xs
xsm
sm
md
lg

กำนันสุเทพจะเอายังไงต่อ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

พิสูจน์กันแล้วนะครับว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมนิ่งดูดาย ไม่ใช่สังคมไทยเฉย

ปรากฏการณ์การลุกขึ้นตื่นของสังคมไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นคำตอบว่า สังคมไทยยังมีสติสัมปชัญญะที่ยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม และเป็นบทเรียนสำหรับเสียงข้างมากของรัฐบาลว่า ไม่สามารถใช้เสียงข้างมากกระทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ และถ้าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมแล้วก็จะถูกสังคมออกมาต่อต้าน

แน่นอนว่า อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยนั้นวัดกันด้วยเสียงข้างมาก แต่ในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ได้อนุญาตให้พรรคเสียงข้างมากกระทำการโดยไม่คำนึงถึงเสียงข้างน้อย กระทำตามอำเภอใจ กระทำในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม แต่ยังต้องยึดมั่นอยู่บนบรรทัดฐานของความผิดถูกที่เป็นมาตรฐานของสังคม เพราะความดีความถูกต้องนั้นจะต้องเสียงดังกว่าความผิดความชั่วร้ายจึงจะสามารถค้ำจุนสังคมนี้ให้ดำรงอยู่ได้

ผมคิดว่าการตื่นของสังคมนั้นไม่ใช่เพราะเขาเลือกข้างพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ตื่นขึ้นมาเพราะเห็นว่า สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลกระทำนั้นไม่ชอบธรรม ขัดแย้งกับจริยธรรมในใจ และกำลังสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ให้กับสังคมไทย

ปรากฏการณ์นี้เป็นบทเรียนให้ทักษิณรู้ว่า สังคมไทยนั้นยังมีพลังมากพอที่จะต่อสู้กับเขา และไม่ง่ายที่เขาจะได้กลับบ้านแบบเท่ๆ

ทำให้ลิ่วล้อขี้ข้าของทักษิณ นักวิชาการที่สนับสนุนทักษิณ แกนนำเสื้อแดง และคนเสื้อแดง ที่กำลังทำอะไรที่ย่ามใจได้รับรู้ว่า สังคมไทยนั้นยังมีกลุ่มคนจำนวนมากที่จะไม่ยอมให้พวกเขายึดครองประเทศนี้ราวกับว่าประเทศนี้เป็นของพวกเขาฝ่ายเดียว

ยังดีที่รัฐบาลรับฟังสัญญาณจากพลังประชาชน และยอมถอดสลักของความขัดแย้งครั้งนี้ออกไป แต่สิ่งที่รัฐบาลและส.ส. 310 คนที่ลุแก่อำนาจลักหลับประเทศจนกลายเป็นชนวนให้สังคมลุกฮือยังไม่ได้ทำก็คือ ออกมาขอโทษประชาชน จริงอยู่รัฐบาลถอดชนวนทางการเมืองไปแล้ว รัฐบาลก็ควรถอดชนวนทางสังคมไปด้วย เพราะการพยายามทำสิ่งที่ผิดให้ถูกถ้ายังไม่สำนึกผิดก็แสดงว่าจิตใจที่ชั่วร้ายนั้นยังคงอยู่ และไม่รู้ว่าจะแสดงออกมาทำร้ายสังคมอีกในวันไหน

คนเขาจึงไม่ไว้ใจรัฐบาลไงครับว่า หลังจาก 180 วันแล้ว จะไม่หยิบกฎหมายนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก

การออกมาขอโทษประชาชนก็เพื่อยืนยันให้สังคมเกิดความมั่นใจว่า ความชั่วร้ายแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต และทำให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่พร้อมจะสำนึกผิด

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลและส.ส.พรรครัฐบาลจะยังไม่ออกมาขอโทษต่อประชาชน แต่การถอยของรัฐบาลก็ได้ลดทอนกระแสต่อต้านไปส่วนหนึ่งแล้ว ภาระต่อจากนี้จึงอยู่ที่ว่าการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

มีอะไรมากกว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองหรือไม่

ตอนนี้เริ่มได้ยินมวลชนที่ออกมาคัดค้านรัฐบาลเริ่มตั้งคำถามกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วว่า เป้าหมายการชุมนุมคืออะไร ปลายทางของการชุมนุมอยู่ตรงไหน ต้องยอมรับนะครับว่า มาตรการ 4 ข้อ ที่ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนหยุดงานหยุดเรียน ไม่จ่ายภาษี ชักธงชาติ และเป่านกหวีดไล่นายกฯ และรัฐมนตรีนั้นยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรม และไม่ได้รับการตอบสนองที่ชัดเจนและมีพลังพอ

จะว่าเป็นมุกแป้กก็ได้

จริงแล้ววันที่เทพเทือกประกาศตั้งศาลประชาชนนั้น มวลชนเขาคิดไปไกลมากกว่านั้นแล้ว แต่พอถึงเวลาสุเทพมีทางเลือกให้กับมวลชนเพียง 2 ข้อคือ จะหยุดแค่ยับยั้ง พ.ร.บ.หรือจะชุมนุมต่อ แต่ไม่ได้บอกว่าจะชุมนุมต่อไปถึงไหน จะเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาหรือจะจัดการตระกูลชินวัตรให้สิ้นซากอย่างไร

คนเขาเริ่มถามกันแล้วนะครับว่า จะเรียกประชาชนออกมาชุมนุมเยอะๆไปเพื่ออะไร

คงต้องยอมรับนะครับว่า ขาขึ้นของม็อบประชาธิปัตย์ที่จุดติดจนกลายเป็นกระแสแฟชั่นของคนเมืองถึงจุดอิ่มตัวแล้ว คนส่วนหนึ่งพอใจที่รัฐบาลถอยร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ถ้าจะรักษาพลังมวลชนให้คงอยู่ แกนนำการชุมนุมต้องหามุกใหม่มาเพื่อดึงดูดมวลชนให้เหนียวแน่นกับเวทีต่อไป และต้องให้มวลชนเห็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมว่าเป้าหมายที่แกนนำจะนำเขาไปต่อสู้นั้นคืออะไร

และต้องไม่ลืมว่า ตอนนี้รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้แล้ว ถ้ารัฐบาลนิ่งเฉยก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เติมเชื้อไฟสร้างเงื่อนไขให้การชุมนุมขยายตัวยิ่งขึ้น แรงกดดันก็จะกลับมาอยู่ที่แกนนำการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงกดดันจากมวลชนที่แกนนำปลุกให้ออกมานั่นแหละ

นอกจากเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจนที่แกนนำผู้ชุมนุมต้องตอบแล้ว โจทย์ใหญ่ที่สังคมตั้งคำถามก็คือ การเมืองหลังโค่นล้มระบอบทักษิณนั้นควรเป็นอย่างไร

เวทีของกองทัพธรรมและเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปการเมืองนั้น ชัดเจนอยู่แล้วว่า เสนอให้มีการปฏิรูปการเมือง เพียงแต่ยังไม่ได้เสนอรูปธรรมที่แจ่มชัดนัก และทั้งสองเวทีนี้ยังไม่มีพลังมวลชนมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ดังนั้นคำถามนี้จึงตกอยู่กับแกนนำม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะยังคงต้องการต่อสู้ในการเมืองแบบเก่าหรือไม่ จะเสียสละอาชีพนักการเมืองหรือไม่ หรือสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิรูปการเมืองที่คนในสังคมไทยต้องมาถกกันว่า เราจะทำอย่างไร รวมไปถึงปฏิรูปพลังงาน ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการจัดเก็บภาษีลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างในสังคม

จะปฏิรูปอย่างไรไม่รู้ครับ ทุกภาคส่วนของสังคมต้องระดมความคิดและช่วยกันออกแบบประเทศร่วมกัน

ต้องยอมรับนะครับว่า ถ้ากลับไปสู่สนามเลือกตั้งและยุบสภาเวลานี้ก็แพ้พรรคของทักษิณอีก และเขาจะใช้เงื่อนไขนี้แหละมาสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองว่า เขาเป็นเสียงข้างมากมาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ แม้ว่าจะเป็นไปได้สูงว่า คะแนนเสียงและปริมาณของ ส.ส.พรรคของทักษิณอาจจะลดลง แต่ก็มากพอที่จะยังชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างแน่นอน

ดังนั้นในขณะที่กระแสสังคมกำลังตื่นตัวนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีที่จะเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศ ผมจึงคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเสนอทางออกของประเทศที่เป็นรูปธรรมออกมาเพื่อให้ประชาชนเห็นว่า พรรคไม่ได้สู้เพียงเพื่อการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง แต่สู้เพื่ออนาคตของประเทศ ซึ่งจะบีบให้พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นต้องเสนอทางออกในการปฏิรูปประเทศด้วย

ไม่รู้เหมือนกันนะครับว่า กำนันสุเทพ ประกาศว่า วันศุกร์ที่ 15 พ.ย.นี้จะมีมาตรการใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมนั้นคืออะไร

แต่ผมคิดว่ามวลชนข้างล่างเวทีของพรรคประชาธิปัตย์ก้าวล้ำแกนนำบนเวทีไปแล้ว พวกเขาคงไม่ต้องการแค่กำจัดระบอบทักษิณขับไล่ยิ่งลักษณ์เพื่อให้ประชาธิปัตย์กลับมามีอำนาจ แต่ต้องการเห็นการเมืองที่ดีกว่านี้ วันนี้บนเวทีของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้พูดเรื่องการปฏิรูปการเมืองเลยครับ

หวังไว้นะครับว่าวันศุกร์นี้จะได้ยินเป้าหมายที่แจ่มชัดจากกำนันสุเทพ และได้ยินเวทีประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะนำประเทศนี้ไปสู่การปฏิรูปการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น