คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นตั้งคำถามกับนักธุรกิจไทยซึ่งเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กของผมว่า “ที่กรุงเทพฯ เขาประท้วงกันเรื่องอะไร?”
หลังจากได้คำตอบจากนักธุรกิจชาวไทยว่า “รัฐสภาไทยได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมยกเว้นความผิดทางการเมืองทุกกรณี รวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ว่าที่ต้องคำพิพากษาแล้ว หรืออยู่ในระหว่างกระบวนการระหว่างปี 2547 ถึง 2556 ประเทศนี้ต้องจัดงบประมาณคืนรวมทั้งดอกเบี้ยให้แก่นักการเมืองด้วย” นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นผู้นั้นซึ่งคงจะมีเครือข่ายกว้างขวางมาก กล่าวว่า “เท่าที่รู้ ประเทศด้อยพัฒนาแถบแอฟริกายังไม่เคยออกกฎหมายพรรค์อย่างนี้เลย”
หลังจากทราบจำนวนเงินที่เขียนให้ดูบนกระดาษแล้ว นักธุรกิจผู้นี้เอามือเกาหัวแล้วอุทานว่า
“ทำไมมันเยอะอย่างนี้วะ!”
ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการลุกขึ้นมาคัดค้านของประชาชนจำนวนมหาศาล เพราะหากเขาสามารถผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้จริง สถานะของประเทศไทยก็จะพลิกผันไปสู่ความตกต่ำที่สุดในโลก แม้แต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาสุดๆ เขาก็ไม่ทำกัน
สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มันได้พลิกผันจากสภาพไทยเฉย มาเป็นการลุกขึ้นสู้ของคนจำนวนมหาศาลหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเรียนและนักศึกษา ที่เคยเพิกเฉยมานาน
จุดพลิกผันที่สำคัญในขณะนี้ก็คือ ประชาชนได้เริ่มเห็นพลังที่แท้จริงของตนเองที่ได้ถูกมอมเมาให้หลงเชื่อไปพักหนึ่งว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้น การที่ประชาชนร่วมกันคัดค้านร่างกฎหมายล้างผิดคนโกง (ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน) นอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้สถานะของประเทศต้องตกต่ำลงไปอีกแล้ว ยังให้เห็นว่าพลังดังกล่าวเป็นพลังที่สร้างสรรค์
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า หลังจากที่ประชาชนได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาแล้ว พลังเหล่านี้เป็นพลังที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติ หรือกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ แม้จะมีความพยายามให้หยุดโดยอ้างว่ารัฐบาลเสียงข้างมากได้ถอนร่างกฎหมายออกไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้น ประชาชนควรจะใช้พลังดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนสังคมใหม่ไปในทิศทางใด หรือนำไปแก้ปัญหาใดของสังคมไทย (ซึ่งในสภาวะปกติจะแก้ไขได้ยากมาก)
บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์วิธีการหนึ่งซึ่งใช้ในการทำความเข้าใจต่อระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ เมื่อใช้วิธีการดังกล่าวเสร็จแล้ว นอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจระบบอย่างชัดเจนแล้ว ก็สามารถนำไปแก้ปัญหาของระบบนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้แรงน้อยแต่ได้ผลมาก แม้จะแก้ไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม และในตอนท้ายผมจะนำบทเรียนที่พลิกผันของฮ่องกง ที่สามารถเปลี่ยนจาก (รัฐ) ที่มีเคยมีการคอร์รัปชันมาก มาเป็น (รัฐ) ที่มีความโปร่งใส สะอาดมากในอันดับต้นๆ ของโลก
วิธีการดังกล่าวเรียกว่า การวิเคราะห์มิติ (Dimensional Analysis)
วิธีการนี้มี 4 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ ขั้นตอนหนึ่ง คือ พิจารณาว่าระบบที่เราสนใจนั้นมีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เช่น ถ้าจะหาพื้นที่วงกลมก็มีปัจจัยเดียว คือ รัศมี (เอาตัวอย่างที่ง่ายที่สุด) ถ้าจะหาความเร็วของกระแสน้ำก็มี 2 ปัจจัย คือ ความแตกต่างของระดับน้ำที่ 2 ตำแหน่ง กับความเร่งอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นต้น ขั้นตอนที่ 2 แปลงมิติของปัจจัยดังกล่าวออกมาเป็น 3 มิติหลักมูล คือ เวลา ระยะทาง และมวล ตอนที่ 3 จัดกลุ่มโดยการทำให้ไม่มีมิติ แล้วจะได้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม และขั้นสุดท้าย ทำการทดลองเพื่อหาค่าคงตัวที่ยังไม่ทราบ
สุดท้ายของวิธีการวิเคราะห์มิติดังกล่าว จะทำให้เราได้ขนาดมากน้อยของปัจจัยแต่ละกลุ่ม จากนั้นก็นำปัจจัยเหล่านั้นไปแก้ปัญหาตามที่เราอยากจะให้มันเป็น และสามารถแก้ได้ตรงจุด และมีประสิทธิภาพ
วิธีการนี้ได้นำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในทางวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ เช่น การเคลื่อนที่ของน้ำในแหล่งน้ำ อากาศยาน เป็นต้น
ผมเข้าใจว่า ในทางสังคมศาสตร์ก็มีวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยหลัก ปัจจัยรอง เหมือนกับวิธีวิเคราะห์มิติในวิทยาศาสตร์ แต่คงจะไม่ได้ขนาดที่เป็นตัวเลขชัดเจนเท่านั้น
ในทางวิทยาศาสตร์เราใช้เวลา ระยะทาง และมวลของวัตถุเป็นมิติหลักมูล ตอนนี้ผมคิด (เล่นๆ เพราะผมไม่มีความลึกซึ้งพอ) ว่า มิติหลักมูลในทางสังคมศาสตร์น่าจะเป็น ความโลภ ความโกรธ และความหลง ผมว่าทั้ง 3 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบหลักมูลของศีลธรรมของทั้งตัวบุคคล และสังคมครับ มิฉะนั้นท่านพุทธทาสภิกขุคงไม่กล่าวว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ”
ถ้าเราใช้วิธีการเดียวกันกับทางวิทยาศาสตร์ คือ ร่วมกันพิจารณาว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลทำให้คุณภาพของสังคมไทยตกต่ำ แล้วทำการวิเคราะห์มิติ ผมไม่ทราบว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร แต่ขอสมมติว่าเป็น การคอร์รัปชัน เป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาต่อสังคมไทยมากที่สุด
ดังนั้น อาศัยพลังทางสังคมที่กำลังตื่นตัวนี้มากำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในการต่อต้านการคอร์รัปชัน และสร้างสังคมที่ใสสะอาดให้ลูกหลาน ซึ่งในที่นี้ผมจะขอนำเรื่องราวที่ค้นได้จากเว็บไซต์ของฮ่องกงมาเล่าสู่กันฟัง
ฮ่องกง เคยเป็นรัฐ (ขอใช้คำนี้) ที่มีการคอร์รัปชันชุกชุมมาก มีการเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชากันทุกวงการ จนถึงขนาดว่าคนป่วยอยู่บนเตียงจะขอกระโถนอุจจาระก็ต้องโดนเรียกเก็บเงินก่อน
มูลเหตุนี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2500-2510 (ช่วงเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมในบ้านเรา แต่เศรษฐกิจบ้านเราเริ่มเติบโตในช่วงหลัง 2530) ที่เศรษฐกิจ และจำนวนประชากรเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคอุตสาหกรรม และการจัดการที่อยู่อาศัย กิจกรรมดังกล่าวจึงกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีให้แก่คนที่ไม่มีความเข้มแข็งทางศีลธรรมได้คอร์รัปชัน
การคอร์รัปชันได้สร้างปัญหาสำคัญไปทั่วเกาะฮ่องกง รัฐบาลในสมัยนั้นไม่มีพลังพอที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่ประชาชน จึงเริ่มกดดันให้รัฐบาลปราบปราม
และแล้วฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึงในปี 2516 เมื่อผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจ (ชาวอังกฤษชื่อ Peter Godber) ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ (มีทรัพย์สิน 4.3 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง) แล้วหลบหนีออกจากฮ่องกง นักศึกษา (เฮ) ได้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลถึงความล้มเหลวในการดำเนินคดี
คำขวัญในการประท้วง คือ “Fight Corruption, Arrest Godber” หรือ “ปราบคอร์รัปชัน จับ Godber เข้าคุก” ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในบ้านเรามากเลย เพียงแต่ว่า ของบ้านเราเกิดทีหลัง แต่วงเงินมากกว่านับแสนเท่า และมีหลายสิบคดีอย่างเป็นระบบ จนเรียกว่า “ระบอบทักษิณ”
ด้วยเสียงเรียกร้องดังกล่าว รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานใหม่ซึ่งแยกตัวออกมาจากสำนักงานตำรวจ เป็นหน่วยงานอิสระชื่อว่า “คณะกรรมการอิสระต่อต้านคอร์รัปชัน” (The Independent Commission Against Corruption- ICAC) ในปี 2517
องค์กรดังกล่าวสามารถนำตัว Godber ซึ่งหนีไปอังกฤษกลับมาขึ้นศาล และถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ในปี 2518 นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปราบปรามคอร์รัปชันในฮ่องกง ซึ่งผมอยากจะขอย้ำว่าเริ่มต้นจากพลังของคนหยิบมือเดียว ที่รวมตัวกันเป็นพลังมหาประชาชน บนเงื่อนไขที่มีแก่นสารที่สำคัญ บนความเดือดร้อนของประชาชน และสังคมก็ตอบรับอย่างแข็งขัน
ยุทธศาสตร์การทำงานของ ICAC ซึ่งเป็นองค์กรอิสระอยู่บน 3 ขา คือ (1) การบังคับใช้กฎหมาย (2) การป้องกัน และ (3) การให้การศึกษาแก่ประชาชน
ปัจจุบัน ฮ่องกงติดอันดับที่ 14 ของโลกในด้านความโปร่งใส ในขณะที่ประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 88 โดยที่แนวโน้มไม่ดีขึ้นเลย
ผมได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. เพื่อเปรียบเทียบกับเว็บของ ICAC (http://www.icac.org.hk) ทำให้เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การศึกษาแก่ประชาชนของทั้ง 2 องค์กร ยิ่งเมื่อทราบว่าหากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม (อัปยศ) ผ่านแล้วจะทำให้คดีที่ค้างอยู่ตกไปถึงกว่า 2 หมื่นคดี ยิ่งหดหู่ใจ ว่าเมื่อไหร่ปัญหาการโกงบ้านโกงเมืองของเราจึงจะลดลง
ผมชมคลิปการรณรงค์ของ ICAC ชุดหนึ่งแล้วเห็นความแตกต่าง เขาบอกว่า ร่วมสร้างสังคมในอนาคตที่สะอาด สังคมที่ไม่มีมลทินไว้ให้แก่คนในรุ่นอนาคต แต่รัฐบาลไทยชุดนี้กำลังจะก่อหนี้นานถึง 50 ปี ไว้ต้อนรับลูกหลานในอนาคต ทำไมประเทศเรากำลังเดินไปสู่นรก ในขณะที่ฮ่องกงกำลังก้าวไปสู่สวรรค์
นอกจากมีเอกสารวิชาการ รวมทั้งรายงานที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ทันสมัยแล้ว ยังมีโปสเตอร์รณรงค์ออกมาเป็นระยะๆ มีอยู่แผ่นหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ “ยึดมั่นในคุณค่าหลัก (Core Value) ของฮ่องกง มั่นคงต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน”
ถ้าถามว่าอะไรคือคุณค่าหลักของคนไทยในขณะนี้ ผมว่าน่าจะตอบกันไม่ถูกนะ
อาจารย์สอนกฎหมายในระดับวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ก่อนหน้าจะมีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในขณะนี้ ท่านได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาในชั้นเรียน พบว่า กว่าร้อยละ 60 ยอมรับการโกง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผลสำรวจพลิกผันทันทีครับ ผมจำตัวเลขไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการโกง นี่แสดงว่ากระแสสังคมมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของคนเราอย่างมาก
ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นการยืนยันว่า เราสามารถสร้างสังคมที่ดีงามได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย ขอแต่เพียงมีความมุ่งมั่น เอาจริงเอายัง และอาศัยจังหวะพลังของประชาชนเช่นในวันนี้
สุดท้าย ผมนำภาพ และประวัติของผู้บัญชาการตำรวจฮ่องกงที่โกงมาให้ดูด้วย พร้อมกุญแจมือเพื่อเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งครับ