xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจากเวทีชุมนุม : สัญญาณเตือนรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในขณะนี้ ถ้าใครเดินทางผ่านถนนราชดำเนิน จะเห็นคนจำนวนมากทั้งยืน และนั่งบนพื้นถนนเกือบจะเต็มพื้นที่จากสะพานมัฆวานฯ ไปจนถึงสี่แยกคอกวัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลากลางคืนเริ่มตั้งแต่ 18.00 น.ไปจนถึงเที่ยงคืน

คนเหล่านี้มาทำไม? มาแล้วได้อะไร? และจะเลิกมาเมื่อไหร่?

โดยปกติคนไทยรักสงบ ไม่ชอบความสับสนวุ่นวาย ไม่ชอบเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง และเรื่องของคนอื่น ด้วยยึดหลักที่ว่าชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์

ดังนั้น ถ้าคนสนใจเรื่องใด เรื่องนั้นจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ และมีผลกระทบถึงตนในทางลบค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้ เรื่องที่พวกเขาออกมาชุมนุมคัดค้านที่ถนนราชดำเนินคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับยกเข่ง จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนหมดความอดทน และเป็นเหตุจูงใจอย่างแรงกล้าให้ออกมาคัดค้าน จะเห็นได้จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้มาชุมนุม และการขึ้นไประบายความในใจบนเวทีของแต่ละคน

อันที่จริง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมิใช่เป็นเรื่องแรกที่ทำให้ประชาชนไม่ชอบพฤติกรรมของรัฐบาลชุดนี้ แต่พฤติกรรมการโกงกินที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อ เช่น การรับจำนำข้าวขาดทุน และส่วนหนึ่งของการขาดทุนมาจากการรั่วไหลในขั้นตอนดำเนินการ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อสนองความต้องการทางการเมือง ปูทางไปสู่การได้มาซึ่งอำนาจรัฐเพื่อจะได้ใช้อำนาจที่ว่านี้แสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยมีกฎหมายรองรับความชอบธรรมในการแสวงหาในทำนองผิดศีลธรรม จริยธรรม แต่ถูกกฎหมาย จึงเท่ากับการออกกฎหมายเปลี่ยนความผิดให้ถูกนั่นเอง

จะเห็นเป็นตัวอย่างชัดในกรณีของการแก้กฎหมายที่ว่าการถือครองหุ้นของคนต่างชาติ เพื่อรองรับการขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กในยุคของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และกำลังจะเกิดขึ้นในกรณีของการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในยุคของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งผู้รู้หลายท่านได้ออกมาคาดการณ์ว่าเพื่อรองรับการเจรจาทำสัญญากับต่างประเทศของกลุ่มทุนทางการเมือง ที่เป็นฐานทางด้านการเงินให้แก่นักเลือกตั้ง ซึ่งเป็นมือเป็นเท้าในการแก้กฎหมายตามคำบงการของตนเอง

แต่มูลเหตุจูงใจอันสำคัญที่ทำให้ประชาชนออกมาเป็นจำนวนแสนที่ถนนราชดำเนิน และเป็นหลายแสนถ้านับรวมทั่วประเทศ ก็คือการออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งที่ทำให้ผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาเผาบ้านเผาเมือง เข่นฆ่าประชาชน และเจ้าหน้าที่ทหาร รวมไปถึงผู้กระทำผิดในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในศาล อยู่ในคุกและหนีคุก จากการพิพากษาตัดสินของศาลถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับกระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ไม่ชอบด้วยหลักการแห่งประชาธิปไตย ซึ่งให้โอกาสเสียงข้างน้อยแสดงความคิดเห็นโดยเสรี ภายใต้ข้อสงสัยของสภาฯ ที่ว่าด้วยการประชุมและไม่ใช้เสียงข้างมากปิดกั้นโอกาสในลักษณะของพวกมากลากไปในบริบทของเผด็จการสภาฯ

จะเห็นได้จากการประท้วง และเสนอปิดการอภิปราย ทั้งๆ ที่มีผู้สงวนคำแปรญัตติจากพรรคฝ่ายค้านยังไม่ได้อภิปรายเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญคือการไม่ฟังเหตุผลใดๆ จากเสียงข้างน้อย แต่เดินหน้าลงมติผ่าน 3 วาระอย่างเร่งรีบตามธงที่ผู้บงการสั่งมา และนี่เองคือจุดเดือดที่อยู่เหนือความอดทนของคนไทยทั่วประเทศในทุกภาคส่วนของสังคม การออกมาชุมนุมบนท้องถนนจึงเกิดขึ้นที่ถนนราชดำเนิน และในหลายจังหวัด รวมถึงคนไทยในต่างประเทศด้วย

จากการที่ประชาชนออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างท่วมท้น จึงทำให้รัฐบาลสั่งถอยโดยส่งสัญญาณให้วุฒิสภาซึ่ง ส.ว.ส่วนหนึ่ง และอาจเป็นส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนทางการเมืองข้างรัฐบาล ลงมติไม่รับหลักการ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกส่งกลับสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ในภาวะนิ่งอยู่ 180 วัน แต่หลังจากนี้ ถ้ามี ส.ส.คนใดก็ได้หยิบยกขึ้นมาเสนอสภาฯ โดยมีผู้รับรอง 20 คนก็จะทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ฟื้นขึ้นมามีฤทธิ์เดชอีกครั้ง และถ้าเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรมของประเทศ และเป็นเหตุให้ต่างประเทศมองประชาธิปไตยของไทยถ่อยและเถื่อน ไม่ต่างไปจากเผด็จการในประเทศด้อยพัฒนา และนี่ก็อีกประการหนึ่ง ที่ประชาชนผู้มีความรู้ มีความเข้าใจการเมืองเฉกเช่นประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองในระยะหลายปีที่ผ่านมา ยอมรับไม่ได้ และคัดค้านต่อไป

ถ้าประชาชนไม่ยอมถอย และรัฐบาลไม่ยอมถอยอย่างจริงจัง แต่เล่นบทไม่รู้ไม่เกี่ยวเป็นเรื่องของสภาฯ อะไรจะเกิดขึ้นและจบลงอย่างไร?

จากคำถามข้างต้น ถ้านำมาพิจารณาหาคำตอบโดยการนำอัตวิสัยของแกนนำม็อบ และของผู้นำรัฐบาล รวมไปถึงอัตวิสัยของผู้บงการมาเปรียบเทียบ และพิจารณาควบคู่ไปกับภาวะแวดล้อมทางการเมือง ก็พอจะอนุมานผลที่จะเกิดขึ้นดังต่อไปนี้

1. ความขัดแย้งแตกแยกในทางการเมืองจะเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการที่แกนนำม็อบเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศยกระดับการต่อต้านให้เข้มข้นมากขึ้น และทางฝ่ายรัฐบาลได้เปิดทางให้กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมตอบโต้ และต่อต้านม็อบที่ชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และอาจยกระดับถึงขั้นขับไล่รัฐบาล

2. ในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องเรื่องที่มา ส.ว.และถ้ากลุ่มคนเสื้อแดงยกพวกไปล้อมศาล และแสดงพฤติกรรมกดดันในรูปแบบที่รุนแรง และในขณะเดียวกัน ม็อบจากราชดำเนินยกกำลังไปปกป้องและให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งสองกลุ่มอาจปะทะกันถึงขั้นบาดเจ็บและล้มตายเกิดขึ้น ถ้าสมมติฐานที่ว่านี้เกิดขึ้นจริง โอกาสที่กองทัพจะออกมาปกป้องประชาชน และระงับเหตุเพื่อรักษาความสงบจะเกิดขึ้น และอาจนำไปสู่การยึดอำนาจแล้วนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจปกครองประเทศ และปฏิรูปประเทศตามคำเรียกร้องของประชาชน โดยให้นักการเมืองเว้นวรรค 2-3 ปี และเมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยค่อยเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง

ทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงการคาดการณ์โดยอาศัยปัจจัยแวดล้อม และอนุมานด้วยตรรกะ

ส่วนว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จะต้องรอดูกันต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่ของศาสตร์พยากรณ์ก็อาจคาดการณ์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน และรัฐบาลชุดนี้จะต้องจบลงแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น