xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ต้องโละ5หมื่นคดี หากนิรโทษฯ-ตุลาการลงชื่อต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการป.ป.ช. แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. เห็นสมควรให้มีข้อเสนอแนะต่อวุฒิสภา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 2 ข้อ ดังนี้
1.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาตรา3 และ มาตรา4 มีผลกระทบต่อเรื่องกล่าวหา ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ดำเนินการ ไต่สวน และส่งฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจแล้ว และเรื่องกล่าวหาที่ คตส. ส่งมอบสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ รวมจำนวน 24 เรื่อง รวมทั้งเรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนตามอำนาจหน้าที่จำนวน 25,331 เรื่อง เป็นเรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง จำนวน 400 เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป จำนวน 24,931 เรื่อง ในจำนวนนี้ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดจำนวน 666 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริต จะเป็นอันต้องระงับสิ้นไป และเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
2. ประเทศไทยได้ยินยอมเข้าผูกพันเป็นภาคีในอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านทุจริต ค.ส. 2003(UNCAC)ซึ่งหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา และความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตที่มีผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของสังคม ซึ่งบ่อนทำลายสถาบัน และหลักของระบอบประชาธิปไตย คุณค่าทางจริยธรรม ความยุติธรรม และเป็นอันตราย ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักนิติรัฐ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยยินยอมจำกัดอำนาจอธิปไตยบางส่วนเข้าผูกพันตามอนุสัญญาดังกล่าว
ดังนั้นหากประเทศไทยจะออกกฎหมายล้มล้างคดีทุจริต จะเป็นการขัดต่อหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการถูกประเมิน และติดตามผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา UNCAC ดังกล่าวอยู่ด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้แจ้งต่อ สำนักงานบาเสพติด และอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)โดยมีรายละเอียดเช่นเดียวกับข้อเสนอที่มีต่อวุฒิสภาดังกล่าวข้างต้น เพื่อแสดงถึงเจตจำนงในการปฏิเสธการนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริต คอร์รัปชัน
อนึ่ง มาตรา 3 ของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีเนื้อหาดังนี้
"...ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมาที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

** ตุลาการค้านนิรโทษฯ

ในวันเดียวกันนี้ มีกลุ่มผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง รวมตัวในนาม “กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน”แสดงความคิดเห็นโดยอิสระเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือกระทำในนามองค์กรศาล ซึ่งกลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน ขณะนี้มีการลงชื่อทั้งสิ้น 63 ราย เพื่อออกคำชี้แจง แสดงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งกรรมาธิการแก้ไข ถึงขนาดเปลี่ยนแปลงหลักการตามร่างในชั้นกรรมาธิการ โดยให้มีผลนิรโทษกรรมแก่การกระทำความผิดอาญาร้ายแรง โดยอ้างว่าเป็นมูลเหตุจากวิถีทางการเมือง การชุมนุมทางการเมือง หรือเกี่ยวเนื่องกับการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายแก่ประชาชน ความผิดต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน โดยมิได้คำนึงถึงผู้เสียหายที่ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใด ขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งมีเป้าประสงค์สูงสุดเพื่อปกป้องสุจริตชน และเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง
ซ้ำร้ายกว่านั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังมีผลครอบคลุมถึงความผิดเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วก็ดี หรืออยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล หรืออยู่ในชั้นสอบสวนก็ดี ทั้งที่ความผิดลักษณะดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติ เป็นที่น่ารังเกียจในสังคมโลก สมควรได้รับการพิจารณาตามกระบวนการพิสูจน์ความผิดหรือได้รับการปฏิบัติตามโทษานุโทษ แต่ ร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้กลับกำหนดยกเว้นกฎหมาย ทำลายนิติรัฐ โดยอ้างว่าเป็นเหตุอันมีที่มาจากการเมือง ทั้งที่ประจักษ์ชัดโดยคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อันจะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องของสังคมไทยต่อไปในอนาคต ข้าพเจ้า ซึ่งต่างสำนึกตลอดมาว่ามีหน้าที่ธำรงไว้ซึ่งความถูกต้องเป็นธรรมบนแผ่นดินนี้ จึงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของวุฒิสภาดังเหตุผลที่กล่าวข้างต้น เพื่อมิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้บานปลายไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน อันจะนำมาซึ่งความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและแผ่นดิน จึงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้ดุลพินิจทบทวนหรือยับยั้งการออกกฎหมายฉบับนี้โดยเร็วที่สุด”
ขณะที่แหล่งข่าวผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้ร่วมลงชื่อ เปิดเผยว่า แถลงการณ์นี้เป็นแนวคิดของตุลาการบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะมีส่วนที่ดี แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ขัดรัฐธรรมนูญและความยุติธรรม รวมถึงตัดสิทธิ์เสรีภาพประชาชน จึงอยากแสดงออกให้ฝ่ายนิติบัญญัติทราบเท่านั้น โดยกิจกรรมมีเจตนาเพียงเท่านี้ ทั้งนี้ การรวมกลุ่มตุลาการรักแผ่นดิน เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้และเป็นการรวมกันเฉพาะกิจ และภารกิจก็จบแล้วในวันนี้ โดยกิจกรรมนั้นทำในนามส่วนตัวที่มีความเห็นว่าประเด็นการออกร่างกฎหมายดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาความร้าวฉานในสังคม และเมื่อหลายฝ่ายในสังคมได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการออกกฎหมายแล้วเราในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งเพียงแต่ประกอบวิชาชีพเป็นผู้พิพากษาก็นิ่งเฉยไม่ได้ จึงจะต้องร่วมกันแสดงจุดยืนและชี้แจงถึงเหตุที่มีการคัดค้าน โดยคำชี้แจงนี้เสมือนเป็นการเขียนบทความแสดงความเห็นต่อสังคมให้เข้าใจ เพียงแต่ผู้เขียนมีมากกว่าหนึ่งคน และในการรวมตัวครั้งนี้เราก็ได้ชี้แจงต่อผู้พิพากษาที่มาร่วมลงชื่อแล้วว่าจะมีการทำเป็นคำชี้แจงเปิดเผยให้สาธารณะชนและสังคมเข้าใจ ขณะที่ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลและฝ่ายการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ได้มีการนำชื่อผู้พิพากษาที่รวมตัวกันไปใช้ในประโยชน์อื่น
สำหรับรายชื่อผู้พิพากษากลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน ประกอบด้วย นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล, นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี, นายพิชัย เพ็งผ่อง, นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิช, นายมานิตย์ สุขอนันต์, นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล, นางวราภรณ์ สุระพัฒน์พิชัย, นายอุเทน วิภาณุรัตน์, นางอรพันท์ เพ็ญตระการ, นางสาวมาลี เตชะจันตะ, นายสมนึก เมืองคำสกุล, นางสกุลรัตน์ อยู่เปนสุข, น.ส.สุณิสา สมประสงค์, นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์, นางอภิญญา จันทรเศรษฐ, น.ส.ศิณีนาถ เกียรติกังวาฬไกล, นางสาวจรีรัตน์ โรจนาจิณ, นายเกียรติคุณ แม้นเลขา, นางเศรณี ศิริมังคละ, นายธนิต รัตนะผล, นายภีม ธงสันติ, นางรัชดาพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา, นายวิรัตน์ เกษมทรัพย์, นายโกสินทร์ ฤทธิรงค์, นายชาติชาย เหลืองอ่อน, น.ส.นิสากร บุญศิริ, นายสมพร ศรีกฤษณ์, นายพรเทพ สุทิน, นายสรพงค์ ไกรสุวรรณ์, นายสมพร ฮี้เกษม, นายวินัย ศักดาไกร, นายบุญลอง นรจิตต์,
นางจันทร์กระพ้อ ต่อสุวรรณ สินธวถาวร, น.ส.รังสิมา ลัธธนันท์, น.ส.ศรัญวรรณ โชตินิมิตคุณ,นายสรวิทย์ จันทโสภณพร, นางสาวนฤภร จันทรักษ์, นายรพี แพ่งสภา, นายไพศาล ไพบูลย์วัฒนกิจ, นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร, นายเสกสันติ์. เทพหนู, นางพินสิริ นามสีฐาน เพ็งงาน, น.ส.อังคณา หรูวรนันท์, นายชัยรัตน์ ชุมพล, นายเอนก ศรีมุกข์, นายคนองเดช สวัสดิ์วงศ์วิชา, นางวราทิพย์ จตุวรพัฒน์, นางสุชาดา ยิ่งสกุล, นางปัทมาพร นาคเรืองศรี, นางราณี เหล่าพัฒนา, นางนันทวัน เจริญศักดิ์ เกษมสมพร, นางชนัญชิตา ณ ระนอง, นายดำรงค์ศักดิ์ ใจฐิติวิทย์, นางจรัสวรรณ ใจฐิติวิทย์, นายอายุกร บุญอากาศ, นายเชิดพันธุ์ วิลาวรรณ, นางปิยนันท์ พันธุ์ชนะวานิช, นายพรศักดิ์ เชาวลิต, นางมะลิวรรณ วิภาดาพรพงษ์, นายไกรพิชญ์ ปิยสิรานนท์, นายดุลประภัสสร์ มุลพรม, นายรัฐพล โลนา และนางสุวรรณา นาคะรัศมี
กำลังโหลดความคิดเห็น