xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” แถลงผลหารือส.ว.ชง 3 ข้อ ต้องปฏิรูปด่วน จี้รัฐร่วมมือ ขู่เปิดสภาหานายกฯ คนกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วุฒิสภา” ประชุมหาทางออกประเทศ “ส.ว.วีรวิท” ปัดปรึกษา “มีชัย-บวรศักดิ์” หาข้อกฎหมายสรรหานายกฯ ด้านว่าที่ประธานวุฒิสภาแถลง ส.ว.เสนอ 3 ข้อ ย้ำชาติจำเป็นต้องปฎิรูปอย่างเร่งด่วน จี้รัฐบาลร่วมมือ ยันหากจำเป็นต้องเปิดสภาเพื่อหานายกฯคนกลางภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย


วันนี้ (16 พ.ค.) ที่ห้อง 306-308 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อเวลา 14.00 น. ได้เริ่มมีการประชุมสมาชิกวุฒิสภาเพื่อรวบรวมความเห็นภาคส่วนต่างๆ หาทางออกประเทศไทยที่จะมีการออกโรดแมพในวันนี้ โดยมีสมาชิกมาร่วมประชุมประมาณ 50 คน ในช่วงแรกของการประชุม นายพีรศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ว่าที่รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภาซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมหารือกับคณะทำงานเพื่อรวมความเห็นเสนอต่อที่ประชุม

ทั้งนี้ ระหว่างการหารือเพื่อรอประธานในที่ประชุม พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานประสานองค์กรรับฟังความเห็นจากองค์กรภายนอก ได้รายงานถึงการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยมีความเห็นตรงกันในเรื่องอำนาจของรัฐบาลที่มีรักษาการแทนนายกรัฐมนตรี ที่ไม่มีอำนาจเต็มที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยจะพิจารณาในสองประเด็นในเรื่องการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่มีอำนาจเต็มจะตอบโจทย์ประชาชนได้หรือไม่ และประเด็นในการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามมาตรา 180 วรรคท้าย ที่ต้องมีการดำเนินการหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งจะต้องรอฟังข้อมูลจากนายสุรชัย พร้อมปฏิเสธที่มีการกล่าวหาว่าตนอ้างอิงชื่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการกฤษฎีกาคณะหนึ่ง และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในเรื่องข้อกฎหมายในการสรรหานายกรัฐมนตรี

ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา รับหนังสือจากองค์กรต่างๆ เช่น นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป และสมาคมนักบริหารการพัฒนาการเกษตรศาสตร์ นำโดยนายอดิศักดิ์ ศรีสรรพกิจ นายกสมาคมฯ เพื่อเสนอทางเลือกและทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งโดยวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งสนับสนุนและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาทางออกให้กับประเทศ

จากนั้นนายสุรชัยให้สัมภาษณ์ว่า ถึงการเปลี่ยนแปลงการนัดหารือกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ว่า เดิมนายนิวัฒน์ธำรงประสานมาว่าจะขอพบในวันที่ 17 พ.ค. แต่ล่าสุดจะเปลี่ยนใจหรืออย่างไรไม่ทราบ สิ่งที่ตนพยายามให้เกิดขึ้นคือการเจรจากับทุกฝ่าย แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากยังขาดความร่วมมือในการที่จะก้าวไปสู่การเจรจาที่เป็นรูปธรรมที่จะทำให้ประชาชนคาดหวังได้ว่าจะสามารถหาทางออกร่วมกัน โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่ตนก็ยังไม่ละความพยายาม ยังรอสัญญาณจากทุกฝ่ายอยู่จนถึงนาทีสุดท้าย เพราะการชุมนุมของมวลชนทุกฝ่ายต่างกดดันมาที่วุฒิสภา ตลอดสัปดาห์มาตนถูกโจมตีจากทั้งสองเวทีมาตลอด แต่ก็จะอดทนให้ถึงที่สุดเพื่อบ้านเมือง เพราะหากไม่มีใครเสียสละทั้งสองฝ่ายก็ต้องไปตัดสินใจกันเอง ซึ่งไม่ใช่วิสัยที่ตนจะทนเห็นเหตุการณ์นั้นขึ้นมาได้

“ทุกคนทราบหมดว่าทุกนาทีมีค่า แต่อยากให้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลทราบด้วย อย่าลังเล การพูดคุยกันไม่มีอะไรเสียหาย ขอให้เริ่มต้นคุยอย่างน้อยก็เป็นสัญญาณออกไปสู่สังคมให้เห็นว่ารัฐบาลได้ช่วยวุฒิสภาในการเปิดประตูหาทางออกให้ประเทศไทย แต่ถ้าไม่มาคุยเลยก็เท่ากับไม่ช่วยเปิดประตู แล้วจะให้ผมทำยังไง ผมพยายามปลดกลอนเปิดอะไรหมดแล้ว ท่านเพียงแค่เดินเข้าสู่ประตูที่ผมอ้าแขนรับเท่านั้น วันเวลาไหนก็ได้ สถานที่ไหนก็ได้ บรรยากาศทุกอย่างก็จะดีขึ้นทันที ผมเปิดประตูคอยแล้วท่านไม่มาแล้วจะให้ว่ายังไงครับ มาช่วยกัน จบจะได้จบ ผมไม่ชอบลักษณ์ที่จบแล้วไม่จบ ขอให้มาช่วยกัน” นายสุรชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายสุรชัยกล่าวว่า ปัจจัยการตัดสินใจของวุฒิสภาไมได้อยู่ที่รัฐบาล ในเมื่อภาคสังคมทั้งสังคมเขาเคลื่อนไหวขนาดนี้แล้ว ตนเพียงต้องการฟังเสียงของรัฐบาลด้วยว่าเขาต้องการอะไรเพิ่มเติม จะได้เอามารวมพิจารณาในคราวเดียวกันเพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด ไม่อย่างนั้นก็จะมากล่าวหาว่าวุฒิสภาคิดเองฝ่ายเดียว รัฐบาลไม่มีส่วนคิดด้วย

ทั้งนี้มีส.ว. เข้าร่วมประชุม 65 คน ส่วนใหญ่เป็นส.ว.สรรหา โดยเป็นการประชุมลับ ไม่ให้สื่อมวลชนร่วมรับฟัง ภายหลังการประชุมเป็นเวลาร่วม 5.30 ชั่วโมง นายสุรชัย พร้อมคณะส.ว.ร่วมแถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤตชาติ จากการประสานรับฟังความเห็นจากเวทีสาธารณะทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนเห็นตรงกันว่า หากปล่อยให้สภาวการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะนำไปสู่ความล่มสลายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงของชาติ

จนเมื่อเวลา 18.15 น.นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และรักษาการประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยคณะส.ว.แถลงเรียกร้องว่าวุฒิสภาในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งของชาติสามารถแก้ไขให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้ด้วยกรอบและแนวทาง 3 ข้อ 1.เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวบรรลุเจตนารมณ์ในการคืนความสงบสุข และความสมานฉันท์ของคนในชาติ ต้องเร่งดำเนินการจัดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้านให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งจะต้องมีนายกรัฐมนตรี และครม.ที่มีอำนาจเต็ม เพื่อดำเนินการดังกล่าว

2. ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตามมาตรา 181 วรรคหนึ่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลและพรรคการเมือง ให้ความร่วมมือกับวุฒิสภาในการหาทางออกประเทศภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชาติอย่างเต็มกำลัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น

และ3. วุฒิสภาพร้อมที่จะทุ่มเทการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อแนะนำจากทุกภาคส่วนมาพิจารณาในการประชุมตามข้อบังคับของวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ได้ มาซึ่งนายกรัฐมนตรีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุของไทยโดยเร็ว ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

“แนวคิดของส.ว.ต่อการแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ไปติดอยู่ที่จะมีนายกฯเฉพาะกาล หรือเพราะกิจ แต่คิดว่าทำอย่างไรจะแก้ปัญหาสภาพการที่มีครม.มีอำนาจค่อนข้างจำกัดที่ส่งผลเสียหายต่อบ้านเมืองมันเดินไมได้ ความคิดที่จะต้องมีครม.ที่มีอำนาจเต็มมาทำงาน ถ้ารัฐบาลได้ฟังแถลงการณ์ถ้าเห็นว่าขณะนี้ตัวเองมีข้อจำกัด และส่งผลเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดินจริงเชื่อว่าท่านพิจารณาตัวเองได้ คำถามว่าจะมีรัฐบาลใหม่เมื่อไหร่จะไม่เกิดขึ้น เราหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อบ้านเมืองสื่อควรเอาคำถามนี้ไปถามรัฐบาลมากกว่าว่าควรทำอย่างไรเพราะเราไม่ก้าวล่วง จะพยายามทำหน้าที่เราให้มากที่สุด” นายสุรชัย กล่าว

อย่างไรก็ตามหากตนได้หารือกับนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ ก็อาจจะมีการปรับสูตรทางออกของแผ่นดินใหม่ หวังว่าท่านจะช่วยหาทางออกด้วย และขอวอนมวลชนทุกฝ่าย

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังประสานงานกับรัฐบาลอาจจะนัดหาหรืออีกครั้งวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.นี้ ยืนยันว่าอยากให้เข้าร่วม รวมถึงเงื่อนไขการเลือกตั้งที่จะต้องมีการหาทางแก้ไขด้วยเพราะเป็นปัญหาหนึ่ง เมื่อถามว่าถือว่าการแถลงครั้งนี้เป็นเพียงข้อเรียกร้องไม่ใช่โรดแมพใช่หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่าเราได้หารือกันแล้วคิดว่าเป็นช่องทางที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าเป็นที่ผิดหวังของประชาชนหรือมที่มองวุฒิจะเป็นหนทางสุดท้ายที่จะผ่าทางตันหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า วุฒิสภาต้องทำทุกอย่างภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและประเพณี หวังว่าข้อเรียกร้องทั้ง3 จะได้รับการตอบรับจากทุกฝ่ายเพื่อเป็นฉันทานุมัติ

ส่วนการเปิดประชุมวิสามัญพิเศษ นั้น นายสมชาย กล่าวว่า เรามีข้อบังคับข้อ14 วรรคท้ายให้อำนาจของประธานวุฒิสภา หรือสมาชิก1ใน4 สามารถเข้าชื่อร้องขอประธานวุฒิสภาเปิดประชุมได้เมื่อเห็นเป็นกรณีสำคัญ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการโปรดเกล้าประธานก่อน เพราะเวลานี้นายสุรชัยก็รักษาการประธานวุฒิสภาอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องไปชี้แจงกับกลุ่มกปปส.ที่คาดหวังต่อทางออกของวุฒิสภา นายสมชาย กล่าวว่า คิดว่าคงได้รับการถ่ายทอดผ่านสื่อไปแล้ว ขอฝากบอกว่าเราอยากเห็นบ้านเมืองเดินต่อไปได้ ทางออกที่วุฒิทำอย่างเต็มที่ มีปัจจัยที่เห็นชัดเจนว่าต้องมีความร่วมมือและต้องทำงานเพิ่มขึ้น อาจจะไม่เป็นที่พอใจของบางคนแต่ก็ตั้งใจจะทำเต็มที่และทำต่อไป

นพ.เจตน์ ศิรธารานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า สาเหตุที่ส.ว.ยังไม่มีมติชัดเจนว่า จะดำเนินการตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มได้เมื่อใด และใช้ช่องทางใด เนื่องจากหากรีบดำเนินการตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว อาจส่งผลให้กลุ่มนปช.ไม่พอใจ อย่างไรก็ตามช่องทางในการเสนอนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มยังคงใช้แนวทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 วรรคสอง เทียบเคียงมาตรา 171 และ 172 อยู่เหมือนเดิม ทั้งนี้หากการเจรจากับรัฐบาลในวันที่ 19 พ.ค.ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลยอมลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ จะทำให้การแก้ปัญหาโดยใช้ช่องทางมาตรา 180 ง่ายขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลไม่ยอมลาออก สุดท้ายอาจจะต้องใช้วิธีหักด้วยมาตรา 7 แทน แต่ยังเป็นห่วงว่า การใช้มาตรา 7 จะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา ทั้งนี้การแก้ปัญหาทั้งหมดควรได้ทางออกชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์

นายอภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่ ในฐานะโฆษกคณะทำงานประสานองค์กร วุฒิสภา กล่าวว่า แนวทางการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม ยังคงใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรามาเทียบเคียงเหมือนเดิม ทั้งมาตรา 180 วรรคสอง มาตรา 132 (2) รวมถึงมาตรา 7 ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยชอบธรรมทั้งหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และจารีตประเพณีการปกครอง แต่ยังไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการแต่งตั้งนายกฯที่มีอำนาจเต็มได้ เนื่องจากหากเร่งรีบไป จะเกิดการไม่ยอมรับจากกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่หากมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาแล้ว วุฒิสภาจะใช้ข้อบังคับวุฒิสภา ให้ส.ว.เข้าชื่อกัน 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ขอเปิดประชุมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งไม่ใช่การเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่เป็นการประชุมกิจการภายในของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการ



















กำลังโหลดความคิดเห็น