xs
xsm
sm
md
lg

สายไปแล้ว! เปิดอภิปรายไม่ลงมติ มุกเก่าหวัง“ดับร้อนนอกรัฐสภา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**มติเอกฉันฑ์ของที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 11 พ.ย.56 ที่มีมติ 141 เสียง ไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เป็นไปตามความหมายของทุกฝ่าย ตลอดช่วงการประชุมที่ใช้เวลาไปร่วม12 ชั่วโมงก็เป็นไปอย่างดุเดือด-ร้อนแรง
มติวุฒิสภาดังกล่าวไม่ทันกับเส้นตายที่ สุเทพ เทือกสุบรรณได้ประกาศไว้ว่า ต้องทำให้ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ต้องถูกฝังก่อน 18.00 น. เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
เพราะด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา148 หลังวุฒิสภาลงมติไม่รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็จะทำให้วุฒิสภาต้องส่งร่างกฎหมายนี้กลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแช่แข็งไว้ 180 วัน แม้ตัว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล จะได้ลงสัตยาบันว่า จะไม่นำ ร่าง พ.ร.บ.อัปยศนี้มาพิจารณาอีก
แต่ก็ไม่ได้ทำให้เงื่อนไขการชุมนุมของเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยุติลง เนื่องจากพฤติการณ์การเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ใครๆ ก็เห็นกันอยู่ว่า วางใจไม่ได้
**อาจ“ลักไก่”ขึ้นมาอีก หรืออาจมุบมิบเสนอเป็นพระราชกำหนดก็ได้
ทำให้เวทีถนนราชดำเนินนอกจากไม่ยุติการชุมนุมหลังวุฒิสภาลงมติไม่รับหลักการแล้ว กลับมีแต่จะมีการยกระดับการชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เหลือแค่การยกระดับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้น ที่สุเทพและพวกยังสงวนท่าทีตรงนี้อยู่ แม้จะเห็นได้ว่ากระแสของประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมกันเต็มถนนราชดำเนิน เมื่อเย็นวันที่11 พ.ย. อารมณ์มวลชนไปถึงขั้นให้ไล่รัฐบาลแล้วก็ตาม
สิ่งที่ต้องเฝ้ามองต่อไปต่อจากนี้ก็คือ ข้อเรียกร้องของสุเทพ และคณะกรรมการเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่ประกอบด้วยอดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ อีก 8 คน ที่ลาออกจาก ส.ส.ตามสุเทพ รวมเป็น 9 คน คือ สุเทพ-ถาวร เสนเนียม-สาทิตย์ วงศ์หนองเตย-อิสสระ สมชัย -วิทยา แก้วภราดัย-ชุมพล จุลใส -เอกณัฐ พร้อมพันธุ์-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-ณัฐพล ทีปสุวรรณ ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหน ทั้งนักธุรกิจ-ข้าราชการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ-นิสิตนักศึกษา-ประชาชน กระทำการอารยะขัดขืนต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อันมีด้วยกัน 4 วิธีการ ดังนี้
1.ให้ทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชน นัดหยุดงาน ส่วนสถาบันการศึกษาก็ให้หยุดการเรียนการสอนในช่วง 13-15 พ.ย.
2.ชะลอการชำระภาษีกลางปี เพื่อไม่ให้รัฐบาลมีเงินนำไปโกง
3.ให้ต่อสู้ด้วยสัญลักษณ์ คือขอให้ประชาชนทุกบ้านและทุกสถานที่ทำงานติดสัญลักษณ์ธงชาติ และขอให้ประชาชนแขวนคอด้วยนกหวีดเวลาออกจากบ้าน
4.หากประชาชนพบเจอคนในรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าอยู่ในฝ่ายบริหารหรือในฝ่ายนิติบัญญัติก็ให้เป่านกหวีด เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชน
แน่นอนว่า การที่สุเทพ นำส.ส.ปชป.รวม 9 คน ทิ้งเก้าอี้ส.ส. รวมถึงประกาศเดินหน้าต่อในการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยยังไม่ยอมยุติการชุมนุม รวมถึงเสนอมาตรการอารยะขัดขืนต่อรัฐบาล ทำให้มวลชนที่ถนนราชดำเนิน ยังพอรับได้
ไม่ถึงกับผิดหวังที่ไม่มีการเปิดศาลประชาชน ชำระความผิดทักษิณและยิ่งลักษณ์ และยังไม่มีการยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่ยิ่งลักษณ์
ทั้งที่อารมณ์ของประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมกันหลายหมื่นคน ที่ถนนราชดำเนินเมื่อ 11 พ.ย. ต่างตะโกนเสียงเดียวกันว่า “ยิ่งลักษณ์ ออกไป”บ้างก็ “เนรเทศตระกูลชิน”เพราะสิ่งที่แกนนำการชุมนุมแสดงออก ทำให้ประชาชนยังพอเห็นได้บ้างว่า เอาจริง และวางเดิมพันสูง ก็อย่างเช่นการที่ยอมให้ตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์ ต้องโดนฝ่ายรัฐบาลดิสเครดิตได้ว่า การลาออกจากส.ส.ดังกล่าวของสุเทพ และพวกที่เป็นส.ส.เขต ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินมาจัดการเลือกตั้งซ่อมจำนวนมาก
แต่เข้าใจได้ว่า สุเทพและพวกแกนนำปชป. คงเพราะประเมินแล้วว่า กระแสประชาชนน่าจะพอรับกับเรื่องนี้ได้ อีกทั้งพื้นที่ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ส่วนใหญ่ก็เป็นฐานเสียงหลักของประชาธิปัตย์อย่าง สงขลา-ชุมพร-นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร อีกหลายเขต พรรคปชป.ก็น่าจะชี้แจงกับประชาชนให้เข้าใจได้และน่าจะชนะการเลือกตั้งได้หากว่าไม่มีการยุบสภ าเสียก่อน
**อย่างไรก็ตามการที่สุเทพและพวกยังไม่ยกระดับเป็นการไล่รัฐบาลและถึงต่อให้ยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาลจริง ก็คาดได้ว่า การต่อสู้คงยืดเยื้อยาวนาน เพราะไม่มีทางที่ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะยอมยกธงขาวง่ายๆ กับการที่ยิ่งลักษณ์จะลาออก หรือยุบสภา ฯ ยังไงก็ต้องสู้ถึงที่สุด
ถึงตอนนี้มันก็อยู่ที่ “ความอึด”ของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายสุเทพกับพวก รวมถึงประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่สุดทนรัฐบาลชุดนี้ แล้วว่า จะยืนระยะได้ยาวแค่ไหน หากยืนระยะได้ยาว ผนวกกับฝ่ายสุเทพมีมาตรการในการยกระดับการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม และเห็นผลได้เร็ว ภายใต้กรอบกติกาของกฎหมาย ก็จะทำให้ ชัยชนะเป็นของประชาชนเร็วขึ้น
ขณะที่ฝ่ายยิ่งลักษณ์ และเพื่อไทย ล่าสุดเท่าที่ดูจากวิธีการที่ฝ่ายเพื่อไทยพยายามใช้เพื่อหางทางให้ม็อบถนนราชดำเนินยุติลงไป แล้วหลายหมัดที่ออกมายังไม่ค่อยเข้าเป้าเท่าไหร่ เนื่องจากไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ของยิ่งลักษณ์ และสภาทาส คือเรื่องความไม่เชื่อถือ-การหมดศรัทธาต่อตัวนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรของประชาชนทั้งประเทศ ที่ต้องการเห็นการออกมายอมรับผิดชอบทางการเมืองของยิ่งลักษณ์ และสภาทาส จากการ “ลักหลับ”เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
ส่วนวิธีการที่เพื่อไทยใช้ เห็นได้ชัดว่า มุ่งแต่จะหวังให้ม็อบสลายตัวไป และดับกระแสการขับไล่รัฐบาลเท่านั้น อย่างล่าสุดที่รัฐบาลใช้วิธี หวังจะเอาสภาฯ มาดับร้อนการเมือง คือ
**การเสนอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ในวันพุธที่ 13 พ.ย.นี้ ตั้งแต่ช่วง 11.00 น. เป็นต้นไป
โดยจะเปิดเวทีห้องประชุมรัฐสภาให้ทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน-ส.ว.ทั้งหลายที่ออกมาคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ใช้เวทีอภิปรายกันได้เต็มที่ อยากพูดเรื่องอะไรก็พูด จะทั้งนิรโทษกรรม-เรื่องผลคดีเขาพระวิหารของศาลโลก ข้องใจเรื่องไหน อยากอัดรัฐบาลเรื่องอะไร ก็ซัดกันมาเลย เสร็จแล้วก็เลิกรากันไป
วิธีการดังกล่าวของเพื่อไทย นอกจากหวังดับร้อนการเมืองนอกรัฐสภาแล้วก็ยังจะเป็นการเปิดเวทีให้ ส.ส.รัฐบาล และพวกรัฐมนตรี ได้มีโอกาสชี้แจงประเด็นร้อนต่างๆด้วย อันเป็นวิธีซึ่งเพื่อไทยคิดว่า อย่างน้อยน่าจะทำให้ความร้อนแรงทางการเมืองนอกรัฐสภา คลายลงได้
**แล้วก็จะใช้มุกเดิมมาอ้างคือ มีอะไรก็มาพูดกันในรัฐสภา อย่าไปก่อม็อบข้างถนน รัฐบาลเปิดกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว
ดูแล้วความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่เวลานี้ ต่างก็เห็นตรงกันว่า รัฐสภาไม่สามารถเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้แล้ว เพราะใช้ระบบเสียงข้างมากลากไป กระทำระยำการเมืองไว้หลายครั้งหลายหน การที่รัฐบาลใช้วิธีการเปิดประชุมรัฐสภาดังกล่าว จริงอยู่ว่ามันก็เป็นเรื่องดี เพราะทำให้สภาฯได้เป็นเวทีพูดถึงปัญหาของบ้านเมือง แต่ใครๆ ก็มองออกว่า หากยิ่งลักษณ์ไม่จวนตัว เพื่อไทยไม่พลาดท่าขนาดนี้ มีหรือเพื่อไทยจะกุลีกุจอขนาดนี้
ที่ทำก็เพื่อหวังกลบกระแสไล่รัฐบาล-ประณามสภาเท่านั้น
**ฝ่ายเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็รุกคืบทุกขณะ เพื่อไทยและยิ่งลักษณ์ ก็ถอยร่น และออกหมัดสู้ ทุกจังหวะ รูปมวยทั้งหมดที่เห็น บอกได้คำเดียว สู้กันอีกหลายยก กว่าจะรู้ผล
กำลังโหลดความคิดเห็น