xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เทพเทือก”บัวที่โผล่พ้นน้ำ “ปชป.” บัวที่ยังอยู่ “ใต้น้ำ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปรากฏการณ์ที่มวลมหาประชาชนชาวไทยพร้อมใจกันออกมานับเป็นล้านๆ คนเมื่อ “วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556” ที่ผ่านมาบนถนนราชดำเนิน ทั้งราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอกยาวเหยียดต่อเนื่องไปจนถึงสะพานปิ่นเกล้า สนามหลวง ยมราช หลานหลวง ถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ต้องบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยปรากฏว่า ในยุคใดสมัยใดจะมีคนไทยรวมตัวขับไล่รัฐบาลเป็นจำนวนมากมายมหาศาลขนาดนี้

นี่คือความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสภาทาสที่ลุแก่อำนาจปู้ยี้ปู้ยำประเทศด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยเพื่อล้างผิดให้กับคนโกงบ้านโกงเมือง

กระนั้นก็ดี คำถามและสิ่งที่จะต้องค้นหาคำตอบก็คือ ภาคประชาชนภายใต้การนำของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะจบลงอย่างไร เพราะดูเหมือนว่า รัฐบาลหุ่นเชิดรัฐบาลนี้จะหน้าด้านที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป ดังคำประกาศของหัวหน้ารัฐบาลว่า “ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนายสุเทพประกาศธงในการเคลื่อนมวลชนเด็ดขาดว่า ไม่ต้องการการยุบสภา ไม่ต้องการเจรจา แต่จะต้องมีการจัดตั้ง “สภาประชาชน” และ “สถาปนาอำนาจรัฐใหม่โดยประชาชน”

คำถามก็คือ นายสุเทพจะทำอย่างไรเพื่อให้เป้าหมายที่ได้ประกาศเอาไว้ต่อหน้ามวลมหาประชาชนประสบความสำเร็จ เพราะนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้เร็ว หากแต่ต้องใช้เวลา ซึ่งหมายความว่า นายสุเทพจะต้องมีมวลมหาประชาชนให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ที่สำคัญคือมวลมหาประชาชนดังกล่าวจะต้องมากทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะความเข้าใจที่มีต่อแก่นแกนความคิดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

**กำนันเทือกเลือกเส้นทางชีวิต ตั้งสภาประชาชน ปฏิรูปประเทศ

ทั้งนี้ ถ้าพิจารณา “หมาก” ตลอดรวมถึง “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณใช้ในปฏิบัติการโค่นล้มระบอบทักษิณจะเห็นได้ชัดเจนว่า มีความน่าสนใจ มีพัฒนาและยกระดับการชุมนุมได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งในแง่ของปริมาณด้วยแล้ว ต้องยอมรับว่า ไม่เคยมีการชุมนุมครั้งไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยทำได้ โดยมีจุดเริ่มต้นคือการออกกฎหมาย “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” ของระบอบทักษิณซึ่งประชาชนไม่ยอมรับ จากนั้นก็ขยายวงและพัฒนามาเป็นลำดับกระทั่งนำไปสู่การล้มระบอบทักษิณและขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เริ่มต้นที่สถานีรถไฟสามเสน ปักหลักยืนระยะอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และเพิ่มปริมาณถึงขีดสุดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556

แน่นอนว่าในวันนั้นเอง สังคมก็ได้ทราบว่า นายสุเทพจะเคลื่อนทัพเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณอย่างไร เมื่อเขาประกาศบนเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ว่า จะมีการเคลื่อนทัพประชาชน 13 ทัพออกจากถนนราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงบประมาณ สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 และช่อง 11 ก่อนที่จะจบลงที่การเคลื่อนทัพเข้าไปยึดสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังและกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงการเคลื่อนทัพล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ไปที่ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ปฏิบัติการของนายสุเทพในการยึดสถานที่ราชการต่างๆ โดยเฉพาะเป้าหมายหลัก 2 แห่งคือ กระทรวงการคลังและศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะนั้น เกิดผลกระทบกระเทือนกับรัฐบาลชุดนี้มากน้อยเพียงใด และจะเป็นปฏิบัติการที่จะนำไปสู่การจัดตั้งสภาประชาชนและการสถาปนาอำนาจรัฐโดยประชาชนได้อย่างไร

เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว เส้นทางเดินของนายสุเทพในขณะนี้ก็มิได้แตกต่างจากที่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยใช้ในการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณ ชินวัตรคือรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551 ด้วยการเคลื่อนทัพประชาชนเข้าไปยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิแต่ประการใด

มิหนำซ้ำน้ำหนักในการยึดกระทรวงการคลังและศูนย์ราชการของ นายสุ เทพ ดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปริวิตกแต่ประการใด เพราะพวกเขาเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ “นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว”

ดังนั้น สิ่งที่นายสุเทพประกาศว่า การชุมนุมจะปิดฉากภายใน 3 วันคือในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 จึงน่าจะไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นได้ง่ายๆ และมีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่าจะต้องสู้แบบยืดเยื้อต่อไป

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า ท่าทีและปฏิบัติการของนายสุเทพในขณะนี้ได้เดินทางมาจนถึงสุดซอยแล้วเช่นกันหลังจากที่เข้ายึดกระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการ เพราะการที่นายสุเทพประกาศยกระดับการชุมนุมออกมาอย่างชัดแจ้งว่า จะมีการจัดตั้ง “สภาประชาชน” และ “สถาปนาอำนาจรัฐใหม่โดยประชาชน” ถือเป็นโมเดลความคิดที่สามารถใช้คำว่า “ตกผลึก” แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นนายสุเทพคงไม่ประกาศต่อหน้าธารกำนัลและสื่อมวลชนเช่นนี้

“การชุมนุมในครั้งนี้และการเข้ายึดสถานที่ราชการต่างๆ ในวันนี้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังประชาชนที่รักชาติให้ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณ ซึ่งจะไม่มีการเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่วันที่ออกมาปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยหลังจากนี้จะดำเนินการตั้งรัฐบาลประชาชน และจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผูกขาดมาตลอด

ส่วนการจะตั้งใครเป็นนายกฯ ก็ถือเป็นอำนาจของประชาชน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นกระบวนการของภาคประชาชน ไม่ใช่ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอยืนยันว่า ผมไม่ใช่กบฏ แต่คนที่เป็นกบฏคือรัฐบาล ผมจะไม่ยอมยุติการชุมนุมจนกว่าจะล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดไปจากประเทศไทย”

นอกจากนี้ ในวันถัดมานายสุเทพได้ขยายแนวความคิดดังกล่าวออกมาโดยละเอียดเป็น 6 แนวทางด้วยกัน ซึ่งก็ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

แนวความคิดปฏิรูปประเทศทั้ง 6 ข้อประกอบไปด้วย

1.ทำการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเพราะรากเหง้าของปัญหาในขณะนี้มาจากกระบวนการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ เพราะมีการเปิดโอกาสซื้อสิทธิขายเสียงจึงทำให้คนจำนวนหนึ่งชนะการเลือกตั้งเข้าไปในสภา ซึ่งไม่ใช่ผู้แทนที่แท้จริง เพราะไม่ได้ใจประชาชน แต่เป็นการซื้อเสียงมา เป็นระบบทุนสามานย์

2.ปราบคอร์รัปชั่นให้ได้ เช่น ต้องอบรมลูกหลานไม่ให้ยกย่องคนชั่ว คนมีเงินจากการทุจริต การออกกฎหมายให้ข้อหาคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ ต้องทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องทำกฎหมายปราบคอร์รัปชั่นเด็ดขาดออกมาให้ได้

3.ต้องให้เคารพในอำนาจประชาชนอย่างแท้จริง ต้องมีบทบัญญัติที่ให้ประชาชนมีอำนาจในการเมืองการปกครอง เช่น ต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.ได้ ต้องมีกระบวนการที่รับรองอำนาจของประชาชนถอดถอนในเวลาที่ไม่ยืดยาว เห็นผลภายใน 5-6 เดือน นอกจากนี้ต้องกระจายอำนาจในการปกครองบ้านเมืองไปอยู่ในมือของประชาชนคือ ท้องถิ่น ต่างจังหวัดต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแบบกรุงเทพฯไม่ใช่แต่งตั้งมาจากส่วนกลาง ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการซื้อตำแหน่ง

4.ต้องปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ต้องให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความดีความชอบแก่ตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ต้องเป็นประชาชนไม่ใช่ตำรวจด้วยกัน ต่อไปถ้าตำรวจจะได้ดีต้องได้ดีเพราะประชาชนเห็นคุณความดี รวมทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องอยู่ภายใต้ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ไม่ใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดอื่นก็เช่นเดียวกันตำรวจต้องอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด

5.ต้องออกแบบระบบกฎหมายให้ข้าราชการอยู่ในระบบคุณธรรม ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ซื้อขายตำแหน่งเล่นพรรคพวก

6.เปลี่ยนแปลงปัญหาพื้นฐานการศึกษา คมนาคม ขนส่ง สาธารณสุข ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ เรื่องของคนจนต้องเป็นวาระแห่งชาติไม่ใช่นโยบายประชานิยม นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่มีการออกกฎหมายยุบยิบให้ต้องขออนุญาตทุกเรื่องเพื่อเป็นเครื่องมอหากินของเจ้าหน้าที่ แต่รัฐบาลต้องส่งเสริมธุรกิจให้แข่งขันกับต่างชาติได้ ไม่ใช่ผูกขาดไว้ในมือรัฐบาล เช่น การค้าข้าว

ทั้งนี้ นายสุเทพประกาศชัดเจนด้วยว่า ประชาชนจะเป็นผู้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลง โดยมีการตั้งสภาประชาชนมาจากคนทุกฝ่าย แล้วให้สภาประชาชนคัดเลือกคนดีมาเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี สร้างคณะรัฐมนตรีในฝันเป็นรัฐบาลของประชาชน

แต่ที่เด็ดที่สุดคือการที่นายสุเทพประกาศว่า

“ผมสุเทพ เทือกสุบรรณไม่ขอเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้ออกมาต่อสู้เพราะความกระสันอยากเป็นนายกฯ แต่มาสู้เพื่อชาติ และไม่ได้คิดต่อสู้ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ นายอภิสิทธิ์บอกผมเองว่า เขาไม่ขอมีตำแหน่งในการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น และไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประโยชน์ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะแกนนำทั้ง 9 คนลาออกมาแล้ว”

การประกาศดังกล่าวทำให้ประชาชนมั่นใจว่า นายสุเทพไม่ได้ต้องการชุมนุมแค่เพียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาลเหมือนเช่นที่ประชาชนเคยสงสัย หากแต่ต่อสู้ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองอย่างแท้จริง แต่นั่นก็ทำให้นายสุเทพเหลือทางเลือกในชีวิตเพียงแค่ 2 ทางเท่านั้นดังที่ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้คำว่า ไม่เป็น “ผู้นำการปฏิวัติโดยประชาชน” ก็เป็น “กบฏ”

หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ถ้าแพ้ก็ติดคุกชนิดไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน

เหมือนดังที่นายสุเทพกล่าวเอาไว้ว่า “ถ้าวันนี้ผมแพ้ ก็จะยอมเป็นขี้ข้ามันเพราะทำเต็มที่แล้ว”

นี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตหลังจากที่นายสุเทพตัดสินใจถอดหัวโขนความเป็นนักการเมืองออกและกลายสภาพมาเป็นผู้นำภาคประชาชนในการต่อสู้กับระบอบทักษิณร่วมกับมวลมหาประชาชนที่พร้อมจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับเขา

แน่นอน การประกาศดังกล่าวได้รับการตอบรับจากมวลมหาประชาชน ภาคธุรกิจและนักวิชาการอยู่ไม่น้อย

ดังเช่นแนวคิดของ นายบัณฑูร ลำซ่ำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทยที่กล่าวถึงทางออกของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหา ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องหาทางออกร่วมกันบนกรอบกติกาที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้ และนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักจึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ลักษณะอย่างไรที่จะทำให้ไม่ลุกขึ้นมาเผาบ้านเผาเมืองทั้งโดยตรงและโดยนัย

ทว่า ก่อนที่นายสุเทพจะสามารถทำตามเส้นทางแห่งความฝันตามที่ได้ประกาศไว้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

โดยเฉพาะด่านแรกที่ประชาชนยังสงสัยว่า แล้วนายสุเทพจะชนะ จะโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะโค่นล้มระบอบทักษิณและก้าวขึ้นเป็นผู้นำการปฏิวัติโดยประชาชนเพื่อก้าวไปสู่การปฏิรูปประเทศตาม 6 แนวทางได้อย่างไร

ความสำเร็จของการชุมนุมภาคประชาชนภายใต้การนำของนายสุเทพขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

หนึ่ง-คุณภาพของมวลชน เพราะการชุมนุมที่มีจำนวนเข้าร่วมมากมายมหาศาลเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์สะดุ้งสะเทือน เพราะโคลนนิ่งผู้พี่ประกาศชัดแล้วว่า สะกดคำว่าแพ้ไม่เป็น

แต่ไม่ได้หมายความว่า ปริมาณไม่สำคัญ

ปริมาณเป็นสิ่งสำคัญซึ่งนายสุเทพจะต้องรักษาปริมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมให้ยืนระยะในจำนวนที่มากพอ ถ้าจะลดลงก็ต้องลดลงในอัตราที่ไม่มาก

ทว่า สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นอยู่ตรงที่ “คุณภาพ” ของประชาชนที่พร้อมจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนายสุเทพ และเข้าใจโมเดลความคิดของนายสุเทพในเรื่องการจัดตั้ง “สภาประชาชน” และ “สถาปนาอำนาจรัฐใหม่โดยประชาชน” ได้เป็นอย่างดี

นี่ต่างหากคือโจทย์ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนายสุเทพ ดังเช่นที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแจ้งผ่านนายปานเทพ พังพงษ์พันธ์ว่า “ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลขอร้องให้พี่น้องประชาชนที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกไปช่วยคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้มากที่สุด ไปช่วยปกป้องคุ้มครองคุณสุเทพ เทือกสุบรรณที่กระทรวงการคลัง เพื่อการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยให้สำเร็จ”

พร้อมทั้งกล่าวย้ำอีกครั้งในวันต่อมาว่า “ต้องช่วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะถ้าหากแพ้ มันหมายถึงคนไทยทุกคนแพ้ อนาคตประเทศนี้คงจะต้องล่มสลายไปจริงๆ”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ ภาคประชาชนจะต้องพร้อมใจกันต่อสู้ด้วยความอดทนและไม่ย่อท้อเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่เพียงแค่ออกมาชุมนุมเพื่อถ่ายรูปแล้วนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก อินสตราแกรมหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เท่านั้น

แรงสนับสนุนของนายสนธิเกิดขึ้นหลังจากเห็นแล้วว่า แนวทางในการต่อสู้ของนายสุเทพมิได้ต่างจากแนวคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่าใดนัก

ทั้งนี้ เนื่องเพราะประสบการณ์ของนายสนธิที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เขารู้ดีว่า ชัยชนะของภาคประชาชนไม่ใช่เป็นสิ่งที่ได้มาโดยง่าย

ยิ่งเมื่อดูเกมของฝ่ายรัฐบาลด้วยแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่า ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ใช้ความหน้าด้านอดทนรอให้สถานการณ์คลี่คลาย เพราะพวกเขารู้ดีว่า ยิ่งนานวัน ภาคประชาชนก็ยิ่งอ่อนล้าหมดแรง ขณะเดียวกันก็ทุ่มทรัพยากรในการระดมคนเสื้อแดงออกมาเพื่อปกป้องรัฐบาลไปพร้อมๆ กัน

สอง-นอกจากประชาชนแล้ว สิ่งที่นายสุเทพจะต้องขยายแนวร่วมตามยุทธศาสตร์ที่ได้ประกาศเอาไว้ก็คือ ทำอย่างไรจะให้ “ข้าราชการ” ทุกกระทรวง ทบวง กรม กล้าพอที่จะประกาศตัวออกมาว่าต่อต้านระบอบทักษิณ และไม่ยอมรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีที่เคลื่อนประชาชนไปที่สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง

เหมือนดังเช่นที่ “กลุ่มแพทย์ชนบท” พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมนุม เครือข่ายผู้ป่วยทุกเครือข่ายและชมรมวิชาชีพทุกวิชาชีพของโรงพยาบาลชุมชน เปิดเกมคู่ขนานด้วยการยกขบวนไปที่บ้านนางสาวยิ่งลักษณ์เพื่อกดดันให้ปลด “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขออกจากตำแหน่งจากกรณี P4P

เหมือนดังเช่นที่สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) ซึ่งมีสมาชิก 45 สหภาพแรงงานมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สมาชิกทุกแห่งเข้าร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาชนทั่วประเทศ และขอให้สมาชิกลางาน 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2556

ทว่า เพียงแค่นั้นยังไม่พอ และจำต้องขยายแนวร่วมออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้ ข้าราชการไม่ยอมรับอำนาจของรัฐบาลอีกต่อไปและรัฐบาลจะตกอยู่ในสภาวะ “รัฐล้มเหลว”

แต่การจะไปถึงขั้นนั้นได้ต้องประกอบไปด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า ข้าราชการมีระเบียบปฏิบัติที่กำกับดูแลอยู่ เช่น มีจำนวนประชาชนออกมาร่วมต่อสู้เป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง จนทลายกำแพงแห่งความหวาดกลัวให้หมดไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทหาร” ที่ยังคงสงบนิ่งเป็นแมวนอนหวดอยู่ในขณะนี้

ยิ่งเมื่อสังคมได้รับรู้ผ่าน “คลิปถั่งเช่า” ด้วยแล้ว ยิ่งหมดความหวัง เพราะวันนี้ขุนทหารกลายเป็นทหารแตงโมไปจนหมดแล้ว โดยเฉพาะขุนทหารตัวเอ้ที่นักโทษชายหนีคดีถึงกับเอ่ยปากว่า “ผมไว้ใจไอ้ตู่มาก”

แน่นอน สังคมไม่ต้องการให้เกิดการรัฐประหารอีกต่อไป เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่ก็ต้องยอมรับว่า ท่าทีของทหารมีส่วนสำคัญต่อการแพ้ชนะ เพียงแค่ทหารยืนอยู่เคียงข้างประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

ทั้งนี้ การจะเดินไปถึงขั้นนั้นมิใช่จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพียงแต่ต้องมีประชาชนเคลื่อนออกมาสู่ท้องถนนในจำนวนที่มากทั้งปริมาณและคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ข้าราชการกล้าพอที่จะเลือกข้าง มากพอที่จะทำให้กลไกของระบบราชการในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้

**อภิสิทธิ์แทงกั๊ก ปชป.ลอยแพ “สุเทพ”??

อย่างไรก็ดี ก่อนถึงขั้นนั้น พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะต้องร่วมหัวจมท้ายต่อสู้แบบไม่มีกั๊กด้วยการประกาศลาออกจากความเป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)” หมดทั้งพรรคเพื่อดำเนินตามแนวทางของนายสุเทพในการตั้งสภาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศ

นี่คือความยาก

นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องตัดสินใจว่าจะเป็นบัวที่โผล่พ้นน้ำ หรือ เป็นบัวใต้น้ำที่ติดกับดักความเป็น ส.ส.อย่างไม่ลืมหูลืมตา

เพราะนับวัน ทางเดินของนายสุเทพจะคับแคบลงเรื่อย ๆ ยิ่งเมื่อตัดสินใจบุกยึดสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ตามต่อด้วยศูนย์ราชการด้วยแล้วก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เนื่องจากจะตามมาด้วยคดีความต่างๆ มากมายเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ขณะเดียวกันการเล่นเกมในสภา โดยใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพราะสุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลก็ใช้เสียงข้างมากลากไปยกมือชนะท่วมท้นดังปรากฏให้เห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุดที่พรรคฝ่ายค้านยื่นอภิปรายนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เสียงไว้วางใจ 297 เสียง ไม่ไว้วางใจ 134 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงมติ 5 ถือว่าที่ประชุมมีมติไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไป ขณะที่ นายจารุพงศ์ ได้เสียงไว้วางใจ 296 เสียง ไม่ไว้วางใจ 135 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

นอกจากนี้ สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะต้องตัดสินใจอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าสุดท้ายแล้วนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร จะเข้าร่วมเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งหรือ หรือจะตัดสินใจเดินไปในแนวทางของนายสุเทพ

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ก็ย่อมหมายความว่า ความพยายามของนายสุเทพล้มเหลว เพราะแม้ว่าโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเปิดโอกาสมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าระบบเลือกตั้งยังเป็นแบบเดิม พรรคเพื่อไทยก็จะยังคงความได้เปรียบ

แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเลือกเดินไปในแนวทางของนายสุเทพ นั่นหมายความว่า นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จะต้องปฏิเสธไม่เข้าร่วมรับสมัครเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่การปฏิรูปประเทศ

ข้าราชการจะกล้าได้อย่างไร ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเล่นเกมสองหน้าอย่างนี้

ยิ่งเมื่อชัดเจนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้ยุทธศาสตร์ซื้อเวลาทำให้ม็อบเหนื่อยล้าและอ่อนแรงด้วยการไม่ยุบสภา ไม่ลาออก ดังที่ประกาศเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนว่า “รัฐบาลยินดีรับฟังข้อเสนอ ข้อเรียกร้องของประชาชนทุกกลุ่มที่ชุมนุม ซึ่งยังยึดสถานที่ราชการอยู่ เพียงแต่ข้อเรียกร้องจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้มีการจัดตั้งสภาประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นจริงได้ ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดิฉันจึงขอยืนยันอีกครั้งว่า ดิฉันมีความตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะให้เกิดความร่วมมือในการหารือ เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศ ขจัดความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันที่เรื้อรังต่อเนื่องยาวนาน และสร้างความเสียหายให้กับประเทศมามากพอแล้ว ในการนี้ ดิฉันขอเสนอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม คืนสถานที่ราชการเพื่อให้กลไกระบบราชการเดินหน้าได้ต่อไปได้ และดิฉันจะเปิดเวทีพูดคุย เพราะรัฐบาลไม่ต้องการการเผชิญหน้า แต่รัฐบาลพร้อมที่จะร่วมมือในการหาแนวทางกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อวางกระบวนการแก้ไขปัญหาให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” พรรคประชาธิปัตย์ก็ยิ่งต้องตัดสินใจลาออก

แต่กลับกลายเป็นว่า ท่าทีของพลพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของนายสุเทพ ที่เคลื่อนม็อบยึดสถานที่ราชการ มีคนเปิดหน้าโชว์จุดยืนนั้นก่อนหน้านี้แล้ว คือ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรมว.คลัง โดยในวันที่ม็อบเข้ายึดกระทรวงการคลังนั้น นายกรณ์ ให้สัมภาษณ์เนชั่นทีวีว่า "ผมไม่สบายใจอยู่แล้วในกลยุทธ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม และพยายามพูดคุยกับผู้รับผิดชอบว่าต้องรักษาเกณฑ์ที่กำหนดไว้แต่แรก คือชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมุมมองของแกนนำคือรัฐบาลนี้ขาดความชอบธรรมแล้วตั้งแต่ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล แต่ ณ จุดนี้ก็อยากเตือนสติทุกคน จะทำอะไรก็ทำให้อยู่ในกรอบกฎหมาย เริ่มต้นจากรัฐบาลเองต้องเคารพหลักนิติรัฐ เคารพกลไกของศาล ของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐบาลปฏิเสธโดยชัดแจ้งจนทำให้ผู้ชุมนุมปรับท่าที แนววิธีที่จะใช้ในการต่อสู้กับรัฐบาล ผมไม่อยากเห็นท่าทีอย่างที่ผ่านมา แต่ผู้ที่จะสามารถแก้ปัญหาได้คือรัฐบาล แต่รัฐบาลกลับไม่มีท่าทีว่าจะแสดงออกอะไร คนออกมามากขนาดนี้ แทนที่จะคืนอำนาจให้ประชาชนโดยการยุบสภา ก็ปฏิเสธไม่ยุบไม่ลาออก และไม่บอกว่าจะทำอย่างไรเพื่อคลี่คลายอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน"

ในขณะเดียวกัน บรรดา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับข้อความที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ส่งถึง ส.ส.ของพรรคทุกคน โดยแจ้งว่า ห้ามส.ส.ทุกคนทำผิดกฎหมาย ซึ่งมีความหมายอื่นไปไม่ได้นอกจากว่า นายอภิสิทธิ์ และอาจจะรวมถึงนายชวน หลีกภัย ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคนั้น ไม่เห็นด้วยกับ แนวทางของนายสุเทพ โดยเฉพาะการเคลื่อนพลยึดสถานที่ราชการ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ตั้งธงไว้แค่ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น และยังยึดมั่นในระบบรัฐสภา ดังที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจยื่นอภิปรายนายกรัฐมนตรี ทั้งที่สถานการณ์มันฟ้องอยู่โทนโท่ว่าการต่อสู้ในระบบรัฐสภานั้น มันไม่ได้ผล การถอยสุดซอยในการดันกฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่ได้เป็นผลจากการต่อสู้ในสภา แต่เป็นเพราะพลังกดดันของม็อบ และนาทีนี้นายสุเทพ พร้อมกับมวลมหาประชาชนเดินเลยไปไกลมากถึงขั้นขับไล่ตระกูลชินวัตร ขับไล่ระบอบทักษิณ ให้พ้นจากแผ่นดินไทย ไม่ใช่แค่นิรโทษสุดซอยอย่างที่เริ่มต้น

นอกจากนี้ หลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ทันที โดยมีกระแสข่าวว่าทางพรรคได้วิเคราะห์ว่าควรจะต้องเดินไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อเป็นอีกแรงกดดันหนึ่งให้กับรัฐบาล จึงมี ส.ส.ส่วนหนึ่งเสนอให้ลาออกจาก ส.ส.ทั้งพรรค เพราะประเมินว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะต้องยุบสภา ดังนั้นจึงได้เตรียมที่จะเสนอให้ลาออกจาก ส.ส.ทั้งพรรคต่อที่ประชุมในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 แต่ก็มีบางส่วนแย้งว่าการลาออกทั้งพรรคไม่น่าจะมีผลสะเทือนต่อรัฐบาลเพราะหากรัฐบาลไม่ยุบสภา ก็จะทำให้สภายังอยู่ต่อไป อาจจะทำให้การต่อสู้ของพรรคเสียเปรียบ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 พรรคประชาธิปัตย์ก็ตกผลึกทางความคิดด้วยการมีมติที่จะไม่ให้ ส.ส.ของพรรคลาออก

นายอภิสิทธิ์ให้เหตุผลว่า “พรรคพร้อมสนับสนุนตามกฎหมายในฐานะ ส.ส.ที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ไปช่วยสนับสนุนตามอำนาจหน้าที่ อีกทั้ง พรรคให้เอกสิทธิ ส.ส.ทุกคนยกเว้นผู้ที่เป็นกรรมการบริหารพรรค สามารถไปร่วมเวทีชุมนุมได้อย่างอิสระ แต่มีเงื่อนไขว่า ห้ามอ้างถึงพรรค หรือดึงพรรคเข้าไปเกี่ยวข้อง และไม่อนุญาตให้ ส.ส.ลาออกเพิ่มอีก เพื่อต่อต้านระบอบทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์จะขับเคลื่อนแบบคู่ขนาน โดยมติพรรคได้มีการพูดคุยและเห็นพ้องว่า ต้องพิจารณาไปสู่การต่อสู้ที่ดีที่สุด และถ้าหากการลาออกนำไปสู่ความสำเร็จ ทั้งพรรคพร้อมลาออก แต่ทั้งนี้ถ้าหากมีเงื่อนไข การลาออกสามารถล้มล้างระบอบทักษิณ ก็พร้อมลาออกโดยไม่ลังเล”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเล่นเกมสองหน้าแทงกั๊กเหมือนเดิม

และนั่นหมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเดินหน้ายึดมั่นในระบบรัฐสภาเพื่อรักษาพรรคของตนเองเอาไว้ ไม่ยอมสลัดหัวโขนแล้วหันมาคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

แต่ที่สำคัญที่สุด ท่าที่ของพรรคประชาธิปัตย์มิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์นำโดยนายอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับการบุกยึดสถานที่ราชการของนายสุเทพ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปประเทศด้วยการตั้งสภาประชาชนและรัฐบาลที่สถาปนาขึ้นโดยประชาชนของนายสุเทพ

ถามว่า ในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่กล้าเสียสละตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่างแล้วจะเรียกร้องให้ประชาชน ตลอดรวมถึงข้าราชการเสียสละได้อย่างไร

“ภารกิจของนายสุเทพถือว่าสำเร็จแล้ว และต้องชมเชยที่สามารถระดมมวลชนได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งวันนี้แม้ว่าจะแพ้หรือชนะก็คงไม่สำคัญแล้ว เพราะได้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เห็นอย่างน้อย 2-3 อย่าง ประการแรก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือนักโทษชาย ไม่สามารถกลับบ้านได้ ปิดประตูที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทย 2. พรรคเพื่อไทยจะไม่ยิ่งใหญ่หรือมีบารมีมากกว่าเดิม 3. สื่อมวลชนเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงกลับมานำเสนอข่าวกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น มีการเสนอภาพ และวิเคราะห์ข่าวมากขึ้น พรรคเพื่อไทยก็จะไม่อหังการเหมือนเดิม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ตกต่ำลง กว่าเก่า เหตุผลเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนนายสุเทพ เปรียบเสมือนกึ่งลอยแพ”นายสนธิให้ความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของนายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์อย่างตรงไปตรงมา

ยิ่งเมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ประกาศท่าทีผ่านการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 ทางเดินของนายสุเทพก็ยิ่งคับแคบ

ยิ่งเมื่อนายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจแทงกั๊ก หนทางของนายสุเทพก็ยิ่งคับแคบหนักเข้าไปอีก

ด้วยเหตุดังกล่าว การต่อสู้นับจากนี้ไป นายสุเทพจำต้องอาศัยพลังของมวลมหาประชาชนเพื่อสร้างการปฏิรูปประเทศด้วยตนเอง

วันนี้ นายสุเทพคงรู้ซึ้งแล้วว่า พรรคการเมืองที่ตัวเองเคยสังกัดเป็นอย่างไร









กำลังโหลดความคิดเห็น