xs
xsm
sm
md
lg

7องค์กรเอกชนร้องหาคนกลางเจรจา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - 7องค์กรภาคเอกชนแถลงเรียกร้องยุติขัดแย้งการเมือง และใช้ความรุนแรง หาคนกลางตั้งโต๊ะเจรจาทุกด้านก่อนเลือกตั้งใหม่ ย้ำหากยืดเยื้อไม่จบเศรษฐกิจระส่ำแน่ ไทยอาจก้าวสู่รัฐล้มเหลว หรืออนาธิปไตย วอนทุกฝ่ายเห็นแก่ชาติ ท่องเที่ยวผวาธ.ค.นี้นักท่องเที่ยวหาย 5 แสนคนสูญ 2.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนชะลอ สัปดาห์เดียวเทขายหุ้นแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันซึ่งประกอบด้วยสภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)และสมาคมธนาคารไทย หรือ กกร. เปิดเผยหลังการประชุม กกร. ว่า เครือข่ายภาคเอกชนได้แก่ กกร. สภาอุตาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทสไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้หารือร่วมกันเพื่อแถลงจุดยืนในการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและการกระทำอันนำไปสู่ความรุนแรงที่ขณะนี้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มส่งผลเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเศรษฐกิจของประเทศและหากไม่ยุติจะลุกลามมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอเรียกร้องทุกฝ่าย 4 ข้อ ได้แก่ 1. เอกชนพร้อมที่จะร่วมหาทางออกให้กับประเทศไทยโดยยึดหลักการของกฏหมาย ความถูกต้องชอบธรรม ตามหลักของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี โดยจะร่วมกับสถาบันต่างๆ อาทิ สถาบันเอกชน การศึกษา สื่อมวลชน รวมถึงผู้ที่เป็นที่ยอมรับของสังคม 2.ปัญหาข้อขัดแย้งควรแก้ไขด้วยการเจรจาไม่ใช้ความรุนแรงหรือการกระทำที่ไม่เคารพกฏหมายและกติกาประชาธิปไตย ซึ่งเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนทุกฝ่ายที่ได้ริเริ่มให้เจรจา และยินดีร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทุกทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ
3. การแสดงความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิอันชอบธรรมภายใต้กรอบแห่งกฏหมาย อย่างไรก็ตามเอกชนไม่เห็นด้วยกับกระบวนการที่ทำให้เกิดความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของชาติและเห็นว่าการเดินกลยุทธ์ทางการเมืองโดยตั้งเงื่อนไขจะนำไปสู่การสูญเสีย ทั้งนี้ผู้ใช้ความรุนแรงจนทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายและเสียเลือดเนื้อจะถูกจดจำและบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
และ 4.เอกชนเห็นว่าการทำตามกติกาโดยหาทางออกในวิถีประชาธิปไตยเพื่อไม่ให้บ้านเมืองเป็นไปในลักษณะเดิมภายหลังการเลือกตั้งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมาจึงขอเสนอให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อให้มีข้อยุติเบื้องต้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่โดยมีผู้แทนองค์กรที่เป็นที่ยอมรับของทุกๆฝ่ายร่วมเจรจาประเด็นต่างๆ

“ หากเหตุการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่และยืดเยื้อไทยจะถูกจัดเป็นรัฐล้มเหลว Failed State หรือ อนาธิปไตย จึงขอให้เรียกร้องให้ทั้งรัฐบาลและผู้ชุมนุมหาทางออกให้กับประเทศโดยสันติวิธีและขอแสดงความเสียใจต่อครอบครอบผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ อย่างไรก็ตามเอกชนดูแลด้านเศรษฐกิจคงไม่เสนอทางออกว่าจะต้องยุบสภาหรือลาออกอะไร แต่หากมีคนกลางซึ่งเป็นที่เชื่อใจของทุกฝ่ายเอกชนก็พร้อมที่จะเสนอตัวเข้าร่วมหาทางออก”นายอิสระกล่าว

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตฯท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่กังวลขณะนี้ปัญหาการเมืองหลายประเทศกำลังจะปรับระดับเตือนภัยจากระดับ 2 เป็น 5 หากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อนักท่องเที่ยวช่วงธ.ค.ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นให้หายไปราว 8-10% หรือประมาณ 5 แสนคนคิดเป็นมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่สำคัญภาพลักษณ์คนไทยที่เป็นคนเอื้ออารีย์ 10ปีมานี้เริ่มสั่นคลอนต้องการให้มีก้าวใหม่ที่ดีขึ้น

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อไตรมาส 4 เริ่มสั่นคลอนและจะกระทบไปถึงไตรมาสแรกปี ’57 ซึ่งเอกชนวิตกว่าจะไปทางไหนแน่ เช่นเดียวกับการลงทุนที่มองไทยเป็นฐานผลิตในภูมิภาคนี้หากการเมืองไม่ชัดเจนก็อาจหันไปเพื่อนบ้านแทนได้
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวว่า ปัญหาการเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศขายหุ้นออกมารวม 17,000 ล้านบาท เดือน พ.ย.รวมขายกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งปี2556 ขายไปแล้ว 150,000 ล้านบาท หากปัญหาไม่จบโดยเร็วจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปีนี้จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5% แต่ขณะนี้คงโตไม่ถึง 3% หรืออาจโตได้ 2% เท่านั้น
ส่วนปีหน้าจากที่คาดว่าจะโต 4-5% แต่ถ้าหาก ไม่รีบจบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอาจโตไม่ถึง 3%
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่มีม็อบเงินก็ไหลออกจากตลาดฯแล้ว 4,500 ล้านบาทและความไม่แน่นอนทางการเมืองก็คาดว่าจะทำให้เงินไหลออกต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น