xs
xsm
sm
md
lg

ต้องลงประชามติ และเอามาตรา 190 คืนมา ข้อเรียกร้องที่อาจหยุดยั้งการเสียดินแดน !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเมื่อ 51 ปีก่อนเราเสีย “ปราสาทพระวิหาร” เมื่อ 51 ปีผ่านเราเสีย “เขาพระวิหาร” โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเดียวกัน

แพ้ก็คือแพ้ เสียก็คือเสีย เบื้องต้นต้องพูดความจริงกันก่อน !

ถ้าจะบอกว่าไม่เสียถึง 4.6 ตารางกิโลเมตรตามที่กัมพูชาตัองการ ไม่เสียภูมะเขือ แล้วบอกว่าไทยชนะ หรือไม่แพ้ มันก็เหมือนการหลอกตัวเอง เพราะคำพิพากษาจะพลิกคว่ำตะแคงง่ายอ่านยังไงก็แปลความเป็นอื่นไม่ได้นอกจากว่าเราจะเสียดินแดนมากกว่าตามเส้นมติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2505 ประมาณ 4 ถึง 5 เท่า

แม้คำพิพากษาจะไม่มีแผนที่แนบ แต่ก็กำหนดแนวไว้ชัดเจนโดยลาลักษณ์อักษรสำหรับทางด้านทิศตะวันตก ส่วนทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้นั้นทั้ง 2 ประเทศยอมรับกันชัดเจนตามสภาพภูมิประเทศอยู่แล้ว มีอยู่แต่ทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ยังดิ้นได้ต้องเจรจากันต่อไปและหัวหน้าคณะทนายความฝ่ายไทยมั่นใจว่าคำพิพากษาวรรค 99 ทำให้ไทยไม่เสียเปรียบมาก เพราะการจะวางเส้นจากแผนที่ 1 : 200,000 ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ไม่ตกตายไปทั้งหมดลงบนพื้นที่จริงศาลกำหนดให้ต้องยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ประเทศ

ท่านทูตวีรชัย พลาศรัยบอกว่าคำพิพากษามีข้อดีต่อไทยมากกว่าข้อเสีย 3 : 1 และในข้อดีทั้งสามคือการไม่เสียพื้นที่ภูมะเขือ การไม่เสีย 4.6 ตารางกิโลเมตรตามเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 และการที่ศาลกำหนดให้วางเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 ส่วนน้อยนิดที่เหลืออยู่ในคำพิพากษาลงบนพื้นที่จริงต้องเป็นที่ตกลงกันทั้ง 2 ฝ่าย นั้นล้วนเป็นข้อดีที่ยุติแน่นอนชัดเจนแล้วกัมพูชาจะเจรจาต่อรองอีกไม่ได้ หรือ non-negotiable ขณะที่ข้อเสียหนึ่งเดียวคือการสูญเสียเส้นมติคณะรัฐมนตรี 2505 ทำให้ต้องมีการวางเส้นใหม่นั้นยังต่อรองได้ หรือ negotiable และในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้นการได้ประเด็นที่ non-negotiable นั้นมีคุณค่าเหนือการเสียที่ยังสามารถ negotiable มาก

แม้ฟังชวนให้เคลิบเคลิ้ม แต่มีข้อสังเกตว่าท่านทูตลืมพูดไปสองสามประการ

แรกสุดเลยคือข้อเสียข้อเดียวที่ negotiable นั้น คนมีอำนาจกำหนดการเจรจาสูงสุดคือนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน คนไทยไม่ไว้วางใจ

ท่านทูตเป็นนักการทูตอาชีพและเป็นข้าราชการประจำ วันนี้คนไทยเชื่อถือท่าน และท่านแบกรัฐบาลที่คนไทยไม่เชื่อถือไว้ทั้งรัฐบาล

หนักนักก็วางเถอะ

ท่านจะอยู่ในราชการอีกกี่ปี ท่านจะอยู่ในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเจรจาปัญหาตลอดกาลหรือก็เปล่า

ต่อมาที่สำคัญมากคือมันจะเป็นการเจรจาที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ถูกแก้ไขแล้ว ขั้นตอนการเจรจาลด อำนาจรัฐสภาลด สิทธิประชาชนแทบหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ถูกปล้นฆ่ากลางดึกอย่างอำมหิต

แล้วยังจะห้ามคนไทยที่เห็นต่างให้ข้อมูลที่มาจากคำพิพากษาเพื่อให้ประชาชนรู้ความจริงครบถ้วนทุกด้านอีกหรือ

สุดท้ายที่สำคัญมากเช่นกันคือท่านทูตพูดแต่ negotiable เรื่องการวางเส้นแผนที่ภาคผนวก 1 ลงบนพื้นที่จริงทางทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่ได้พูดถึงทิศตะวันตกที่ศาลกำหนดขอบเขตตามภูมิศาสตร์ในวรรค 98 ให้ไปชนตีนภูมะเขือเพื่อกินถนนทางขึ้นจากบ้านโกมุยและวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ ซึ่งแม้ในทางทฤษฎียัง negotiable แต่ในทางปฏิบัติแล้วขยับได้น้อยมากเหมือน ๆ จะ non-negotiable

ท่านทูตยังลืมพูดอีกคำพิพากษาศาลฯเสมือนเอาแผนบริหารจัดการมรดกโลกของกัมพูชามากางแล้วพิพากษาเพื่อทำให้แผนบริหารนั้นสมบูรณ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านทูตลืมพูดว่าศาลฯทะลึ่งมาสั่งการเรื่องมรดกโลกในคำพิพากษาวรรค 106 ได้อย่างไรในเมื่อเป็นการตีความคำพิพากษาคดีเก่าเมื่อปี 2505 แล้วคดีเก่ามันมีเรื่องมรดกโลกหรือ ก็ไม่มี นี่เป็นการตีความออกนอกกรอบคำพิพากษาคดีเก่าหรือไม่ ออกนอกกรอบลำแสงเล็ก ๆ ของธรรมนูญศาลฯข้อ 60 ที่ยังคงส่องมายังประเทศไทยที่ปิดกำแพงไม่รับเขตอำนาจศาลฯไปตั้งแต่ปี 2503 แล้วหรือไม่

ข้อเสียไม่ได้มีแค่หนึ่งเดียวตามที่ท่านทูตพูดแน่นอน !

แค่วรรค 106 วรรคเดียวก็มีค่าควรแก่การพิจารณาว่าสมควรปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่แล้ว !!

และบนสมมติฐานนี้ท่านทูตเชื่อหรือว่าการเจรจาจะยืดเยื้อไปเป็นห้าเป็นสิบปี

ตราบใดที่กัมพูชาต้องการให้การหาเงินเข้าประเทศจากมรดกโลกปราสาทพระวิหารเกิดขึ้นสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด ตราบใดที่นักการเมืองไทยต้องการให้เรื่องนี้จบเพื่อไปเจรจาต่อเรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทย และตราบใดที่มหาอำนาจทุกประเทศมีผลประโยชน์ผูกพันกับแหล่งปิโตรเลี่ยมในอ่าวไทย การเจรจาที่ท่านทูตเชื่อว่าไทยสามารถใช้ประโยชน์จากคำพิพากษาวรรค 99 ได้ไม่น่าจะยืดเยื้อนัก

ข้อเรียกร้องที่ควรจะเป็นต่อกรณีนี้น่าจะมีอย่างน้อย 2 ประการ

หนึ่งคือไม่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

หรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการจัดให้มีการออกเสียงเป็นประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 (1) ว่าประชาชนทั้งประเทศจะเห็นควรอย่างไร


เพราะการเข้าสู่กลไกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 (1) จะบังคับให้รัฐต้องเปิดให้ผู้มีความเห็นทั้ง 2 ฝ่ายได้มีโอกาสเสนอความคิดเห็นต่อประชาชนผ่านสื่อของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคห้าของมาตรา 165 นี้

“ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอและให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน”

สองคือต้องเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 คงสภาพเดิมไว้

แม้การแก้ไขจะผ่านรัฐสภาวาระ 3 ไปแล้ว แต่เชื่อเถอะว่ารัฐบาลยังมีหนทางที่จะยับยั้งได้ แม้จะอยู่ในระหว่างกระบวนการนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยก็ตาม ถ้าคนไทยเรียกร้องกันอย่างแข็งขันเหมือนเมื่อเรียกร้องต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯฉบับสุดซอย รัฐบาลก็สามารถหาทางถอยสุดซอยได้แน่ แต่ถ้าคนไทยกลับเข้าบ้านใครบ้านมัน มาตรา 190 ก็ยากที่ธำรงคงสภาพเดิมอยู่

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องที่มีผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ไว้แล้วก็ตาม

แต่เราต้องรณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นหลัก

มาร่วมกันเรียกร้องให้ลงประชามติกรณีคำพิพากษาศาลโลกและเอามาตรา 190 คืนมากันเถอะพี่น้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น