xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อัยย่ะ! "ธาริต ปัญญาอ่อน" งัดกม.ข่มขู่ม็อบนกหวีด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- เวลานี้ต้องนับว่าเสียงนกหวีดของประชาชนได้ส่งฤทธิ์เดชปัดเป่าความชั่วร้าย ใครที่เจอเป่าไล่ถึงขั้นร้องโหยหวนออกมาว่ารับไม่ได้กันเลยทีเดียว

ปฏิบัติการอารยะขัดขืนของประชาชนที่เจอเหล่าสมุน นช.ทักษิณที่ไหนก็เอานกหวีดเป่าไล่ที่นั่น ได้ผลทันตาเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถึงขนาดออกอาการปัญญาอ่อนงัดกฎหมายมาเล่นงานกลับ ขณะที่ "พญาปลอด" นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่คุ้นเคยกันดีกับม็อบเพราะแกว่งปากหาเรื่องเป็นประจำทำเป็นสะดุ้งยิ้มแหยๆ ว่ารับได้ไม่เป็นไร

เรื่องนี้ นายธาริต ที่เปลี่ยนสีกลับลำมาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คนคุ้นเคยกันดีในยุคม็อบเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ได้แถลงถึงมาตรการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่มผู้คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ประชนชนเป่านกหวีดขับไล่ ถือว่าเป็นการยุยง ปลุกระดมให้คนในประเทศเกลียดชัง จนอาจนำไปสู่การใช้กำลัง ทั้งนี้ นายธาริตยังบอกกับพรรคพวกตัวเองว่า หากเจอใครเป่านกหวีดใส่ให้ทำการบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐานและให้รายงานกลับมาโดยเร็วที่สุด

โทษทัณฑ์ความผิดนั้น นายธาริตระบุว่า การกระทำของประชาชนที่ใช้อาวุธนกหวีดเล่นงาน เข้าข่ายความผิด 2 ข้อหา คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 ทำให้เกิดเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท และความผิดมาตรา 397 ทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งยังบอกอีกว่า ที่ประชาชนออกมาแสดงอารยะขัดขืนนั้น เป็นเพราะนายสุเทพโกรธแค้นเป็นการส่วนตัวที่ถูกดีเอสไอดำเนินคดีหลายครั้ง จนต้องยุยงให้ประชาชนแสดงความรังเกียจด้วยวิธีการขับไล่ด้วยนกหวีด ใช้มวลชนเป็นเครื่องมือทำลายกระบวนการยุติธรรมเพื่อปกปิดการกระทำผิดของตัวเอง

“นี่คือเหตุผลที่ดีเอสไอออกมาแจ้งเตือนว่า อย่าเข้าใจผิดว่าการยุยงให้เป่านกหวีดเป็นอารยะขัดขืนที่ทำได้ กฎหมายบ้านเมืองไม่ให้ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน การออกมาเป่านกหวีดขับไล่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดชัดเจน เราจึงต้องออกมาแจ้งเตือนกระตุกความคิดว่าออกมาทำอะไรก็ทำได้แต่อย่าทำผิดกฎหมาย”

ไม่น่าเชื่อว่าบุคคลที่มีสถานะเป็นถึงอธิบดีดีเอสไอ จะแสดงอาการทุรนทุรายได้ถึงเพียงนี้ ทั้งที่นกหวีดที่ต่อต้านอำนาจชั่วร้ายมีแต่เสียง ถือเป็นเพียงแค่อาวุธที่ประชาชนใช้ความอัดอั้น เสมือนหนึ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น และก็ไม่ได้เป็นการเป่าอย่างไร้เหตุผล ไม่มีเปลวเพลิงลุกโชนเหมือนเมื่อครั้งที่กลุ่มนปช.สมุนรับใช้พรรคเพื่อไทยเผาบ้านเผาเมือง เมื่อปี 2553 แต่อย่างใด

อย่างที่รู้กันดีว่า ธาริต เปลี่ยนสี ไปรับใช้พรรคเพื่อไทย ทำงานถวายตัวรับใช้นช.ทักษิณและน้องสาว เพื่อรักษาเก้าอี้อธิบดีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น แต่การลดเกรดตัวเองถึงขนาดใช้อำนาจมากลั่นแกล้งเอาผิดประชาชนคนเห็นต่างด้วยกฎหมายหยุมหยิม ปรับ 100บาท ก็เอา เป็นการทำเรื่องที่ไม่สมกับสถานะของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแม้แต่น้อย หรือนายธาริต จะถือว่า "นกหวีด" เป็นอาวุธร้ายแรงอยู่ในมือผู้ก่อการร้ายจัดอยู่ในข่ายคดีพิเศษที่คนระดับอธิบดีจะต้องลงมาเล่นเองอย่างนั้นหรือ?

หากนายธาริตจะบอกว่า การเป่านกหวีดผิดกฎหมาย สร้างความน่ารำคาญ นั่นก็แสดงให้เห็นธาตุแท้แล้วว่า การเรียกร้องอำนาจกลับคืนให้กลับประชาชนภายใต้สิทธิและเสรีภาพอันชอบธรรม นายธาริตเลือกที่จะปฏิเสธการช่วยเหลือประชาชน แต่เลือกทำงานรับใช้รัฐบาลเพื่อสนองประโยชน์ตัวเองเป็นสำคัญ

และที่กล่าวอ้างว่า ประชาชนที่เป่านกหวีดใส่นั้นกระทำการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน ก็อยากถามสักหน่อยว่า แล้วสิทธิที่ประชาชนเสียไปให้กับรัฐบาลที่อ้างอำนาจเสียงข้างมากร่างกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองนั้นไม่ได้ถูกละเมิดยิ่งกว่าหรือ

น่าเสียดายที่อุตส่าห์ร่ำเรียนจนถึงระดับสูง แต่จิตสำนึกที่จะใช้ความรู้ที่มีนั้น ทำประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมืองจริงๆ กลับมองไม่เห็น ถึงวันนี้ ถ้าสังคมจะประณามนายธาริตว่าเปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อม เมื่ออยู่ฝ่ายไหนก็จะทำงานถวายตัวให้กับนาย ไม่รู้แยกแยะผิดชอบชั่วดี ก็อย่าได้ไปถือโทษโกรธเคืองเพราะพฤติกรรมมันฟ้องออกไปในทำนองนั้น

อีกกรณีที่ประชาชนเป่านกหวีดแสดงพลังขับไล่สมุนนช.ทักษิณ ก็คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี

"พญาปลอด" เป็นผู้โชคดี ขณะลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่บริเวณโรงยิมเนเซียม สนามกีฬากลางจังหวัดพิจิตร มีประชาชนไม่เห็นด้วยจำนวน 500 คน นำโดยนายหน่อย เที่ยงธรรม พร้อมด้วยแกนนำชาวนา ตะโกนขับไล่พร้อมทั้งชูมือตบและเป่านกหวีด จนพญาปลอดทนอยู่ที่งานได้แค่ 15 นาทีก็ต้องเดินทางกลับไป

"รับได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอเพียงอย่าใช้คำหยาบหรือด่าต้นตระกูล ทุกคนใช้เสรีภาพแสดงออกได้ไม่โกรธ มีบางแห่งเมื่อเป่านกหวีดมาก็สนุกเป่าตอบเล่นไปก็ไม่มีอะไรรุนแรง"

ถือว่าพญาปลอดทำเนียนไม่รู้สึกรู้สา ผ่อนปรนความบ้าลงเพราะถูกมวลชนสั่งสอน เยาะเย้ย ในโซเชียลมีเดียมามากต่อมากแล้ว ถ้ายังจำกันได้ เมื่อครั้งที่พญาปลอดจัดเวทีเพื่อไทย เพื่ออนาคตประเทศไทย จ.เชียงใหม่ ได้พูดกับคนที่มาชุมนุมว่า ด่าม็อบว่าเป็นขยะน้อยไปต้องด่าไอ้เหี้ย !

จากนั้นไม่นานก็มีกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ว่าทำตัวไม่สมกับเป็นรัฐมนตรี สมควรลาออกไปให้พ้นๆ

มาคราวนี้ พญาปลอด ก็แก้สถานการณ์เฉพาะหน้าให้เป็นเรื่องตลกขบขัน เตรียมที่อุดหูที่ใช้กันในเครื่องบิน และบอกอีกว่าอยากจะแจกหูฟังซาวอะเบาท์ที่มีเพลงฟังให้คณะรัฐมนตรี และเพลงที่จะเปิดให้ฟังคือเพลง “รักคุณเข้าแล้ว เป็นไร..”

อย่างไรก็ตาม สำหรับการอ้างข้อกฎหมายมาจัดการกับม็อบนกหวีดของนายธาริตนั้น นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการสภาทนายความ ให้ความเห็นว่า คดีลักษณะอย่างนี้เหมือนกับข่มขู่ประชาชน การเป่านกหวีด การไปชุมนุมทางการเมือง มีกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เป็นสิทธิของพลเมือง มีสิทธิที่จะคัดค้านเมื่อผู้แทนที่เลือกเข้าไปบริหารประเทศไม่ถูกต้อง ทำให้บ้านเมืองเสียหาย

“รัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศมีสิทธิที่เรียกว่า สิทธิพลเมือง อยู่ดีๆ มาดำเนินคดีอย่างนี้ผมคิดว่าเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง .... การที่ดีเอสไอออกมาแถลงว่าการเป่านกหวีดขับไล่เข้าข่ายความผิดทางอาญามีโทษทางกฎหมาย ถ้าพิจารณาดูแล้วไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของดีเอสไอโดยตรง อันดับแรกเลยความผิดลหุโทษ ดีเอสไอ ไม่มีอำนาจ พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ มีกฎหมายว่า ข้อหาใดที่อยู่ในอำนาจของ ดีเอสไอ และมีคณะกรรมการพิจารณาว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ แล้วกรรมการชุดนั้นจะมีกรรมการจากหลายหน่วยงานเข้ามาเป็นกรรมการ

"ไม่ใช่ว่าจะพิจารณาให้เป็นคดีพิเศษโดยง่ายมันไม่ใช่ เพราะมันมีหลักอยู่แล้วว่า ใช้พ.ร.บ.คดีพิเศษมันมีกำหนดโทษฐานความผิดไว้ทั้งหมดกี่มูลฐาน ถ้านอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา21 อาจเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไม่ครอบคลุมไปถึง จึงพิจารณาว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ แต่นั่นต้องเป็นคดีร้ายแรงมีลักษณะเทียบเท่ากัน ไม่ใช่เอาคดีลหุโทษแบบนี้มาทำ ดีเอสไอ ไม่ควรมาทำ นี่เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ โรงพักก็ทำได้ ”

อย่างไรก็ตาม การเป่านกหวีด ไม่ได้มีความผิดทางกฎหมายโดยตรง เพียงแต่ว่าเข้าข่ายในเรื่องเสียงรบกวนในเรื่องสิทธิส่วนบุคลทำให้โยงเข้ากับความผิดทางอาญาดังที่ดีเอสไอกล่าวอ้าง ซึ่ง ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย ให้ความเห็นว่า โทษต่ำสุดทางอาญาก็คือ

ริบทรัพย์สินที่ใช้ในการทำความผิด ส่วนเสียงดังในที่สาธารณะมีกฎหมายปรับใช้ได้อยู่แล้ว เรื่องการก่อกวน ทำให้เกิดความวุ่นวายมากกว่า

แน่นอนว่า พฤติกรรมการเป่านกหวีดของประชาชนแสดงออกถึงนัยบางอย่าง ก่อผลกระทบต่อผู้ที่โดนพิษจากเสียงกรีดร้องของมัน

“เพราะเป็นการแสดงออกทางการเมืองของการไม่ยอมรับ เหมือนกับการโห่ไล่ แต่การเป่านกหวีดมันก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกาย ไม่ได้ไปกระทบถูกเนื้อต้องตัว แต่มันมีผลในเชิงจิตวิทยาเพราะว่าวันนี้ทุกคนเข้าใจว่านกหวีดป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมทางการเมือง เมื่อก่อนเรามีมือตบเท้าตบ แต่วันนี้กลายเป็นนกหวีด มันเป็นเป็นกิมมิคทางการเมืองที่เอามาใช้เพื่อดึงดูดคน เป็นเครื่องมือที่แสดงออกทางการเมืองที่สื่อสารชัดเจนได้ผล มีประสิทธิภาพ”

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว การออกมาข่มขู่ด้วยตัวบทกฎหมายก็ทำให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าใจตรงกันแล้วว่า แท้จริงแล้วสปิริตของคนเป็นอธิบดี กับคนที่เป็นรัฐมนตรีนั้นน่าหัวเราะเยาะแค่ไหน กลัวแม้กระทั่งเสียงนกหวีด

หรือไม่แน่ว่า เสียงนกหวีดอาจจะกรีดลึกบาดขั้วหัวใจ ไปกระตุ้นประสาทให้ตื่นรู้ว่า ตัวเองนั้นมีสถานะเป็นขี้ข้าดีๆ นี่เอง


ประชาชนขณะกำลังเป่านกหวีดไล่นายปลอดประสพ สุรัสวดี ขณะลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่บริเวณโรงยิมเนเซียม สนามกีฬากลางจังหวัดพิจิตร
ปลอดประสพ สุรัสวดี
กำลังโหลดความคิดเห็น