xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้สภาผัวเมียผิด ม.68 "ปู"ต้องรับผิดชอบ พท.ปากดีไม่รับคำตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6-3 แก้รัฐธรรมนูญที่มาส.ว. มิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งสอดไส้ กดบัตรแทน และมีมติ 5-4 เนื้อหาเข้าข่ายล้มการปกครอง ผิดมาตรา 68 วรรค 1 แต่ยังไม่เข้าข่ายเงื่อนไขยุบพรรค "รสนา" จี้ "ยิ่งลักษณ์" รับผิดชอบรีบนำขึ้นทูลเกล้าฯ ปชป.เตรียมเสนอป.ป.ช. ฟันอาญา 312 ส.ส.-ส.ว. พร้อมบี้ "ขุนค้อน-นิคม" ลาออก เพื่อไทยลั่นไม่รับคำตัดสิน ซัดศาลไม่มีอำนาจ ส่วน "ปู" งดจ้อ ด้าน "ยะใส"แนะปชป. ลาออก เลิกสังฆกรรมสภา

วานนี้ (20 พ.ย.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว ที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ และนายพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นขอให้วินิจฉัยกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวก รวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว. ไม่ชอบทั้งในเชิงรูปแบบ กระบวนการ และเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุมเพื่ออ่านคำวินิจฉัยส่วนตนและลงมติ ก่อนที่จะจัดทำคำวินิจฉัย เพื่อออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย

ต่อมาเวลา 13.26 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ เพื่อวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว. โดยนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการฯ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัยรวม โดยกล่าวถึงอำนาจของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุถึงรัฐธรรมนูญปี 50 หลักการประชาธิปไตย และยังกล่าวถึงการใช้เสียงข้างมากจนเป็นปัญหา ย่อมขัดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 3 วรรค 2 ขณะที่ มาตรา 216 วรรค 5 ก็ได้ระบุชัด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา เมื่อพิจารณาแล้วผู้ร้องใช้สิทธิ์ตาม มาตรา 68 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

นายสุพจน์กล่าวต่อว่า ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไข มิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และคณะยื่น แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญใน มาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว. ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที การกระทำดังกล่าว ถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่า ร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติ มาตรา 291 (1)

นอกจากนี้ การตัดสิทธิ์การอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คน ทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อยบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วัน นับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และขัดต่อหลักนิติธรรม ที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3

ต่อมา นายจรูญ อินทจาร ตุลาการฯ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นของการเสียบบัตรแสดงตน และลงคะแนนแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง คือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบ เสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่การใช้สิทธิ์ลงคะแนนตามหลักกฎหมาย และข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้น ระบุว่า สมาชิก 1 คน สามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้ เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นายจรูญแถลงอีกว่า ในส่วนการกระทำดังกล่าว ถือว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดให้มีส.ว.สรรหา ที่มาจากหลากหลายวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีแม่แบบมาจาก รัฐธรรมนูญ ปี 40 และได้นำข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว. จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มากำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัคร ต้องไม่เป็นสามีภรรยาและบุตร ของผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งหากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้ว ต้องเว้นวรรคการลงสมัครรอบใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนาให้องค์กรวุฒิสภา เป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และกลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ลงสมัครส.ว.ให้ใกล้เคียงกับผู้ลงสมัครส.ส. เท่ากับเป็นการแก้ไขไปสู่จุดสูญสิ้น เป็นการนำพาชาติถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นสภาผัวเมีย นำไปสู่การผูกขาด กระทบต่อการปกครองประเทศ เปิดช่องให้ผู้ที่สามารถควบคุมกลไกดังกล่าว ใช้วุฒิสภาให้ได้มาเพื่ออำนาจในการปกครอง อีกทั้งยังเป็นการทำลายการเป็นสภาถ่วงดุลของ ส.ว. ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไขที่พบว่า รวบรัด ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรค 1 และ 2, มาตรา 126 วรรค 1, มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 แต่ทั้งนี้ ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรค ด้วยมติเสียงเดียวกัน (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาคำต่อคำ หน้า 8)

*** เปิดตัวตุลาการเสียงข้างน้อย

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยประเด็นกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 นั้น 3 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี และนายเฉลิมพล เอกอุรุ ส่วนในประเด็นเนื้อหาสาระสำคัญของการแก้ไข ที่ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ว่าขัดหรือแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญนั้น 4 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย นายชัช นายอุดมศักดิ์ นายเฉลิมพล และนายบุญส่ง กุลบุปผา

ส่วนเหตุที่ศาลไม่วินิจฉัยยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง บัญญัติว่า หากพรรคการเมืองกระทำการล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศฯ ตามวรรคหนึ่ง จึงจะยุบพรรคการเมืองได้ แต่กรณีนี้ คณะตุลาการยังเห็นว่าเป็นการกระทำของส.ส.และส.ว. ที่มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรคการเมือง

***"รสนา"จี้"ยิ่งลักษณ์" รับผิดชอบ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ผู้ยื่นคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กล่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยเป็นไปตามที่พวกตนร้องไป เพื่อให้ร่างแก้ไขดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่ได้เรียกร้องเรื่องการยุบพรรค ซึ่งถือว่าคำวินิจฉัยของศาลที่ออกมา ตนพอใจแล้ว และคิดว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไปประกอบในการพิจารณากรณี ส.ว. ได้ยื่นเรื่องถอดถอน 310 ส.ส. เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.โดยมิชอบ

สำหรับความรับผิดชอบของ ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คน ที่ร่วมลงชื่อ และเห็นชอบผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เห็นว่า ที่ผ่านมา นักการเมืองของไทยไม่เคยรับผิดชอบทางการเมืองจากการกระทำของตัวเอง ต้องใช้ข้อกฎหมายบังคับ โดยตนเห็นว่าผู้ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องจากพวกตนได้ท้วงติงแล้วว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ได้รับรองอย่างถูกต้อง อยู่ระหว่างเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และให้ผู้อื่นที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งในพรรคเพื่อไทยก็มีหลายคน เช่นพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี

“เรื่องนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับเสียงข้างมากในสภาว่าการมีเสียงข้างมาก ไม่ใช่ว่าจะทำได้ถูกต้องเสมอไป ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และหลักนิติธรรม”น.ส.รสนา กล่าว

*** เตรียมฟันอาญา 312 ส.ส.-ส.ว.

นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สามารถแบ่งความผิดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มส.ส., กลุ่มส.ว., นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่วางตัวไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะนายนิคม ได้ร่วมลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงที่มาส.ว. โดยเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวและสาธารณะ ส่วนนายสมศักดิ์วางตัวไม่เป็นกลาง แต่คงไม่ได้ร่วมลงมติด้วย ส่วน ส.ส. และส.ว.กระทำผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะการแยก 3 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ต้องการให้มีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงที่มาส.ว. โดยให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งเป็นฐานเดียวกับ ส.ส. ทำให้อำนาจไปรวมอยู่ในเสียงข้างมากที่จะหนุนรัฐบาลอย่างเดียว ถือเป็นการขาดดุลยภาพและไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์

นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม และปลอมแปลงเอกสารราชการ ซึ่งเป็นโทษเดียวกันโดยยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกไม่มีมาตรา 116 วรรค 2 ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาโดยรู้ว่าเป็นเอกสารปลอมแปลง ถือว่ารู้เห็นเป็นใจร่วมกันปลอมแปลงเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 7 ปี

ส่วนคนที่กดบัตรแทนคนอื่น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยการกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีโทษจำคุก 5 ปีโดยประมาณ ซึ่งตนจะดำเนินการให้ประชาชนร้องทุกข์กล่าวโทษกับ ป.ป.ช. เพื่อนำ 312 คน เข้าสู่กระบวนการสอบสวน และส่งไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา 275 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมอยู่ด้วยในฐานะกดบัตรลงคะแนน ซึ่งต้องดำเนินการด้วย

***ปชป.จี้ "ขุนค้อน-นิคม" ลาออก

ด้านส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง เรียกร้องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ออกมาแสดงความรับผิดชอบ โดยการลาออกกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ที่มีการตัดสิทธิ์ ปิดโอกาสไม่ให้มีการอภิปราย พร้อมทั้งปล่อยให้มีการเสนอ ร่าง รัฐธรรมนูญปลอม และปล่อยให้ส.ส. กดบัตรแทนกัน รวมถึงในส่วนของการกำหนดวันแปรญัตติผิด

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลจากคำพิพากษา ส.ส.และส.ว. ทั้ง 312 คนได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอาญา ดังนั้น ทางพรรคจะยกร่างคำร้องเพื่อยื่นถอดถอน ส.ส.-ส.ว.312 คนต่อ ป.ป.ช.ต่อไป ทั้งนี้ คำวินิจฉัยมี 2 ประเด็นที่ชัดเจน คือ การปลอมแปลงเอกสารแก้ไขหลักการและเพิ่มมาตรานอกจากนี้ กรณีที่ทั้ง 312 คนประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลนั้น ถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) ในข้อหากระทำกบฏ โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นหัวหน้ากบฏ

เมื่อถามถึงการดำเนินการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วนั้นแนวทางการดำเนินการจะต้องเป็นอย่างไร นายวิรัตน์ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องถวายฯขอพระราชทานร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคืน และจะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการกราบบังคมทูล ลาออก เพราะได้ทูลเกล้าฯ ในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้เคยเตือนมาก่อนหน้านี้แล้ว

*** หน.เพื่อไทยลั่นไม่รับคำตัดสิน

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญว่า ไม่เข้าใจเจตนารมย์ของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ หรือไม่ ที่เห็นว่า ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ดีกว่าส.ว.เลือกตั้ง ตนยังคงยืนยันว่า ไม่ขอรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเอาคนแค่ 6-7 คน มาทำหน้าที่ตัดสินความถูกผิดของประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งท่าทีเราชัดเจนตั้งแต่การเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยเฉพาะประเด็นที่มาส.ว. ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดในระบอบประชาธิปไตย แต่พอแก้ไขแล้วก็กลับเป็นแบบนี้

เมื่อถามถึงเรื่องร่าง ที่ทูลเกล้าฯไปแล้วนั้น นายจารุพงศ์ กล่าวว่า ก็จะปล่อยให้ร่างที่ทูลเกล้าฯ คงอยู่แบบนั้น เพราะนายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯไปแล้ว ไม่สามารถถวายคำแนะนำได้ และไม่อาจก้าวล่วง เพราะเป็นพระราชอำนาจวินิจฉัยของพระองค์

เมื่อถามถึงกระแสกดดันที่จะตกอยู่กับนายกรัฐมนตรีนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่ควรกดดัน หรือกล่าวโทษมาที่นายกรัฐมนตรี แต่ควรกดดันไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้ขัดมาตรา 68 แต่ขัดต่อหลักการนิติรัฐ นิติธรรม ตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ

***ซัดศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัย

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ศาลระบุว่ามีอำนาจนั้น อาศัยมาตราอะไรในการรับคดีนี้ไว้ เพราะหากไม่มีอำนาจในการรับคดี ก็ไม่ต้องมาตัดสินหรอก เหมือนการไปฟ้องคดีอาญาที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณา หากวินิจฉัยว่า จำเลยทำความผิดต้องลงโทษ ถือว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่ผ่านด่านแรกเสียแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครจะไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ทุกเรื่อง ต้องมีกรณีที่รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสจึงจะร้องได้ จุดหลักตอนนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจรับคดีนี้ไว้หรือไม่ ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันในรายละเอียดอีกที

นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลค่อนข้างแปลก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ามีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องนี้ และเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าว ผิดทางเทคนิค ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่กลับไม่ตัดสิทธิ์การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค หรือยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด ดังนั้น การรับคำร้องและวินิจฉัยเรื่องนี้ ถือว่าจงใจกระทำขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง

*** "นิคม"งง คิดอะไรไม่ออก

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ก็ถือว่าเป็นโมฆะ หรือสูญเปล่า ทุกคนก็ยังงงอยู่ว่า จะต้องทำอย่างไร และต่อไป ถ้าจะออกกฎหมาย ก็จะออกยากขึ้นๆ ยังงงอยู่ ขอหาคำตอบก่อน

***"ยิ่งลักษณ์"พูดไม่ออกเพราะไม่มีสคริปต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.40 น. ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะนำคณะตุลาการศาลทหารขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานกองบิน 6 ดอนเมือง เพื่อเดินทางเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ และถวายรายงานประจำเดือน ณ ท้องพระโรงศาลาเริง วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ ในเวลา 17.00 น.

ทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินลงจากรถ สื่อมวลชน ก็เข้าไปสัมภาษณ์กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถึงขั้นยุบพรรคเพื่อไทย แต่นายกฯ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามใดๆ โดยยิ้มหวาน พร้อมกับกล่าวเพียงสั้นๆว่า “ขอขึ้นเครื่องก่อนนะคะ”

ทั้งนี้ หลังจากนายกฯ ได้ไปขึ้นเครื่องบินแล้ว คนใกล้ชิดได้บอกกับสื่อมวลชนว่า “วันนี้ท่านนายกฯ บอกแล้วว่าจะไม่ให้สัมภาษณ์ แต่จะให้สัมภาษณ์ในวันนี้ (21 พ.ย.)"

**"ยะใส"จี้ปชป.ลาออกไม่ร่วมสังฆกรรมสภา

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า หากบุคคลที่กระทำความผิดอย่างเจตนาและจงใจ ยังไม่แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเสียงข้างน้อยก็ควรประกาศลาออก ไม่สังฆกรรมกับเสียงข้างมาก ที่ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และทำผิดแล้วไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ โดยเห็นว่า การลาออกของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และเสียงข้างน้อยในขณะนี้ จะถือว่ามีความชอบธรรมสูง และสามารถอธิบายกับสังคมได้ว่าเสียงข้างมากในสภาฯ กำลังมีเจตนาทำลายหลักการปกครอง และการถ่วงดุลทางอำนาจ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น