xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลส่ง“วราเทพ”ลงนาม แผนลงทุน6ประเทศลุ่มน้ำโขง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า วันที่ 11 ธ.ค. นี้ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ จะร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 19 และแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (Regional Investment Framework: RIF)ภายหลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สภาพัฒน์) และคณะรัฐมนตรีแล้ว
โดยแผนปฏิบัติการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ เป็นกรอบการลงทุนทั้งหมด 7 สาขา วงเงินรวม 51,195.30 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ1.63 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมีโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุดถึง 55 โครงการ มูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เป็นส่วนการลงทุนของประเทศไทยจำนวน 1,046.9 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 33,472 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 19 ซึ่งจะประชุมในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พิจารณาอนุมัติร่างแถลงการณ์ร่วมต่อไป
สำหรับโครงการลงทุนที่สำคัญของประเทศไทย คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าลงทุน 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ,โครงการปรับปรุงถนนบริเวณด่านแม่สอด เชียงของ และโครงการรถไฟ เชื่อมเมืองชายแดน ,โครงการลงทุนด้านพลังงาน รวม 13 โครงการ เป็นโครงการลงทุนของไทย 295.3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ,โครงการลงทุนด้านการเกษตรรวม 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1,275 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
รวมทั้งโครงการลงทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 13 โครงการ เป็นของไทย 245.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ,โครงการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ 18 โครงการ เป็นของไทย 14.25 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ,โครงการลงทุนด้านการพัฒนาเมือง 8 โครงการ เป็นของไทย 1.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ, โครงการลงทุนสาขาท่องเที่ยว 9 โครงการ เป็นของไทย 53.25 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โครงการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกด้านคมนาคมและการค้า 10 โครงการ เป็นของไทย 13 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ, การลงทุนด้านไอซีที 3 โครงการเงินลงทุนรวม 628.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นของไทย 65 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และการลงทุนในสาขาอื่นๆ รวม 161.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า ตามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว มีสาระสำคัญที่เป็นการแสดงความชื่นชมถึงความร่วมมือระหว่างกันพร้อมทั้งรับทราบผลการดำเนินงานที่สำคัญของแผนงาน จีเอ็มเอส ในการประชุมครั้งที่ 18 ที่เห็นชอบการจัดทำกรอบแผนการลงทุนในภูมิภาค เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ขณะที่แผนปฏิบัติการ ยังมีสาระสำคัญที่กำหนดแนวทางและกรอบการลงทุนในระดับภูมิภาคในภาพรวมด้วยโดยเอกสารดังกล่าว ยังไม่มีการลงนาม และไม่ได้ใช้ถ้อยคำบังคับ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มุ่งให้เกิดผล ผูกพันระหว่างกันตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ
ในวันเดียวกันรัฐมนตรีคมนาคม 6ประเทศ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อการจัดตั้งสมาคมการรถไฟของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMRA)
โดยภารกิจของ GMRA คือ การเพิ่มการเชื่อมโยงทางรถไฟเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ ความปลอดภัยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการขนส่งสินค้าและคนโดยทางรถไฟ ทั้งภายในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และประเทศอื่น ๆ ขณะที่แหล่งที่มาของเงินทุนจะมาจากประเทศสมาชิก GMRA ไม่เกิน 2 ปี หลังจากการจัดตั้ง GMRA การให้ความช่วยเหลือที่เป็นตัวเงินและความช่วยเหลือรูปแบบของสิ่งของและการบริการจะได้รับการเห็นชอบโดยประเทศสมาชิก จะมีสถานภาพเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ภายใต้แนวทางของการประชุมระดับรัฐมนตรี 6ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและการประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคมขนส่งของ GMS
ทั้งนี้ จะมีการจัดตังคณะกรรมการบริหารของ GMRA ประกอบด้วยกรรมการบริหาร 7 คน มาจากประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ประเทศละ 1 คน และอีก 1 คน มาจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยประเทศสมาชิกแต่ละประเทศจะรับผิดชอบการแต่งตั้งกรรมการของตน
ประธานคณะกรรมการบริหารของGMRA มีวาระการดำรงตำแหน่ง 18 เดือน และหมุนเวียนตามลำดับอักษรชื่อประเทศ หลังจากการทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของ ADB ในช่วงแรกสิ้นสุดลงคณะกรรมการบริหารจะตัดสินใจเลือกสถานที่และโครงสร้างของสำนักงานฝ่ายเลขานุการโดยวิธีการแบบฉันทามติ
ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท หากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความหรือการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยเฉพาะการตัดสินใจทางด้านวิชาการโดย GMRA จะต้องตัดสินแบบฉันมิตร โดยใช้การเจรจาและปรึกษาหารือกันโดยคณะกรรมการบริหารบันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจทำการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงได้โดยตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกันของภาคีทั้งหมด
ภาคีใด ๆ ในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้อาจถอนตัวหรือระงับการเข้าไปมีส่วนร่วมภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ชั่วคราว โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ประธานคณะกรรมการบริหารทราบ ซึ่งประธานจะได้ประกาศให้ภาคีอื่น ๆ ทราบในทันที การประกาศถอนตัวหรือการระงับชั่วคราวจะมีผล 1ปี หลังจากวันที่ได้แจ้งในประกาศหรือวันที่ได้รับประกาศเว้นแต่ภาคีจะมีความเห็นร่วมกันเป็นอย่างอื่น นอกจากจะตกลงกันโดยภาคีอื่น ๆ ตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้แล้ว ประกาศดังกล่าวจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายหรือทำให้ภาคีที่ออกประกาศนั้นพ้นจากความรับผิดชอบในการเข้าร่วมแผนงาน โครงการ การศึกษาหรือกิจกรรมอื่น ๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น