ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เหมือนจะมั่นใจว่า การตีธงถอยร่นเชิงสัญลักษณ์ด้วยการประกาศยุบสภาในช่วงที่มหกรรมมวลมหาประชาชนกำลังกรีธาทัพเข้าประชิดทำเนียบรัฐบาลจะช่วยลดอุณหภูมิเดือดๆ ลงได้บ้าง เพราะเชื่อว่า หลังจากพ้นวันมหามงคล 5 ธันวาคมเป็นต้นมา อารมณ์ของคนในสังคมส่วนใหญ่อยากจะเห็นรูปแบบการขจัดความขัดแย้งแบบประนีประนอมมากกว่าบู๊ล้างผลาญ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
จึงตัดสินใจยุบสภามันเสียดื้อๆ กลางคัน
แต่นั่นเป็นภาพประนีประนอมแบบจอมปลอม เพราะในความเป็นจริงแล้วมันคือ การถอยร่นที่แฝงไปด้วยเล่ห์กลอุบายนานานัปการที่เครือข่ายนายห้างทำมาจนเป็นงานถนัด
เป็นการขายดราม่าให้เห็นว่า รัฐบาลจนมุมต่อการกดดันของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
ทั้งที่จริงเป็นการลงไปชุบตัวให้ขาวสะอาดเพื่อคืนสู่อำนาจอย่างชอบธรรมอีกครั้ง
หวังเอาเสียงประชาชน 15 ล้านเสียงบ้าง 19 ล้านเสียงบ้าง มาตีฆ้องร้องป่าวถึงความบริสุทธิ์ของตัวเองแบบที่เคยใช้เสียงประชาชนบังหน้ากอบโกยกัดกินประเทศไทยจนแทบสิ้นชาติ
เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าอย่างไร หากลงไปแข่งขันกันใหม่ในสนามเลือกตั้ง คะแนนนิยมของ “พรรคเพื่อไทย”ก็ยังสูงกว่า “พรรคประชาธิปัตย์” ด้วยเพราะมีฐานเสียงสำคัญอย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ที่ยังเกาะเอวแน่นไม่หนีไปไหนแบบรักเดียวใจเดียว
แม้อาจจะไม่ได้เท่าเดิม แต่ก็คงไม่ยากเกินไปที่ช่วงชิงความเป็นเสียงข้างมากกลับมา
ต่อให้ “มวลมหาประชาชน”ของ“กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จะแห่ออกมาเป็นเรือนล้านสองล้าน แต่ก็ยังไม่เพียงพอจะโค่น“รัฐบาลยิ่งลักษณ์”ลงจะหอยคอยงาช้างได้
ที่สำคัญ เป็นการ"ถอยร่น"เพื่อเปลี่ยนเกมให้ตนเองเป็นฝ่าย"รุกไล่"และ กำหนดชะตาตัวเองได้ ตามกมลสันดาน “นายใหญ่”ที่คิดแต่จะเอาชนะคะคาน โดยไม่สนใจว่า ใครจะเสียหายอย่างไร
เป็นการประเมินภายใต้สถานการณ์ในประเทศไทยที่นายใหญ่ยังคิดว่า ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจในข้อเสนอของ กปปส. เพราะดูจะห่างไกลความเป็นจริงมากกว่าเกินไป และไม่มีบทบัญญัติใดมารองรับ หากเทียบกับการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนในประเทศน่าจะกดคลิกที่การเลือกตั้งมากกว่าอยู่ดี
เมื่อพรรคเพื่อไทยสะบัดธงเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ทั้งที่สถานการณ์ในประเทศไทยยังโกลาหลด้วยม็อบมวลมหาประชาชนก็แน่นอนว่า จะต้องมั่นใจในระดับหนึ่งว่า การตัดสินใจแบบนี้จะไม่สุ่มเสี่ยงต่อการเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามต้อนเข้าสู่มุมอับ
เหมือนกับที่นายใหญ่เคยพลาดหลังลุอำนาจลงแข่งเลือกตั้งทั้งที่โดนบอยคอต จากพรรคการเมืองอื่น จนต้องล้มระเนระนาดขึ้นโรงขึ้นศาลกันทั้งสมาชิกพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น รวมไปถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดอัปยศ เมื่อปี 2549
จนการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็น “โมฆะ”
ดังนั้น ครั้งนี้ที่ตัดสินใจยุบสภาทันทีที่เจอปัญหา ย่อมแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทย อุ่นใจกับบรรดาพรรคตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนาของ“บรรหาร ศิลปอาชา”พรรคชาติพัฒนาของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”พรรคพลังชลของ “สนธยา คุณปลื้ม”และพรรคภูมิใจไทยของ “อนุทิน ชาญวีรกุล”อยู่พอสมควรว่า จะส่งผู้สมัครลงชิงชัยอย่างแน่นอน
ไม่ปล่อยให้ พรรคเพื่อไทยโดดเดี่ยว หรือตายคาที่ เหมือนเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2549
เพราะ“พรรคไม้ประดับ”เหล่านี้วิเคราะห์แล้วว่า นาทีนี้ประชาชนยังมุ่งหวังว่า การเลือกตั้งจะเป็นทางออกของประเทศไทย ข้อเสนอของ กปปส.เองก็ไม่ได้รับการยอมรับสักเท่าไร โอกาสประสบความสำเร็จนั้นยาก
เพราะหากใช้กระบวนการดังกล่าวที่ “กำนันเทพ”ว่ามาจนก่อกำเนิด“สภาประชาชน”ได้แล้วคิดหรือว่า ปัญหาจะจบ เพราะฝั่งตรงข้ามอย่าง “กลุ่มคนเสื้อแดง” ก็ต้องออกมาตะเพิดคณะบุคคลเหล่านี้ จนปัญหาขัดแย้งวนเวียนกันไปไม่จบสิ้น
เข้าทำนองไล่กันไปไล่กันมาเหมือนเดิม
อีกบรรทัดฐานหนึ่งคือ ในเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ยังถูก ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เสียพลพรรคเพื่อไทยแตกกระเจิง
แล้วนับประสาอะไรกับ“สภาประชาชน”ที่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญจะผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปได้หากมีการยื่นตีความในภายหลัง
ขณะเดียวกัน “พรรคไม้ประดับ”เหล่านี้ก็ดูทิศทางลมออกว่า ณ เวลานี้ พรรคเพื่อไทยยังขายได้ในสนามเลือกตั้ง ดังนั้น หากจะลอยแพกันแต่หัววัน ก็อาจจะเป็นการไม่ฉลาดเอาเสียเลย เพราะที่สุดแล้วรัฐบาลชุดใหม่ยังเป็นพวกหน้าเดิมๆ กลับมาครองอำนาจ
เป็นที่มาของบรรดา "นักเลือกตั้ง" ที่กุลีกุจอเด้งรับปรับโหมดเข้าสู่การเลือกตั้งแบบฉับไว ประหนึ่งว่าใครแสดงบทบาทให้เห็นว่า สนับสนุนการเลือกตั้งก่อนใคร โอกาสคว้าโควต้ารัฐมนตรีมากขึ้นกว่าเก่าย่อมมีเสมอ
โดยเฉพาะกับคนอย่าง “นายใหญ่”ที่เป็นประเภทบุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระ ใครเลือกข้างก่อน พร้อมสนองพระเดชพระคุณอย่างเต็มที่ อีกทั้งปัจจัยในวันนี้ไม่เหมือนกับเมื่อตอนปี 2549 ที่รัฐบาลขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงขาลงแบบสุดๆ ชนิดสังคมรังเกียจเดียดฉันท์
ฉะนั้น เมื่อพรรคไม้ประดับ พร้อมเป็นใบเฟิร์นในแจกัน สนามเลือกตั้งก็มีคู่แข่งขัน การที่ฝ่ายตรงข้ามอย่าง“พรรคประชาธิปัตย์” จะใช้มาตรการบอยคอตเหมือนเดิมก็ยากลำบากกว่าเก่า และการหวังจะใช้มุกเล่นงานเรื่องข้อกฎหมาย ก็ดูจะไร้น้ำหนักไปเช่นเดียวกัน
หนำซ้ำ ฝ่ายที่ต้องถูกกดดัน ก็อาจเป็น “พรรคประชาธิปัตย์”เองว่า จะเอาอย่างไร เพราะต้องอย่าลืมว่า ในค่ายเก่าแก่แห่งนี้ยังมีความเห็นออกมาที่หลากหลาย
ฝ่ายหนึ่งอยากจะลงเลือกตั้ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งมองข้ามช็อตไปแล้ว
จึงเป็นปัญหาที่ยังต้องรอการเคาะ และดูทีท่าว่าจะยื้อออกไปกันจนถึงที่สุดหาก ม็อบ กปปส. ยังปักหลักกันอยู่บนท้องถนน
ขณะเดียวกัน ก็ต้องหวังลึกๆ จาก “ตัวช่วย”อื่นๆด้วย ที่พอจะเข้ามาทำให้เกมของ ม็อบ กปปส. และ “พรรคประชาธิปัตย์”ดูดีขึ้นมา โดยเฉพาะคดีความในองค์กรอิสระที่“พรรคเพื่อไทย”ก็ยังแขยงๆ กันอยู่ กลัวจะโดนทีเด็ดกันแบบไม่ทันตั้งตัว หากจับผลัดจับผลูแจ็กพ็อตขึ้นมา เกมก็อาจจะมาเข้าทางฝั่งนี้บ้าง
ดังนั้น การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ตอนนี้หลายฝ่ายเชื่อว่า มันจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะค่อนข้างมีความชอบธรรมมันก็ไม่แน่เสมอไป
หลายๆ ปัจจัยไม่ใช่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่ได้อีก แต่ในตรงกันข้ามกลับยิ่งพร้อมมีโอกาสเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะตราบใดที่ “ม็อบ กปปส.” ยังปักหลักสู้กันอยู่
“พรรคไม้ประดับ” ที่วันนี้เทใจไปฝั่ง “พรรคเพื่อไทย" ครั้นเกิดวิกฤติการณ์หรืออุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ใช่ว่าจะไว้ใจกอดคอกันได้ไปตลอดรอดฝั่ง เพราะบทเรียนก็มีมาแล้วมากมาย พลิกขั้วแบบเหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง
ตามคาถาท่องจำของพรรคเหล่านี้คือ “อยู่ข้างคนชนะ”กับ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”วิถีทางการเมืองที่พร้อมจะไหลไปเรื่อยตลอด น่ากลัวกว่าพวกที่เปิดเผยว่าเป็นศัตรูตั้งเยอะ
ไอ้ที่ไว้ใจ สุดท้ายอาจร้ายที่สุด เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตามต้นฉบับการเมืองไทยที่ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้