xs
xsm
sm
md
lg

ความชอบธรรมในการปกครอง กับ นายกรัฐมนตรีลาออกได้

เผยแพร่:   โดย: ทินพันธุ์ นาคะตะ

ความชอบธรรมในการปกครอง เป็นเรื่องของความเชื่อเกี่ยวกับการได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจและการอยู่ในอำนาจของผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองอ้างว่าตนมีสิทธิในการปกครอง แล้วผู้รับการปกครองก็ยอมรับข้ออ้างดังกล่าว แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับก็จะอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้ จึงแตกต่างกับการปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างหลังนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอย่างแรกเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลมีความถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าขาดความชอบธรรมในการปกครอง ก็จะต้องพ้นจากอำนาจไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตัวอย่างของการขาดความชอบธรรมในการปกครอง ก็เช่น การขาดคุณธรรม การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม การถูกกล่าวหาว่าทุจริต หรือประชาชนไม่ยอมรับให้มีอำนาจอยู่ต่อไป รวมทั้งการชุมนุมขับไล่ของมหาชนจำนวนมากด้วย

การได้รับการเลือกตั้งจากคนจำนวนมาก ย่อมมีความชอบธรรมทั้งในการปกครองและในทางกฎหมาย สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจในวันแรกเท่านั้น ในทางการเมือง ถ้าปรากฏว่าก่อนนั้นหรือหลังจากวันนั้น การกระทำขณะใดของเขา เป็นสิ่งเลว ผิด ไม่ควร ไม่เหมาะสม ไม่ยุติธรรม ก็จะอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ทำผิดกฎหมายก็ตาม ดังนั้น คนจำนวนหลายล้านคนที่เลือกตั้งเขาเข้ามา ย่อมไม่ถือเป็นมนต์ขลังหรือข้ออ้างที่จะคุ้มครองเขาได้ตลอดไป แม้แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่กี่ร้อยคนก็ลงมติไม่ไว้วางใจให้เขาพ้นจากตำแหน่งได้ ศาลและองค์กรอิสระก็อาจตัดสินให้เขาพ้นจากอำนาจได้ รวมทั้งฝูงชนก็อาจชุมนุมประท้วงขับไล่ให้เขาพ้นจากหน้าที่ได้ คะแนนเสียงจำนวนมากจึงเป็นเพียงภาพมายาหรือภาพลวงตา ที่ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อคุ้มครองให้เขาอยู่จนครบวาระได้ มันอยู่ที่ว่าเขาจะทำดีหรือทำเลว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อตัวเองในแต่ละขณะเท่านั้น

การเมืองไทยระหว่างพ.ศ.2476 ถึงพ.ศ.2488 มีการต่อสู้เพื่ออำนาจ ที่เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญพอสมควร นายกรัฐมนตรีจะลาออกจากตำแหน่งตามมารยาททางการเมือง เยี่ยงสุภาพบุรุษ แม้จะด้วยเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ถึงกระนั้นในสมัยหลังๆ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ผู้ทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน แต่เมื่อประชาชนไม่ยอมรับ ท่านก็ลาออกจากเป็นนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สำหรับพลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์วิกฤต มีรัฐมนตรีผู้ใกล้ชิดมาพูดให้ฟังว่า เริ่มมีข่าวลือในวงแคบว่าสถาบันหลักรักท่าน จึงได้ตัดสินใจลาออกด้วยเห็นว่า ถ้าอยู่ในตำแหน่งต่อไปก็อาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สถาบันหลักได้ ส่วนพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการชุมนุมประท้วงที่สีลม ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเกรงจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศมากขึ้น

คนไทยเรามักจะอ้างกฎหมายเป็นเครื่องมือ เข้าข้างตัวเองแบบศรีธนญชัย หรือฉลาดแกมโกง เพื่อจะได้อยู่ในอำนาจให้นานที่สุด หรือความได้เปรียบในการต่อสู้เพื่ออำนาจ

ในการเป็นผู้นำสังคมนั้น หากมีความเสียหายใดๆเกิดขึ้น ย่อมถือเป็นความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ จะปัดว่าเป็นความผิดของผู้อื่นที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นไม่ได้

จริยธรรมของผู้มีอำนาจ ก็คือ จะต้องเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมเสมอ ดังนั้น หากการอยู่ในอำนาจของตน จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมือง ก็ควรจะต้องลาออก เช่น นายนาโอกิ อิโนเละ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยให้กรุงโตเกียวได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 ได้ลาออกจากตำแหน่งวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2556 โดยสารภาพว่าเพราะการขาดคุณธรรมของเขา ด้วยเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของญี่ปุ่นดังกล่าว

ที่สำคัญก็คือ หากรัฐบาลใดขาดความชอบธรรมในการปกครอง ก็ย่อมจะอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะด้วยข้อกล่าวหาใดๆ เช่น การเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย การถูกสั่งการมาจากต่างประเทศ การปฏิเสธคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ การถูกกล่าวหาว่าโกง รวมทั้งการถูกขับไล่จากฝูงชนจำนวนมหาศาล เป็นต้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย สิ้นสุดลงเมื่อตายหรือลาออก ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ นักกฎหมายมือหนึ่งของประเทศกล่าวว่า การลาออกเป็นสิทธิส่วนบุคคล ถือเป็นหลักทั่วไปที่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์แก่บุคคล ที่จะเข้าไปทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย จึงไม่ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะเกิดขึ้นขณะที่ทำหรือมีหน้าที่อยู่เท่านั้น เมื่อลาออกแล้วก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ และถือว่าไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆอีกต่อไป นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจึงลาออกจากการรักษาการในตำแหน่งได้ ทั้งนี้รวมถึงการลาออกของผู้พิพากษาระหว่างการพิจารณาคดีของตำรวจระหว่างการสวบสวนคดี และของพนักงานบริษัทระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ไม่ต้องรับผิดชอบอีกต่อไป ซึ่งกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง ก็ถือหลักการเดียวกันนี้

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอดังนี้ “2. คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ข้อ 2.1 (4) นายกรัฐมนตรีจะปรับรัฐมนตรีออกหรือรัฐมนตรีจะลาออกก็กระทำได้ แต่ไม่ควรแต่งตั้งแทน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็คือ รัฐมนตรีผู้หนึ่ง ในกรณีนี้ พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้เคยลาออกจากการเป็น นายกรัฐมนตรีรักษาการ แล้วแต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้รักษาการในตำแหน่งแทนตนมาแล้วใน พ.ศ.2535 ทั้งๆ ที่ยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเช่นนี้ อนึ่ง การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ คงต้องการให้รัฐมนตรีลาออกทั้งคณะมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น