xs
xsm
sm
md
lg

สถานะประเทศไทยจะ “พลิกผัน” ไปทางไหน? (บทเรียนจากฮ่องกง)

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นตั้งคำถามกับนักธุรกิจไทยซึ่งเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กของผมว่า “ที่กรุงเทพฯ เขาประท้วงกันเรื่องอะไร?”

หลังจากได้คำตอบจากนักธุรกิจชาวไทยว่า “รัฐสภาไทยได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมยกเว้นความผิดทางการเมืองทุกกรณีรวมทั้งการฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่ว่าที่ต้องคำพิพากษาแล้ว หรืออยู่ในระหว่างกระบวนการระหว่างปี 2547 ถึง 2556 ประเทศนี้ต้องจัดงบประมาณคืนรวมทั้งดอกเบี้ยให้กับนักการเมืองด้วย” นักธุรกิจชาวญี่ปุ่นผู้นั้นซึ่งคงจะมีเครือข่ายกว้างขวางมากกล่าวว่า “เท่าที่รู้ ประเทศด้อยพัฒนาแถบแอฟริกายังไม่เคยออกกฎหมายพรรค์อย่างนี้เลย”

หลังจากทราบจำนวนเงินที่เขียนให้ดูบนกระดาษแล้ว นักธุรกิจผู้นี้เอามือเกาหัวแล้วอุทานว่า

“ทำไมมันเยอะอย่างนี้ว่ะ!”

ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการลุกขึ้นมาคัดค้านของประชาชนจำนวนมหาศาล เพราะหากเขาสามารถผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้จริง สถานะของประเทศไทยก็จะพลิกผันไปสู่ความตกต่ำที่สุดในโลก แม้แต่ประเทศที่ด้อยพัฒนาสุดๆ เขาก็ไม่ทำกัน

สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มันได้พลิกผันจากสภาพไทยเฉยมาเป็นการลุกขึ้นสู้ของคนจำนวนมหาศาลหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเรียนและนักศึกษา ที่เคยเพิกเฉยมานาน

จุดพลิกผันที่สำคัญในขณะนี้ก็คือ ประชาชนได้เริ่มเห็นพลังที่แท้จริงของตนเองที่ได้ถูกมอมเมาให้หลงเชื่อไปพักหนึ่งว่า ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของเสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้น การที่ประชาชนร่วมกันคัดค้านร่างกฎหมายล้างผิดคนโกง (ที่ไม่มีประเทศไหนในโลกเขาทำกัน) นอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้สถานะของประเทศต้องตกต่ำลงไปอีกแล้ว ยังให้เห็นว่าพลังดังกล่าวเป็นพลังที่สร้างสรรค์

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า หลังจากที่ประชาชนได้ตื่นตัวลุกขึ้นมาแล้ว พลังเหล่านี้เป็นพลังที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ซึ่งเป็นกฎของธรรมชาติหรือกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ แม้จะมีความพยายามให้หยุดโดยอ้างว่ารัฐบาลเสียงข้างมากได้ถอนร่างกฎหมายออกไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้น ประชาชนควรจะใช้พลังดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนสังคมใหม่ไปในทิศทางใด หรือนำไปแก้ปัญหาใดของสังคมไทย (ซึ่งในสภาวะปกติจะแก้ไขได้ยากมาก)

บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์วิธีการหนึ่งซึ่งใช้ในการทำความเข้าใจต่อระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ เมื่อใช้วิธีการดังกล่าวเสร็จแล้วนอกจากจะช่วยให้เราเข้าใจระบบอย่างชัดเจนแล้ว ก็สามารถนำไปแก้ปัญหาของระบบนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ ใช้แรงน้อยแต่ได้ผลมาก แม้จะแก้ไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม และในตอนท้ายผมจะนำบทเรียนที่พลิกผันของฮ่องกง ที่สามารถเปลี่ยนจาก(รัฐ)ที่มีเคยมีการคอร์รัปชันมาก มาเป็น(รัฐ)ที่มีความโปร่งใส สะอาดมากในอันดับต้นๆ ของโลก

วิธีการดังกล่าวเรียกว่า การวิเคราะห์มิติ (Dimensional Analysis)

วิธีการนี้มี 4 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ ขั้นตอนหนึ่ง คือพิจารณาว่าระบบที่เราสนใจนั้นมีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง เช่น ถ้าจะหาพื้นที่วงกลมก็มีปัจจัยเดียว คือ รัศมี (เอาตัวอย่างที่ง่ายที่สุด) ถ้าจะหาความเร็วของกระแสน้ำก็มี 2 ปัจจัย คือ ความแตกต่างของระดับน้ำที่สองตำแหน่ง กับความเร่งอันเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นต้น ขั้นตอนที่สอง แปลงมิติของปัจจัยดังกล่าวออกมาเป็น 3 มิติหลักมูล คือ เวลา ระยะทาง และ มวล ตอนที่สาม จัดกลุ่มโดยการทำให้ไม่มีมิติ แล้วจะได้ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม และขั้นสุดท้าย ทำการทดลองเพื่อหาค่าคงตัวที่ยังไม่ทราบ

สุดท้ายของวิธีการวิเคราะห์มิติดังกล่าว จะทำให้เราได้ขนาดมากน้อยของปัจจัยแต่ละกลุ่ม จากนั้นก็นำปัจจัยเหล่านั้นไปแก้ปัญหาตามที่เราอยากจะให้มันเป็น และสามารถแก้ได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

วิธีการนี้ได้นำไปใช้กันอย่างกว้างขวางในทางวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบที่มีความซับซ้อนมากๆ เช่น การเคลื่อนที่ของน้ำในแหล่งน้ำ อากาศยาน เป็นต้น

ผมเข้าใจว่า ในทางสังคมศาสตร์ก็มีวิธีการวิเคราะห์ปัจจัยหลัก ปัจจัยรอง เหมือนกับวิธีวิเคราะห์มิติในวิทยาศาสตร์ แต่คงจะไม่ได้ขนาดที่เป็นตัวเลขชัดเจนเท่านั้น

ในทางวิทยาศาสตร์เราใช้เวลา ระยะทางและมวลของวัตถุเป็นมิติหลักมูล ตอนนี้ผมคิด (เล่นๆ เพราะผมไม่มีความลึกซึ้งพอ) ว่า มิติหลักมูลในทางสังคมศาสตร์น่าจะเป็น ความโลภ ความโกรธ และความหลง ผมว่าทั้ง 3 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบหลักมูลของศีลธรรมของทั้งตัวบุคคลและสังคมครับ มิฉะนั้นท่านพุทธทาสภิกขุคงไม่กล่าวว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ”

ถ้าเราใช้วิธีการเดียวกันกับทางวิทยาศาสตร์ คือร่วมกันพิจารณาว่าปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลทำให้คุณภาพของสังคมไทยตกต่ำ แล้วทำการวิเคราะห์มิติ ผมไม่ทราบว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร แต่ขอสมมติว่าเป็น การคอร์รัปชัน เป็นปัจจัยที่สร้างปัญหาต่อสังคมไทยมากที่สุด

ดังนั้น อาศัยพลังทางสังคมที่กำลังตื่นตัวนี้มากำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในการต่อต้านการคอร์รัปชันและสร้างสังคมที่ใสสะอาดให้ลูกหลาน ซึ่งในที่นี้ผมจะขอนำเรื่องราวที่ค้นได้จากเว็บไซต์ของฮ่องกงมาเล่าสู่กันฟัง

ฮ่องกงเคยเป็นรัฐ (ขอใช้คำนี้) ที่มีการคอร์รัปชันชุกชุมมาก มีการเรียกค่าน้ำร้อนน้ำชากันทุกวงการ จนถึงขนาดว่าคนป่วยอยู่บนเตียงจะขอกระโถนอุจจาระก็ต้องโดนเรียกเก็บเงินก่อน

มูลเหตุนี้เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2500 -2510 (ช่วงเดียวกับที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมในบ้านเรา แต่เศรษฐกิจบ้านเราเริ่มเติบโตในช่วงหลัง 2530) ที่เศรษฐกิจและจำนวนประชากรเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการจัดการที่อยู่อาศัย กิจกรรมดังกล่าวจึงกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีให้กับคนที่ไม่มีความเข้มแข็งทางศีลธรรมได้คอร์รัปชัน

การคอร์รัปชันได้สร้างปัญหาสำคัญไปทั่วเกาะฮ่องกง รัฐบาลในสมัยนั้นไม่มีพลังพอที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับประชาชน จึงเริ่มกดดันให้รัฐบาลปราบปราม

และแล้วฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึงในปี 2516 เมื่อผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจ (ชาวอังกฤษชื่อ Peter Godber) ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ (มีทรัพย์สิน 4.3 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง) แล้วหลบหนีออกจากฮ่องกง นักศึกษา(เฮ)ได้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลถึงความล้มเหลวในการดำเนินคดี

คำขวัญในการประท้วง คือ “Fight Corruption, Arrest Godber” หรือ “ปราบคอร์รัปชัน จับ Godber เข้าคุก” ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานการณ์ในบ้านเรามากเลย เพียงแต่ว่า ของบ้านเราเกิดทีหลัง แต่วงเงินมากกว่านับแสนเท่า และมีหลายสิบคดีอย่างเป็นระบบ จนเรียกว่า “ระบอบทักษิณ”

ด้วยเสียงเรียกร้องดังกล่าว รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานใหม่ซึ่งแยกตัวออกมาจากสำนักงานตำรวจ เป็นหน่วยงานอิสระชื่อว่า “คณะกรรมการอิสระต่อต้านคอร์รัปชัน” (The Independent Commission Against Corruption- ICAC) ในปี 2517

องค์กรดังกล่าวสามารถนำตัว Godber ซึ่งหนีไปอังกฤษกลับมาขึ้นศาลและถูกตัดสินจำคุก 4 ปี ในปี 2518 นี่คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปราบปรามคอร์รัปชันในฮ่องกง ซึ่งผมอยากจะขอย้ำว่าเริ่มต้นจากพลังของคนหยิบมือเดียว ที่รวมตัวกันเป็นพลังมหาประชาชน บนเงื่อนไขที่มีแก่นสารที่สำคัญ บนความเดือดร้อนของประชาชน และสังคมก็ตอบรับอย่างแข็งขัน

ยุทธศาสตร์การทำงานของ ICAC ซึ่งเป็นองค์กรอิสระอยู่บน 3 ขา คือ (1) การบังคับใช้กฎหมาย (2) การป้องกัน และ (3) การให้การศึกษากับประชาชน

ปัจจุบันฮ่องกงติดอันดับที่ 14 ของโลกในด้านความโปร่งใส ในขณะที่ประเทศไทยเราอยู่ในอันดับที่ 88 โดยที่แนวโน้มไม่ดีขึ้นเลย

ผมได้เข้าไปดูเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. เพื่อเปรียบเทียบกับเว็บของ ICAC (http://www.icac.org.hk) ทำให้เห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การศึกษากับประชาชนของทั้งสององค์กร ยิ่งเมื่อทราบว่าหากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม (อัปยศ) ผ่านแล้วจะทำให้คดีที่ค้างอยู่ตกไปถึงกว่าสองหมื่นคดี ยิ่งหดหู่ใจ ว่าเมื่อไหร่ปัญหาการโกงบ้านโกงเมืองของเราจึงจะลดลง

ผมชมคลิปการรณรงค์ของ ICAC ชุดหนึ่งแล้วเห็นความแตกต่าง เขาบอกว่า ร่วมสร้างสังคมในอนาคตที่สะอาด สังคมที่ไม่มีมลทินไว้ให้กับคนในรุ่นอนาคต แต่รัฐบาลไทยชุดนี้กำลังจะก่อหนี้นานถึง 50 ปีไว้ต้อนรับลูกหลานในอนาคต ทำไมประเทศเรากำลังเดินไปสู่นรก ในขณะที่ฮ่องกงกำลังก้าวไปสู่สวรรค์

นอกจากมีเอกสารวิชาการรวมทั้งรายงานที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านคอร์รัปชันที่ทันสมัยแล้วยังมีโปสเตอร์รณรงค์ออกมาเป็นระยะๆ มีอยู่แผ่นหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ “ยึดมั่นในคุณค่าหลัก (Core Value) ของฮ่องกง มั่นคงต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน”

ถ้าถามว่าอะไรคือคุณค่าหลักของคนไทยในขณะนี้ ผมว่าน่าจะตอบกันไม่ถูกนะ


อาจารย์สอนกฎหมายในระดับวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า ก่อนหน้าจะมีการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในขณะนี้ ท่านได้สำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาในชั้นเรียน พบว่ากว่าร้อยละหกสิบยอมรับการโกง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ผลสำรวจพลิกผันทันทีครับ ผมจำตัวเลขไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการโกง นี่แสดงว่ากระแสสังคมมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของคนเราอย่างมาก

ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นการยืนยันว่า เราสามารถสร้างสังคมที่ดีงามได้โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย ขอแต่เพียงมีความมุ่งมั่น เอาจริงเอายังและอาศัยจังหวะพลังของประชาชน เช่นในวันนี้

สุดท้าย ผมนำภาพและประวัติของผู้บัญชาการตำรวจฮ่องกงที่โกงมาให้ดูด้วย พร้อมกุญแจมือเพื่อเป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น