้ที่จะทำให้พรรคของทักษิณแพ้เลือกตั้ง กระทั่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเอาไปขยายความทำนองว่า ต้องการให้ทักษิณไม่มีอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านรัชกาล

ผมคิดว่า เป็นเรื่องลำบากใจของกำนันสุเทพไม่น้อยในการลุกขึ้นมาตอบโต้เรื่องนี้ เพราะกำนันประกาศชัดแล้วว่า จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก และพาตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์เรียบร้อยแล้ว เรื่องกลัวแพ้กลัวชนะจึงเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องของกำนัน

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดว่า อยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนที่จุติ ไกรฤกษ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนพรรคจะมีมติบอยคอตเลือกตั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งก็ตาย ไม่ลงก็พิการ แล้วสุดท้ายพรรคก็เลือกที่จะพิการเพื่อรักษาชีวิตต่อไป

แต่ผมคิดว่า ทั้งพรรคและกำนันสุเทพก็ไม่ควรนิ่งเฉยที่จะตอบโต้เรื่องนี้ ทางที่จะบอกให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ไม่กลัวการเลือกตั้งก็คือ ต้องอธิบายให้ชัดว่า กติกาที่กำนันสุเทพเรียกร้องนั้นคืออะไร เป็นกติกาที่สากลยอมรับ และตั้งอยู่บนหลักการของระบอบประชาธิปไตย นี่ต่างหากที่จะลบข้อครหาว่าฝักใฝ่เผด็จการและต่อต้านประชาธิปไตยไปได้

ผมว่า อย่างไรเสียเราก็หนีระบบเลือกตั้งไม่พ้น แม้ว่า ประชาธิปไตยจะไม่ได้มีความหมายแค่การเลือกตั้ง เราปฏิเสธระบบ 1 คน 1 เสียงไม่ได้ แม้คนจะไม่เท่าเทียมกันในสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรม

ผมเชื่อนะครับว่า กปปส.ก็ไม่ได้ต่อต้านการเลือกตั้งแน่ แต่ออกมาต่อต้านการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมองเห็นว่า กติกาที่เป็นอยู่เปิดช่องให้ระบอบทักษิณที่ครอบงำการเมืองไทยโดยการใช้เงินซื้อเสียง ซื้อหัวคะแนน ซื้อตัว ส.ส. ซื้อพรรคการเมือง และหลอกล่อเสียงโหวตของประชาชนด้วยนโยบายประชานิยมที่ไม่ยั่งยืนนั้น เป็นอันตรายต่อประเทศชาติและระบอบประชาธิปไตย และเมื่อได้อำนาจแล้วทักษิณก็ใช้อำนาจที่ได้มาอย่างเหิมเกริม เหมือนที่พยายามออก พ.ร.บ.ล้างผิดให้ตัวเอง

แต่โจทย์ที่ต้องตอบให้ชัดและตอบให้เร็วก็คือ กติกาของ กปปส.นั้นควรจะเป็นอย่างไร ไม่ได้หมายความว่า กปปส.จะผูกขาดความคิดหรือสร้างกติกาด้วยตัวเอง แน่นอนว่า คนร่างกติกาควรจะมาจากการยอมรับของทุกฝ่าย แต่อย่างน้อย กปปส.ก็ควรจะอธิบายให้ได้ว่า สิ่งที่ดีกว่าเก่านั้นควรจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง

เวลาพูดอย่างนี้ก็จะถูกฝ่ายที่สนับสนุนกำนันสุเทพออกมาตอบโต้ว่า จะมานึกถึงกติกาอะไรตอนนี้ ต้องล้มระบอบทักษิณให้ได้ก่อน หรือไม่ก็กล่าวหาว่า มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ ผมแม้จะเป็นฝ่ายสนับสนุนกำนันสุเทพก็เหนื่อยกับวาทกรรมการตอบโต้แบบนี้ เพราะผมคิดว่า การจะล้มระบอบทักษิณให้ได้นั้น จะต้องเสนอไอเดียหรือตอบโจทย์ให้สังคมเห็นสอดคล้องว่า ทางออกที่เราจะนำพาสังคมไปนั้นดีกว่าระบอบทักษิณอย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามีความจำเป็นพอๆ กับการอธิบายว่า ระบอบทักษิณนั้นชั่วร้ายอย่างไร

วันนี้การต่อสู้ของมวลมหาประชาชนนั้นตอบคำถามแล้วว่า ปริมาณไม่สามารถทำอะไรนายกฯ ที่ดื้อด้านไร้ยางอายได้ ถ้าบอกว่า มีประชาชนออกมาขับไล่มาก เขาก็บอกว่าประชาชนสนับสนุนเขามากกว่า มันทำให้ฝ่ายมวลมหาประชาชนถูกมองว่าสู้ในเชิงเหตุผลและตรรกะไม่ได้

ทางออกคือต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า แนวคิดทฤษฎีที่จะนำมาใช้หลังโค่นล้มระบอบทักษิณคืออะไร และยังยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างไร ต้องขจัดข้อครหาเรื่องสองนคราธิปไตย คนเมืองคนชนบท คนรวยคนจนออกไปให้ได้ เราไม่สามารถร่างระบบกติกาอะไรมาใช้กับประเทศโดยมีคนฝ่ายหนึ่งยอมรับและฝ่ายหนึ่งต่อต้าน

ไม่ใช่บอกเพียงว่าเราต้องการ “คนดี” มาปกครอง เพราะความหมายคนดีบนความแตกแยกของสังคมนั้นมีนิยามที่แตกต่างกัน ความแตกต่างทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองนั้นทำให้มอง “คนดี” ไปคนละแบบ

เหมือนการมองความหมายของคำว่า “ปฏิรูปการเมือง” หรือ “ปฏิรูปประเทศ” ผมคิดว่า ไม่ว่าสีเสื้อไหนก็อยากให้เกิด แต่ทำอย่างไรให้การปฏิรูปนั้นเกิดขึ้นได้ โดยคนทั้งสองฝ่ายยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในยุคที่ไม่มีคนกลางที่สองฝ่ายยอมรับเหลืออยู่เลยในประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนี้ การออกมาชุมนุมของมวลมหาประชาชนด้วยปริมาณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทยก็สร้างคุณูปการที่สำคัญคือไม่ว่า การต่อสู้ของมวลมหาประชาชนจะประสบชัยชนะหรือไม่ นั่นคือ นับจากนี้ไปประเทศนี้ก็จะต้องเดินหน้าสู่การปฏิรูปไม่ว่าจะเป็นก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้งก็ตาม

ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะก็ต้องเลือกเส้นทางการ “ปฏิรูป”

ข้อดีอีกอย่างของมวลมหาประชาชนก็คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดเพียงใดก็ใช้อำนาจอย่างเหิมเกริมแบบที่พรรคเพื่อไทยใช้เผด็จการรัฐสภากระทำการออก พ.ร.บ.ลักหลับสังคมไทยปิดปากเสียงข้างน้อยไม่ได้อีกแล้ว

ที่สำคัญก็คือ หนทางกลับบ้านโดยไม่มีความผิดของทักษิณปิดฉากลงอย่างสนิทแล้ว

ผมคิดว่า อย่างน้อยการออกมาจำนวนมากของมวลมหาประชาชนก็ไม่สูญเปล่า นี่แหละคือชัยชนะของมวลมหาประชาชน แม้จะไม่ชนะอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ก็มองเห็นผลพวงด้านบวกของการต่อสู้

สุดท้ายนี้ขอให้มวลมหาประชาชนก้าวผ่านปีเก่าสู่ปีใหม่อย่างมีความสุขทั้งกายใจ และประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่หนทางที่ดีกว่าเก่า ลาทีปีเก่าและสวัสดีปีใหม่ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น